เปิดครัวคุณยาย ไขข้อสงสัย ทำไม ‘กินอาหารไทย’ แบบคนสมัยก่อนถึงดีต่อสุขภาพ

09 Jul 2025 - 5 mins read

Art & Culture / Living Culture

Share

ย้อนกลับไปยังวัยเด็ก ‘มื้ออาหาร’ ในความทรงจำของคุณเป็นอย่างไร ?  

 

บนโต๊ะอาหารเคยเต็มไปด้วยน้ำพริก ผักสด แกง ผัด ย่าง ข้าวสวยร้อน ๆ เคล้าเสียงหัวเราะพร้อมหน้าของคนทั้งบ้าน แต่ทุกวันนี้สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ หายไป  

 

วิถีการกินของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ราวปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา โรงงานน้ำอัดลมแห่งแรกถือกำเนิดขึ้น ร้านฟาสต์ฟู้ดเจ้าใหญ่เปิดให้บริการ มีการนำเข้าวัตถุดิบแปรรูปจากต่างแดน ส่งผลให้คนไทยเริ่มกินน้ำตาลเกินจำเป็น กินเนื้อสัตว์อุตสาหกรรมและอาหารแปรรูปมากขึ้น เรากินผักน้อยลง และผักส่วนใหญ่ก็เป็นผักนอกฤดูกาลที่ใช้ยาฆ่าแมลง  

 

เรากินมากขึ้น และป่วยง่ายขึ้น การกินที่เปลี่ยนไปทำให้ร่างกายของเราสะสมสารพิษและเป็นต้นเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ,โรคหลอดเลือดหัวใจ และ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน  

 

คงจะดีหากเราปรับการกินตั้งแต่วันนี้ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งหาอาหารเสริม ไม่ต้องเปลี่ยนวิธีไดเอทใหม่ ๆ LIVE TO LIFE ขอชวนทุกคนกลับมา ‘กินอย่างไทย’ กลับไปตามหารสมือคุณยายที่ทั้งเรียบง่ายและอุมด้วยคุณค่าทางอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยาวนานและยั่งยืน 

 

กินอาหารตามฤดูกาล  

 

ประเทศไทยมี 3 ฤดูกาล ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อีกทั้งตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำดี เหมาะแก่การเพาะปลูก คนไทยจึงมีพืชผักและผลไม้ให้กินตลอดทั้งปี สมัยก่อนหากอยากกินผักชนิดไหนก็ต้องรอให้ถึงหน้านั้น ๆ เพราะจะทำให้ได้กินพืชผลที่สดใหม่ รสชาติดี และปลอดสารพิษ 

 

ปัจจุบันเรามีซูเปอร์มาร์เก็ตที่เต็มไปด้วยผักและผลไม้หลากชนิด บ้างก็ส่งมาจากต่างประเทศ บ้างก็ใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อให้สวยงาม ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษสะสมมากมายโดยไม่รู้ตัว หากอยากปรับการกินลองเริ่มจากการเลือกกินผักให้ถูกฤดูกาล ดังนี้  

 

หน้าร้อน (มีนาคม - พฤษภาคม) ฟักทอง, ผักบุ้ง, แตงกวา, มะเขือเทศ, แตงโม, มะม่วง, มะยงชิด 

หน้าฝน (มิถุนายน - ตุลาคม) ทุเรียน, มังคุด, เงาะ, ถั่วฝักยาว, ตำลึง, ผักกูด, เห็ดฟาง, เห็ดโคน 

หน้าหนาว (พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) กะหล่ำปลี, ผักกาดขาว, ผักชี, ต้นหอม, คะน้า, แครอท, ส้มเขียวหวาน, ฝรั่ง, ชมพู่, น้อยหน่า  

 

ปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ 

 

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว หลังบ้านก็มีผัก สมัยก่อนแต่ละบ้านจะปลูกผักสวนครัวกินเอง ไม่ว่าจะเป็น กะเพรา, ข่า, ตะไคร้, แมงลัก, โหระพา, มะเขือ, ตำลึง บ้านไหนปลูกอะไรไว้ก็เอามาแบ่งกัน มีผักกินตลอดทั้งปี หากมีเวลาเข้าป่า ก็จะได้วัตถุดิบดี ๆ ทั้งหน่อไม้, เห็ด, น้ำผึ้ง, ผักหวานป่า   

 

ประเทศไทยมีวัตถุดิบดี ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นมากมาย การเลือกสรรของดีใกล้บ้านทำให้ได้กินอาหารสดใหม่ ไม่ต้องส่งมาจากแดนไกล ปราศจากสารกันบูด ยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษต่อร่างกาย  

 

กินร้อน ไม่ค้างคืน 

 

สมัยก่อนคนไทยเราทำอาหารกินแบบมื้อต่อมื้อ เราจึงได้กินแกงจากหม้อร้อน ๆ ข้าวหุงใหม่หอม ๆ ผัดผักกรุบกรอบ ได้รับรสชาติอาหารที่สดใหม่ อร่อย และมีสารอาหารครบถ้วน  

 

หากจะถนอมอาหาร มีการใช้วิธีตามธรรมชาติ เช่น ตากแห้ง, ย่าง, ดองเค็ม, เชื่อม, กวน หรือเก็บไว้ในไห, กระบอกไม้ไผ่, ห่อใบตอง, ฝังดิน เพื่อให้เก็บได้นาน ๆ และมีอาหารกินตลอดทั้งปี ภูมิปัญญาชาวบ้านเหล่านี้เป็นวิธีธรรมชาติที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ 

 

แม้ปัจจุบันตู้เย็นและไมโครเวฟจะช่วยให้เรายืดอายุการเก็บอาหารได้นานขึ้น แต่บ่อยครั้งที่สิ่งนี้ทำให้พฤติกรรมการกินของเราเปลี่ยนไป พอมีตู้เย็น เราก็มักจะตุนอาหารเกินพอดี แช่อาหารที่กินเหลือไว้นานหลายวัน แล้วนำมาอุ่นกินซ้ำหลายครั้ง ค้างแค่คืนเดียวคงไม่เป็นไร แต่นานเกินไปจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโต และทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารตามมามากมาย เช่น ท้องเสีย, อาหารเป็นพิษ และติดเชื้อสะสมเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้

 

หลากรสด้วย ‘เครื่องปรุง’ จากธรรมชาติ 

 

อาหารไทยมีหลากรสชาติทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม มัน ขม เผ็ด ฝาด และจืด ประกอบรวมกันอย่างลงตัว ทำให้รสชาติอาหารมีความซับซ้อน มีมิติ เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย เครื่องปรุงไทยแบบดั้งเดิม ล้วนหาได้ในธรรมชาติ หรือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไร้การเจือปนจากสารปรุงแต่ง  

 น้ำตาลมะพร้าว 

 

ในปัจจุบันหากลองพลิกฉลากเครื่องปรุงในครัวมาอ่านดูดี ๆ เราจะพบว่าแทบทั้งหมดล้วนเป็นอาหารแปรรูปขั้นสูง (Ultra-Processed Food) เพราะเต็มไปด้วยสารสังเคราะห์ที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น สารกันบูด, สารแต่งสี, สารแต่งกลิ่น, สารให้ความหวาน เครื่องปรุงนับเป็นภัยเงียบที่ค่อย ๆ ทำลายสุขภาพของเราอย่างช้า ๆ ยิ่งกินรสจัดยิ่งเสพติดโดยไม่รู้ตัว 

 

 หากจะเปลี่ยนเครื่องปรุงให้เป็นมิตรกับร่างกายขึ้น มาดูกันว่าเราจะปรุงแบบธรรมชาติได้อย่างไรบ้าง  

 

รสเปรี้ยว จากมะขามดิบ มะขามเปียก มะนาว มะม่วงดิบ ส้มแขก

รสเค็ม จากเกลือ รวมถึงวัตถุดิบหมักเกลือ อาทิ ปลาเค็ม กุ้งเค็ม เนื้อเค็ม

รสหวาน จากน้ำอ้อย น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด น้ำผึ้ง

รสขม จากใบย่านาง มะรุม สะเดา ผิวมะกรูด มะระ ดีวัว 

รสฝาด จากใบชะมวง กล้วยดิบ ใบยอ ยอดขนุนอ่อน

ไขมัน จากน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว กะทิ น้ำมันงา

เผ็ดร้อน จากพริกไทย ดีปลี ขิง ข่า กระเทียม พริกขี้หนู

ความอูมามิ จากกะปิ ปลาร้า ถั่วเน่า ปลาแห้ง กุ้งแห้ง น้ำปลา  

ถั่วเน่า ทำจากถั่วเหลืองหมัก เครื่องปรุงของภาคเหนือช่วยเพิ่มความอูมามิ 

 

การเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรุงธรรมชาติดั้งเดิมของไทยในช่วงแรก เราอาจยังไม่คุ้นชินมากนักเพราะลิ้นของเราเคยชินกับรสหวานจัด เค็มจัด และอูมามิเข้มข้นจากผงชูรสมานาน แต่หากค่อย ๆ ปรับ เราจะเริ่มค้นพบรสชาติใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยได้สัมผัส สิ่งนี้ส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวเพราะทำให้เรารับรสได้มากขึ้น อร่อยง่าย ไม่ต้องปรุงเข้มข้นเหมือนเดิมอีกต่อไป 

 

อุดมด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน กินอาหารเป็นยา 

 

คนไทยกินอาหารเป็นยามาตั้งแต่โบราณ เพราะอาหารไทยมีสมุนไพรหลากชนิดเป็นส่วนประกอบแทบทุกเมนู สมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นยา ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี บางบ้านถ้าเด็กไม่สบาย เป็นหวัด แม่ก็จะทำต้มยำน้ำใสให้กิน นอกจากรสเผ็ด เปรี้ยว เค็มจะช่วยให้เจริญอาหารขึ้นแล้ว สมุนไพรในชามทั้งหอมแดง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ยังช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูกให้ดีขึ้นอีกด้วย 

 

ยังมีสมุนไพรพื้นบ้านอีกมากมายในเมนูอาหารที่เราคุ้นเคย เช่น  

 

ขมิ้นชัน บำรุงตับ ลดการอักเสบ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร พริกแกงใต้มักมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบ ส่วนชาวเหนือและอีสานมักใช้ขมิ้นทาดับคาวก่อนย่างปลาหรือเนื้อสัตว์

กระเทียม เป็นพรีไบโอติกส์ที่ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดไขมันในเลือด ยิ่งกินสด ๆ ยิ่งได้ประโยชน์

หอมแดง แก้หวัด ลดไข้ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และมีสารต้านอนุมูลอิสระ หอมแดงเข้าได้กับทุกเมนู บางบ้านซอยบาง ๆ ใส่ในลาบอีสาน บางบ้านไปคั่ว ย่างไฟพอหอมใช้ตำน้ำพริก โยนทั้งลูกใส่ต้มยำ ตำให้ละเอียดใส่พริกแกงช่วยเพิ่มความหวานและเข้มข้น

ขิง ขับลม แก้ไอ ลดเสมหะ หากเป็นหวัด เจ็บคอ น้ำขิงอุ่น ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้

ใบย่านาง ช่วยล้างพิษ แก้ไข แก้ร้อนใน เป็นสมุนไพรพื้นบ้านของภาคอีสานและภาคเหนือ นิยมคั้นใบเอาแต่น้ำมาทำแกงหน่อไม้ เพราะนอกจากจะกลิ่นหอมแล้ว ยังช่วยลดพิษของหน่อไม้อีกด้วย  

 

กินหลากหลายใน ‘สำรับกับข้าว’ 

 

บนโต๊ะอาหารของคนไทยจะมีอาหารหลายอย่าง โดยทุกจานจะมีความเชื่อมโยงกันเพื่อความสมดุลในรสชาติ สารอาหารและเนื้อสัมผัส ในสำรับอาหารจะประกอบด้วยอาหารหลายอย่างทั้งของปิ้ง ผัด แกง เครื่องจิ้ม และข้าว และถ้ามีของเผ็ดก็ต้องมีของดับร้อน ถ้ามีของมันก็ต้องมีเปรี้ยวตัดเลี่ยน สำรับอาหารไทยนั้นโดดเด่นจนได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ 2555 อีกด้วย 

 

เราจะเห็นว่ามีเมนูมากมายที่ต้องจับคู่กัน บ้างก็ต้องมีทั้งของแนมและเครื่องเคียง เช่น แกงส้มรสเปรี้ยว จัดจ้าน ต้องกินคู่กับปลาสลิด, ข้าวแช่รสเบาต้องกินคู่กับลูกกะปิมัน เค็ม, ลาบเมืองเผ็ดร้อนต้องแกล้มด้วยผักไผ่เพิ่มความหอม, น้ำพริกกะปิกินคู่กับปลาทูทอด, ถ้ามื้อนั้นมีผัดเผ็ดเป็นพระเอก แน่นอนว่านางเอกต้องเป็นต้มจืดตำลึง และแม้แต่ผัดกะเพราก็ยังต้องกินคู่กับไข่ดาว 

 

มีงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าการกินอาหารแบบเดิมซ้ำ ๆ จะทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุจำเป็น แต่วัฒนธรรมของคนไทยนั้นจึงทำให้เรากินอาหารหลากหลายและดีต่อสุขภาพไปโดยปริยาย ความหลากหลายนี้ทำให้ในหนึ่งมื้อ ร่างกายจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนทั้งโปรตีนจากเนื้อสัตว์, วิตามิน, ไฟเบอร์, พรีไบโอติกส์, โพรไบโอติกส์จากพืชผักต่าง ๆ หลากสีสัน ทำให้สุขภาพดีอย่างยั่งยืน  

 

ล้อมวงกินข้าวกับครอบครัว 

 

ในอดีตครอบครัวคนไทยเป็นครอบครัวขยาย อยู่กันพร้อมหน้าทั้งพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ยิ่งในชนบทยังเป็นสังคมเกษตรกรรมที่สมาชิกทุกคนต้องช่วยกันทำไร่ ทำนา ตกเย็นของทุกวัน ทุกคนจะมานั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกันอย่างมีความสุข  

 

วัฒนธรรมนี้เริ่มหายไปเมื่อเปลี่ยนเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยว และอัตราการอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน หลายคนเสพติดการกินข้าวไปด้วย ดูจอไปด้วย และพฤติกรรมนี้เป็นภัยเงียบที่ทำลายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว เพราะการดูจอจะทำเรากินเพลินจนลืมอิ่ม และบ่อยครั้งก็มีแนวโน้มว่าจะเลือกกินอาหารที่เสียสุขภาพมากขึ้นด้วย  

 

กลับกันการ กินข้าวกับครอบครัว จะทำให้เราได้โฟกัสกับอาหารตรงหน้า ได้กินหลากหลายและมีแนวโน้มว่าจะกินอย่างพอดีมากกว่า ที่สำคัญโต๊ะอาหารยังเป็นวงสนทนาคุณภาพที่แต่ละคนได้มาแชร์เรื่องเล่าของแต่ละวัน ช่วยฮีลใจ ชาร์จพลัง ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย   

 

แม้สังคมของเราจะเปลี่ยนไปแต่ก็สามารถปรับ ‘การกินแบบไทย’ ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น ลองหาผักสวนครัวที่ชอบมาปลูก เพิ่มผักและสมุนไพรเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าไปในมื้ออาหาร เลือกเครื่องปรุงที่ไม่ใส่สารปรุงแต่ง ฝึกรับรสจากธรรมชาติในอาหาร เป็นต้น  

 

แม้จะกินดีเพื่อร่างกายที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน แต่คงจะดีกว่า หากวางแผนให้ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลเมื่ออายุมากขึ้น แบบประกัน Health Fit Senior CI ประกันสุขภาพโรคร้ายแรงคอยช่วยดูแลสุขภาพในระยะยาวอีกแรง ตอบโจทย์วัยเริ่มเตรียมเกษียณที่อยากดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงไปจนบั้นปลาย สมัครได้ตั้งแต่อายุ 40-80 ปี คุ้มครองการป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และการตรวจคัดกรองอัลไซเมอร์ ช่วยให้อุ่นใจ แม้อายุจะเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี  

 

สุขภาพที่ดีในอนาคตต้องเริ่มต้นดูแลตั้งแต่วันนี้ การกินดีที่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราสุขภาพดีตั้งแต่วันนี้ไปจนแก่อย่างยั่งยืน 

 

 

อ้างอิง 

  • กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. สำรับอาหารไทย. https://bit.ly/44IR8X6
  • Jensterle-Sever, Jelka. Obesity Treatment Should Focus on Restoring Physiology, Not Just Weight Loss. Endocrine Society. https://bit.ly/44m5wTS 
  • Lillywhite, Maisie. Hidden Habits: Four signs you could be addicted to sex, binge eating or TV – even if you think it’s harmless. The Sun. http://bit.ly/44chpNi 
  • British Heart Foundation. Behind the headlines: Ultra-processed foods. British Heart Foundation. https://bit.ly/4lxYToq 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...