

สุขจากการให้ “คลินิกหมอสมเกียรติ” รักษาด้วยใจ ไม่มีเงิน ไม่ต้องจ่าย
Better Life / People
25 Aug 2022 - 12 mins read
Better Life / People
SHARE
25 Aug 2022 - 12 mins read
“เราเกิดมาเพื่ออะไร” หลายคนอาจเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ นายแพทย์สมเกียรติ กิจธรรมเชษฐ์ เจ้าของคลินิกในเมืองกระบี่ ที่ขนาดของพื้นที่อาจจะไม่ใหญ่โต แต่จิตใจเอื้ออารีของเขากว้างขวางเกินจะคาดคะเน หมอผู้ตรวจรักษาผู้ป่วยกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ คิดค่าใช้จ่าย 0-500 บาท และช่วยเหลือผู้ขาดแคลนยากไร้ ให้มีหนทางในการใช้ชีวิตที่ดีกว่าเดิม นั่นคือสิ่งที่ชายวัย 67 ปี ทำมาโดยตลอด เพื่อตอบคำถามที่ว่า “เราเกิดมาเพื่ออะไร”
เพราะผ่านมาก่อนจึงเข้าใจคนลำบาก
เคยคิดไหมว่า การที่ใครคนหนึ่งจะเป็นฮีโร่ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ต้องมั่งมี ต้องแข็งแกร่ง หรือต้องมีพลังวิเศษ สำหรับหมอสมเกียรติ อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติที่กล่าวมา แต่ชายคนนี้มีแค่ใจที่อยากให้และช่วยเหลือผู้อื่น
หากพูดถึงความมั่งมี ชีวิตในวันวานของคุณหมอเรียกได้ว่าอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเลยก็ว่าได้ ทำให้กว่าจะร่ำเรียนจนสำเร็จในแต่ละระดับชั้น ต้องใช้ทั้งความพยายามและมุมานะอย่างที่สุด หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนในตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เด็กชายสมเกียรติต้องหยุดเรียนไป 2-3 ปี กว่าจะกลับไปเข้าเรียนมัธยมต้นได้ เพราะฐานะทางบ้านค่อนข้างขัดสน แต่ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้รักการเรียน จึงจบ มศ.3 มาด้วยตำแหน่งเด็กเรียนดีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของจังหวัด ก่อนจะดั้นด้นเข้ามาเรียนต่อมัธยมปลายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตามคำแนะนำของครู ด้วยเงินที่คุณแม่ส่งให้เดือนละ 500 บาท ทุนนักเรียนยากจนปีละ 1,000 บาท และอาศัยหอพักฟรีของครูใหญ่ในยุคนั้น
“ผมเข้าใจแบบถึงกระดูกเลยว่า ความลำบากเป็นยังไง แต่ตลอดช่วงเวลานั้นไม่เคยทุกข์เลยนะ ลำบากแต่ไม่ทุกข์ สนุกกับการเรียนและตั้งใจเรียนมาก เพื่อที่จะสอบเข้าแพทย์ให้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะซาบซึ้งกับความรักของคุณแม่ด้วย ทั้งที่ท่านไม่มี แต่ก็ยังพยายามส่งลูกเรียนหนังสือ เพราะคิดว่าถ้าเราได้เรียน ได้มีงานทำ ก็จะช่วยเหลือทางบ้านได้ ซึ่งนั่นเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผมเลือกเรียนแพทย์” คุณหมอที่ชาวกระบี่รู้จักดีในวันนี้ เล่าถึงความตั้งใจในวัยเยาว์ ไม่เพียงเพราะมองเห็นหน้าที่การงานในอนาคตและหนทางจุนเจือครอบครัว แต่ส่วนหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจในวันนั้น คือความคิดที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ของการเจ็บป่วย
“จำได้ว่าตอนผมอายุสัก 10 ขวบ มีขอทานตาบอดมาอาศัยอยู่ในห้องแถวหน้าตลาด เขาบอกว่าจะเก็บเงินไปผ่าตัดตา เพราะอยากมองเห็น รู้อย่างนั้นแล้วเราก็สงสาร อยากช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งที่มาเรียนแพทย์ก็เพราะอยากช่วยให้คนที่ไม่มีได้เข้าถึงการรักษาด้วย” นั่นคืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เขาสอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ระหว่างเรียนจะต้องทำงานพิเศษควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากทุนรอนที่แม่ส่งให้ในแต่ละเดือน แต่ก็พากเพียรจนได้คำนำหน้าว่า “นายแพทย์” มาจนได้
ประสบการณ์สอนให้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
ว่ากันว่าโลกของการทำงานคืออีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ หมอสมเกียรติในวันที่เป็นนายแพทย์จบใหม่ก็เช่นกัน ประสบการณ์การเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลกลาง ในกรุงเทพมหานคร ทำให้เขาได้เรียนรู้การทำหน้าที่หมอจากรุ่นพี่แพทย์ผู้มีน้ำใจและเอาใจใส่คนไข้ จนกลายเป็นต้นแบบให้กับชีวิตการทำงานของเขา จากนั้นเมื่อโชคชะตาพาให้ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาลประจำอำเภอซึ่งมีจำนวนแพทย์จำกัด ก็สอนให้ได้รู้จักกับความรับผิดชอบและฝึกฝนการทำงานหนัก ทั้งตรวจรักษา ผ่าตัด ไปจนถึงดูแลคนไข้แบบไม่มีวันหยุด ราวกับบ่มเพาะให้เขาแข็งแกร่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ต้องออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ในวันข้างหน้า
“ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลตะพานหินได้พักใหญ่ก็ทราบว่าที่กระบี่ไม่มีหมอกระดูกเลย เวลามีอุบัติเหตุหรืออะไรที่เกี่ยวกับกระดูก ต้องส่งตัวคนไข้ไปรักษาที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งไกล และสมัยนั้นถนนหนทางก็ยังไม่ดีนัก เราก็เลยตกลงกับโรงพยาบาลกระบี่ว่าจะขอรับทุนโรงพยาบาลไปเรียนเฉพาะทางด้านกระดูกแล้วกลับมาทำงาน จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงทุกวันนี้” อดีตเด็กกรุงเทพฯ ย่านสวนพลูผู้เติบโตมาในลำนารายณ์ บอกถึงเหตุผลของการย้ายไปลงหลักปักฐานในเมืองที่ไม่คุ้นเคยอย่างกระบี่
ด้วยความที่เป็นหมอกระดูกคนแรกของจังหวัดกับความขยันชนิดที่เข้าห้องผ่าตัดตั้งแต่สองทุ่มถึงตีสี่ ทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุด ทั้งยังเปิดคลินิกให้บริการสำหรับคนที่ไม่อยากไปโรงพยาบาล หมอหนุ่มไฟแรงจึงเป็นที่รู้จักรักใคร่ของชาวกระบี่ แม้แต่ในพื้นที่อำเภอห่างไกลก็ยังเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัวเขา ส่วนตัวคุณหมอเองก็รู้สึกสนุกกับการทำงานมากกว่าเหน็ดเหนื่อย เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมามากกว่าเงินทองและรายได้ คือรอยยิ้มของคนไข้ที่ทำให้มีกำลังใจ
“ตั้งแต่มาอยู่กระบี่ ผมสนุกและมีความสุขมาก ทุกวันรู้สึกได้เลยว่าชีวิตเรามีค่า เหมือนได้ช่วยชุบชีวิตคนที่กำลังจะตาย ใครที่แข้งขาหักก็ช่วยให้เขาหายกลับมาเป็นปกติ ช่วงนั้นนอกจากผ่าตัด รักษาเรื่องกระดูก รักษาอาการทั่วไป เป็นหมอเวร ผมก็เปิดคลินิกด้วย เพราะมีคนไม่น้อยที่ไม่อยากไปโรงพยาบาล ซึ่งก็สนุกนะ ไม่รู้สึกว่าทำงานหนักเลย” ประกายในแววตาฉายชัดถึงความอิ่มเอมใจในขณะที่เล่าถึงการทำงานในวันวาน ถึงกระนั้นเมื่อผ่านไป 3 ปี มีหมอกระดูกคนใหม่เข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลกระบี่ หมอสมเกียรติก็ตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตอีกครั้ง ด้วยการลาออกจากราชการเพื่อหันมาดูแลคลินิกที่เปิดไว้อย่างเต็มตัว
คุณหมอของคนยากไร้ “มาเถอะ รักษาให้”
“ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้อะไร แค่มองว่าพออยู่ได้ก็พอแล้ว เลยตัดสินใจออกมาดีกว่า จะได้ช่วยคนได้เต็มที่ขึ้น” อัตราค่ารักษาพยาบาลที่คิดตามกำลังจ่ายของคนไข้ ตั้งแต่ 0-500 บาท รายได้ของหมอสมเกียรติน่าจะน้อยกว่าเงินเดือนที่เคยได้รับด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่ทำให้เขายืนหยัดมาได้ คือความตั้งใจจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ได้มากที่สุด
“ตอนนั้นกระบี่เริ่มเจริญขึ้น มีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา แต่คนบางกลุ่มกลับได้รับผลกระทบจากความเจริญนี้ โดยเฉพาะคนไข้ที่คลินิก ซึ่งมี 3 กลุ่มด้วยกัน หนึ่ง คือกลุ่มชาวบ้านที่เป็นเกษตรกร ทำสวนยาง สวนป่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับอานิสงส์ใด ๆ จากการท่องเที่ยวเลย แต่กลับต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก สอง คือกลุ่มคนงานก่อสร้าง ซึ่งค่าแรงไม่ได้เยอะ และอีกกลุ่ม คือคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป หลายคนไม่มีเงินมาหาหมอ บางคนต้องกู้หนี้ยืมสินมา รู้แบบนี้แล้วเราเลยคิดค่าบริการ 0-500 บาท คือถึงไม่มีเงินก็ให้มาเถอะ จะรักษาให้ ใครที่มีก็คิดเฉพาะค่ายา ส่วนค่าบริการตรวจนั้นไม่คิดอยู่แล้ว เพราะระลึกอยู่เสมอว่าเราเรียนจบมาด้วยภาษีของประชาชน เลยไม่อยากคิดค่าวิชาจากประชาชน แค่ค่ายาพอหักต้นทุนแล้วก็ยังอยู่ได้ อาจจะไม่มากมาย แต่อยู่ได้อย่างสบายใจ”
ด้วยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และความเอื้อเฟื้อต่อผู้ขาดแคลน ทำให้ชื่อของหมอสมเกียรติเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งในนาม “หมอศูนย์บาท” และ “คุณหมอของคนยากไร้” ซึ่งไม่เพียงรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป แต่ยังเป็นที่พึ่งของผู้ติดยาหรือติดสารเสพติดต่าง ๆ ด้วยวิธีการรักษาตามอาการ และปลอบโยนจิตใจด้วยความรักจากคนรอบข้าง ทำให้หลายคนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ หลายครอบครัวหลุดพ้นจากความทุกข์และมีความสุขมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเหลืองานด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดกระบี่ ที่ทำมานานเกือบ 20 ปี ตลอดจนประสานความร่วมมือกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านอื่น ๆ ทั้งการหาหนังสือเข้าห้องสมุด รับบริจาคเงินเพื่อซื้อพัดลมและทีวีให้เรือนจำ ฯลฯ
ถามว่า ในเมื่อรายได้ก็ไม่มากมาย แล้วคุณหมอได้อะไรจากสิ่งที่ทำ เจ้าของคลินิกยิ้มก่อนตอบ “ทุกปีผมจะได้กินทุเรียนเยอะมาก ปูไข่ก็เยอะ ไอ้เราก็ไม่กินอะไรที่ยังเป็นหรือยังมีชีวิตอยู่ ก็รับเขามาแล้วขอบคุณ ก่อนจะแอบเอาไปปล่อยทะเล (หัวเราะ) ผู้ต้องขังหลายคน พอพ้นโทษแล้วก็มาขอบคุณที่ช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากในนั้นมาได้ แค่นี้ก็มากมายแล้ว เราจะย้ำเสมอว่าไม่มีไม่เป็นไร แต่ถ้ามีกำลังแล้วก็ช่วยคนอื่นบ้างนะ บางคนที่มีอยู่แล้ว ก็ให้มาเกินค่ายาที่เราคิด ซึ่งผมก็จะให้เอาส่วนที่อยากจ่ายเพิ่ม ไปใส่ตู้บริจาค เอาไว้ซื้อเครื่องกันหนาวส่งไปทางเหนือ หรือซื้อข้าวแจกเวลาเกิดน้ำท่วมแทน” ชายวัย 67 ปีที่ยังคงทำงานทุกวัน อธิบายถึงสิ่งที่ได้รับเคล้าด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ดีกว่าเสียใจที่ไม่ได้ทำ
นับตั้งแต่ลาออกจากราชการเมื่อปี 2538 หมอสมเกียรติยังคงทำหน้าที่ในคลินิกเรื่อยมา โดยเปิดให้บริการทุกวัน จันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 8.00-19.00 น. ซึ่งก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 เขาเล่าว่ามีคนไข้เข้ามารับการตรวจรักษาราว 100-120 รายต่อวัน แต่ความที่บ้านและที่ทำงานอยู่ในตึกแถวห้องเดียวกัน จึงลดปัญหาในการเดินทางและไม่มีอุปสรรคในการทำงาน
“คนป่วยไข้ไม่มีวันหยุดหรอก คลินิกส่วนใหญ่ปิดวันอาทิตย์ เพราะหมอทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์ เขาก็อยากพักบ้าง แต่เราอยู่ที่นี่ ไม่ได้ไปไหน เลยเปิดทุกวันให้ชาวบ้านได้มารักษา ครั้งหนึ่งสมัยที่เปิดคลินิกได้สักปีสองปี จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ มีแม่คนหนึ่งอุ้มเด็กอายุประมาณขวบกว่า ๆ เข้ามา บอกว่าลูกชัก อุ้มขึ้นรถมาจากอำเภอคลองท่อม เราก็ถามว่าทำไมไม่เข้าโรงพยาบาลใกล้บ้าน เขาบอกว่าพอป่วยก็นึกถึงหมอคนแรกเลย ได้ยินแล้ว...ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่คนจะนึกถึงเรา เพราะเหตุนี้ผมเลยเปิดคลินิกตลอด สำหรับบางคนการทำแบบนี้อาจคิดว่าหนักเกินไป แต่ผมมองว่า เพราะคุณไม่ชินต่างหาก ถ้าชินแล้วจะไม่รู้สึกว่าหนักหรอก” เขาย้ำถึงอุดมการณ์ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
เมื่อถูกชื่นชมในสิ่งที่ทำและสรรเสริญในความดี คนทั่วไปคงยิ้มรับด้วยความปลื้มปีติ แต่หมอสมเกียรติกลับเห็นว่า สิ่งที่ตนทำ ไม่ใช่ความดีตามที่คนยกย่อง แต่เป็น “ความเอื้อเฟื้อ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีต่อกัน ฉะนั้นแม้งานรักษาคนป่วยไข้ตามหน้าที่หมอแทบจะล้นมือ คุณหมอยังไม่ลืมที่จะเผื่อแผ่ดูแลช่วยเหลือสังคม ทั้งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ บริจาคเครื่องกันหนาวในพื้นที่ประสบภัยหนาว รับบริจาคชุดนักเรียนให้เด็กที่ขาดแคลน และอีกสารพัด เพราะมองว่า “เวลาคนมาคุยถึงปัญหาต่าง ๆ อย่างน้ำท่วม ไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ถ้ามองอย่างใส่ใจก็จะเห็นทางช่วย อย่างที่บอกว่าผมผ่านการไม่มีมาก่อน เลยรู้ว่าคนไม่มีเขาหวังอะไร รับรู้ถึงความทุกข์ของเขา จึงพยายามให้ความช่วยเหลือ อีกอย่างผมมองว่าชีวิตมันสั้น จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้นทำอะไรได้ก็ทำไป จะได้ไม่เสียใจว่าไม่ได้ทำ” ซึ่งนอกจากความเอื้อเฟื้อที่ทำโดยสัญชาตญาณ หมอสมเกียรติยังเผยถึงเบื้องลึกของสิ่งที่ทำว่าเกิดจากการพยายามตอบคำถามของตัวเองที่ว่า “เราเกิดมาเพื่ออะไร”
“จริง ๆ แล้วสิ่งที่ผมทำอยู่เกิดจากคำถามที่ผุดขึ้นมาตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ เกิดมามีงานทำ มีครอบครัว แล้วตายไป แค่นี้จริง ๆ เหรอ คำถามนี้ติดอยู่ในใจผมมาตลอด จนเริ่มมาตกผลึกปี 2538 ที่อยากช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์เท่าที่จะทำได้ และมองว่าถ้ายังอยู่ในราชการก็ช่วยได้เท่านั้น แต่ถ้าออกมาน่าจะช่วยได้มากกว่า ซึ่งพอทำไปทำมา ผมรู้สึกได้ว่าจิตวิญญาณของผมดีขึ้น การเป็นผู้ให้ทำให้จิตใจสงบลง กิเลส โลภ โกรธ หลง ลดลง ตามที่คำพระท่านว่า ตัดความเห็นแก่ตัว ละอัตตาลง จะสงบขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รุ่มร้อน ความรู้สึกสงบนี้ทำให้ผมมองว่า น่าจะมาถูกทางแล้วละ”
ในสายตาของคนอื่น นายแพทย์สมเกียรติคือบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ ทว่าในมุมมองของเจ้าตัว คุณหมอกลับเห็นว่าคนที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวเขาเอง เพราะทุกคนที่ผ่านเข้ามา ทั้งคนไข้ของคลินิก คนติดยาที่พ้นทุกข์ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ฯลฯ ล้วนผ่านเข้ามาเพื่อช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัวของเขาให้ลดลง จนมีจิตใจที่จะช่วยเหลือและทำเพื่อผู้อื่น โดยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะจุดประกายให้เกิดความเอื้อเฟื้อในสังคมต่อไป เหมือนที่คุณหมอย้ำกับคนไข้เสมอว่า “ตอนนี้ไม่มีไม่เป็นไร แต่ถ้ามีกำลังเมื่อไร ให้ช่วยคนอื่นบ้างนะ”