เมื่อกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งศิลปะ มาตะลุยชม Bangkok Art Biennale 2022

26 Nov 2022 - 10 mins read

Art & Culture / Art & Design

Share

ขอบคุณภาพจาก www.bkkartbiennale.com 

จากเวนิสเบียนนาเล่...ถึงเทศกาลศิลปะสุดยิ่งใหญ่ ณ​ กรุงเทพฯ 

ที่จริงแล้วคำว่า “เบียนนาเล่” (Biennale) เป็นภาษาอิตาเลียน หมายความว่า “ทุกสองปี” มีกำเนิดมาจากเทศกาลศิลปะที่จัดขึ้น ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี คือ “La Biennale di Venezia” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1895 หรือประมาณ 127 ปีที่แล้ว ด้วยความที่งานนี้จัดปีเว้นปีจึงถูกเรียกว่า “เวนิส เบียนนาเล่” นั่นเอง

 

งานนี้ถือเป็นมหกรรมทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่เก่าแก่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นหมุดหมายดึงดูดทั้งผู้ชม นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในศิลปะ รวมถึงศิลปิน และคนทำงานในแวดวงศิลปะให้มารวมตัวกันได้อย่างมากมาย เพราะนอกจากจะมีผลงานศิลปะจัดแสดงทั่วทั้งเมืองแล้ว ยังเป็นเวทีในการแสดงผลงานของศิลปินให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผู้ชมจะได้ชื่นชมงานมาสเตอร์พีซของศิลปินที่มีชื่อเสียง ไปจนถึงสามารถคาดการณ์แนวโน้มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกศิลปะ ต่อมางานนี้ก็ได้กลายมาเป็นต้นแบบให้เกิดเทศกาลศิลปะแบบเดียวกันขึ้นตามเมืองสำคัญต่าง ๆ มากมายกว่าร้อยแห่งทั่วโลก จนมาถึงประเทศไทยเราเองก็มี “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่” (Bangkok Art Biennale - (BAB)) ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017

เนรมิตกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครศิลปะกับบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022

สำหรับใครที่พลาดงานนี้ไป 2 ปีแล้วก็ไม่เป็นไร มาชมครั้งที่ 3 กันได้ โดยเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ มีธีมของการจัดแสดงในปีนี้คือ “Chaos : Calm” หรือ “โกลาหล : สงบสุข” พูดถึงช่วงเวลาคับขันอันเนื่องมาจากภัยคุกคามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดใหญ่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการกับความไร้ระเบียบของโลกใหม่ โดยในปีนี้มีศิลปินที่จัดแสดงในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ มีมากถึง 73 ศิลปิน ซึ่งมีทั้งศิลปินระดับแถวหน้าในไทย และศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก และมีจำนวนชิ้นงานศิลปะมากกว่า 200 ชิ้นงาน

 

โดยงานศิลปะทั้งหมดจะกระจายกันจัดอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ​ 11 แห่งด้วยกัน ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์), วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, มิวเซียมสยาม, สามย่านมิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก, JWD Art Space และในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue โดยทั้งหมดจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566

 

และนี่คือ 7 ไฮไลท์เด็ดไม่ควรพลาดในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ซึ่งเป็นบางส่วนที่น่าสนใจให้ทุกคนได้เลือกไปชมกัน ค่อย ๆ hop ไปตามแต่ละที่ เชื่อว่าเราจะได้รับแรงบันดาลใจหรือข้อคิดดี ๆ กลับไปแน่นอน

1. The Eye of the Storm

ศิลปิน : Chiharu Shiota

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

หนึ่งในผลงานที่เป็นไฮไลท์คือ ผลงานจากศิลปินชาวญี่ปุ่น ชิฮารุ ชิโอตะ ที่มีชื่อว่า The Eye of the Storm ซึ่งเป็นศิลปะการร้อยเรียงกระดาษขาวนับพันแผ่นด้วยเส้นด้ายสีแดงเท่านั้น แต่เมื่อนำมาเชื่อมต่อกันกลับให้อารมณ์ และความรู้สึกเหมือนพายุที่กำลังก่อตัวที่รายล้อมด้วยความโกลาหล แต่ตรงใจกลางกลับสงบนิ่ง สื่อถึงภาพสะท้อนของจิตใจมนุษย์ และสังคม ผลงานชิ้นนี้มีพลังที่พร้อมส่งต่อให้ผู้ชม ทำให้ไม่น่าพลาดเลยทีเดียว

2. Temporary Insanity และ Anything Can Break

ศิลปิน : พินรี สัณฑ์พิทักษ์

พิกัด : ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

ผลงานศิลปะการจัดวาง Sound Interactive Installation โดยศิลปินหญิงสุดเท่ระดับแถวหน้าของไทย งานของเธอไม่ว่าจะรูปแบบไหนมักจะวนเวียนกับรูปทรงเต้านมของผู้หญิง เช่นเดียวกับ Temporary Insanity ประติมากรรมทรงเต้านมของผู้หญิงที่ลดทอนรูปร่าง ซึ่งศิลปินเชื่อว่าสัมพันธ์กับรูปทรงของสถูปในพุทธศาสนา โดยในครั้งนี้ได้มีการนำอีกผลงานมาแขวนลอยไว้เคียงคู่กันคือ Anything Can Break ที่เป็น Flying Cube หรือลูกบาศก์มีปีก และงานแก้วเป่ารูปเต้านม แถมยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เป็นกลไกที่จะเปิดเสียงประกอบเมื่อผู้ชมเข้ามาใกล้ ๆ อีกด้วย

3. Disasters of War IV

ศิลปิน : Jake & Dinos Chapman

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

ศิลปินดูโอสองพี่น้องอย่าง เจค และดิโนส แชปแมน ทำงานด้วยกันมายาวนานกว่า 30 ปี โดยหนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากคือ Disasters of War ซึ่งทั้งสองคนก็ได้สร้างสรรค์ซีรีส์นี้มาหลายชิ้นแล้ว จนมาถึงผลงานลำดับที่ 4 ในซีรีส์ดังกล่าวคือ Disasters of War IV ได้มีการนำเอาโรนัลด์ แมคโดนัลด์ แมสคอตที่เป็นภาพจำของแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดดังระดับโลกอย่างแมคโดนัลด์ มานำเสนอแบบเสียดสีความเป็นไปของสังคมได้อย่างตลกร้าย

4. อโรคยศาล

ศิลปิน : มณเฑียร บุญมา

พิกัด : วัดโพธิ์

 

อีกหนึ่งผลงานที่เป็นไฮไลท์ของงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ชิ้นนี้เป็นฝีมือของศิลปินร่วมสมัยเบอร์ต้นของไทยอย่างมณเฑียร บุญมา ความจริงแล้วอาจารย์มณเฑียรได้สร้างสรรค์ผลงานชั้นครูนี้เอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 แต่เนื่องจากเป็นสมบัติที่ถูกเก็บไว้ในคลังส่วนตัวของผู้ว่าจ้าง นี่จึงเป็นครั้งแรกที่งานชิ้นนี้ถูกนำมาเผยโฉมต่อสาธารณชนเลยทีเดียว ประติมากรรมสัมฤทธิ์ชิ้นงามนี้ได้นำเอารูปทรงของ “อโรคยศาล” ซึ่งเป็นสถานเยียวยาตามวัฒนธรรมขอม มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สื่อถึงความสงบไร้โรคภัย และภยันตราย

5. Pangkis

ศิลปิน : Yee I-lann 

พิกัด : วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 

อิ-ลาน เป็นศิลปินชาวมาเลเซีย ที่น่าจับตามอง เธอพำนักและทำงานอยู่ที่โคตา คินาบาลู รัฐซาบาห์ ผลงานสื่อผสมของเธอถูกนำมาจัดแสดงที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่มีความหลากหลายด้านความเชื่อ และศรัทธามานับร้อยปี ทั้งจีน อิสลาม พุทธ และคริสต์ ภายในศาลาการเปรียญของวัดจะมีการฉายวีดิทัศน์การเต้นรำของนักรบในรูปแบบร่วมสมัยอันเป็นเรื่องเล่าจากมุมมองของฝั่งบุรุษ ในขณะเดียวกันก็นำเสนอควบคู่ไปกับเรื่องเล่าของเสื่อทอ ที่มีสตรีเป็นศูนย์กลาง ทั้งเสื่อสีขาวที่ปูอยู่บริเวณพื้น และ “เสื่อคาราโอเกะ” แสดงเนื้อเพลงภาษาไทย และอังกฤษที่แขวนอยู่ตรงด้านข้างภายในพื้นที่จัดแสดงเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นพยายามที่จะสื่อถึงความกระวนกระวายในการพยายามหาที่ทาง ผนวกความรู้เก่าเข้ากับความรู้ใหม่ และการมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน

6. When The Fish Is Chirping

ศิลปิน : อริญชย์ รุ่งแจ้ง

พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ศิลปะจัดวางประติมากรรมรูปแถบโมเบียส (Möbius Strip) ที่ดูแปลกตานี้มาพร้อมกับวิดีโอชุด When The Fish Is Chirping กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการสร้างระเบียบ และอาณาเขต อันเป็นกลไกจัดการกับความโกลาหลที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ โดยศิลปินแสดงทรรศนะเอาไว้ในผลงานชุดนี้ว่า มนุษย์เราจัดการความโกลาหลด้วยการสร้างรูปแบบของความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคม และด้วยการสร้างวัตถุเครื่องมือ ตลอดจนประดิษฐกรรมอย่างปัญญาประดิษฐ์ จักรกล อุตสาหกรรม อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ มาใช้เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว

7. Live Space

ศิลปิน : จรัสพร ชุมศรี

พิกัด : JWD Art Space

 

จรัสพร เป็นจิตรกรที่หลงใหลในการสร้างผลงานจิตรกรรม สำหรับเธอแล้วการแสดงออกผ่านผลงานจิตรกรรมเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ความคิด ความรู้สึกของเธอเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเธอยังเป็นจิตรกรที่มีลักษณะนิสัยเป็นคนที่ไม่ชอบการออกไปพบเจอผู้คนมากนัก ดังนั้นเธอจึงรู้สึกโชคดีมากที่ได้เกิด และใช้ชีวิตอยู่ในยุคดิจิทัล พื้นที่ส่วนหนึ่งของ JWD Art Space ได้ถูกจำลองให้กลายเป็นสตูดิโอส่วนตัวสำหรับสร้างสรรค์งานของศิลปิน ความน่าตื่นเต้นจึงคือการที่ผู้เข้าชมสามารถแอบเข้าไปดูการวาดภาพของศิลปินแบบสด ๆ ได้ใน Live Space แห่งนี้ และเมื่อไรที่ศิลปินวาดภาพเสร็จสิ้นจนหมดแล้ว ผู้ชมก็ยังสามารถเข้าไปชมภาพที่วาดเสร็จแล้วกันต่อได้

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...