

จากงานอดิเรกที่รัก สู่นักวาดภาพประกอบอาหารมืออาชีพ
Art & Culture / Art & Design
24 Nov 2022 - 10 mins read
Art & Culture / Art & Design
SHARE
24 Nov 2022 - 10 mins read
ใครจะคิดว่าจากงานอดิเรกที่เคยทำเล่น ๆ จะทำให้ ฝ้าย-นภาวดี โรจนธรรม หรือ ครูฝ้าย แห่งเพจ “ปุยไฝไดอารี่” จะกลายเป็นนักวาดภาพประกอบอาหารด้วยสีน้ำเบอร์ต้น ๆ ของประเทศไทย ที่มีแฟนคลับและ Followers จำนวนมาก รวมถึงยังเปิดคลาสสอนเป็นประจำเพื่อแบ่งปันวิชาชีพนี้ให้กับบรรดาผู้ที่สนใจ และส่งมอบแรงบันดาลใจว่าทุกคนเองก็สามารถ Upskill ด้านศิลปะเช่นนี้ได้หากตั้งใจจริง
ไดอารี่ของ “ปุยไฝ” ความสุขที่เกิดจากการวาด
ด้วยความที่เป็นคนชอบเขียนไดอารี่เป็นประจำ บวกกับพอจะมีสกิลการวาดภาพเป็นทุนเดิม เธอจึงเริ่มวาดภาพประกอบสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันแทนที่จะจดบันทึกด้วยตัวอักษรเพียงอย่างเดียว โดยมากก็เป็นรูปของสถานที่ที่เดินทางไป หรือไม่ก็เป็นรูปอาหารที่ได้ลิ้มรส เมื่อมีเพื่อน ๆ ที่เห็นผลงานฝ้ายก็ได้รับเสียงเชียร์ว่าเธอควรจะเปิดเพจแชร์ความสามารถนี้ให้คนอื่นได้เห็น “จุดเริ่มต้นในการวาดภาพอาหารของฝ้ายเกิดจากความสนใจในวัฒนธรรมอาหารของประเทศต่าง ๆ คือมันเป็นคำสวยหรู แทนที่จะบอกว่าเราเป็นคนชอบกินค่ะ”
“ตอนที่อยู่อิตาลีเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว จะมีสมุดที่พกติดตัวเสมอ เวลาไปไหนก็จะเขียนบันทึกแล้วก็วาดรูปลงไป คือเราวาดเพราะรู้สึกมีความสุขมากกว่า แรก ๆ ฝีมือก็ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนักหรอก แต่ระหว่างที่วาดไปเราก็เริ่มจะจับทางแล้วค่อย ๆ พัฒนาเทคนิคของตัวเองขึ้นมาได้ จนเพื่อน ๆ เชียร์ให้เปิดเฟซบุ๊กเพจก็เลยลองดู คือจริง ๆ เราชื่อปุยฝ้ายค่ะ แต่มีฉายาที่เพื่อน ๆ เรียกกันคือ “ไฝ” ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อเพจ “ปุยไฝไดอารี่”
จากงานอดิเรกที่รัก…สู่นักวาดภาพประกอบอาหารมืออาชีพ
หลังจากที่ฝ้ายแชร์ภาพผลงานสีน้ำลงเพจ “ปุยไฝไดอารี่” ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างคาดไม่ถึง มีคนเข้ามาคอมเมนต์ชื่นชม สอบถามเทคนิคการวาด รวมถึงแชร์ผลงานต่อ ๆ กัน จนปัจจุบันเพจปุยไฝไดอารี่ของเธอมีผู้ติดตามร่วม 2 หมื่น ทั้งยังนำมาซึ่งอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งให้กับเธอ นั่นคือนักวาดภาพประกอบอาหารด้วยสีน้ำ
“ตอนนี้ฝ้ายทำงานประจำเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สอนคณะสถาปัตยกรรม จากตอนแรก ๆ ที่เราก็แค่แชร์ผลงานลงเพจ พอมีคนที่ชอบแชร์ต่อกันไปก็ได้รับ Feedback คำชมให้ชื่นใจ ฝ้ายรู้สึกว่าอาหารมันเป็นอะไรที่เป็นสากล คนเห็นแล้วรู้สึกว่าสวยน่ากิน ก็ไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย ไป ๆ มา ๆ จากที่เราเปิดเพจเป็นแค่งานอดิเรก กลายเป็นว่ามีอาชีพเสริมตามมาด้วย เพราะพอเริ่มเป็นที่รู้จักก็มีผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ติดต่อเข้ามาให้วาดภาพประกอบ ออกแบบโลโก้ ทำภาพประกอบเมนูหรือ Packaging ให้ ซึ่งงานในลักษณะนี้ก็มีเข้ามาตลอดเลยค่ะ จากอาชีพเสริมก็เลยกลายเป็นงานอีกพาร์ทหนึ่งที่จริงจัง”
“การทำงานตรงนี้ทำให้เรารู้ว่าในไทยมีธุรกิจอาหารอยู่ไม่น้อย และหลายร้านหลายแบรนด์เองก็สนใจที่จะใช้งานภาพวาดประกอบ คือด้วยความที่ภาพสีน้ำดูแล้วละมุนสบายตา ซึ่งบางกรณีภาพถ่ายมันก็สื่อสารถึงตัวตนแบรนด์ได้ไม่ชัด ก็เลยหันมาใช้ภาพวาด ฝ้ายว่าจริง ๆ แล้วในไทยเรามีศิลปินที่วาดภาพอาหารเก่ง ๆ อยู่เยอะ มีสไตล์แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายนั้น ๆ จะชอบสไตล์ไหน แต่ฝ้ายเองรู้สึกภูมิใจนะว่าจากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงแค่ความชอบ และงานอดิเรก ทำให้เราเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นอาชีพที่จริงจังอีกอย่างหนึ่งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน”
ศิลปะการวาดสีน้ำ สร้างมูลค่าด้วย Storytelling
นภาวดีถ่อมตัว และเน้นย้ำกับเราเสมอตลอดการสนทนาว่า “ฝ้ายไม่ใช่คนเก่ง” แต่เป็นคนที่หาความหลงใหล และแนวทางของตัวเองเจอมากกว่า เมื่อเธอโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองชอบคืออาหารจึงทำงานออกมาได้ดี เมื่อลองถามว่ามีงานไหนไหมที่ทำให้เธอรู้สึกว่าภูมิใจมาก ๆ ในฐานะนักวาดภาพประกอบอาหาร
“งานวาดภาพประกอบให้กับโครงการสินค้า ซึ่งเราก็ใช้ผลงานเล่าเรื่อง ทำให้สินค้าท้องถิ่นที่เป็น OTOP สามารถขาย และทำการตลาดได้ หรืออย่างบางทีตัวฝ้ายเองก็เคยทำงานวิจัยเพื่อบอกเล่าให้นักท่องเที่ยวทราบเกี่ยวกับอาหารพื้นเมืองของภูเก็ต และก็ได้มีการนำภาพวาดของเราเข้าไปใช้ในงานนั้นด้วย ฝ้ายรู้สึกว่าการวาดภาพอาหารด้วยสีน้ำของเรามันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสร้าง Storytelling ช่วยโปรโมตทั้งการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับชุมชนได้ การได้ทำงานในลักษณะนี้ก็ช่วยเติมเต็มให้เรารู้สึกภูมิใจ”
ความสนุกของการวาดภาพอาหารนั้นเป็นอะไรที่เป็นสากล ไม่ว่าคนชาติไหน วัฒนธรรมไหน เพียงมองภาพดูอาหารแล้วจะรู้สึกได้ถึงความน่ากิน โดยไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เสน่ห์ของการวาดภาพอาหารไม่ได้อยู่เพียงแค่ในระหว่างที่วาดหรือวาดเสร็จและมีคนมาชื่นชม แต่ยังรวมถึงการได้แบ่งปันความหลงใหลร่วมกับคนอื่น ๆ ที่ชอบอาหารเหมือนกันด้วย
“เวลาฝ้ายลงผลงานของเราในไอจี จะมีกลุ่มศิลปินหรือคนที่วาดภาพเหมือนกันทั้งที่เป็นคนไทย และชาวต่างชาติ เข้ามากดไลค์ คอมเมนต์ภาพของเราเรื่อย ๆ รู้สึกได้ถึงมิตรภาพ และการแชร์ความหลงใหลที่มีต่ออาหารร่วมกัน แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ การได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารที่แตกต่างกันด้วย อย่างบางเดือนเราจะจัดอีเวนต์ออนไลน์กัน ชวนกันมาวาดภาพอาหารในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งแล้วติดแฮชแทกแลกกันดู ก็สนุกดีที่เราเองก็ได้แชร์วัฒนธรรมอาหารไทยให้คนชาติอื่นรู้จัก ได้เรียนรู้เรื่องราวของขนมหรืออาหารแปลก ๆ ของชาติอื่น มันก็เลยมีความเป็นชุมชนแบบนี้อยู่ ตรงนี้ก็เป็นเสน่ห์ของการวาดภาพอาหารสำหรับฝ้ายด้วยเหมือนกัน”
Tips ในการวาดสำหรับมือใหม่ฉบับครูฝ้าย
• โฟกัสที่ความสุข “การวาดภาพอาหารเป็นทักษะที่เหมือนกับการทำสิ่งอื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน ตอนเริ่มแรกหลายคนอาจยังทำได้ไม่ดี แล้วก็คิดว่าตัวเองไม่มีหัวทางด้านนี้ก็เลยยอมแพ้ไปโดยปริยาย แต่จริง ๆ ทุกอย่างต้องสั่งสมประสบการณ์และชั่วโมงบิน ขอให้ลองทำต่อไปเรื่อย ๆ อย่าไปกดดันตัวเองว่าเป็นการฝึกให้ต้องเก่งขึ้นเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดคือความสุข ถ้าเราชอบอาหาร วาดแล้วมีความสุข อยากจะให้โฟกัสตรงนั้นมากกว่า ทำไปบ่อย ๆ ก็จะพัฒนาฝีมือขึ้นมาได้”
• อินเทอร์เน็ตคือแหล่งความรู้ “ทุกวันนี้มีคลิปที่สอนเทคนิคการวาดพื้นฐานอยู่มากมาย เราสามารถดูแล้วหัดวาดตามเองได้ พอทราบถึงหลักการพื้นฐานซึ่งไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของชั่วโมงบินประสบการณ์ในการวาดแล้ว”
ฝ้ายยังย้ำทิ้งท้ายว่า การวาดภาพอาหารนั้นสนุกมากจริง ๆ แถมยังไม่ยากอย่างที่คิด ดังนั้นคราวหน้าที่ไปคาเฟ่หรือร้านอาหาร แทนที่จะถ่ายรูปขนมหรืออาหารน่ากินลงโซเชียล อยากให้ลองหันมาวาดทำเป็นไดอารี่ดูก็จะเพลิดเพลินไปได้อีกแบบ ซึ่งทุกคนทำได้แน่นอน!