เบื้องหลังที่มาของใช้ใกล้ตัว 5 ชิ้น จากแรงบันดาลใจของนักประดิษฐ์หญิงคนสำคัญ

21 Mar 2023 - 7 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

บรรดาข้าวของเครื่องใช้รอบตัวที่ทุกคนคุ้นเคยและหยิบจับใช้สอยกันบ่อยในชีวิตประจำวัน ต่างก็มีจุดเริ่มต้นและเรื่องราวความเป็นมาน่ารู้ โดยเฉพาะสิ่งของที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย ‘ผู้หญิง’ 

 

ทั้งมุมมองความคิดริเริ่มและสายตามองการณ์ไกลที่เฉียบแหลม ทำให้พวกเธอสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นมากกว่าของใช้ทุ่นแรง หรือของที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตทุกคนให้สะดวกสบายกว่าแต่ก่อน เพราะยังมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงให้โลกของเราเจริญรุดหน้าแบบก้าวกระโดดอีกด้วย 

 

LIVE TO LIFE ขอแนะนำให้รู้จักกับสิ่งของใกล้ตัว 5 ชนิด ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่า เป็นผลงานของนักประดิษฐ์หญิง พร้อมเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจที่แฝงอยู่ในวิธีคิดและเบื้องหลังการออกแบบสิ่งของเหล่านี้

 

 

กระดาษกรองกาแฟของแม่บ้านผู้ปฏิวัติวิธีชงกาแฟ 

ในอดีต หากจะดื่มกาแฟสักแก้ว ทุกคนต้องชงกาแฟด้วยวิธีการของชาวฝรั่งเศสที่เรียกว่า เฟรนช์เพรส (French Press) ซึ่งต้องใช้ถ้วยชงกาแฟทรงสูงที่มีตะแกรงโลหะและขดลวดเอาไว้กรอง และกดกากกาแฟให้นอนก้นอยู่ในถ้วย แต่วิธีนี้มีปัญหาตรงที่ เมื่อรินกาแฟใส่แก้ว ตะกอนของกากกาแฟมักจะหลุดรอดออกมาด้วย ทำให้เสียอรรถรสขณะดื่ม เพราะกาแฟมีรสขมเกินไป

เมลิตตา เบนซ์ (Melitta Bentz) แม่บ้านชาวเยอรมันเป็นอีกคนที่ประสบปัญหานี้ เธอคิดว่าต้องมีวิธีชงกาแฟแบบอื่น เพราะตัวเธอเองอยากดื่มกาแฟรสชาติกลมกล่อมที่ไม่มีตะกอนปนอยู่ในแก้วเลย จึงพยายามคิดหาวิธีชงกาแฟแบบใหม่ ที่แยกกากกาแฟได้ 100% ด้วยความหวังว่า คอกาแฟทุกคนจะได้รับประสบการณ์ดื่มกาแฟที่ยอดเยี่ยม

 

เธอลองผิดลองถูกในห้องครัวอยู่นาน จนค้นพบวิธีที่ได้ผลในปี 1908 โดยอาศัยหลักการเดียวกันกับวิธีกรองน้ำผ่านผ้าขาวบาง แต่เนื้อผ้าลินินยังกรองกากกาแฟได้ไม่ดี เธอจึงฉีกกระดาษจากสมุดการบ้านของลูกชายมาพับเป็นกรวยสำหรับใส่กาแฟบด แล้ววางลงบนกระป๋องเหลือใช้ที่ตอกตะปูเป็นรูเล็ก ๆ เมื่อรินน้ำร้อนวนเป็นวงกลมก้นหอยเพื่อให้น้ำผสมกับกาแฟบดจนทั่ว กระดาษจะกรองกากกาแฟเอาไว้ ทำให้ได้กาแฟรสชาติเข้มข้น มีกลิ่นหอม และไม่มีตะกอนอย่างที่เธอต้องการ

ผลลัพธ์ของความคิดนอกกรอบและลองทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน จากการคิดค้น ‘กระดาษกรองกาแฟ’ หรือ ‘แผ่นฟิลเตอร์กรองกาแฟ’ (Coffee Filter) ได้สำเร็จ ทำให้เธอเป็นแม่บ้านคนสำคัญที่ปฏิวัติวิธีชงกาแฟไปตลอดกาล เพราะเกิดเป็นวิธีการชงกาแฟแบบใหม่ที่เรียกว่า ดริป (Drip Coffee) ซึ่งในเวลาต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วโลก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบัน 

 

 

น้ำยาลบคำผิดของเลขานุการผู้เรียนรู้จากความผิดพลาด

สมัยก่อน เลขานุการกับเครื่องพิมพ์ดีด ถือเป็นของคู่กัน เพราะทุกคนต้องใช้เครื่องนี้พิมพ์เอกสารให้หัวหน้าตามงานที่ได้รับมอบหมาย แม้ว่าเลขานุการส่วนมากจะสามารถใช้เครื่องพิมพ์ดีดได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ความเร่งรีบทำให้กดแป้นพิมพ์พลาด เกิดเป็นคำผิดบนหน้ากระดาษ 

 

วิธีแก้ไขที่นิยมทำกัน คือ ขีดฆ่าแล้วพิมพ์คำที่ถูกต้องลงไปแทน แต่ เบตต์ เนสมิธ เกรแฮม (Bette Nesmith Graham) เลขานุการประจำธนาคารผู้รักความสมบูรณ์แบบและความเป็นมืออาชีพ หากเธอพิมพ์ผิดเข้าแม้แต่ตัวอักษรเดียว เธอจะพิมพ์ใหม่ทั้งหน้ากระดาษ เพราะเธอคิดเสมอว่า คำผิดที่ปรากฏให้เห็นทนโท่ จะลดทอนความน่าเชื่อถือของเอกสารเกี่ยวกับการเงินและการธนาคาร

นานวันเข้า ขณะกำลังพิมพ์เอกสารใบใหม่ เธอก็คิดได้ว่า ทำไมต้องเสียเวลาและลงแรงเกินจำเป็น เพื่อแก้ไขเอกสารที่พิมพ์ผิดจุดเดียว แต่ในตอนนั้นเธอยังคิดหาวิธีใหม่ไม่ออก 

 

กระทั่งได้เห็นจิตรกรแก้ไขภาพเขียน โดยนำสีที่ต้องการมาทาทับลงไป เธอจึงลองเลียนแบบตาม แค่นำสีขาวซึ่งเป็นสีเดียวกับกระดาษใส่ขวดเตรียมไว้ เมื่อพิมพ์ผิด เธอจะใช้พู่กันแต้มสีขาวปิดคำผิด แล้วรอให้สีแห้ง จากนั้นพิมพ์คำที่ถูกต้องทับลงไป ด้วยวิธีนี้ ทำให้ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ทั้งหน้า แถมยังได้เอกสารที่ดูเรียบร้อยราวกับไม่มีจุดแก้ไขเลย

หลังจากทดลองใช้สีขาวลบคำผิดจนแน่ใจผลลัพธ์ ในปี 1956 เธอรีบแนะนำให้เพื่อนร่วมงานทำวิธีเดียวกัน ซึ่งทุกคนชื่นชอบมาก เพราะช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างราบรื่น จากสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นเพราะรู้จักเรียนรู้ข้อผิดพลาด จึงกลายมาเป็น ‘น้ำยาลบคำผิด’ เครื่องเขียนชิ้นสำคัญของนักเรียนและคนทำงาน 

 

 

ถังขยะแบบเหยียบของวิศวกรหญิงผู้รักความเป็นระเบียบ

หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้หากใครก็ตามรู้สึกว่าชีวิตที่ดีนั้น เกิดขึ้นได้จากการบริหารจัดสรรเวลาในชีวิต เพราะเวลาทุกวินาทีมีค่าเสมอ จึงไม่ควรใช้ให้หมดไปกับสิ่งไม่จำเป็นหรือสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่อย่างนั้นแล้ว ตัวเราเองอาจจะต้องนึกเสียใจและเสียดายเวลาที่ผ่านเลยไป

 

ลิเลียน กิลเบรธ (Lillian Gilbreth) คือหนึ่งในหลาย ๆ คนที่คิดแบบนั้น เธอเป็นทั้งนักจิตวิทยาและวิศวกรหญิงชาวอเมริกันผู้รักการจัดระเบียบทุกอย่างในชีวิต เพราะเธอเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองใช้ชีวิตได้อย่างสบายกาย สบายใจ และมีความสุข เป็นความรื่นรมย์ของการใช้ชีวิต ซึ่งเธอเรียกว่า The Art of Living หรือ ศิลปะการใช้ชีวิต

ทุกครั้งที่เธอวุ่นอยู่ในห้องครัวเพื่อเตรียมวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารและอบขนม เธอรู้สึกว่าต้องเสียเวลาเดินเอาเศษอาหารไปทิ้งนอกบ้าน จึงเอาถังขยะมาตั้งไว้ในห้องครัว ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร เพราะต้องใช้มือเปิดปิดฝาถังระหว่างทำอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกสุขลักษณะ 

 

เธออาศัยความเชี่ยวชาญ ทั้งความรู้ด้านวิศวกรรมเรื่องการออกแบบกลไก และความรู้ด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและจัดระเบียบร่างกายให้ทำงานได้ดีที่สุด เพื่อประดิษฐ์ถังขยะสำหรับใช้ในห้องครัว เธอย่อขนาดถังให้เล็กลง แล้วคิดค้นแท่นใต้ถังซึ่งเชื่อมต่อกับฝา สำหรับใช้เท้าเหยียบให้ฝาเปิดออกแทนการใช้มือ

นับตั้งแต่ช่วงปี 1920 เป็นต้นมา หลังจากเธอได้ประดิษฐ์ ‘ถังขยะแบบเหยียบ’ (Pedal Bin) เสร็จสิ้นและเริ่มผลิตขาย การทำครัวของทุกคนกลายเป็นเรื่องสะดวกขึ้นมาก เพราะสามารถทิ้งขยะลงถังได้อย่างง่ายดาย ถึงตอนนี้ ไม่สำคัญว่าต้องเป็นห้องครัวเท่านั้น เมื่อมองไปในมุมหนึ่งของห้องหรือแม้แต่ข้างโต๊ะทำงาน เราก็มักจะเห็นถังขยะแบบเหยียบตั้งอยู่ด้วย ช่วยผ่อนแรงและประหยัดเวลาไม่ให้เราต้องถือขยะไปทิ้งไกล ตรงกับความตั้งใจของเธอไม่ผิดเพี้ยน

 

 

ฝ้ายสีธรรมชาติของเกษตรกรผู้ชุบชีวิตฝ้ายให้เป็นผ้ารักษ์โลก

เดิมทีไม่เคยมีใครสนใจ ‘ฝ้ายสีธรรมชาติ’ (Naturally Colored Cotton) เพราะเส้นใยสีน้ำตาลอ่อนไล่ไปจนถึงแก่ที่ได้จากดอกฝ้าย ดูยังไงก็ไม่สวย เหมือนผ้าไม่ได้ทำความสะอาดหรือเลอะสิ่งสกปรก อีกอย่างฝ้ายที่เก็บเกี่ยวมา ทั้งสั้นและเปราะบาง นำมาปั่นเป็นเส้นใยได้ยาก จึงไม่เคยเป็นที่ต้องการของตลาดผ้า ส่วนผ้าฝ้ายที่ดีมีคุณภาพ คือเส้นใยที่ได้จากดอกฝ้ายสีขาวเท่านั้น 

 

แต่เกษตรกรชาวอเมริกันอย่าง แซลลี ฟอกซ์ (Sally Fox) เห็นต่าง ด้วยนิสัยช่างสังเกตและประสบการณ์ที่สั่งสมมานานจากการคลุกคลีกับฝ้ายหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้เธอเห็นโอกาสที่จะพัฒนาสายพันธุ์ดอกฝ้ายสีธรรมชาติ ต่อให้มีข้อจำกัดมากมาย แต่เธอเชื่อมั่นว่า วันหนึ่งจะทำให้ตลาดผ้าหันมาสนใจดอกฝ้ายสีธรรมชาติ

เธอคัดแยกตั้งแต่ลักษณะเมล็ด และทดลองผสมพันธุ์ให้ดอกฝ้ายมีความเหนียว เพื่อนำไปปั่นเป็นเส้นใยที่แข็งแรง หลังจากการทุ่มเทศึกษาด้วยตัวเองอยู่หลายปี เธอก็ค้นพบสายพันธุ์ฝ้ายสีธรรมชาติที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่มองหาในปี 1989 ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์เก่าแก่ เธอไม่รอช้า รีบฟื้นฟูและเพาะปลูกแบบออร์แกนิก สร้างจุดเปลี่ยนให้ฝ้ายสีธรรมชาติเป็นทางเลือกใหม่ในตลาดผ้าและช่วยปลุกกระแสให้แบรนด์แฟชั่นที่เคยใช้ฝ้ายสีขาวหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะฝ้ายสีธรรมชาติไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมมาฟอกสีให้ขาวก่อน 

 

นอกจากสีฝ้ายธรรมชาติที่ออกดอกเป็นโทนสีน้ำตาล เธอยังปรับปรุงสายพันธุ์ฝ้ายให้ได้ฝ้ายธรรมชาติเป็นสีเขียวและสีแดงโดยไม่ต้องผ่านการย้อมใด ๆ กลายเป็นผ้าฝ้ายรักษ์โลกที่แบรนด์ดังระดับโลกหลายแบรนด์เลือกใช้ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย

ทุกวันนี้เธอยังคงทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาฝ้ายธรรมชาติ ด้วยความตั้งใจอยากทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เพราะการใช้ผ้าจากฝ้ายธรรมชาติ เป็นหนทางหนึ่งที่เธอสามารถช่วยอนุรักษ์ฝ้ายสีธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อม ๆ กัน 

 

 

Wi-Fi ของนักแสดงฮอลลีวูดสาวผู้เปลี่ยนทั้งโลกให้สื่อสารแบบไร้สาย

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บนจอภาพยนตร์ เฮดี ลามาร์ (Hedy Lamarr) คือดาวเด่นท่ามกลางนักแสดงฮอลลีวูด ถึงขนาดได้รับการยกย่องให้เป็นสตรีที่สวยที่สุดในโลกของยุค 1940 เธอเป็นนักแสดงหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผลงานแสดงการันตีความโด่งดังมากมาย แต่ชีวิตหลังกล้อง เธอยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่ทำได้ดีไม่แพ้กัน นั่นคือ นักประดิษฐ์ 

 

เมื่อสถานการณ์สงครามรุนแรงขึ้น เธอเริ่มเป็นห่วงครอบครัวซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยง จึงคิดหาวิธีติดต่อคนทางบ้านอย่างลับ ๆ แต่คนสมัยก่อนจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าไม่มีสายไฟและสายโทรศัพท์ คนที่อยู่ห่างไกลออกไปจะติดต่อกันได้อย่างไร

ด้วยความสนใจวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอพอมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่บ้าง จึงหารือกับนักดนตรีที่เธอสนิทด้วย เพื่อคิดค้นอุปกรณ์สำหรับส่งข้อความลับผ่านเครื่องรับส่งวิทยุ แต่การจะเข้าอ่านข้อความนั้นได้ ผู้ส่งและผู้รับต้องใช้รหัสเดียวกัน 

 

ปรากฏว่าเรื่องนี้ล่วงรู้ไปถึงกองทัพสหรัฐฯ ทางกองทัพจึงชวนเธอมาพัฒนาอุปกรณ์ต่อให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ หวังนำไปใช้ประโยชน์ในสงคราม แล้วเธอก็ทำสำเร็จเป็นระบบสื่อสารที่ปล่อยสัญญาณแบบกระจายคลื่นและความถี่ซึ่งศัตรูไม่สามารถดักจับได้ กองทัพสหรัฐฯ จึงใช้ระบบนี้นำวิถีตอร์ปิโดให้ไปโจมตีเป้าหมายได้สำเร็จ 

หลังสงครามยุติ เธอได้ความคิดเรื่องการสื่อสารแบบไร้สาย และพัฒนาระบบต่อมาเรื่อย ๆ กลายเป็นรากฐานของเทคโนโลยีไวไฟ (Wi-Fi) ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ จีพีเอส (GPS) และ บลูทูธ (Bluetooth) ที่เราใช้กันอยู่ตลอดในชีวิตประจำวัน หากโลกไม่มีผู้หญิงเก่งแบบเธอ บางทีทุกคนในวันนี้อาจยังต้องใช้โทรศัพท์แบบมีสายอยู่เหมือนเดิม 

 

อ้างอิง 

Colin Bisset. Iconic Designs: The Pedal Bin. https://ab.co/3yfmALI 

German Patent and Trade Mark Office. The invention of the coffee filters. https://bit.ly/3Yxr0rU 

Mary Bellis. Biography of Bette Nesmith Graham, Inventor of Liquid Paper. https://bit.ly/3ZrdzLt 

Martha Davidson. Innovative Lives: Sally Fox, Colorful Cottons. https://s.si.edu/3mufm3H 

Shivaune Field. Hedy Lamarr: The Incredible Mind Behind Secure WiFi, GPS And Bluetooth. https://bit.ly/3ZwhFSD

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...