

Cassette Shop ชุบชีวิตวงการเทปไทย
Art & Culture / Living Culture
31 May 2022 - 9 mins read
Art & Culture / Living Culture
SHARE
31 May 2022 - 9 mins read
เรื่องราวในประเทศไทยช่วงปลายทศวรรษ 2010 ของชายคนหนึ่งที่สะสมเทป ขายเทป และออกเทปภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี! นี่ไม่ใช่พล็อตภาพยนตร์ที่ไหน แต่คือเรื่องจริงโดยย่อของ เจ-ณัฐพล สว่างตระกูล เจ้าของร้าน Cassette Shop ที่ทำให้คำว่า ‘ออกเทป’ ไม่ใช่แค่คำเชย ๆ อีกต่อไป เพราะมีเทปม้วนใหม่ๆ ออกวางแผงเทปจริงในยุคที่สตรีมมิ่งครองเมือง
ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่แค่คนคนหนึ่งที่สะสมและขายเทป แต่ในวันที่แทบไม่มีแผงเทปให้แดดเลีย เขากลับลุกขึ้นมากางร่มบังแดด เปิดร้าน และทำเทปใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นวงการเทป และถ้ามีหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนเขียนเกี่ยวกับวงการเทปประเทศไทย ชื่อของณัฐพลก็จะถูกบรรจุอยู่ในนั้น ชายผู้ไม่ปล่อยให้วงการเทปหยุด หลุดลอยไปกับยุคสมัย
เมื่อกดปุ่มเพลย์ เทปเพลงช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงรัก
“ผมเรียนจบออกแบบ เป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้า เปิดแบรนด์มา 10 ปีได้ จนหลัง ๆ ไม่ค่อยดี ก็ปิดกิจการไป เราก็ลอย ๆ อยู่ครึ่งปี จนวันนึงว่างมากก็ไปเดินตลาดมือสองแล้วซื้อเครื่องเล่นเทปมา ตอนนั้นแทบไม่มีตังค์เลย แต่รู้สึกว่าเทปมันเยียวยาจิตใจเราได้ แล้วก็เพิ่งรู้ว่าเราชอบเทปว่ะ ก็เริ่มรื้อเทปที่บ้านมาฟัง เข้าไปในกลุ่มซื้อขายเทป มันสนุกดีนะ เริ่มมีชีวิตชีวาขึ้น กลับมาทำงานได้ ตอนนั้นก็เริ่มดูแลร้านอาหาร แต่ก็ศึกษาเรื่องเทปอยู่ตลอด เอาทิปส์จากร้านมาซื้อเทปมือสองเยอะมาก รู้ตัวอีกทีก็เกือบหมื่นม้วนแล้ว โชคดีอย่างที่บ้านเราอยู่ตรงข้ามกับร้านแผ่นเสียงประดิพัทธ์ เราชอบเดินไปคุยกับเขาบ่อย ๆ เขาแนะนำให้เราขาย เราก็เริ่มเข้าวงการมา เปิดเพจขายเทป จนรู้สึกว่าอยากทำร้าน
“พอเราจริงจังก็คุยกับตัวเองเรียบร้อยเลยนะ ทำแพลน วางโครงสร้างว่าจะไปทางไหน จะไปสู่สิ่งนั้นยังไง เป้าหมายอะไร พอรู้ว่าชอบอะไร เราก็เขียนจากสิ่งนั้นแหละ อยากให้วงการเป็นยังไง ก็ค่อย ๆ ไต่ทำมา ใช้ความอดทน ความเพียร ความเชื่อ อะไรที่เราไม่เก่งก็ยอมรับและศึกษาเพิ่ม เราเคยทำงานประจำเรารู้ว่าถ้าเจ้านายสั่งอะไรมายาก ๆ เราก็ต้องทำให้ได้ ต้องบี้ตัวเองจนได้ ตอนนี้เราเป็นนายตัวเองก็ต้องบี้ตัวเองให้ได้เหมือนกัน พอเปิดร้านได้ไม่ถึงปี ก็มาถึงแพลนว่าต้องทำโปรเจกต์ใหม่ ต้องทำเทปใหม่ออกมาให้ได้
“เราอยากให้ศิลปินกลับมาออกเทปกันใหม่เยอะ ๆ พอพูดว่าจะทำเทปให้ศิลปินปุ๊บ พี่ ๆ ในวงการนักสะสมหันมามองว่าบ้าหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ทำมันก็อยู่แค่นี้ เราว่ามันยังไม่สนุก ถ้าทำได้ทั้งวงการน่าจะตื่นเต้นดีนะ เรามองว่าเป็นไปได้ ถึงซีดีขายไม่ค่อยได้ แต่แผ่นเสียงก็ขายดีนะ อะไรที่เรโทรก็ยังได้อยู่ เพียงแต่ไม่มีคนบ้าพอที่จะกล้าทำเทป”
เปลี่ยนปก เพิ่ม (อัด) เพลง
“เราศึกษาเยอะมาก ไฟล์ที่ใช้ วัสดุ โรงงาน ดูโปรดักชั่น ก็เช็กหมดเลยนะว่ามีโรงงานอยู่ไหนบ้างในโลก ที่ไทยมีนะแต่เป็นโฮมเมด คือคนที่เขายังมีเครื่องอยู่เขาก็รับทำ แต่ยังไม่ใช่อุตสาหกรรม เราเลยไปทำที่แคนาดา เป็นบริษัททำเทปโดยเฉพาะ ที่รับทำให้ศิลปินทั่วโลกอยู่แล้วในตอนนี้ จริง ๆ มีทั้งอังกฤษ ไต้หวัน เยอรมัน แต่เราคิดว่าชอบคิดง่าย ๆ ว่าคุยกับคนไหนรู้เรื่องก็คนนั้นแหละ (ยิ้ม) ที่สำคัญเรื่องเสียง เรื่องการผลิตพวกนี้มันละเอียดอ่อน เลยเลือกแคนาดาที่ตอบโจทย์
“พอเราเข้าไปคุย ส่งโปรไฟล์ไป เขาก็ตื่นเต้น เขาไม่เคยเจอคนไทยนะ ถามว่าคนไทยทำกันด้วยใช่มั้ย แล้วเขาก็ขอให้โชคดีนะ จนวันที่คนไทยทำกันเยอะมาก ๆ เขาก็ยังอีเมลมาตอนปีใหม่เลยว่าขอบคุณมาก ทุกคนแห่ไปทำที่เขาหมด ไม่น่าเชื่อว่าเขามีบิลจากประเทศไทยเยอะขนาดนี้ (หัวเราะ) เขางงมากที่ฮิตขนาดนี้
“พอทำโปรดักชั่นเสร็จก็มาดูเรื่องธุรกิจ ทำเป็นโมเดลเลย เรามีเพื่อนเป็นศิลปินเยอะ คิดว่าเขาต้องได้รายได้จากส่วนนี้ การทำงานมีทีมผลิต ศิลปิน ค่ายเพลง ต้องได้ผลตอบแทน ที่เทปแพงเพราะเราผลิตน้อยมาก 300-500 ม้วน บางอัลบั้มพันม้วน แล้วส่วนแบ่งมันก็ไม่ได้เยอะหรอก บางวงก็มีสมาชิกตั้ง 5 คน แต่ทุกคนทำเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจมากกว่า ขายดีก็ดีนะ ขายไม่ดีก็นั่งมองหน้ากันปริบ ๆ จุก เจ็บ ปัจจุบันคนจะบ่นเรื่องเทปแพง เราก็เข้าใจ วางให้มันเป็นของสะสมนะ เราผลิตน้อยมาก การที่แผ่นเสียง เทป เสื้อ กระเป๋าของศิลปินขายได้ มันก็ทำให้ศิลปินอยากจะทำงานต่อ เรามองว่าเทปจะช่วยเขาได้”
ตลับใหม่ประจำเดือนนี้
“การชวนศิลปินมาทำเทปในยุคนี้มันก็ต้องอาศัยใจนะ เราเริ่มทำเทปตอนปี 2018 ก็ชวนทวน Day Tripper กับ พี่เล็ก วงพราว มาทำอัลบั้มพิเศษ “ทวนเล็ก” เป็นอะคูสติกเล่นที่บ้านเราเอง แล้วอัดลงเทป จากนั้นก็มีอัลบั้มอภิรมย์ปกขาวที่ทำให้คนกลับมาสนใจเทปกันมากขึ้น พอมันทำได้ขายได้ เราก็ดีลศิลปินมาเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้เยอะมาก มีไววิทย์, Tuan, The Parkinson, My Life As Ali Thomas, Rasmee Isan Soul, Modern Dog, Anatomy Rabbit, T_047, Telex Telexs, Balloon Boy, Death of a Salesman ล่าสุดก็ Solitude Is Bliss ซึ่งเทปทั้งหมดเป็นการอัดเสียงใหม่หมดเลย
“ตอนนี้เปิดร้านมาได้จะ 5 ปีแล้ว ปีที่แล้วคนทำเทปเองกันเยอะมาก เราก็เริ่มเฟดตัวเองลงมา เหลือเป็นออกประมาณเดือนละอัลบั้ม เพราะทุกค่ายก็ทำกันหมดแล้ว เวลาเขาออกเทปใหม่ เราก็ช่วยค่ายเขาขาย ช่วยโปรโมต ช่วยเปิดพรีฯ คือเราก็เป็นร้านขายเทปที่เหมือนเป็นสื่อ ๆ หนึ่งด้วย”
จอ เอะ บอ เจ็บของเจ-ณัฐพล
“ตั้งแต่ทำเทปมาก็มีช่วงที่สาหัสเหมือนกัน เอาจริง ๆ ช่วงที่เทปออกเยอะ ๆ ตอนนั้นเราเศร้าสุดเลย เราสงสารคนซื้อ เราอยู่ในตลาด เรารู้ปริมาณคนซื้ออยู่แล้ว คือเราเขียน Business Plan ออกมาอยู่แล้ว เราทำวิจัย เราคำนวณทุกอย่างเป็นตัวเลขว่าคนสะสมมีกำลังทรัพย์ที่จะเล่นต่อเดือนเท่าไร รู้ว่าเขาไม่ไหวหรอก เรากลัวว่าเขาจะเข็ด และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ช่วงหลังคนก็เข็ด เพราะราคามันคือ 600 บาทไปแล้ว และออกที 14 อัลบั้มมันเกินไป จริง ๆ วิถีคนสะสมเขาเก็บทุกอัลบั้มนะ แต่ 14 อัลบั้มต่อเดือนมันไม่ไหว เด็กบางคนเรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่ไหวก็เลิกเล่น มันเศร้านะ ผมเข้าใจคนซื้อดีเลยว่าเขาเฮิร์ตขนาดไหนที่ต้องเลิกเล่น พอเลิกเขาจะปิดการติดตามกลุ่ม ปิดทุกอย่าง ไม่สนุกแล้ว
“ตอนนั้นผมเขียนในหน้าเพจเลยนะ ขอร้องค่ายเพลงว่าอย่าเพิ่งออกกันเลย มันเยอะเกินไป สงสารคนซื้อมาก ๆ แต่ช่วงนี้ก็เริ่มซา ซึ่งเราว่ากลับมาสู่วิถีประมาณนี้ดีกว่า ถึงเทปใหม่จะออกมา แต่เทปเก่าคนก็ยังฟังกันอยู่ มันต้องการพื้นที่ให้มีคนได้พูดถึงเทปเก่าด้วย วิถีมันสโลว์ไลฟ์มาก แต่การออกเทปที่มันเร็วมากเกินไป มันไม่ใช่บุคลิกนิสัยของเทปคาสเซ็ท คนสะสมเขาก็อยากจะหาเพลงแปลก ๆ ในอัลบั้มฟังบ้าง เทปม้วนนึงมีทั้งเพลงดังและไม่ดัง ต้องมีเวลาได้อยู่กับเทปเก่าบ้าง”
ไปทะเลกันดีกว่าซินโดรม
“ทุกวันนี้เราก็มีแพลนลงคอนเทนต์ออนไลน์อยู่แล้วในแต่ละวัน ช่วงเช้าก็จะทำงานตามลิสต์ที่ต้องทำ บ่าย ๆ ก็จะเริ่มนั่งฟังเพลงทำโน่นนี่ไปเรื่อย ๆ เพลงไหน อัลบั้มไหนรู้สึกกับมันก็จะเขียนไว้ ถ่ายรูปเก็บไว้ มันไม่จำเป็นต้องขาย ๆ อย่างเดียว เราอยากบอกมุมมองเรา บางทีเราชอบเพลงนี้ไม่ใช่เพลงฮิตก็จะเล่า ระหว่างวันก็จะต้องเทสต์เครื่องเล่นเทป เรามีเยอะมาก และมันต้องเทสต์ทุกวัน ตอนเย็นก็จะมีลูกค้าก็นั่งคุยกัน
“ตอนนี้ทำงานคนเดียวเลย ปัญหาใหญ่คือเรื่องสต็อก ในฐานะของคนขายของสะสม มันจะมีโรคโรคหนึ่งคือซื้อเข้าแต่ไม่ยอมปล่อย เราต้องจัดการกับสิ่งพวกนี้กับจิตใจตัวเองให้ได้ครับ (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องที่ทำใจลำบากมาก มันเป็นของสะสมที่เรารักจนบางทีจะไม่ยอมปล่อย มีเทปที่อยู่กับเราเยอะมากเลย พวกเทปไทยหายาก หรือเทปฝรั่งเก่า ๆ เราจะเก็บเทปชรัส เก็บพี่เบิร์ดชุดแรก เก็บปานศักดิ์ ชุดไปทะเลกันดีกว่า ชอบมาก เก็บทุกม้วนซ้ำกันประมาณ 30 ม้วนแล้ว ไม่รู้เป็นโรคอะไรเหมือนกัน เห็นปานศักดิ์ไปทะเลแล้วต้องซื้อ ทุกคนจะรู้ว่าพี่เจไม่ขายปานศักดิ์ คุณจะไปซื้อที่ไหนยังไงก็ได้ แต่ร้านนี้ไม่ขายปานศักดิ์แน่นอน ถ้าเจออีกก็ซื้ออีกด้วย ใครมาขอซื้อก็ไม่ได้ จะบอกให้ไปหาซื้อเอง ซึ่งมันไม่ได้แพงขนาดนั้นด้วยนะ เป็นเรื่องส่วนตัวเองเราเอง อ้อ! แล้วก็มีโมเดิร์นด็อกชุดแรก เก็บประมาณ 10 ม้วน มีขายบ้างเป็นครั้งคราวถ้าไม่มีตังค์ (หัวเราะ) เพราะเรารู้ว่ามีขายเรื่อย ๆ แต่ปานศักดิ์ยังไงก็ต้องเก็บ”
Cassette Shop สาขาใหม่ไม้ม้วน
“ช่วงนี้มันกำลังพอดี ๆ ในวิถีของเทป แต่เราคาดว่าเดี๋ยวเทปมันก็กลับมาบูมอีก และต่อให้มันซาลง ก็จะทำให้มันกลับมาใหม่ จะไม่ปล่อย ตอนนี้มีแพลนอยู่ พยายามจะเปิดหน้าร้านให้คนมามากขึ้น และมีแพลนจะเปิดสาขาอีก จะพาร้านเข้าสู่ชุมชน เข้าห้างภายในปี 2 ปีนี้ แต่ในร้านไม่มีปานศักดิ์แน่ ๆ ปานศักดิ์อยู่บ้าน (หัวเราะ)
“ก็คิดเยอะเหมือนกัน ถ้าเราอยู่สยามจะได้มั้ย อยู่ชั้นใต้ดินเซ็นทรัลลาดพร้าวจะได้มั้ย เหมือนสมัยก่อนที่มีร้านในห้าง คิดถึง Tower Records เลยนะ มีเทปให้ยืนฟังได้ด้วย อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่มันใช้ทุนมหาศาล เราตั้งเป้าไว้เหมือนตอนอยากให้ทุกคนกลับมาทำเทปนั่นแหละ คนก็จะแบบ “ฮะ จริงเหรอ” เหมือนกัน แต่เราว่ามันทำได้นะ”
Cassette Tape
ชั้น 2 ของบ้านเลขที่ 5/3 ซอยประดิพัทธ์ 19 สามเสนใน พญาไท กทม. 10400
เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 11.00-20.00 น. (กรุณาโทรนัดก่อนที่เบอร์ 098-8929946)