เพื่อนหญิงพลังหญิง ! ตามไปดูมูฟเม้นต์ของ ‘ผู้หญิง’ ที่เปลี่ยนโลกให้ปลอดภัยและเท่าเทียม

14 Jun 2024 - 5 mins read

Art & Culture / Living Culture

Share

‘ผู้หญิง’ ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศมาอย่างยาวนาน  

 

เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ สิทธิขั้นพื้นฐาน เสียงเลือกตั้ง งาน และเพื่อความเท่าเทียม แม้ปัจจุบันจะมีผู้หญิงมากมายได้เป็นผู้นำองค์กร ได้เข้าถึงระบบการศึกษา ได้แสดงจุดยืนทางสังคม แต่ดูเหมือนว่าการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะ ‘ระบอบปิตาธิปไตย’ หรือชายเป็นใหญ่ที่เป็นขนบเดิมจากสังคมในอดีตของหลายประเทศ ทำให้ยังปรากฏให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ 

 

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า เป้าหมายโลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศนั้นห่างไกลออกไปเรื่อยๆ และอาจต้องใช้เวลานาน กว่าที่ความเสมอภาคจะเกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้ความคืบหน้าด้านสิทธิสตรีทั่วโลกนั้น ‘หายไปต่อหน้าต่อตา’  มีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากมายที่กำลังเผชิญกับสงคราม ไร้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานแม้ในบ้านของตัวเอง โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่าความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล เมื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ในทุกวันนี้ถูกออกแบบโดยผู้ชาย ส่งผลให้เกิดอัลกอริทึมที่มีอคติทางเพศและบางครั้งอาจละเลยความต้องการของผู้หญิงไป 

 

โลกหมุนไปข้างหน้า แต่สงครามยังเกิดขึ้น ยังมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอีกมากมายในหลายพื้นที่ทั่วโลกที่หลุดจากระบบการศึกษา ต้องเผชิญความยากจนและความอดอยาก แม้ในบางประเทศที่เจริญแล้วผู้หญิงก็ยังต้องเผชิญกับความรุนแรง เหลื่อมล้ำในหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทำให้ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ผู้หญิงก็ยังคงต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ เพื่อความเท่าเทียมที่จะผลิบานทั่วทุกพื้นที่ในโลก  

 

LIVE TO LIFE ขอชวนไปดูว่าในปี 2024 นี้ผู้หญิงทั่วโลกกำลังต่อสู้เรื่องอะไรกันอยู่บ้าง 

 

‘ผู้หญิง’ ในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ 

ดอกไม้แห่งความหวังที่ยังเบ่งบานกลางเปลวเพลิง 

 

ทุก ๆ 2 ชั่วโมง จะมีผู้หญิงถูกสังหารในดินแดนปาเลสไตน์ นั่นเป็นสถิติชวนปวดใจ ผลพวงจากการโจมตีและสังหารหมู่ของอิสราเอลซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น ความรุนแรงจากสงคราม ความรุนแรงทางเพศ และการเข่นฆ่าเกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กในพื้นที่สงครามเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นปีที่มีผู้หญิงเสียชีวิตมากที่สุดที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะในฉนวนกาซาแห่งนี้  

 

ท่ามกลางเสียงระเบิดและควันที่มอดไหม้ที่ยาวนานมาหลายทศวรรษ ความหวังยังไม่มอดดับ กลุ่มสตรีและองค์กรต่าง ๆ ที่มีผู้นำเป็นผู้หญิงในดินแดนปาเลสไตน์ยังคงต่อสู้และเรียกร้องให้สงครามสิ้นสุดเพื่อยุติความสูญเสีย แม้จะยากลำบาก แต่พวกเธอก็ยังคงไม่หยุดเปล่งเสียงร้องบอกให้โลกรู้ว่าที่นี่กำลังเกิดอะไรขึ้น  

 

แม้ว่าสงครามจะยังดำเนินต่อไป สิ่งที่พวกเราในฐานะประชาชนชาวโลกจะทำได้คือการบอกเล่าเรื่องของพวกเธอ โดยไม่ลืมว่ายังมีผู้หญิงอีกมากมายที่กำลังเผชิญกับความหวาดกลัว และเรียกร้องเพื่อให้เกิดสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ 

 

#NiUnaMenos 

เราจะไม่สูญเสีย ‘ผู้หญิง’ คนไหนไปอีก  

การเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีในอาร์เจนตินา 

 

ปี 2015 เป็นปีที่แผ่นดินลาตินอเมริกาลุกเป็นไฟ เหตุชนวนเริ่มต้นขึ้นจากคดีสะเทือนขวัญ เมื่อ ชิอารา ปาเอซ (Chiara Páez) เด็กหญิงวัยเพียง 14 ปี ถูกแฟนหนุ่มทำร้ายจนเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์และฝังร่างของเธอไว้ใต้ถุนบ้าน ข่าวนี้สร้างความสะเทือนใจในวงกว้างทำให้มีผู้คนจำนวนมากออกมาต่อต้าน การเข่นฆ่าผู้หญิง (Femicide) รวมถึงต่อสู้เพื่อการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย ผ่านแฮชแท็ก #NiUnaMenos ซึ่งหมายถึง เราจะไม่สูญเสียผู้หญิงคนไหนไปอีก 

 

สัญลักษณ์ของขบวนการนี้คือ ‘สีเขียว’ ผู้คนต่างใช้ผ้าสีเขียวพันคอ โพกหัว มัดที่ข้อมือเพื่อสื่อถึงการประท้วง พลังคลื่นสีเขียวแผ่ปกคลุมทั่วอาร์เจนตินาและดำเนินการเรียกร้องมาเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นมีนักกิจกรรมมากมายต้องหลบหนีลี้ภัยออกนอกประเทศ มีหลายชีวิตต้องเจ็บปวดและสูญเสีย แต่ท้ายที่สุดความหวังก็ผลิบานขึ้นในอาร์เจนตินา เมื่อในปี 2020 วุฒิสภาอนุมัติร่างแก้ไขกฎหมายทำแท้ง ทำให้สามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย และนับเป็นการเปลี่ยนแปลงแห่งประวัติศาสตร์ที่แผ่อิทธิพลไปยังประเทศอื่น ๆ ในลาตินอเมริกานับเป็นอีกหนึ่งขบวนการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเลยก็ว่าได้ 

 

‘แรงงานหญิงอินเดีย’ รวมตัวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์  

ประท้วงการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม 

 

ผู้หญิงชาวอินเดียมากมายชวนกันลงถนน ออกมาประท้วงการกระทำของบริษัท Urban Company ในเดือนกรกฏาคมของปีที่ผ่านมา  เพื่อเรียกร้องเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม 

 

Urban Company เป็นแอปพลิเคชันที่มีบริการเสริมสวยและทำความสะอาดบ้าน โดยพนักงานหนึ่งในสามของบริษัทเป็นผู้หญิง แอปพลิเคชันดังกล่าวได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยหากคะแนนการให้บริการต่ำกว่า 4.7 เกิน 4 ครั้งต่อเดือน บัญชีก็จะถูกบล็อก ไม่ให้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างอีกต่อไป ทำให้ลูกจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงได้รับผลกระทบและออกมาเรียกร้องต่อกฎที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้  

 

นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ในอินเดียเมื่อขบวนการนี้เป็นการออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกของกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานรับจ้างแบบชั่วคราว (Gig Economy) ในอินเดีย ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การจัดระเบียบสิทธิแรงงานที่เท่าเทียมมากขึ้น  

 

อินเดียเป็นประเทศที่มี ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ และมีความเหลื่อมล้ำทางเพศสูง ถึงขั้นที่มีคำกล่าวว่า “เกิดเป็นวัวในอินเดียยังดีกว่าเกิดเป็นผู้หญิง” เพราะอย่างน้อย ๆ ตามความเชื่อของอินเดียวัวยังมีฐานะเป็นสัตว์ของเทพเจ้าและได้รับการปรนนิบัติอย่างดี แต่ผู้หญิงนั้นกลับถูกเลือกปฏิบัติในสังคม  

 

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ เราจะเห็นได้ว่ามีผู้หญิงอินเดียเข้าร่วมสหภาพแรงงานและกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสิทธิแรงงานมากขึ้น พลังของการประท้วง รวมกลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมทำให้ผู้หญิงอีกหลายคนที่โดนเอารัดเอาเปรียบกล้าออกมาทวงสิทธิของพวกเธอบ้าง เพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่เท่าเทียม  

 

#MeToo 

เสียงอันกล้าหาญจากเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

ที่บอกว่าผู้กระทำผิดต้องเป็นฝ่ายอับอาย 

 

#MeToo กลายเป็นแฮชแท็กที่ผู้หญิงทั่วโลกนับล้านติดเอาไว้ในโพสต์ ในวันที่พวกเธอกล้าหาญออกมาเล่าเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศของตัวเองให้กับโลกรับรู้ มูฟเมนต์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกตะวันตก กลายเป็นกระแสอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งที่เกาหลีใต้ และแผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นว่ามีเหยื่อมากมายที่ถูกกระทำ แต่ไม่เคยออกมาพูดเรื่องนี้ให้สังคมได้รับรู้ 

ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein)

 

จุดเริ่มต้นของมหากาพย์ #MeToo เกิดขึ้นในปี 2017 เมื่อ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ผู้กำกับดังแห่งฮอลลีวูดถูกแฉว่าเขาล่วงละเมิดทางเพศทั้งนักแสดง นางแบบ เซเลบริตี และลูกจ้างที่ทำงานด้วยมานับไม่ถ้วน เป็นเวลากว่า 30 ปี ในชีวิตของเขา มีคนดังมากมายออกมาเล่าเรื่องราวนับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือ โรส แม็กโกแวน (Rose McGowan) จากซีรีส์เรื่อง Charmed (1998-2006) ทำให้ อลิซซา มิลาโน (Alyssa Milano) เพื่อนนักแสดงของเธอก็ออกมาโพสต์ทางทวิตเตอร์ชวนให้ทุกคนที่เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศและถูกกระทำชำเราพิมพ์คำว่า ‘Me Too’ ตอบใต้โพสต์ของเธอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้คือปัญหาใหญ่

ทารานา เบิร์ก (Tarana Burke) 

 

Me Too ที่อลิซซาพูดถึงนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2006 โดย ทารานา เบิร์ก (Tarana Burke) นักกิจกรรมชาวอเมริกัน เธอช่วยเหลือผู้หญิงผิวสีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมากมาย เมื่อได้รับฟังเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจเหล่านั้น เธอตอบกลับได้เพียงคำว่า “Me Too” ซึ่งหมายถึง “ฉันเองก็ด้วย” เพื่อแสดงความเห็นใจอย่างสุดซึ้ง ในฐานะเธอเองก็เคยเจอเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้เช่นเดียวกัน 

 

#MeToo กลายเป็นขบวนการระดับสากลที่ปลุกพลังให้เหยื่อโดยเฉพาะผู้หญิง ออกมาเปิดเผยเรื่องราวเหล่านั้น และนั่นก็ทำให้เกิดเรื่องสุดช็อกในประเทศเกาหลีใต้ในปี 2018 เมื่อ อัน ฮีจอง (An Hee-jung) ผู้ว่าจังหวัดชุงช็องใต้ นักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีแววจะลงชิงประธานาธิบดี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ คิม จีอึน (Kim Ji-eun) เลขาฯ ของเขาได้รับแรงบันดาลใจจาก #MeToo ออกมาเล่าว่าเธอถูกเขากระทำชำเรามากถึง 8 ครั้งภายในเดือนเดียว ต่อมาไม่นานในปี 2019 ก็มีคดี Burning Sun คลับนรกในเกาหลีใต้ที่ลวงผู้หญิงมากมายไปล่วงละเมิดทางเพศ ที่น่าตกใจคือผู้อยู่เบื้องหลังมีคนดังอย่าง ‘ซึงรี’อดีตสมาชิกวง BIGBANG เป็นหัวหอก และยังมีผู้ร่วมขบวนการมากมาย ระหว่างเหตุการณ์ลากไส้ขบวนการนี้ แฮชแท็ก #MeToo ก็กลับมาติดเทรนด์อีกครั้งเพราะมีเหยื่อออกมาเล่าประสบการณ์การถูกล่วงละเมิด แม้ปัจจุบันจะผ่านไปนานกว่า 5 ปีแล้ว ก็ยังมีเหยื่อทยอยออกมาให้การอยู่เรื่อย ๆ 

ขบวนการ Me Too สร้างประวัติศาสตร์ในเกาหลีใต้และทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จุดประกายความกล้าหาญให้กับเหยื่อมากมายออกมาเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ เปิดหน้าคนผิดให้สังคมได้รับรู้ ไม่ต้องรู้สึกผิดต่อตัวเอง เพราะคนที่จะต้องรู้สึกผิดและอับอายที่สุดคือผู้กระทำ 

 

ขบวนการของผู้หญิงเพื่อผู้หญิง ทั้งเล็ก - ใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเท่าเทียมที่เราทุกคนต้องร่วมกันต่อสู้ และไม่ว่าขบวนการเหล่านั้นจะเป็นเรื่องอะไร แต่แน่นอนว่าเป้าหมายเดียวกันของพวกเธอและเราทุกคนคือ ‘ความหวัง’ ที่จะได้เห็นโลกที่เป็นมิตรและปลอดภัยกับคนทุกเพศมากกว่าที่เคย  

 

อ้างอิง 

  • Global Justice Now. International Women’s Day 2024 – the last year in women’s movements. https://bit.ly/3VxlUxG  
  • United Nations. ‘Patriarchy Is Regaining Ground’, Secretary-General Warns, while Women’s, Girls’ Rights Face Unprecedented Threat, as Commission Opens 2024 Session. https://bit.ly/3XeEnAc 
  • Tom Phillips. Argentina legalises abortion in landmark moment for women's rights. https://bit.ly/3XeECv6 
  • ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก. แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย. https://bit.ly/3yULmUY 
  • Jieun Lee. The 4B movement: envisioning a feminist future with/in a non-reproductive future in Korea. https://bit.ly/3XgsjOV 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...