ตามรอย ‘เน๋ง ศรัณย์’ เข้าป่าถ่ายภาพ Wildlife สัมผัสความสุขแห่งงานศิลปะที่ธรรมชาติจัดสรร

21 May 2024 - 10 mins read

Better Life / People

Share

ขอต้อนรับทุกท่านสู่งานแสดงภาพถ่ายสัตว์ป่าของ หมอเน๋ง - ศรัณย์ นราประเสริฐกุล นักแสดงและสัตวแพทย์ ผู้กำลังจริงจังกับงานอดิเรกชิ้นใหม่อย่างการบุกป่าฝ่าดงเพื่อบันทึกภาพชีวิตสัตว์ป่านานาชนิด

 

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ ‘หมอเน๋ง’ เดินทางไปต่างประเทศ และขึ้นเหนือล่องใต้ไปทั่วประเทศไทย เพื่อบันทึกภาพสัตว์ป่านานาชนิด สั่งสมเป็นประสบการณ์ที่เขาพร้อมจะบอกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพื่อถ่ายทอดถึงเสน่ห์ของ Wildlife Photography ศิลปะที่ไม่สามารถออกแบบหรือควบคุมได้ เพราะเป็นงานศิลป์ที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ล้วน ๆ

เน๋ง - ศรัณย์ นราประสริฐกุล

สัตวแพทย์และนักแสดง

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการถ่ายภาพสัตว์ป่า

 

“ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ผมชอบดูสารคดีชีวิตสัตว์โลกมาโดยตลอด พอถึงช่วงมัธยมก็เริ่มชอบถ่ายรูป เลยขอแม่ซื้อกล้อง DSLR โดยเริ่มจากถ่ายภาพสิ่งใกล้ตัวอย่างแมลงก่อน พอถึงช่วงมัธยมปลาย ด้วยความที่บ้านอยู่ไม่ไกลสวนสัตว์เขาดิน พอถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ผมก็หยิบกล้องเดินไปถ่ายรูปสัตว์ต่าง ๆ ในเขาดิน ตอนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่องเดินทางเข้าป่าเพื่อไปถ่ายรูป เพราะเรายังเด็กและไม่ได้มีอิสระขนาดนั้น”

 

“พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องตั้งใจเรียน ทำให้ลืมความชอบด้านการถ่ายภาพสัตว์ไปเลย แต่ผมก็ยังชอบถ่ายรูปอยู่ โดยหันไปถ่ายภาพ Landscape และรับจ้างถ่ายรูปรับปริญญาเพื่อหารายได้เสริมไว้ซื้อเลนส์ตัวใหม่ แต่หลังจากที่ผมเริ่มเป็นไอดอลทางการศึกษา มีคนรู้จักมากขึ้น ก็ไม่สามารถรับถ่ายรูปได้แล้ว เพราะมีคนมาขอถ่ายรูปเราเยอะขึ้น ทำให้ทำงานไม่สะดวก แต่ผมก็ยังหาโอกาสถ่ายรูปอยู่เรื่อย ๆ”

กวางป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“จนพอเข้าวงการก็ได้มารู้จักกับพี่เต (ตะวัน วิหครัตน์) ที่ชอบถ่ายรูปและชอบสัตว์เหมือนกัน เลยคุยกันถูกคอ ประกอบกับช่วงไม่กี่ปีมานี้หน้าที่การงานของผมเริ่มลงตัว ละครปิดกล้องหมดแล้ว งานที่คลินิกก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง จากที่ก่อนหน้านี้ผมทำงานหนักมาก ควบทั้งทำคลินิกและนักแสดง พอเริ่มมีเวลาว่างเลยชวนเพื่อน ๆ ไปเที่ยวประเทศแอฟริกาใต้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ผมก็เอากล้องติดไปด้วย ตั้งใจว่าจะไปถ่ายเสือและสัตว์ต่าง ๆ โดยไม่ได้คาดหวังอะไร”

 

“แต่พอได้สัมผัสบรรยากาศจริงของโลกซาฟารีที่เคยเห็นแต่ในสารคดีมาตลอด ได้เห็นชีวิตสัตว์ในธรรมชาติจริง ๆ และได้กดชัตเตอร์ถ่ายภาพเหล่านั้น เลยปิ๊งขึ้นมาในหัวว่า เราเคยชอบสิ่งนี้ ทริปแอฟริกาใต้ทำให้ทุกภาพเก่า ๆ แฟลชแบ็คกลับมาให้รำลึกถึงความรักในการถ่ายภาพสัตว์อีกครั้ง” 

นกจาบคาหัวสีส้มที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“หลังกลับจากแอฟริกาใต้เลยหาโอกาสไปถ่ายรูปสัตว์ป่าอยู่บ่อย ๆ เพราะผมเองก็ชอบไปดูชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ ด้วย และการถ่ายภาพสัตว์ป่าก็เป็นเหมือน Achievement บางอย่างของเรา เหมือนเล่นเกมโปเกมอน ตามเก็บตัวนั้นตัวนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมชอบถ่ายภาพสัตว์ใหญ่ แต่ต้องเข้าไปในป่าลึกถึงจะเจอ เลยหันมาถ่ายภาพนกเยอะหน่อย เพราะเมืองไทยมีสายพันธุ์ของนกที่หลากหลายมาก ก็เลยเริ่มสนุกตรงที่พอเราเริ่มถ่ายนกตัวนี้แล้วพบว่าในตระกูลเดียวกันยังมีอีกเป็นสิบตัว ก็เลยต้องลำบากตามเก็บให้ครบ (หัวเราะ)”

(ขวา) นกกระเต็นลายที่อุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน

(ซ้าย) นกตีทองที่ชลบุรี

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“ตอนแรกผมถ่ายรูปอยู่คนเดียว จนได้รู้จัก แอ๊ค โชคชัย (แชมป์คนแรกจากเวที The Golden Song) เห็นเขาลงรูปนกบ่อย ๆ เลยพูดคุยกันว่าชอบถ่ายรูปสัตว์เหมือนกันเหรอ หลังจากนั้นแอ๊คเลยชวนผมไปถ่ายรูปด้วยกัน ทำให้ได้ไปเจอกลุ่มรุ่นพี่ที่ชอบถ่ายภาพสัตว์ป่า พี่ ๆ เลยสอนเทคนิคต่าง ๆ ให้ผมซึมซับ เช่น บอกเล่าถึงอุปนิสัยของสัตว์ชนิดต่าง ๆ การเข้าหาสัตว์แต่ละตัวต้องทำอย่างไร ฯลฯ ผมเลยเรียนรู้กับพวกเขาจนสนิทกันมากขึ้น และไปออกทริปด้วยกันบ้าง” 

 

“กับอีกแก๊งเป็นรุ่นที่เด็กลงมาหน่อย สมาชิกส่วนใหญ่ก็ไปรู้จักกันตามป่า รวมถึงเป็นเพื่อนของเพื่อนที่ชวนกันมาตั้งเป็นก๊กเป็นแก๊งใช้ชื่อว่า นกเด็ก ส่วนใหญ่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันประมาณ 30-40 ปี เวลาว่างก็นัดเข้าป่าด้วยกันตลอด”

นกทึดทือมลายู หรือนกเค้าแมวมลายู ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

สัตว์ป่าตัวแรกที่จุดประกายให้เกิด Wildlife.nn

 

“สัตว์ชนิดแรกที่ผมถ่ายภาพแล้วรู้สึกกับมันมากที่สุด น่าจะเป็นช้างแอฟริกา สิ่งที่ติดอยู่ในใจเป็นพฤติกรรมของช้างโขลงนี้ตอนที่หวงลูก แล้วพากันยืนล้อมวงให้ลูกอยู่ตรงกลางพร้อมกับขู่สิ่งรอบตัว ผมไปเจอช็อตนั้นพอดีขณะที่รถของเราขับเข้าไปใกล้ แล้วฝูงช้างเริ่มตั้งแผงป้องกันขึ้นมา การที่เราถ่ายรูปเลยทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตพวกเขาไปด้วย ผมเลยรู้สึกว่า มันเจ๋งดี เป็นฟีลลิ่งที่มีแค่เราคนเดียวเท่านั้นที่จะจำความรู้สึกนั้นได้เวลาเห็นภาพ ๆ นั้น ผมรู้สึกว่านี่เป็นวิธีเก็บความทรงจำที่ดีเหมือนกัน”

ช้างแอฟริกาที่อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ในแอฟริกาใต้

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

บทเรียนล้ำค่าจากประสบการณ์บันทึกภาพสัตว์ป่า

 

“การถ่ายภาพสัตว์ป่าเต็มไปด้วยความยาก เราต้องเจอจังหวะที่เป๊ะพอดี และต้องใช้ทักษะส่วนตัวในการบันทึกโมเมนต์นั้นมาให้ได้ เช่น นกตัวเล็กที่บินเร็วมาก ๆ เราก็อยากจะถ่ายภาพตอนที่มันอยู่นิ่ง ๆ ให้ได้ เราจึงต้องพัฒนาสกิลตัวเองให้สามารถถ่ายภาพในแบบที่เราต้องการได้ ยิ่งผมเป็นพวกไม่ชอบยอมแพ้ เลยต้องฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ ต้องวางแผนให้ถูกฤดูกาล ศึกษาว่าแต่ละช่วงเวลา สัตว์แต่ละชนิดมีพฤติกรรมอย่างไร อยู่ในช่วงผสมพันธุ์หรือฟักไข่รึเปล่า การเตรียมตัวหาข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราได้เรียนรู้วัฏจักรชีวิตของสัตว์ประเภทต่าง ๆ เกิดเป็นความรู้ประดับหัวที่สามารถเอาไปบอกเล่าต่อได้ด้วย”

นกพญาปากกว้างหางยาว (ซ้าย) และนกพญาปากกว้างเล็ก (ขวา) ที่อุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“การถ่ายภาพสัตว์ป่าถือเป็นการ Social Detox ที่ดีมาก โดยเฉพาะความรู้สึกพิเศษหลังจากที่เฝ้ารอคอยสัตว์บางตัวนานหลายชั่วโมง กลายเป็นว่าจากที่เราเบื่อมานานจนชีวิตเริ่มดิ่งดาวน์ พอได้เจอสัตว์ตัวนั้นปุ๊บ กราฟความสุขความตื่นเต้นจะดีดขึ้นมาทันที มันเป็นความสุขในแบบที่ต้องผ่านความแย่ก่อนแล้วถึงจะเจอเรื่องดี ๆ ซึ่งมีหลายคนเสพติดช่วงเวลาของการอดทนรอเพื่อรางวัลบางอย่าง ผมเองก็ชอบโมเมนต์นี้มากเช่นกัน”

นกเขียวปากงุ้มที่นครศรีธรรมราช หนึ่งในนกพญาปากกว้างหายาก

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“เคยรอนานที่สุดประมาณ 4 ชั่วโมง เป็นทริปล่าสุดที่ลงใต้ไปนครศรีธรรมราช เพื่อถ่ายภาพนกพญาปากกว้าง ในเมืองไทยมีอยู่ 7 ชนิด ซึ่งผมถ่ายไปแล้ว 6 ชนิด ขาดอีกแค่ตัวเดียวที่หายากเลยต้องไปตามหาถึงป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และหลังจากรอลุ้นอยู่ 4 ชั่วโมงก็ได้เจอในที่สุด ตอนนี้ผมเลยมีภาพถ่ายนกพญาปากกว้างในเมืองไทยครบแล้ว” 

 

“มีอีกหลายที่ในไทยและในโลกที่ผมอยากไป หรือแม้แต่การกลับไปที่เดิมซ้ำ ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ต่อให้ไปสิบรอบ แต่แค่เปลี่ยนกิ่งไม้ ทุกอย่างก็เปลี่ยนแล้ว การไปถ่ายภาพที่เดิมทุกครั้งจึงเป็นความแปลกใหม่และไม่เคยได้รูปซ้ำกันเลย”

 

นกเงือกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“ตอนนี้ผมกำลังตามเก็บนกเงือกในไทยให้ครบ ส่วนสัตว์ใหญ่อย่างเสือ ผมก็ตามหาอยู่เรื่อย ๆ แต่เจอค่อนข้างยาก เคยเจอเสือดำ แต่ถ่ายไม่ทัน ยังไม่ทันหยิบกล้องเลย มันวิ่งหนีไปแล้ว”

 

“หลังจากถ่ายภาพสัตว์ป่ามาได้สักพัก ผมพบสัจธรรมข้อหนึ่งของชีวิต นั่นก็คือ ผมไม่เคยเห็นนกตัวผู้หรือสัตว์ตัวผู้บินหรือเดินนำหน้าตัวเมียเลย ตัวผู้จะเป็นผู้ตามตัวเมียเสมอ เห็นได้ชัดในฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมียแค่ยืนเฉย ๆ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายหาอาหาร จับปลามาให้ ถ้าตัวเมียกินแล้วไม่ถูกใจก็ถุยทิ้ง หรือกระโดดหนี ตัวผู้ก็ต้องบินไปหามาให้ใหม่ ซึ่งผมว่าในโลกความจริงก็เป็นแบบนั้น ผู้หญิงมักเป็นผู้นำเสมอ ผมว่าสัญชาตญาณเหล่านี้เป็นสัจธรรมของชีวิต เราอย่าไปฝืนธรรมชาติเลย”

เป็ดพม่าที่บึงบอระเพ็ด

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“ก่อนเข้าป่าทุกครั้ง เราต้องทำการบ้านก่อนว่า ป่าแห่งนี้มีลักษณะแบบไหน ต้องเข้าไปลึกแค่ไหน และมีโอกาสพบเจออะไรบ้าง เมื่อเตรียมตัวไปดี ทำให้ผมไม่ค่อยกลัว คนส่วนใหญ่อาจกลัวเสือ แต่ผมกลัวช้าง ควายป่า หรือกระทิง เพราะสัตว์ใหญ่เหล่านี้ไม่สามารถคาดเดาได้ อย่างช้างมีขนาดตัวที่ใหญ่ ไม่สนใจใครอยู่แล้ว เอาแน่เอานอนไม่ได้ และจะโผล่มาตรงไหนก็ไม่รู้ เป็นสัตว์ที่น่ากลัว แม้หน้าตาจะน่ารัก ส่วนกระทิงก็เป็นประเภทที่วิ่งเข้าชนก่อนเลย”

 

“ในขณะที่เสือเป็นสัตว์นักล่าจึงมีการประเมินศัตรูก่อน อย่างมนุษย์เราตัวก็ไม่ได้เล็ก สู้แล้วไม่คุ้ม เสือจึงมักจะหนีมากกว่า โอกาสทำร้ายคนมีน้อยมาก เช่นเดียวกับงูที่จะทำร้ายเราก็ต่อเมื่อจวนตัวเท่านั้น งูกินเราไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นมันจะไม่ทำร้ายเราก่อน หากเราไม่ไปแหย่รังหรืออยู่ใกล้มันมากเกินไป ต้องเป็นช่วงเวลาจนตรอกจริง ๆ เท่านั้นงูจึงจะทำร้ายเรา” 

จระเข้น้ำจืดที่บึงบอระเพ็ด

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“หากเราเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ต่าง ๆ และระมัดระวังตัวไว้ก่อน การเข้าป่าจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว จริง ๆ แล้วสัตว์ที่ควรระวัง คือ พวกแมลงต่าง ๆ เช่น แมงป่อง เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถคิดได้ หากเป็นงู แค่เรากระทืบเท้า เขาก็หนีแล้ว ส่วนเสือก็เว้นระยะห่างจากมนุษย์เยอะมาก ไม่ทำร้ายเราแน่นอน”

ค่างแว่นถิ่นใต้และนกเค้าโมงที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

Wildlife Photography : ศิลปะที่ธรรมชาติจัดสรร

 

“ช่วงที่เพิ่งเริ่มถ่ายภาพสัตว์ป่าใหม่ ๆ ผมคิดในหัวแค่ถ่ายให้ติดไว้ก่อน แต่พอบ่อยเข้า เราก็เริ่มละเอียดอ่อนกับเทคนิคต่าง ๆ มากขึ้น มุมนี้ย้อนแสงบ้าง เลือกกิ่งไม้นี้มาเป็น Foreground บ้าง เกิดความตั้งใจถ่ายภาพให้สามารถเล่าเรื่องได้ว่าสัตว์แต่ละตัวกำลังทำอะไรอยู่ และเมื่อเกิดอาการอยากได้ช็อตเทพขึ้นมา เช่น นกกำลังป้อนอาหารให้กัน เราก็ต้องพยายามจับภาพตอนที่นกกำลังคาบเหยื่อบินกลับมาที่รัง ทำให้ผมต้องฝึกเล็งมุมดี ๆ ทั้งหมดนี้ถือเป็นศิลปะในอีกรูปแบบที่เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือแทรกแซงได้ เราควบคุมในสิ่งที่เราควบคุมได้ ที่เหลือเป็นเรื่องของธรรมชาติจัดสรร”

 

“แม้การถ่ายภาพสัตว์ป่าจะถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง แต่ผมรู้สึกว่าตัวเองก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นคนติสต์ (หัวเราะ) ผมแค่ชอบถ่ายภาพสัตว์และอยากให้รูปออกมาสวยเท่านั้นเอง”

(ซ้าย) นกพญาปากกว้างอกสีเงินที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

(ขวา) นกกะรางหัวขวานที่อยุธยา

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“ผมไม่ได้มาทางอาร์ตเลย และเป็นเด็กสายวิทย์มาโดยตลอด ศิลปะก็วาดรูปได้แบบง่อย ๆ ชีวิตผมติดอยู่ในกรอบหลักเกณฑ์ พอได้มาเป็นนักแสดง ช่วงแรก ๆ ผมไม่ชอบเลย เพราะคุ้นเคยกับการใช้ตรรกะเหตุผลมาโดยตลอด แต่พอโตขึ้น เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ผมสามารถนำอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาใช้ในการแสดง กลายเป็นว่าผมรักในอาชีพนี้ ส่วนการถ่ายรูปก็เป็นศิลปะการสร้างอารมณ์ผ่านเครื่องมือบางอย่าง โดยเฉพาะการถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ผมต้องพาตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้ แล้วให้อุปกรณ์ช่วยเหลือด้วยการกดชัตเตอร์บันทึกภาพ เท่ากับว่าผมเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ศิลปะจะเกิดขึ้น แล้วผมทำหน้าที่บันทึกภาพศิลปะนั้นเอาไว้ให้ได้”

นกจาบคาเคราแดงที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“ศิลปะสำหรับผม คือ ความสวยงามของธรรมชาติ การได้พาตัวเองเข้าไปสัมผัสบรรยากาศแวดล้อมภายในป่า แล้วอาณาบริเวณนั้นถ่ายทอดส่งต่ออณูความมีชีวิตชีวามาถึงเรา ทั้งความรักของสัตว์ที่มีต่อกัน การรักลูกแบบไม่ต้องมีเหตุผล สัตว์ทุกชนิดเกิดมาเพื่ออุทิศชีวิตให้กับภารกิจบางอย่าง เช่น นกเงือกตัวเมียที่จะเข้าไปอยู่ในรัง ถอนขนตัวเองมาทำพื้นรัง แล้วอุดปากรังเพื่ออุทิศชีวิตให้การเลี้ยงลูกเท่านั้น ตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อน ป้อนเสร็จก็ออกไปหาอาหารมาป้อนรอบใหม่เพื่อให้ลูกได้เกิดมา”

พลายงาทองที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนกแก๊กที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพ : instagram.com/wildlife.nn

 

“นกเงือกไม่ได้คิดซับซ้อนว่าจะต้องป้อนอาหารให้ลูก เพื่อที่วันนึงลูกจะป้อนอาหารให้ตัวเองตอนแก่ มันแค่ต้องการให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแรง ปลอดภัย สามารถบินไปสร้างครอบครัวของตัวเองได้ และสืบทอดเผ่าพันธุ์แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด รายละเอียดของชีวิตในธรรมชาติเหล่านี้ทำให้เราได้รู้จักความจริงของโลกใบนี้ชัดขึ้น”

 

“วิถีชีวิตของสัตว์ป่าสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตมนุษย์ที่บางทีก็คิดเยอะเกินไป ชีวิตและธรรมชาติของสัตว์สวยงามและไม่ซับซ้อน ผมรู้สึกว่าที่สุดแล้วชีวิตคนเราก็ต้องการแค่นี้เหมือนกัน” 

 

ชมภาพถ่ายชีวิตสัตว์ป่าของหมอเน๋งได้ทาง www.instagram.com/wildlife.nn

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...