

เปลี่ยนเป็นคน ‘โชคดี’ กว่าใคร โดยไม่ต้องรอชะตาฟ้าลิขิต แค่ใช้ชีวิตด้วยแนวคิด Serendipity
Art & Culture / Living Culture
18 Oct 2024 - 4 mins read
Art & Culture / Living Culture
SHARE
18 Oct 2024 - 4 mins read
ใคร ๆ ก็อยากเป็น ‘คนที่โชคดี’ แต่ถ้าโชคยังไม่มาสักที คุณจะทำอย่างไร ?
LIVE TO LIFE มีตัวเลือกให้ระหว่าง อยู่เฉยไม่ทำอะไร รอชะตาฟ้าลิขิตความโชคดีมาให้ กับ ปรับมุมคิดใหม่ว่าชีวิตพบเจอความโชคดีได้ทุกเมื่อ แค่หาทางเข้าใกล้ความโชคดีแล้วไขว่คว้ามาเป็นของตัวเอง
คนจำนวนไม่น้อยน่าจะคิดเหมือนกันว่า ‘ความโชคดี’ ที่ทุกคนอยากได้อยากมี คงเป็นเรื่องของดวงและความบังเอิญคล้ายกับการจับสลาก ดวงดีได้ ดวงร้ายเสีย ซึ่งไม่มีใครในโลกนี้จะมีอำนาจเสกความโชคดีให้เกิดขึ้นได้ทันทีตามใจนึก จึงยอมจำนนต่อชะตากรรม แล้วหันหน้าเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความหวังว่า พลังแห่งศรัทธาที่ตนกราบไหว้บูชา จะเป็นที่พึ่งทางใจ และช่วยประทานพรนำพาความโชคดีมาสู่ตัวเอง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เชื่อไหมว่า ? ‘โชคดี’ ก็เหมือน ‘โอกาส’ ตรงที่ทุกคนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นในชีวิตได้ คล้ายกับที่ใครหลายคนเลือกสร้างโอกาสขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ มากกว่าจะรอคอยให้ใครอื่นหยิบยื่นให้ ซึ่งไม่รู้ว่าต้องรอนานแค่ไหนกว่าโอกาสจะมาถึง หรืออาจเลวร้ายยิ่งกว่า หากโอกาสที่เฝ้ารออยู่นั้น ไม่มีวันเกิดขึ้นเลยในชีวิตนี้
LIVE TO LIFE จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักวิธีเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนโชคดีกว่าใคร ซึ่งไม่ใช่โชคจากชะตา หรือฟ้าลิขิต แต่คือโชคที่เรียกว่า ‘Serendipity’ เป็นความโชคดีที่หลายคนกำลังตามหาและปรารถนา โดยอาจไม่รู้ว่ามีหนทางสร้างขึ้นมาได้ด้วยหนึ่งสมองและสองมือ
‘โชคดี’ แบบไหน ? เรียกว่า Serendipity
หลายคนอาจเคยเห็นคำว่า Serendipity ผ่านตามาบ้าง เพราะเคยถูกนำไปตั้งเป็นชื่อหนังรักแนวตลกในปี ค.ศ. 2001 แต่ถ้าค้นหาความหมายที่แท้จริงของ Serendipity จะพบคำอธิบายว่า เป็นความโชคดีที่บังเอิญได้พบกับบางสิ่งบางอย่างซึ่งนำพาความสุขและสิ่งดี ๆ มาสู่ชีวิต
โชคในแบบ Serendipity จึงไม่เกี่ยวข้องกับความลึกลับเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ และความเชื่อเรื่องดวงชะตาหรือผลบุญจากชาติปางก่อนที่ถูกกำหนดมาแล้ว เช่น คนมีวาสนาคาบช้อนเงินช้อนทองเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย หรือคนมีเคราะห์กรรมเก่าจะต้องมาเกิดในครอบครัวยากจนข้นแค้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือโชคชะตาที่ทุกคนเลือกไม่ได้แต่แรก เป็นโชคที่ไม่มีใครสร้างให้ตัวเองได้
ส่วนโชคดีในแบบ Serendipity จะต้องเป็นความบังเอิญหรือการเปลี่ยนแปลงในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดและไม่อาจรู้ล่วงหน้า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลดีเป็นความสุขและให้ประโยชน์บางอย่างที่ช่วยนำพาชีวิตไปสู่หนทางที่ดีกว่าเดิม หรืออาจดียิ่งกว่านั้น คือพลิกผันชีวิตจากร้ายกลายเป็นดีเกินนึกฝัน เป็นโชคที่อยู่เหนือความคาดหมายใด ๆ
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสัมผัสได้ถึงความโชคดีในแบบ Serendipity เพราะต้องมีปฏิภาณไหวพริบ และเป็นคนช่างสังเกต สามารถมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า นี่แหละ ! คือความบังเอิญที่สร้างโชคดีให้ชีวิต ความโชคดีในแบบ Serendipity จึงไม่ใช่เรื่องชะตาฟ้าลิขิต แต่เป็นทักษะที่ฝึกฝนและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ โดยอาศัยแนวคิดที่เรียกว่า Serendipity Mindset
ทักษะโชคดีที่ทำให้ชีวิตมีความสุข
หากมองดูอย่างผิวเผิน ความโชคดีในแบบ Serendipity คงเป็นเรื่องบังเอิญทั่วไป ที่หากเกิดขึ้นกับชีวิตของใครแล้ว ก็นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ซึ่งบางคนยกให้เป็นพรหมลิขิตหรือปาฏิหาริย์ เพราะคงไม่มีใครจะพบเจอความโชคดีเช่นนี้ได้บ่อย ๆ แต่ ดร.คริสเตียน บัสช์ (Christian Busch) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ London School of Economics and Political Science ประเทศอังกฤษ ต้องการศึกษาอย่างลงลึกไปมากกว่านั้น
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ดร.คริสเตียน สนใจศึกษาเรื่องความโชคดีในแง่มุมที่ไม่ใช่ความเชื่อ แต่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและความคิดที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ต้องย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ฝังใจตอนอายุสิบแปด เพราะเขารอดพ้นจากอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันมาได้อย่างหวุดหวิด โดยที่ตัวเองปลอดภัยดี และไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่รอยขีดข่วน จากวัยรุ่นบ้าบิ่นที่ใช้ชีวิตไร้เป้าหมายไปวัน ๆ วินาทีเฉียดตายครั้งนั้นกลับทำให้ ดร.คริสเตียน ตกตะกอนทางความคิดใหม่ได้ว่า จะพยายามหาเหตุผลอธิบายความโชคดีให้ได้
ในแต่ละวันที่มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น ดร.คริสเตียน เริ่มสังเกตเห็นว่า มีบางเหตุการณ์ที่ท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่สิ่งดี ๆ ที่ทำให้ชีวิตมีความสุข แต่ถ้าหากไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญ เหตุการณ์นั้นอาจเป็นเพียงเรื่องน่าผิดหวังที่ชวนให้รู้สึกวุ่นวายใจ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด มักเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบสิ่งใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
เช่น ถ้าหากอเล็กซานเดอร์ เฟลมิง (Alexander Fleming) ไม่ริเริ่มการทดลองจนค้นพบความบังเอิญที่ทำให้รู้สึกเอะใจถึงการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม เขาก็คงไม่ได้ค้นพบยาเพนิซิลลินที่ทำให้มนุษยชาติมียาปฏิชีวนะเอาไว้ต่อกรกับเชื้อโรค หรือถ้าหากนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท 3M ไม่ได้เริ่มค้นหาวิธีทำให้กาวติดเหนียวแน่น แต่ผลลัพธ์กลับตาลปัตร เพราะได้กาวที่ลอกออกง่ายดายแถมไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ มาแทน แล้วคิดแค่ว่าเป็นการทดลองที่ล้มเหลว ทุกคนก็คงไม่มีโอกาสได้ใช้กระดาษโพสต์อิทซึ่งได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ดร.คริสเตียน จึงได้คำตอบว่า ความโชคดีในแบบ Serendipity นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการและวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์เสมอ เริ่มต้นด้วยการกระทำที่นำไปสู่การค้นพบบางสิ่งบางอย่างด้วยความบังเอิญ แล้วสนใจและให้ความสำคัญ เพราะมีทักษะ Serendipity Mindset ซึ่งต้องอาศัยการมองเหตุการณ์ในมุมต่าง ร่วมกับนิสัยการเป็นคนช่างสังเกต จนท้ายที่สุด สิ่งนั้นนำพาความสุขและสิ่งดี ๆ มาสู่ชีวิต
ในทางกลับกัน คนที่ไม่มีทักษะ Serendipity Mindset จะปล่อยผ่านสิ่งที่พบด้วยความบังเอิญอย่างไม่ใส่ใจใด ๆ เท่ากับเป็นการยับยั้งความสุขและสิ่งดี ๆ ที่ควรจะต้องเกิดขึ้นในตอนท้ายออกไปจากชีวิต กลายเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า ชีวิตนี้คงหาความโชคดีไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายก็จริง แต่ไม่ต้องน่าเสียใจไป หากที่ผ่านมาเคยปล่อยให้ความโชคดีหลุดลอยไป เพราะ ดร.คริสเตียน ยืนยันว่า ทุกคนสามารถสร้างความโชคดีได้เสมอ แค่ฝึกตัวเองและปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตใหม่ตามวิธีที่แนะนำ
ฝึกตัวเองให้เป็นคนโชคดีกว่าใครไม่ใช่เรื่องยาก
เพราะทุกเหตุการณ์ แม้แต่ความโชคดี ย่อมมีเหตุปัจจัยเป็นจุดตั้งต้นเสมอ เหมือนที่ทักษะ Serendipity Mindset ทำให้เกิดความโชคดีในแบบ Serendipity เพื่อฝึกฝนให้ตัวเองเป็นคนโชคดี ดร.คริสเตียน ให้คำแนะนำเป็นเคล็ดลับที่ใครก็นำไปทำได้ ดังนี้
1. สร้างความเป็นไปได้ให้ตัวเองได้รับความโชคดี : อย่างที่บอกในตอนต้นว่า ความโชคดีเป็นเหมือนโอกาสที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ไม่มีใครรู้ว่าจะได้รับความโชคดีนั้นเมื่อไหร่ สิ่งที่ต้องทำหากอยากเป็นคนโชคดี คือหมั่นสงสัย ไม่หยุดตั้งคำถาม หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ออกไปหาผู้คนใหม่ ๆ หาเพื่อนที่หลากหลาย ต่างวัย ต่างอาชีพ และต่างวัฒนธรรม ทำความรู้จักมากกว่าแนะนำตัวแล้วจากไป แต่สานต่อความสัมพันธ์เพื่อให้ได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ร่วมกัน เช่น แลกเปลี่ยนความคิดและความสนใจในหลากหลายแง่มุม รวมถึงพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ใหม่หรือพบเจอสถานการณ์ใหม่ เพราะการใช้ชีวิตเหมือนเดิมเท่ากับไม่ได้ทำให้เข้าใกล้ความโชคดี
2. กอดรับความล้มเหลว ลองมองปัญหาในมุมต่าง : ทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหรือสิ่งที่ไม่คาดฝัน อย่าปล่อยให้ความรู้สึกทางลบ ทั้งความกลัว ความเครียด ความหวาดระแวง และความตื่นตระหนกเข้ามาครอบงำสติจนลืมให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า เช่น เวลาไปเที่ยวแล้วหลงทาง อย่าเพิ่งตีโพยตีพายว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ให้ตั้งสติแล้วค่อย ๆ ปรับความคิดใหม่ว่า ถ้ายังไม่ต้องรีบร้อนไปยังจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจ ให้คิดในมุมต่างว่านี่คือโอกาสที่ทำให้ได้เห็นหรือพบเจอสิ่งใหม่ ๆ ถ้าไม่หลงก็คงไม่มีโอกาสมาที่ตรงนี้ จะเห็นว่าสิ่งที่ดูเหมือนปัญหาในตอนแรก แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป อาจจะพบความโชคดีอยู่ในนั้นก็เป็นได้
3. เชื่อมต่อตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง : เพราะธรรมชาติออกแบบมนุษย์ออกมาให้เป็นสัตว์สังคมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เราจึงต้อง Connecting The Dot คือทั้งเชื่อมต่อตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง และคิดเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเข้าหากัน เพื่อให้เห็นความเป็นเหตุที่นำไปสู่ผล และผลที่ย้อนกลับไปเข้าใจถึงสาเหตุ ทำให้ได้บทเรียนหรือตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความโชคดีในแบบ Serendipity เช่น ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับเพื่อนเก่าหรือคนเคยรู้จักที่ไม่ได้ติดต่อกันนาน เพราะบทสนทนาที่มีคุณภาพเป็นหนทางหนึ่งที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตให้พบเจอความโชคดีต่อไปได้
สุดท้ายนี้ LIVE TO LIFE หวังให้ความโชคดีในแบบ ‘Serendipity’ เกิดขึ้นกับชีวิต ‘ทุกคน’
อ้างอิง
- Christian Busch (2020). The Serendipity Mindset: The Art and Science of Creating Good Luck. Penguin.
- Sharon Walker. The ‘serendipity mindset’: how to make your own luck. https://bit.ly/4eIxoFr