

ใครอยากเป็นเศรษฐี 'เบส ลงทุนศาสตร์' มีเคล็ดลับสู่การเป็นเจ้าของชีวิตที่มั่งคั่งมาฝาก
Better Life / People
24 Sep 2024 - 10 mins read
Better Life / People
SHARE
24 Sep 2024 - 10 mins read
‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน’
เชื่อว่าทั้งนักลงทุนมืออาชีพ นักลงทุนมือใหม่ หรือต่อให้คนที่ไม่เคยคิดจะลงทุนเลยแม้แต่น้อย ต่างก็ต้องเคยได้ยินหรือผ่านตาข้อความที่เป็นเหมือนดั่งคำเตือนข้างต้นมาบ้าง
เพราะความเสี่ยง ทำให้การลงทุนเป็นเหมือนยาขมสำหรับคนจำนวนมาก แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึก ‘สนุก’ กับการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม
เบส - กิตติศักดิ์ คงคา คือหนึ่งในผู้ที่สนุกและมีความสุขกับการลงทุนในหุ้น จากทุนตั้งต้นในปีแรกจำนวน 1 ล้านบาท เขาสามารถปั้นพอร์ตของตัวเองจนเติบโตเป็นนักลงทุนหุ้น VI ระดับร้อยล้านภายในเวลาไม่ถึงสิบปี
ตลอดเส้นทางของการเป็นนักลงทุน กิตติศักดิ์ไม่เคยหยุดที่จะเติมความรู้ใหม่ ๆ ให้ตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับการแบ่งปันความรู้รอบด้าน ทั้งการเงิน การลงทุน และศาสตร์อื่น ๆ ผ่านทาง เพจ ‘ลงทุนศาสตร์’ ของเขา ที่ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคน
นอกจากจะเป็นนักลงทุนที่เห็นค่าการศึกษาหาความรู้อย่างถึงที่สุด กิตติศักดิ์ยังเป็นนักกระจายความเสี่ยงมือฉมัง เขาเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงจากการเป็นนักลงทุน ด้วยการสวมหมวกหลายใบ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารกิจการ บริษัท สมุนไพรคงคา จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว และการเป็นนักเขียนมือรางวัล เจ้าของงานระดับ Best Seller หลายเล่ม อาทิ หนังสือด้านการเงินอย่าง Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต, Stock Lecture ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว และนิยายหลากหลายแนว อาทิ เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น กาสักอังก์ฆาต ฯลฯ
LIVE TO LIFE พาไปสำรวจเส้นทางการเติบโตทางการเงินของ ‘เบส ลงทุนศาสตร์’ ที่เขาพบคำตอบว่า ความมั่งคั่งที่แท้จริงจะต้องเกิดจากส่วนผสมของความมั่นคงทางการเงินที่กลมกล่อม กับการเป็นเจ้าของความสุขในทุกวันที่ตื่นขึ้นมา
เบส - กิตติศักดิ์ คงคา
เจ้าของเพจ ‘ลงทุนศาสตร์’
จุดเริ่มต้นของการลงทุนในหุ้นของคุณเกิดขึ้นเมื่อไร
“ผมเริ่มลงทุนในปี 2014 ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี และต้องมาช่วยกิจการบริษัทผลิตยาสมุนไพรของครอบครัว ซึ่งเมื่อผมต้องมาอยู่ใต้ร่มเงาของพ่อแม่ ทำให้เกิดความกดดันจากความคาดหวังต่าง ๆ ยิ่งเมื่อความสัมพันธ์ อนาคต การเงิน และการงานรวมอยู่กับครอบครัวหมด เลยทำให้ชีวิตยาก ผมรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขเลยขยับขยายลองหาสิ่งที่ตัวเองชอบทำ ด้วยการนำเงินก้อนนึงที่ทางบ้านให้เป็นของขวัญตอนเรียนจบมาเริ่มต้นลงทุน”
“สิ่งที่การลงทุนให้ผม ก็คือ เงินนั่นแหละ เพียงแต่เงินช่วยให้อิสรภาพบางอย่างกับเราด้วย ผมได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง พ่อแม่มองว่าเราโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ เราสามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ทั้งด้านชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ และชีวิตครอบครัว”
เริ่มลงทุนนานแค่ไหน ทางบ้านถึงรู้สึกว่าคุณดูแลตัวเองได้แล้ว
“ผมอยู่ในตลาดหุ้น 3 ปีก็สามารถหาเงินได้มากกว่าทั้งบริษัทที่บ้านหาได้รวมกัน เงินมันเติบโตกว่าเดิมเป็นสิบเป็นร้อยเท่า โดยในปี 2015 เป็นปีที่ราคาน้ำมันตก หุ้นจึงตกทั้งหมด จาก 1600 จุดเป็น 1200 จุด และตอนนั้นเกิดมีไข้เลือดออกระบาด แล้วผมลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเยอะมาก กลายเป็นว่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลขึ้น 2-3 เท่า ผมจึงได้กำไรเยอะมาก แล้วพอมันลงไปจุดต่ำสุด 1200 ผมกลับรู้สึกว่า หุ้นโรงพยาบาลแพงแล้ว จึงขายแล้วหันไปซื้อหุ้นค้าปลีกที่ลงไปเยอะ ๆ พอเปลี่ยนตัวปุ๊บ ตลาดก็พลิกกลับมาเป็นขาขึ้น พอร์ตผมจึงโตมหาศาลมาก แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ผมแค่โชคดีที่เข้ามาในตลาดถูกช่วง และด้วยความที่เป็นคนขี้กลัว ไม่ค่อยกล้าทำอะไรที่เสี่ยงเท่าไร พอเราทำอะไรง่าย ๆ ค่อนข้างปลอดภัย จึงหลีกเลี่ยงการขาดทุนเยอะ ๆ ไปได้ ทำให้ผมได้ผลตอบแทนเยอะมากตั้งแต่ปีที่สองและสามของการลงทุน”
“จากจุดนั้นทำให้ทุกคนในบ้านสนใจว่าผมลงทุนยังไง มีความเสี่ยงรึเปล่า จะหมดตัวไหม เพราะว่าพ่อแม่ของผมเคยผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาก่อน เขาจึงเห็นข่าวนักลงทุนไปยิงตัวตายหน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกลัวมาก และเตือนผมตลอดว่าอย่าไปยุ่งกับหุ้น อย่าไปลงทุน แต่พอเราทำให้เขาเห็นและเข้าใจว่าการถือหุ้นก็เหมือนเราทำธุรกิจเพิ่มโดยลงแค่เงิน ไม่ต้องไปลงแรงกับเขา ทำให้ทุกวันนี้คนในบ้านผมทุกคนหันมาลงทุนกันหมด โดยผมก็จะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ทุกคน”
“ผมคิดว่า Know How เป็นเรื่องสำคัญ ผมอยากให้ทุกคนในบ้านบริหารเงินเป็น รวมไปถึงหลาน ๆ เขาจะทำอะไรก็ได้ในชีวิต ขออย่างเดียวคือ ต้องบริหารเงินเป็น ถ้าเรามี Wealth หรือความมั่งคั่งให้เขามีอิสรภาพทางการเงินแล้ว เขาก็อาจจะได้เป็นเหมือนเรา คือ ใช้ตลาดหุ้นหรือการลงทุนไว้หาเงิน เอาไว้ทำในสิ่งที่ไม่สนุก แล้วเอาเวลาที่เหลือไปใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากใช้และทำสิ่งที่สนุกดีกว่า”
ปีแรก ๆ ที่เริ่มเรียนรู้การลงทุนด้วยหุ้น คุณปรึกษาใครหรือมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไหม
“ช่วงที่เริ่มลงทุนแรก ๆ การมีสังคมนักลงทุนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเราอยู่คนเดียวจะไม่ค่อยมี Passion ผมเลยชอบไปงานเสวนา ลงเรียนคอร์สต่าง ๆ ไปเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน ในโซเชียลมีเดียของผมก็จะมีแต่คนกลุ่มนี้ คุยเรื่องหุ้นกันทั้งวัน เป็นสังคมที่หล่อหลอมเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ”
“แต่พอถึงจุดนึง ผมรู้สึกว่าการได้ยินเสียงของผู้คนรอบตัวเยอะเกินไปเป็นการรบกวนสมาธิของเรา คนโน้นบอกว่าหุ้นนี้ดี คนนั้นบอกว่าหุ้นนี้ดี ทั้งที่หุ้นที่เราถือมันดีอยู่แล้ว สุดท้ายแล้วเสียงรบกวนเหล่านี้จะทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้น พอลงทุนมาถึงจุดนึง ผมจึงลด ละ เลิก และเริ่มออกจากสังคมนักลงทุน หันมาอยู่คนเดียวมากขึ้น หรืออยู่ในสังคมนักลงทุนที่สนิทกันกลุ่มเล็ก ๆ 5 - 6 คน เพราะการอยู่ในสังคมที่เป็นนักลงทุนมาก ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การเปรียบเทียบ”
“มีอยู่ปีนึงที่ผมได้กำไรหุ้นทั้งพอร์ต 75% ซึ่งถือว่าเยอะมาก ปกติเขาได้กัน 5-10% ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองเก่งมากแล้วนะ แต่พอเจอเพื่อนสนิทที่ทำกำไรได้ 125% ผมรู้สึกว่าตัวเองโง่ในฉับพลันทันที ทั้งที่เราควรภูมิใจกับสิ่งที่เรามี แต่เรากลับรู้สึกแย่ ผมเลยหันมาอยู่เงียบ ๆ และโฟกัสไปที่เป้าหมายของตัวเองว่า อยากเติบโตปีละ 10% สนใจแค่ตัวเลขนี้พอ คนอื่นจะเป็นยังไง ช่างเขา”
“พอเราตัดเรื่องนั้นออกไปได้ ทำให้เรามีสติและมีสมาธิมากขึ้น ไม่ต้องพยายามที่จะลงทุนตลอดเวลา ผมเลยเหลือเวลาว่างเยอะแยะในการไปทำกิจกรรมที่ชอบ กลายเป็นว่าช่วงที่ผมทำกำไรจากการลงทุนดีที่สุดก็คือ ช่วงที่ผมไม่ค่อยทำอะไรกับหุ้นเลย ซื้อมาแล้วก็ทิ้งไว้เฉย ๆ ตัวเองก็ไปเขียนหนังสือ ไปทำโน่นทำนี่ สุดท้ายกลายเป็นว่าพอเราพยายามที่จะโฟกัสเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด ทำให้เสียเวลาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาโดยไม่ได้ผลตอบแทน สำหรับผมจึงเลือกใช้เวลาในการเลือกหุ้นคุณภาพดีที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ถ้าหาหุ้นแบบนั้นเจอ ผมว่าถือไว้ยาว ๆ น่าจะดีกว่า”
การเล่นหุ้นสามารถลอกกันได้ไหม
“ลอกได้ ก็แค่ซื้อตาม แต่ประสบการณ์ในการลงทุนที่ได้ก็จะไม่เหมือนกัน มีคนซื้อหุ้นตามผมตั้งเยอะแยะ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีกำไร เพราะกระบวนการลงทุนต้องมีทั้งการซื้อ ถือ และขาย ดังนั้น การลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจจะทำให้เราเข้าใจธุรกิจได้มากกว่า เช่น บางธุรกิจหุ้นตกลงมา 10-20% แต่เรารู้ว่าธุรกิจนั้นดี เราก็เฉย ๆ แต่สำหรับคนที่ทำใจไม่ได้ก็จะเกิดความกังวลและรีบขาย หรือพอหุ้นขึ้นก็รู้สึกว่าซื้อเพิ่มดีกว่า ดังนั้น คนที่ไม่ได้มีความเข้าใจในการลงทุนจริง ๆ จะไม่สามารถอยู่ในตลาดได้นาน เพราะเขาจะกังวลไปหมดกับการมี Position ในตลาด ถือก็กังวล ซื้อก็กังวล ขายก็กังวล”
“คนที่สามารถร่ำรวยจากการลงทุนได้ คือ คนที่อยู่ในตลาดเป็นสิบปี ตลาดดีก็อยู่ ตลาดไม่ดีก็อยู่ ดังนั้น คนที่ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ จะไม่สามารถทนกับความกดดันจากการรับมือกับตลาดหุ้นได้นาน สุดท้ายเขาอาจจะได้เงินเป็นช่วง ๆ หรือต่อให้ได้เงินก็จริง แต่ก็จะไม่ค่อยต่อเนื่องยาวนาน”
“หุ้นก็เหมือนกับหนังสือ หากมีคนยื่นหนังสือให้คุณเล่มนึง แล้วบอกว่าเล่มนี้ดีมาก ช่วยให้มั่งคั่งร่ำรวยได้ แต่ถ้าคุณไม่อ่าน ไม่เคยทำความเข้าใจมันเลย สุดท้ายคุณก็จะไม่มีความสามารถในการจัดการหรือไม่สามารถเป็นเจ้าของความมั่งคั่งได้ ผมไม่เคยเจอนักลงทุนคนไหนที่ยืมจมูกคนอื่นหายใจแล้วประสบความสำเร็จ ต่อให้เขาจะลงทุนแบบไหน ปัจจัยสำคัญคือ เขาต้องคิดเองเป็น การฟังหุ้นจากคนอื่นไม่ใช่เรื่องแปลก บางทีคนนี้ไปเจอหุ้นตัวนี้มาแล้วบอกว่าดี เราก็ไปอ่านหุ้นต่อ ประเด็นคือ ต้องศึกษาเองและเกิดความเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่ซื้อตามหรือลอกเลียนแบบอย่างเดียว”
เคล็ดลับการอ่านหุ้นที่ดีต้องทำอย่างไร
“การอ่านหุ้น คือ การอ่านงบการเงิน การเข้าไปศึกษาว่าเขาทำธุรกิจอะไร ถามว่าเราจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่องไหม ก็จำเป็น แต่ไม่ได้มาก เพราะการเรียนรู้จะมี Exponential อยู่ช่วงนึงที่ความรู้ของเราจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว แล้วหลังจากนั้นจะตื้อ ๆ ไม่ค่อยมีอะไรให้รู้แล้ว หลายคนเข้าใจว่าการเป็นนักลงทุนที่อยู่มานาน ก่อนลงทุนจะต้องคิดโน่นวิเคราะห์นี่เป็นสิบ ๆ หน้า แต่จริง ๆ แล้วบางช่วงบางปีผมไม่อ่านหุ้นเลยก็มี ถือแค่ตัวเดิม ดูธุรกิจเดิมว่ายังโอเคอยู่ก็พอ”
“ผมจึงมักจะพูดเสมอว่า หุ้นที่ดีคือ หุ้นที่ดูก็รู้ว่าดี อย่างหุ้นบางตัว หยิบให้แต่ละคนดู แล้วบอกว่าดีบ้างไม่ดีบ้าง หุ้นแบบนี้มักจะเป็นหุ้นที่ไม่ชัดเจนว่าจะดี แต่หุ้นที่ใครเห็นแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหุ้นตัวนี้ดี หุ้นแบบนี้แหละคือหุ้นที่จะเปลี่ยนชีวิตเราด้วยการสร้างผลตอบแทนที่ดี หุ้นที่ดีต่อให้ลงทุนไม่เก่งแค่ไหนก็รู้ว่ามันดี และเป็นหุ้นที่ไม่ได้ยาก ดังนั้น ผมจะใช้เวลาในการหาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอหุ้นตัวที่คิดว่าใช่จริง ๆ ค่อยลงทุน บางปีผมไม่ได้ซื้อหุ้นเลย บางปีซื้อแค่ตัวเดียวก็มี”
คนที่เหมาะกับการลงทุนด้วยหุ้นควรมีคุณสมบัติแบบไหน
“หนึ่ง คือ ต้องมีความรู้ เพราะการลงทุนด้วยหุ้นอาศัยความรู้เยอะมาก ยิ่งลงทุนในหุ้นรายตัวยิ่งต้องเข้าใจธุรกิจ ทั้งภาพใหญ่ ภาพย่อย เข้าใจงบการเงินและสภาพเศรษฐกิจ ข้อที่สอง คือ ต้องมีเวลา เพราะหลังจากมีความรู้แล้ว เมื่อเข้ามาอยู่ในตลาดหุ้นก็ต้องตามดูหุ้น ติดตามเศรษฐกิจ หุ้นจะต้องเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เป็นคนที่สนใจหุ้นแล้วเปิดดูหุ้น แต่ต้องมองทุกอย่างให้เป็นการลงทุนจริง ๆ และข้อที่สาม ซึ่งผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ ต้องมี Passion เพราะต่อให้คุณไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ แต่มี Passion มีความชอบที่จะทำ คุณจะหาเวลาและหาความรู้ได้เอง”
“เวลาที่ใครสักคนเริ่มลงทุน ผมจะไม่ค่อยยัดเยียดอะไรให้เขาเยอะว่าจะต้องรู้โน่นรู้นี่ เขาต้องลองลงทุนก่อน ลองเข้าไปตลาดหุ้น สนุกไหม ชอบไหม ดูหุ้นแล้วมีความสุขไหม หุ้นขึ้นหุ้นลงรับได้ไหม เมื่อเขาเรียนรู้ว่าสามารถที่จะหาเงินจากที่นี่ได้ เดี๋ยวเขาจะสนใจและพยายามเรียนรู้เอง”
สำหรับคุณ การลงทุนด้วยหุ้นมีความสนุกอย่างไร
“สนุกมาก (เน้นเสียง) ผมมองว่าหุ้นเหมือนการเล่นเกม ผมรู้สึกอยากเอาชนะ อยากได้กำไรเยอะ ๆ อยากจะหาหุ้นที่เก่ง หุ้นที่ดี อยากเป็นเจ้าของหุ้นที่พรีเมียม ด้วยความที่ผมไม่มีความกดดันเรื่องเงินตั้งแต่แรกว่าจะต้องรวยเร็ว ผมจึงลงทุนไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดที่ผมมีอิสรภาพทางการเงินจนสามารถเกษียณได้แล้ว ยิ่งไม่มีผลเลย ผมจะรวยขึ้นอีกสิบเท่าหรือร้อยเท่าชีวิตก็เหมือนเดิม ที่เหลือคือ ความสนุก และความตื่นเต้นที่ได้ทำ”
“ผมเป็นคนชอบเล่นเกม ชอบแกะรหัส หุ้นจึงเป็นเหมือนเกมที่อยู่ในชีวิตจริง ถ้าคุณหาคำตอบได้ ก็หาเงินได้ ยิ่งผมลงทุนหุ้นด้วยความสนุก ไม่ได้อ่านหุ้นด้วยความรู้สึกอยากได้เงิน ผมแค่อยากสนุกว่าตัวนี้จะขึ้นไหม ตัวนี้จะเป็นเท่าไร อยากจะหาหุ้นที่เติบโตเยอะ ๆ ให้ได้ เห็นคนอื่นได้หุ้นสิบเด้งร้อยเด้ง เฮ้ย เราอยากเป็นผู้ที่เจอหุ้นแบบนั้นบ้าง เหมือนหาขุมสมบัติเจอ โดยที่ไม่เคยคิดว่าจะเอาสมบัติที่อยู่ในกล่องมาทำอะไร ได้เงินมาผมก็เอาไปลงทุนต่อเลยยิ่งสนุก”
ดูเหมือนจะเป็นชีวิตที่ห่างไกลจากความกังวล แต่จริง ๆ แล้วเกิดความเครียดขึ้นบ้างไหม
“ถ้ามองภาพใหญ่ ผมไม่มีเรื่องในชีวิตให้เครียดมากนัก เพราะโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีเงินประมาณนึง สามารถส่งเสียให้เรียนจนจบ และมีเงินตั้งต้นให้ลงทุนจนมีอิสรภาพทางการเงินได้ พอเรามีความโชคดีแบบนั้นเลยไม่มีความกดดันจากภาระทางการเงินอย่างการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือต้องตื่นเช้าไปทำงานแล้วเจอเจ้านายบ่น ฯลฯ”
“แต่พอภาพใหญ่ของเราไม่ได้มีเป้าหมายหลัก ทั้งที่ชีวิตยังต้องดำเนินไปทุกวัน ผมจึงต้องพยายามหาเป้าหมายรอง ๆ ในชีวิต เช่น อยากเป็นนักเขียน ต้องเขียนหนังสือให้ได้ อยากจะลงทุนให้ได้ อยากจะบุกตลาดนี้ให้สำเร็จ ฯลฯ เมื่อเราตั้งเป้าหมายอยากทำอะไรให้สำเร็จ พอไม่สำเร็จก็ต้องเครียด แต่ถามว่าภาพใหญ่เครียดไหม ไม่เครียดเลย เพราะเมื่อเทียบกับคนในรุ่นเดียวกัน ตอนนี้ผมก็เกษียณแล้ว ความเครียดของผมจึงเป็นความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตที่ผมรู้สึกว่าคนเรามันต้องมีพันธะเกี่ยวกับโลกนี้บ้าง ไม่อย่างนั้นคงว่างเปล่าเกินไป ถ้าคุณตื่นมาเช้านี้แล้วไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรไปเพื่ออะไร ชีวิตคงจะยากไปอีกแบบ”
Passion อื่น ๆ ในชีวิตสำคัญต่อการเป็นนักลงทุนอย่างไร
“สิ่งสำคัญในการลงทุนอย่างนึง คือ การกระจายความเสี่ยงในชีวิต นักลงทุนมักชอบบอกว่าเราต้องกระจายความเสี่ยงในหุ้นด้วยการถือหุ้นหลายตัว เพื่อที่ว่าหากหุ้นตัวนึงสูญเสียไป คุณจะยังเหลือหุ้นตัวอื่นอีก แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่กระจายความเสี่ยงในชีวิต แต่เลือกที่จะเอาความเสี่ยงทั้งหมดในชีวิตไปใส่ในคำว่าหุ้น หุ้นขึ้นคุณก็ดีใจที่ร่ำรวย หุ้นลงคุณก็เสียใจ โดยไม่แบ่งเวลามาให้ครอบครัว งานอดิเรก ความสัมพันธ์ หรือสุขภาพ มุ่งมั่นที่จะร่ำรวยอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงคุณต้องอยู่ในตลาดหุ้นทุกวัน หากอยู่นานสิบปีก็เป็นเวลาหลายพันวัน เราจึงไม่ควรเอาจิตใจไปผูกไว้กับหุ้นขนาดนั้น”
“ผมมักบอกทุกคนที่ลงทุนเยอะ ๆ ว่าให้หางานอดิเรกทำบ้าง ดึงชีวิตออกไปจากการลงทุนบ้าง เพื่อทำชีวิตให้สมดุล เพราะทุกคนต้องเจอวันที่แย่ด้วยกันทั้งนั้น แล้ววันที่แย่จากตลาดหุ้น ใครจะอยู่กับคุณ ผมเจอบางคนที่มุ่งมั่นกับความร่ำรวยอย่างเดียว พอวันนึงที่ตกต่ำหันมาก็ไม่เหลือใครแล้ว”
การเป็นนักเขียนสร้างความกดดันอะไรให้คุณบ้างไหม
“ตอนแรกผมไม่ค่อยกดดันเรื่องการเขียนมากเท่าไร เพราะผมลงทุนเปิด สำนักพิมพ์ 13357 เป็นของตัวเอง ดังนั้น งานเขียนของผมจึงไม่ต้องถูกตัดสินจากสำนักพิมพ์ว่าจะขายดีหรือขายไม่ดี ผมอยากทำอะไรก็ทำ ถ้าเจ๊งผมก็รับผิดชอบเอง ผมเลยมีความสุขกับการเขียนหนังสือขายไปเรื่อย ๆ แบบไม่ได้คิดอะไรมาก จนกระทั่งหนังสือเล่มที่ชื่อ กาสักอังก์ฆาต ขายดีมาก พิมพ์ซ้ำ 12 ครั้งภายในเวลา 5 เดือน ผมจึงเริ่มรู้สึกกดดัน เพราะมีคนอ่านหนังสือเราเยอะมาก และมีคนรู้จักเรามากขึ้น ดังนั้น ชื่อของเราจึงกลายเป็นความคาดหวังไปแล้วว่านักเขียนคนนี้จะต้องเขียนหนังสือดี นักอ่านบางคนอาจจะกลับไปตามอ่านผลงานเล่มเก่า ๆ ของผม หรือคาดหวังกับผลงานเล่มต่อไป กลายเป็นว่าผมต้องพิถีพิถันในการทำงานมากขึ้นและสร้างมาตรฐานกับตัวเองว่า ถ้างานไม่ดี อย่าตีพิมพ์ออกมา ต่อให้เป็นเงินตัวเองก็ตาม เพราะถ้าคนซื้อไปอ่านแล้วไม่ถูกใจ ชื่อเสียงเราก็จะเสียไปด้วย”
เป้าหมายในการเป็นนักเขียนของคุณคืออะไร
“เป้าหมายของนักเขียนส่วนใหญ่มี 3 ด้าน หนึ่งคือ มีหนังสือขายดี สอง มีหนังสือที่ได้ดัดแปลงไปทำละคร และสามคือ มีหนังสือที่ได้รับรางวัล สำหรับผมเองมีหนังสือที่ถูกซื้อไปทำละครแล้ว 13 เรื่อง สร้างออกมาแล้ว 5 เรื่อง รออยู่ในสต็อคอีก 8 เรื่อง ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับนักเขียนที่ทำงานมาแค่ 5 ปี”
“ส่วนหนังสือขายดี ก็คือ กาสักอังก์ฆาต ที่ล่าสุดขายดีเป็นอันดับหนึ่งในงานมหกรรมนิยายนานาชาติปีนี้ ที่เต็มไปด้วยหนังสือแปลจากหลากหลายชาติ รวมถึงก่อนหน้านี้ผมเคยมีหนังสือหุ้นที่ขายดีมาก เลยรู้สึกว่าเป้าหมายนี้ Completed แล้ว”
“สำหรับเป้าหมายของหนังสือที่ได้รางวัล ผมเป็นคนนึงที่ส่งหนังสือเข้าร่วมประกวดวรรณกรรมเยอะมาก ประมาณ 50 กว่ารางวัลทั้งในไทยและต่างประเทศ รางวัลที่ยังไม่ได้น่าจะมีรางวัลเดียวคือ ซีไรต์ ซึ่งเมื่อผมทำงานเขียนไปเรื่อย ๆ ก็ค้นพบว่า จริง ๆ แล้วตัวเองชอบเขียนงานแนวแมสที่อิงกับโครงเรื่องสนุก ๆ อย่างงานสืบสวน ซึ่งเวทีวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างซีไรต์ต้องการความลุ่มลึกและการตีความมากกว่านั้น เมื่อผมกลับมานั่งทบทวนกับตัวเองแล้วก็พบว่า แม้แต่ผลงานชิ้นที่ดีที่สุดของผมก็ยังคงไปไม่ถึงซีไรต์ สุดท้ายผมก็ยอมรับกับตัวเองได้ว่า เรามีความสุขแล้ว เราพอแล้ว สุดท้ายแล้วไม่มีใครมาสนใจหรอกว่าเราจะได้ซีไรต์หรือไม่ ถ้าเราไปบีบบังคับตัวเองว่าจะต้องได้ให้ได้ ก็กลายเป็นความทุกข์ของเราเปล่า ๆ”
“สุดท้ายมันก็กลับมาคล้ายกับเป้าหมายตอนที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ ๆ ตอนนั้นผมอยากเป็นเจ้าของเงินร้อยล้านมาก ตั้งใจว่าต้องมีเงินร้อยล้านก่อนอายุสามสิบให้ได้ ทำให้ตอนนั้นผมลงทุนด้วยความเครียดมาก จนถึงประมาณปี 2018 ช่วงนั้นทุกอย่างในชีวิตพังพินาศหมด พ่อเสียชีวิต พี่ชายป่วยหนัก ผมเลยพบว่าไม่เห็นจำเป็นต้องได้ร้อยล้านเลย ไม่มีร้อยล้านชีวิตเราก็มีความสุขได้ ทำไมเราต้องบีบบังคับตัวเองว่าต้องมีเงินร้อยล้านถึงจะมีความสุข ผมก็เลยคิดว่า ช่างมัน ไม่เอาแล้ว”
“แต่หลังจากนั้นผมก็ได้เป็นเจ้าของเงินร้อยล้านจริง ๆ เชื่อไหมว่ามันมีความสุขแค่สามวินาทีเท่านั้น เหมือนเวลาไป Trekking ขึ้นภูเขาสูง ๆ พอเราไปถึงยอดเขาจริง ๆ มันแค่นี้เองเหรอ ถ่ายรูปแค่สองรูปก็หมดแล้วเหรอ ดังนั้น ความอิ่มเอมทั้งหมดมันเกิดขึ้นระหว่างทางที่ลำบากลำบนตอนกำลังเดินขึ้นเขา ถ้าเรานั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบนยอดเขาก็คงจะไม่รู้สึกอะไรเลย สุดท้ายผมก็ค้นพบว่า เราแทบไม่ได้จดจำวันที่เราประสบความสำเร็จ แต่เราจดจำช่วงเวลาที่ต่อสู้เพื่อที่จะไปถึงจุดนั้นมากกว่าว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ชีวิตเราเติบโตขึ้นแค่ไหน”
เคยคิดไหมว่าเกษียณเร็วแบบนี้แล้วเวลาที่เหลือของชีวิตจะทำอะไรต่อดี
“ผมเคยเป็นคนที่มองว่าชีวิตต้องประสบความสำเร็จเท่านั้นเท่านี้ถึงจะมีความสุขได้ แต่ทุกวันนี้ความสุขที่สุดในชีวิตคือ การได้อยู่กับคนที่ทำให้รู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วโลกนี้มีความสุข ได้อยู่กับครอบครัว เพื่อน พี่น้อง คนรอบตัวที่ดี กลับกลายเป็นว่าความสุขพวกนี้เป็นความสุขราคาถูกในเชิงเงิน การที่คุณมีครอบครัวที่ดีเพื่อนที่ดี คุณไม่ต้องจ่ายตังค์เยอะหรอก แต่สิ่งที่ยากคือ คุณต้องปรับจูน ทำความเข้าใจว่าเราเป็นคนยังไง เขาเป็นคนยังไง อยู่ด้วยกันอย่างไรให้มีความสุข”
“ผมไม่ได้บอกว่าความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน ความสุขขึ้นอยู่กับเงินแน่นอน แต่แค่ส่วนเดียว ผมบอกได้เลยว่าเมื่อมีเงินเกินสิบล้าน ชีวิตคุณจะไม่ค่อยเปลี่ยนไปจากเดิม ความสุขที่ได้จึงเป็นความสุขก้อนเดิม ถ้าคุณไปมัวแต่โฟกัสความสุขก้อนนี้ คุณก็จะสูญเสียความสุขก้อนอื่นในชีวิตไป คุณอาจจะตั้งใจทำงานหาเงินปลดหนี้ปลดสินและเป็นเจ้าของคุณภาพชีวิตที่ดีก่อน เมื่อคุณเริ่มสบาย ไม่ต้องเจอกับความกดดันต่าง ๆ แล้ว ก็ถึงเวลาสร้างสวนแห่งความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะต่อให้คุณมีเงินเยอะแค่ไหน ถ้ารอบตัวคุณมีแต่คน Toxic ความสุขจากความร่ำรวยของคุณจะถมเท่าไรก็ไม่เต็ม”
“ผมเคยเจอเพื่อนนักลงทุนบางคนที่รวยมาก แต่เป็นโรคซึมเศร้าหนักหน่วงมาก เพราะเขาไม่สามารถรับมือกับเรื่องอื่นได้ เนื่องจาก Supporting System ของเขาไม่แข็งแรงพอในวันที่เจอกับเรื่องยาก ๆ และไม่ใช่ว่าครอบครัวของเขาไม่ดี แต่ตัวเขาเองไม่เคยสนใจหรือให้คุณค่าต่อความสัมพันธ์นี้ ดังนั้น ต่อให้มีครอบครัว Support แต่เขาไม่รับไว้ มันก็ไม่ช่วยอะไร”
“ถ้าเราทำความเข้าใจสิ่งนี้ได้ คุณอาจจะไม่ต้องร่ำรวยมาก สมมติว่ามีเงินสัก 10 - 20 ล้านบาท เพียงพอที่จะเกษียณแบบไม่ลำบากใคร คุณอาจจะมีความสุขกว่าคนที่มีเงินเป็นหมื่นล้านก็ได้ เพราะคุณอยู่ในสังคมที่ดี สามารถยิ้มได้กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกวันนี้แค่ผมได้ไปตีแบดกับเพื่อน นั่งคุยกัน แล้วกลับบ้านมายืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนเข้านอนก็มีความสุขแล้ว”
อัปเดทความรู้ด้านการลงทุนกับ ‘เบส ลงทุนศาสตร์’ เพิ่มเติมได้ที่
Website : www.investerest.co
Facebook : ลงทุนศาสตร์ - Investerest