Mango Art Festival นิทรรศการศิลปะนานาชาติ พื้นที่ปล่อยของให้ศิลปินไทยไปไกลระดับอินเตอร์

21 May 2024 - 7 mins read

Art & Culture / Living Culture

Share

ผ่านพ้นไปอีกครั้งกับ Mango Art Festival นิทรรศการศิลปะนานาชาติที่ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 7-12 พฤษภาคม 2567 สร้างบรรยากาศคึกคักให้ River City Bangkok เพราะคลาคล่ำไปด้วยกลุ่มคนรักศิลปะที่มาเดินชมงาน และอุดหนุนผลงานของศิลปินที่ถูกใจ

 

หากจะมีใครสักคนรู้จัก เข้าใจ และมองเห็นการเติบโตของเทศกาลศิลปะที่มีจุดเริ่มต้นง่าย ๆ อย่างการต้องการเป็น Marketplace ให้ศิลปินไทยขายผลงานและสร้างชื่อให้ก้าวไกลไปสู่เวทีระดับอินเตอร์ได้ คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่า ท็อป - ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Mango Art Festival ที่อยากให้สวนมะม่วงแห่งงานศิลป์เติบโตแตกกิ่งก้านสาขา และปรากฏการณ์นั้นกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในทุก ๆ ปี

ท็อป - ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล 

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Mango Art Festival

 

“ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของ Mango Art Festival ถือกำเนิดขึ้นจากความรู้สึกถูกใจในสเปซที่ล้ง 1919 ซึ่งเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยมาก มีอาคาร 2 หลังและสนามหญ้า ผมและผู้ร่วมก่อตั้ง (สุชาย พรศิริกุล) รู้สึกอยากจัดเทศกาลศิลปะบนพื้นที่นี้ เลยถามตัวเองว่า Art Festival แบบไหนที่สามารถทำได้เลยทันทีในเมืองไทย โดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติ ด้วยความที่ผมเคยทำ Hotel Art Fair มาก่อน จึงรู้ว่าบ้านเรามีทั้งงานศิลปะ งานดีไซน์ และศิลปะการแสดงที่ไม่แพ้ใคร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการจัดงานครั้งแรก จากนั้นจึงตั้งชื่องานว่า Mango Art Festival เหตุผลที่เลือกใช้ชื่อเป็นผลไม้ เพราะในอนาคตเราสามารถ Collaborate กับประเทศเพื่อนบ้านได้ ด้วยความที่ละแวกนี้มีมะม่วงเหมือน ๆ กันหมด” ไผทวัฒน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Mango Art Festival แบบกระชับ

 

“ผมไม่อยากให้ Mango Art Festival เป็นเหมือน Art Basel, Art Stage หรือ Art Fair Philippines สิ่งที่อยากทำคือ การเป็น Market Place ให้คนมาเที่ยวงานกันเยอะ ๆ เพราะผมเองก็เป็นศิลปิน เลยอยากให้ศิลปินด้วยกันเองสามารถขายงานได้ โดยหลังจากจัดงานแมงโก้มาเป็นปีที่สี่ Feedback ที่ผมได้รับจากฝรั่งหลายคนที่มางาน มักบอกว่าเสน่ห์ของ Mango Art Festival คือ ความวุ่นวาย เยอะแยะ แน่นขนัด ทุกอย่างเล็กไปหมด ไม่เหมือน Art Fair ที่อื่น It’s just like Bangkok! ซึ่งฝรั่งกลับชอบเอกลักษณ์ตรงนี้ เลยช้อปงานศิลปะกันยกใหญ่” ผู้จัดงานคั่นเรื่องเล่าด้วยรอยยิ้ม ก่อนบอกเล่าต่อด้วยความภูมิใจ 

 

“Mango Art Festival เป็นเทศกาลศิลปะที่ขายงานได้จริง ๆ เพราะ Art Objects ในงานเรามีหลากหลายทุกราคา หากคุณมีงบน้อยก็ซื้องานชิ้นเล็ก ๆ ถ้ามีเงินเยอะก็ซื้องานชิ้นแพง ๆ ไม่เหมือนการไปงาน Art Fair ใหญ่ ๆ ที่ตั้งเรตราคาชิ้นงานขั้นต่ำสุดหลักแสนบาท” 

 

มูลค่างานศิลป์ที่หลากหลายแปรผันตรงกับความวาไรตี้ของบรรดาศิลปินที่มาร่วมงาน ซึ่งแบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนศิลปินอิสระ โซนศิลปินหน้าใหม่ โซนงานคราฟต์ และโซนแกลเลอรี โดยปีนี้มีแกลเลอรีชั้นนำจาก 18 ประเทศมาร่วมงาน เช่น A4 Gallery จากญี่ปุ่น, Vinyl on Vinyl จากฟิลิปปินส์, Whitestone Gallery จากสิงคโปร์, Inkriot Gallery จากอินเดีย, Boon Boon Art และ Formosa Art Fair จากไต้หวัน ฯลฯ

 

“ธีมงานในครั้งนี้ คือ ‘Journey’ ที่เราตั้งใจบอกเล่าถึงการเดินทางของ Mango Art Festival ที่ก้าวสู่ปีที่สี่แล้ว โดยในระยะหลังมีคนติดต่อมาขอ Collaborate กับเราเยอะ อยากแลกเปลี่ยนพื้นที่และพาศิลปินไทยไปโปรโมทที่เมืองนอก ซึ่งเราก็กำลังร่วมงานกับ Art Formosa ประเทศไต้หวัน ที่มาออกบูธกับเราเป็นปีที่สองแล้ว ปีที่แล้วเราก็พาศิลปินไทยไปโชว์ที่ Art Formosa และ Art Future ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร” ท็อป จ่างตระกูล เล่าต่อถึงแก่นสำคัญที่เทศกาลศิลปะแมงโก้ยึดถือมาโดยตลอด

 

“DNA สำคัญของ Mango Art Festival คือ Platform กับ Opportunity เราต้องการให้งานนี้เป็นการสร้างเวทีให้ศิลปินไทยได้มีโอกาสเติบโตในสายงานของเขา รวมถึงการสร้างโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาเจอกัน โดยเราเปิดกว้างสำหรับคนทำงานศิลปะทุกรูปแบบ เพราะแค่เป็นศิลปินก็ยากพอแล้ว จะให้เรามานั่ง Categorize ว่างานคนนี้ไม่เข้าเกณฑ์อีก ผมว่าเป็นการปิดโอกาสกันเกินไป ผมอยากให้เขามาเรียนรู้กระบวนการต่าง ๆ เช่น ถ้าอยากให้งานเราขายได้ต้องปรับตรงไหน”

 

“ถ้าเราอยากจะ Uplift วงการศิลปะก็ต้องดึงมาทั้งแม่น้ำ เอาปลาทุกตัวตั้งแต่ตัวจิ๋วถึงตัวใหญ่ให้เดินทางไปด้วยกัน ตัวใหญ่ก็ต้องให้เขาใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตัวจิ๋วก็ต้องให้เขาพัฒนาต่อไป มีศิลปินหลายคนที่อยู่กับแมงโก้มานานสามปี เราเห็นการเติบโตของพวกเราที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้น อย่าง Nawat Cubic (นวัต คิวบิก) ที่วาดภาพแนว Cubism ซึ่งขายดีมาก ปีนี้เขานำงาน Painting มาโชว์ 3 ภาพโดยไม่ขาย เขาแค่อยากนำเสนอพัฒนาการของเขาตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบันว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่ Mango Art Festival จะมีศิลปินที่เติบโตไปกับงานของเราในลักษณะนี้อยู่หลายคน”

สุนิษา อัศวินรุ่งโรจน์ 

ศิลปินผ้าปัก

 

“หรืออย่าง สุนิษา อัศวินรุ่งโรจน์ ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคผ้าปัก ซึ่งเมื่อปีที่แล้วไปร่วมงาน Art Future มาด้วยกัน ก็สร้างเอกลักษณ์ที่น่าสนใจในชิ้นงานที่มีเครื่องมือเป็นจักรเย็บผ้าทั่วไป แล้วค่อย ๆ วาดภาพผ่านสีสันของด้ายที่เปลี่ยนไปทีละสี โดยเล่าเรื่องผ่านกระต่ายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตากระต่ายสีขาวที่เธอเคยเล่นตอนเด็ก ๆ แล้วถูกเก็บไว้ในกล่องจนลืมไปแล้ว เมื่อเธอเปิดกล่องมาเจอกระต่ายในความทรงจำอีกครั้งจึงชุบชีวิตให้เพื่อนเก่าได้กลับมาใช้ชีวิตด้วยกันอีกครั้งผ่านงานศิลปะ”

PhoM Gogh

จิตรกรและศิลปินงานจักสาน

 

“อีกหนึ่งศิลปินในโซน New Comer ที่น่าจับตามอง คือ PhoM Gogh ที่นำเสนองานจักสานร่วมสมัย นอกจากจะสานหวายเป็นพระพุทธรูปและสัตว์ต่าง ๆ แล้ว ยังนำเด็กผมโก๊ะมาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของเด็กชาวบ้านจากที่เคยปั้นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาเล่น พอหันมาชื่นชอบซูเปอร์ฮีโรของต่างชาติ เลยสร้างผลงานภาพเพนต์เด็กโก๊ะกำลังสานอุลตราแมน และ Bear Brick เพราะเด็กบ้านนอกไม่มีทางมีเงินซื้อของเหล่านั้น แต่สามารถเอาวัสดุท้องถิ่นมาสานเป็นสิ่งที่เราต้องการได้”

 

เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้แปะไว้ให้อ่านบนบอร์ดนิทรรศการ แต่เป็นเรื่องเล่าที่เหล่าศิลปินรอที่จะพูดคุยและบอกกล่าวให้ผู้เสพศิลปะได้รับฟัง 

 

“ผมขอยกคำพูดของ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) ศิลปินคนโปรดของผม ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า “I don’t believe in art but I believe in artist.” หมายความว่า นิยามของศิลปะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง แต่ตัวศิลปินต่างหากที่เป็นตัวตนของผลงาน ดังนั้น คนที่มาเดินงานแมงโก้ อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจว่าสิ่งนี้อาร์ต สิ่งนั้นไม่ใช่อาร์ต โดยฟังมาจากสื่อหรือเพื่อนของคุณโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองของตัวเอง เพราะคุณอาจสูญเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ”

 

 

“หากดูงานศิลปะแล้วเกิดความไม่เข้าใจ ผมแนะนำให้พูดคุยกับศิลปินว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ เพราะศิลปินเหล่านี้รอมาหนึ่งปีที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ถ้าเกิดคำตอบของเขาน่าสนใจ น่าเชื่อถือ หรือโดนใจ สิ่งที่คุณกำลังมองอยู่ก็คือศิลปะสำหรับคุณนั่นเอง”

 

นับจากนี้ไปอีกหนึ่งปี บรรดาศิลปินทั้งหลายต่างก็เตรียมซุ่มผลิตผลงานชิ้นใหม่ ๆ และรอที่จะได้มีโอกาสบอกเล่าไอเดียสุดบรรเจิดเหล่านั้นให้คุณรับฟัง และกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนผลงานของศิลปินไทยที่จะค่อย ๆ เติบโตอย่างแข็งแรงขึ้นทุกปี

 

“ในอนาคตผมเชื่อว่าเราสามารถทำได้เยอะกว่านี้ หากภาครัฐสนับสนุน เพราะการพาศิลปินไทยสิบคนไปต่างประเทศต้องอาศัยทุนในการจ่ายค่าตั่วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าติดตั้งผลงาน ฯลฯ สมมติว่าเราตั้งหัวข้อง่าย ๆ ว่า 10 Thai Artists You Should Know แล้วพาทั้งสิบคนไปตามเมืองต่าง ๆ ที่มีการจัดงานศิลปะ ก็อาจเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้คนรู้จักเมืองไทยมากขึ้นในด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ผมว่าสามารถทำได้ แม้จะช้าหน่อยก็ตาม”

 

“เราไม่ได้เป็นผู้จัด Art Festival งานเดียวในประเทศไทย มีบริษัทอื่นจัดงานศิลปะอีกมากมาย เราสามารถรวบรวมรายชื่องานเหล่านี้ไปเสนอรัฐบาลให้นำไปกระจายตามบริษัทด้านโทรคมนาคม อุตสาหกรรมพลังงานและเชื้อเพลิง Crypto Industry หรือโรงแรมต่าง ๆ โดยมีข้อเสนอว่าหากองค์กรเหล่านี้สนับสนุนเทศกาลศิลปะในเมืองไทย พวกเขาจะได้รับ Tax Incentive หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ”

 

“เงินทุนจากการสนับสนุนเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาการตลาดของเทศกาลศิลปะให้ดีขึ้นได้ เช่น เพิ่มโอกาสในการเชิญ Collector จากเมืองนอกมาดูงานศิลปะที่เมืองไทย พาพวกเขาเดินทางท่องเที่ยวทำความรู้จักเมืองไทย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและจุดประกายให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ตามมา” นักจัดเทศกาลศิลปะชั้นนำของไทยปิดท้ายด้วยการยกตัวอย่างโอกาสที่เป็นไปได้สำหรับทิศทางการเติบโตของเทศกาลศิลปะในเมืองไทย

 

ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะ และรายละเอียดของ Mango Art Festival ครั้งต่อไปได้ทาง facebook.com/MangoArtFestival และ www.mangoartfestival.com

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...