ถอดรหัสประโยชน์ใช้สอยที่มาพร้อมความงามของสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ใน 5 อาคารดัง

19 Jul 2023 - 5 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

 

“ศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามของไทยสามารถเดินหน้าไปพร้อมกับความเจริญได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทิ้งบริบทความเป็นไทย”

 

วาลุกา โรจนะภิรมย์ สถาปนิกจากบริษัท Urban Achitects จำกัด ผู้ออกแบบศูนย์การค้า ICONSIAM กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการนำเอกลักษณ์ของศิลปะไทยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบอาคารสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

 

เพราะอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์หลายแห่งไม่ได้มอบผลลัพธ์เพียงอาคารที่สวยงามแปลกตาเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนอีกด้วย

หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9

 

หากจะยกตัวอย่างอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่คนไทยคุ้นตามากที่สุด คงต้องเอ่ยถึง หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 อาคารทรง 9 เหลี่ยมที่ผสานความงามและฟังก์ชันการใช้งานได้สอดคล้องกันอย่างลงตัว และยืนหยัดคู่สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานครมานานกว่า 3 ทศวรรษ 

 

หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 ออกแบบโดย ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล ที่นำแรงบันดาลใจจากมณฑปมาออกแบบเส้นสันหลังคาสีขาวโค้งที่ไปรวมกันบนจุดยอด เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมแรงร่วมใจของปวงชนชาวไทย ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสวนหลวง ร.9 เพื่อน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในศุภมงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และเลือกใช้หลังคากระเบื้องเคลือบสีเหลือง เพราะเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ

หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9

 

ตัวอาคารทั้ง 2 ชั้นสามารถเดินวนรอบได้ ตรงกลางเป็นห้องประชุมใหญ่จุคนได้ 500 คน และบริเวณระเบียงชั้นนอกเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมแบ่งออกเป็น 9 ห้อง แต่ละห้องตั้งชื่อคล้องจองกันและสื่อถึงเนื้อหาที่จัดแสดงได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ห้องพระราชประวัติ ฝีพระหัตถ์ฝากประชา กีฬาชื่นบาน งานดนตรี พระราชกรณียกิจ พิพิธกุศลทาน ถิ่นฐานพิทักษ์ บริรักษ์ชาวนาไร่ และโครงการในพระองค์ 

หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9

 

หอรัชมงคลจึงไม่ได้เป็นเพียงแลนด์มาร์กประจำสวนหลวง ร.9 เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่ไปออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจในสวนยังสามารถแวะเวียนไปศึกษาพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทุกเมื่อ

มหิดลสิทธาคาร

 

อาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ลำดับถัดมาที่มีทรงจั่วโค้งแหลมเสียดฟ้า ตั้งตระหง่านสะกดทุกสายตาให้เหลียวมองบริเวณริมถนนพุทธมณฑลมาร่วมสิบปี ได้แก่ มหิดลสิทธาคาร อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ที่เป็นทั้งหอแสดงดนตรี โรงละคร หอประชุม และสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล

 

มหิดลสิทธาคาร ออกแบบโดยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด โดยนำโครงสร้างเชิงกายภาพของมนุษย์มาใช้ในการออกแบบ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีรากฐานมาจากการแพทย์ ผสมผสานกับแรงบันดาลใจจากรูปทรงดอกกันภัยมหิดล ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล มาปรับใช้ในการออกแบบโครงสร้างอาคารจนได้ผลลัพธ์เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่มีเอกลักษณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง

มหิดลสิทธาคาร

 

ความพิเศษของโครงสร้างมหิดลสิทธาคาร คือ ปราศจากเสากลาง หลังคามี 2 ชั้น โดยชั้นในใช้วัสดุพิเศษเพื่อป้องกันเสียงจากภายนอก ส่วนหลังคาชั้นนอกใช้วัสดุทองแดง ซึ่งนอกจากจะคงทนแล้ว เมื่อใช้งานไปนาน ๆ สีสันของวัสดุจะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยในอีก 30 ปีข้างหน้า หลังคาของมหิดลสิทธาคารอาจเปลี่ยนเป็นสีฟ้าคล้ายโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เป็นได้

 

มหิดลสิทธาคาร

 

นอกจากนี้ มหิดลสิทธาคารยังประหยัดพลังงานด้วยการออกแบบโถงด้านหน้าก่อนเข้าไปสู่ตัวฮอลล์ให้มีความโปร่งโล่ง เปิดให้แสงผ่านเข้ามาได้โดยรอบ แต่ป้องกันความร้อนได้ดี จึงลดการใช้ไฟฟ้าลงไปเยอะมาก เช่นเดียวกับภายในฮอลล์ที่เลือกใช้ระบบทำความเย็นขึ้นมาจากพื้น เพื่อให้ความเย็นอยู่ในระนาบเดียวกับคน จึงทั้งประหยัดพลังงานและสามารถควบคุมเสียงที่เกิดจากเครื่องปรับอากาศให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติเด่นในการวางระบบวิศวกรรมสวนศาสตร์ (Acoustical Engineering) ของที่นี่ที่จัดว่าดีที่สุดในประเทศไทย 

 

ด้วยความลงตัวทั้งสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ มหิดลสิทธาคารจึงเปรียบเสมือนแล็บชั้นดีที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีได้เข้ามาเรียนรู้ และเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมสู่สังคมในวงกว้างได้ในระดับมาตรฐานโลก

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา

Photo : Vin Varavarn Architects Ltd.

 

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา (PANNAR Agricultural & Sufficiency Science Learning Center) เป็นอีกหนึ่งอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ไม่เพียงนำเอาความเป็นไทยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบอาคารเท่านั้น แต่ยังเลือกสรรวัสดุในการก่อสร้างที่คำนึงถึงทั้งความพอเพียงและความยั่งยืนไปในตัว

 

ด้วยความที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนาเป็นโครงการเรียนรู้กสิกรรมและศาสตร์พอเพียงที่ดำเนินตามรูปแบบศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผังการใช้งานของโครงการจึงประยุกต์ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ (โคก หนอง นา โมเดล) เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม แบ่งสัดส่วนพื้นที่บริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำกินให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา

Photo : Vin Varavarn Architects Ltd.

 

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา ออกแบบโดย ม.ล. วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Vin Varavarn Architects ที่นำรูปทรงเรียวยาวคล้ายใบไม้มาใช้ในการออกแบบอาคารหลักของโครงการ โดยรวมฟังก์ชันการใช้งานให้อยู่ภายใต้หลังคาทรงออร์แกนิกที่คลุมพื้นที่อาคารทั้งหลัง ซึ่งประกอบด้วยห้องสัมมนา โรงอาหาร ห้องเวิร์กช็อป ห้องรับแขก และห้องประชุมของทีมงานในการระดมความคิดก่อนการจัดกิจกรรม

ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา

Photo : Vin Varavarn Architects Ltd.

 

ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนาอยู่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเต็มไปด้วยดินสีแดงของเขาใหญ่ จึงมีการขุดดินภายในโครงการมาใช้ฉาบผนังคอนกรีตของอาคาร เกิดเป็นตึกดินสีแดงที่มุงหลังคาด้วยไม้ไผ่ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำฝนที่ไหลลงไปยังมุมหลังคาลงสู่คลองไส้ไก่ที่คดเคี้ยวไปตามพื้นที่โครงการ ซึ่งทำให้การระบายน้ำช้าลง ความชุ่มชื้นจึงแผ่ลงไปในผืนดินมากขึ้น เหมาะแก่การปลูกข้าวและพืชต่าง ๆ รวมทั้งสามารถกักเก็บสำรองไว้ใช้ยามจำเป็นได้อีกด้วย

ICONSIAM

 

จากอาคารศูนย์เรียนรู้ด้านศาสตร์พอเพียง ขอนำผู้อ่านเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานครอีกครั้ง เพื่อทำความรู้จักความงดงามของศิลปะไทยในอาคารหลังมหึมาริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง ICONSIAM ศูนย์การค้าที่เป็นมากกว่าสถานที่จับจ่ายซื้อของ 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในเหตุผลที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็สมัครใจที่จะนั่งรถต่อเรือมาเสพประสบการณ์ที่มากกว่าการช้อปปิ้ง ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เพราะอยากจะรู้ว่าภายในอาคารกระจกที่ภายนอกออกแบบให้มีความพลิ้วไหวด้วยเส้นสายของสไบและรูปทรงพับจีบของกระทงนั้นมีอะไรที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ บ้าง

 

ด้วยความที่ ICONSIAM เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีฟังก์ชันเยอะ ทีมสถาปนิกผู้ออกแบบอย่าง อัจฉริยะ โรจนะภิรมย์ และ วาลุกา โรจนะภิรมย์ จากบริษัท Urban Architects จำกัด จึงต้องมั่นใจว่าฟังก์ชันและความงามต้องไปด้วยกัน ทั้งยังปักธงเอาไว้ด้วยว่าคนที่มาเดินในพื้นที่จะต้องได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ทุกครั้ง

ICONSIAM

 

ทีมออกแบบจึงผสมความเป็น ‘ไทยใหม่’ เข้าไปในแต่ละพื้นที่ของห้าง และร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเส้นสายลายไทยร่วมสมัย เช่น การใช้เส้นสายประกอบกับบันไดเลื่อน ให้ความรู้สึกเหมือนนำส่งไปในแต่ละชั้น หรือการนำทักษะงานช่าง 10 หมู่มาผสมผสาน อย่างการนำแรงบันดาลใจจากพวงมาลัยดอกรักและดอกมะลิมาออกแบบแชนเดอเลียร์แก้วบริเวณโถงทางเข้า การบรรจงออกแบบลวดลายไทยบนเสาในโซน ICONLUXE โดยอาจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรม ฯลฯ

 

ดังนั้น ประสบการณ์เยือน ICONSIAM สำหรับหลาย ๆ คน จึงไม่ได้ไปเพื่อช้อปปิ้งเท่านั้น แต่ยังเป็นการได้เรียนรู้ศิลปะ ‘ไทยร่วมสมัย’ ไปในตัว

แชนเดอเลียร์มาลัยดอกรักบริเวณโถงทางเข้า ICONSIAM

 

ทั้งนี้ ด้วยเอกลักษณ์การผสมผสานที่ลงตัวของ ICONSIAM ไม่เพียงทำให้สามารถคว้ารางวัล Best Store Design of the Year จาก World Retail Awards 2019 มาครองเท่านั้น แต่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ยังช่วยปลุกชีพจรและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาย่านฝั่งธนฯ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ในฐานะแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุน 

สัปปายะสภาสถาน

 

ถัดจาก ICONSIAM ขึ้นเหนือไปตามโค้งน้ำเจ้าพระยาอีกไม่กี่กิโลเมตรในย่านเกียกกาย เป็นที่ตั้งของ สัปปายะสภาสถาน อีกหนึ่งอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ริมน้ำที่มียอดสีทองโดดเด่นมองเห็นได้จากระยะไกล

 

สัปปายะสภาสถาน คือ ชื่อของอาคารรัฐสภาหลังใหม่ที่นอกจากจะครองสถิติรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ความสวยงามอลังการของสัปปายะสภาสถานยังเกิดจากการนำหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบแผนไตรภูมิตามพุทธคติมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยมีอาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทยอยู่ตรงกลางอาคาร ทำให้สถานที่แห่งนี้แฝงด้วยความหมายลึกซึ้งตามที่หอสมุดรัฐสภานิยามไว้ว่า “เป็นการสถาปนาเขาพระสุเมรุขึ้นในยุครัตนโกสินทร์” 


เหตุผลของการสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่ เนื่องจากอาคารรัฐสภาหลังเดิมบนถนนอู่ทองในใช้เป็นที่ประชุมสภามานานกว่า 30 ปี จนเริ่มคับแคบและไม่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบัน รัฐบาลในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช จึงได้อนุมัติโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยได้มีการประกวดแบบ และนำผลงานที่ชนะเลิศของนายธีรพล นิยม ที่ทำงานร่วมกับทีมในนามคณะ “สงบ 1051” มาใช้ในการออกแบบสัปปายะสภาสถาน

สัปปายะสภาสถาน

 

นอกเหนือไปจากการออกแบบวางผังสัปปายะสภาสถานตามแบบแผนไตรภูมิ เพื่อให้รัฐสภาคงความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เตือนใจให้ผู้ที่มายังสถานที่แห่งนี้ระลึกถึงการใช้สติปัญญาในการประกอบกรรมดีแล้ว ยังมีการนำสัญลักษณ์ “ขวัญ” มาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบห้องประชุม ส.ส. และ ส.ว. อีกด้วย

 

สมการของการผสมกลมกลืนระหว่างศาสตร์ตามขนบความเชื่อในอดีตกับความรู้ทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ได้ผลลัพธ์ออกมามากกว่าอาคารรัฐสภาที่สวยสง่า หากยังถูกออกแบบให้ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถใช้งานอาคารรัฐสภาแห่งนี้ได้เช่นกัน 

 

ในอนาคต เมื่อสัปปายะสภาสถานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เยี่ยมชมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในพิพิธภัณฑ์ซึ่งจะอยู่รอบ ๆ ส่วนบนสุดของอาคาร รวมถึงบริเวณลานประชาชนที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปใช้บริการได้ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทรัฐสภาไทยโดยไม่จำกัดเฉพาะการเป็นที่ทำงานของ สส. หรือ สว. อีกต่อไป

 

อ้างอิง

·      มิวเซียมไทยแลนด์.หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9. https://bit.ly/3ND69jA

·      The Standard Team.คุยกับสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบ ICONSIAM อภิมหาโครงการต้นแบบสถาปัตยกรรมมิติใหม่ ที่คว้ารางวัล Best Store Design of the Year 2019. https://bit.ly/43rFRH3

·      Nada Inthaphunt.ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา สถาปัตยกรรมที่ประยุกต์ด้วยกสิกรรม ธรรมชาติ และความพอเพียง.https://bit.ly/3r4rdrv

·      หอสมุดรัฐสภา.สัปปายะสภาสถาน.https://bit.ly/3PJDFr0

·      สถาบันอาศรมศิลป์.อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัปปายะสภาสถาน.https://www.arsomsilp.ac.th/sapayasapasathan/

·      We Mahidol.เสียงดนตรีในมหิดลสิทธาคารดังทุกที่เกือบเท่ากัน.https://www.facebook.com/watch/?v=233541451048264

·      Mahidol Channel.เล็กๆ เปลี่ยนโลก: Open House มหิดลสิทธาคาร (Prince Mahidol Hall).https://bit.ly/440Wc6D

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...