‘ลุงรีย์’ ฟาร์มเมอร์และเชฟร้านเห็ดผู้ค้นพบอัตราเร็วของชีวิตและมีสติขึ้นเพราะรู้จัก ‘ดิน’

30 Apr 2025 - 7 mins read

Better Life / People

Share

รีย์ - ชารีย์ บุญญวินิจ ถูกเรียกว่า ‘ลุงรีย์’ ตั้งแต่อายุ 20 ปลาย ๆ โดยทุกวันนี้คำว่า ‘ลุง’ ที่นำหน้าชื่อไม่ใช่คำที่บ่งบอกอายุแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเขาไปแล้ว 

 

เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ฟาร์มลุงรีย์ หรือ Uncleree Farm ฟาร์มกลางเมืองขนาดกะทัดรัดที่เริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือน ปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้ก็ได้ขยับขยายกลายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ สองฝั่งถนนของซอยเพชรเกษม 46 นอกจากโซนฟาร์มที่มีทั้งลังไส้เดือน เล้าหมู เล้าไก่ และพื้นที่ทำเกษตรแล้ว ที่นี่ยังมี … 

 

OmakaHed โอมากาเห็ด ร้านเชฟเทเบิลที่นำเสนอเมนูเห็ดแสนอร่อยจากฟาร์มของลุงรีย์  

Uncleree Fill ร้านชำรีฟิลที่มีข้าวของ เครื่องใช้ วัตถุดิบสารพัดอย่าง 

Uncleree Think แบรนด์ที่นำขยะจากในฟาร์มลุงรีย์ไป Upcycling ให้น่ารัก น่าใช้อีกครั้ง  

และน้องใหม่ล่าสุด Oridary.Baked ร้านเบเกอรีในบ้านไม้ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชน  

 

ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว การออกจากงานประจำมาทำเกษตร อยู่กับดิน ทำอาหารนั้นเป็นชีวิตที่เรียบง่าย จนกลายมาเป็นความฝันของใครหลายคน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้สำหรับลุงรีย์นั้นไม่ง่ายเลย ลุงรีย์ต้องสวมหมวกหลายใบทั้งคนเลี้ยงไส้เดือน คนปลูกเห็ด เชฟ นักคัดแยกขยะตัวยง เขายังเป็นผู้ประกอบการและยังเป็นคุณพ่อของลูกสาววัย 3 ขวบอีกด้วย 

 

LIVE TO LIFE ของชวนผู้อ่านไปคุยกับลุงรีย์ในวันที่ทำฟาร์มมาเกิน 10 ปี กับวันที่ได้เรียนรู้จากก้อนดินและค้นพบจังหวะการใช้ชีวิตของตัวเอง  

 

รู้สึกอย่างไรกับเส้นทางของฟาร์มเมอร์ที่ยาวนานเกิน 10 ปี 

“การทำอะไรให้เกิน 10 ปี แสดงว่าต้องตั้งใจ เกิดปัญหาขึ้นบ้างแหละ แต่ปัญหาที่ควรจะได้เจอ เราเจอครบแล้ว แล้วก็เห็นภาพที่จะไปต่อ” 

 

ภาพของ ‘ฟาร์มลุงรีย์’ ที่จะไปต่อ  

“มันเริ่มจะคล้าย ๆ หมู่บ้านแล้ว ผมแปะป้ายไว้ที่กำแพงอีกฝั่งว่าเป็น Uncleree Village ในอนาคตอยากให้มีคนไปรับถึงรถไฟฟ้าแล้วเดินนำกันมาที่นี่ อยากให้มีหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยพาร์ตเนอร์ของเรา” 

 

ปัญหาเมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 10 คืออะไร แตกต่างจากปีอื่น ๆ ไหม 

“ปัญหาคลาสสิกเป็นเรื่องของการดูแลคนกับการดูแลใจเราเอง ปีแรก ๆ เรายังฮึกเหิมด้วยความหนุ่ม มุ่งไปตามแพสชั่นเต็มที่ เรายังไม่มีลูก ไม่มีพนักงานมากนัก ทุกอย่างออกจากตัวเราสู่งานของเรา” 

 

“ปีนี้เราจะทำฟาร์มให้โตขึ้นโดยที่เล็กลง ในรอบ 10 ปี ปีนี้เป็นปีที่เพิ่งเคยได้พัก เดือนเมษายนนี้เราเพิ่งเคยหยุดฟาร์ม หยุดทุกกิจกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าหยุดรายรับ (หัวเราะ)” 

 ทีมงานเล็ก ๆ ในฟาร์มลุงรีย์ 

 

ชีวิตเจ้าของฟาร์มในปีหลัง ๆ ต่างจากช่วงแรกอย่างไร   

“เราเริ่มต้นจากเป็นช่างปั้น เป็นนักออกแบบที่ได้มาทำธุรกิจของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราใส่เต็ม ตอนแรกเราอยู่ในกรอบ แล้ววันหนึ่งเรากระโดดออกมาอยู่ในโอเปร่าเฮาส์ของตัวเอง ฉันก็จะทำตามที่ฉันอยากจะทำ”  

 

“พอ 10 ปีผ่านไป เราเริ่มตั้งคำถามว่าแล้วอะไรคือกรอบ จังหวะนี้สมเหตุสมผลกับตัวเราไหม ตอนที่ทำงานสนุกมาก ๆ ก็เคยทำงานจนป่วยไปเลย เราต้องคิดงานตัวเอง คิดงานเผื่อคนอื่นที่เขามาปรึกษาอีก เราไม่ได้จำกัดพลังสมอง ไม่คิดแบบพอดี เราเป็นคนทำอะไรทำสุด ทำอะไรก็ต้องทำแบบแชมป์โลก ถ้าไม่แชมป์โลกไม่ทำ” 

 

“ไม่แปลกหรอกที่เราสำเร็จเร็วเพราะเล่นทำ 24 ชั่วโมง แต่ว่าเราจะทำอย่างนั้นได้สักเท่าไหร่ในเมื่อสิ่งที่เราใช้จ่ายไปคือเวลา พอทำงานเต็มร้อย คนรอบตัวก็ลดลง เพื่อนก็จะลดลง สังคมก็จะลด บางคนอาจจะเก่ง คือสามารถเอางานรวมร่างกับเพื่อน ภรรยา ลูก หรืองานอดิเรกแล้วได้เงินด้วย มันก็ทำให้เขาได้ใช้เวลากับตรงนี้ แต่ถ้าไม่ระวังให้ดีมันจะกลายเป็นงานและงาน จะกลายเป็นคนที่ไปไหนก็ทำแต่งานตลอดเวลา แล้วการพักผ่อนจริง ๆ คือตอนไหน” 

 

“คิดว่าผู้ประกอบการหลักที่ทำมากว่า 10 ปีเนี่ย หวงแหนเวลาทุกคน เพราะเวลามันเริ่มจำกัด และยิ่งมากขึ้นกว่าตอนเริ่ม จากอายุ 30 ทำงานไป 10 ปี ตอนอายุ 40 ก็จะรู้ชะตาชีวิตแล้วว่าตอน 50 จะเหลือสิ่งสำคัญที่ชื่อเวลาแค่ไหน โอเค อยากได้กำไร อยากได้เงิน แต่เราก็เริ่มมองว่าเราจะทำธุรกิจอย่างไรให้อยู่ได้ แล้วมีเวลาใช้ชีวิตในตอนที่อายุ 40” 

 

“ผลประกอบการของบริษัทตอนอายุ 50 เราจะวัดว่าใครมีเวลาว่างที่จะใช้ชีวิตมากกว่ากัน ใครมีสุขภาพดีมากกว่ากัน และเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่ากัน ผมยังไม่อายุ 50 แต่เดาว่าจะวัดความสำเร็จของธุรกิจจะเปลี่ยนไปทีละนิด ไม่ได้หมายความว่าทำธุรกิจแล้วไม่ได้กำไร ต้องได้กำไร แต่ว่า Score จะเปลี่ยนไป ผมมองอย่างนั้น ในฐานะคนที่ทำงานตั้งแต่ช่วงอายุ 20”  

 

ตอนช่วงอายุ 20 คุณทำอะไรมาบ้าง 

“ก่อนจะทำฟาร์มก็ต้องเตรียมตัว ตอน 20 ก็อยู่ในช่วงรวมสกิลที่มันใช้ทำธุรกิจส่วนตัวได้ ทำหมด งานครัวก็ทำ สิ่งทอก็ทำ เป็นเซลล์ออกไปดูแลลูกค้า งานโรงเรียนศิลปะ เราประกอบร่างทุกทักษะ กลายเป็นเป็ดยักษ์ นั่นก็ดี นี่ก็ได้ และสุดท้ายก็กลายเป็น 
สกิลสำคัญในยุคปัจจุบัน” 

 

จุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้เริ่มมาทำเกษตร 

“เราชอบทำครัว แต่ทำครัว 10 ชั่วโมงไม่ไหว ชอบทำเกษตรแต่ออกไปตากแดด 10 ชั่วโมงก็ไม่ไหว ชอบการออกแบบแต่ออกแบบตามบรีฟ ลูกค้าแก้ 10 รอบ เราไม่ชอบ เราเลยต้องออกแบบชีวิตตัวเอง เลยตั้งต้นเป็น Uncleree Farm ฟาร์มลุงรีย์ ได้ทำการเกษตร พอมันเกิดผลผลิตก็ต้องจัดการ เดี๋ยวคงได้ทำอาหาร และเราก็ชอบทำมันด้วย” 

 

“เราเริ่มต้นจากดิน มีแค่ดินกับดิน เรารู้จักทั้งดินปลูก ดินปั้น สารพัดดิน ดินในกำมือเด็กที่ช่วยเรื่องพัฒนาการ เรารู้หมด ตอนเรียนก็จบเซรามิก อาหารก็คือสิ่งที่ก่อเกิดจากดิน ทำไป ทำมา ชีวิตก็ทำได้ดีแค่เรื่องดิน เลยใส่ลงไปในนามบัตรว่าเราเป็น Earth Creator แล้วกัน” 

 

“จริง ๆ เราทุกคนจับดินเหมือนกันหมด เพียงแต่ในบริบทไหน จะเป็นดินแบบถ้วยชาม หรือดินแบบ Soil ที่มีจุลินทรีย์ ไม่ว่าจะแบบไหนดินมันก็เย็นเหมือนกัน เราจะได้ใช้สติ ใช้สมาธิ เรามีลูกเราก็ให้ลูกปั้นดิน เขาก็เติบโตมาจากดิน ได้สัมผัสดินและมีพัฒนาการที่ดี แต่ก่อนเราคงไม่ปล่อยให้ลูกเล่นดิน แต่เรามาศึกษาทุกระบบร่างกายแล้ว ปรากฏว่าทุกคนก็เติบโตมาจากดิน” 

 

“ดินล้มก็ปั้นใหม่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดรูปร่าง ผมทำธุรกิจคล้าย ๆ ดิน บางคนต้องฟิกและแพลนมาเลยว่าจะทำอะไร ส่วนผมตอนเริ่มทำแค่เหมือนสมุดสเก็ตช์ ไม่มีแบบลงปุ๊บ ถูกปั๊บ แต่พอเราสเก็ตช์บ่อย ๆ มันก็เริ่มแม่น พอแม่นก็ไม่ค่อยผิดพลาดและเริ่มสนุก ในการทำงานคิดว่าดินมันสอนเรามาก ๆ ” 

 

จากนั้นก็มาเป็นฟาร์มลุงรีย์ 

“เราตั้งชื่อว่าฟาร์มลุงรีย์ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จะทำอะไรในนั้นบ้าง ตั้งแต่แรกเลยเราเชื่อแค่ว่าถ้ามีฟาร์มนี้เราจะได้ทำสิ่งที่ชอบ และเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ และสุดท้ายคือการได้ทำสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบและส่งต่อได้” 

 

แล้วเราอยากให้อะไรกับคนที่มา ‘ฟาร์มลุงรีย์’ 

“เราอยากให้เขารู้จักดิน พอเขารู้จักดิน จะได้เย็นขึ้น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากไปอาบป่า อยากลงไปเดินในนา ถอดรองเท้าเดินในธรรมชาติ พอได้เจอสีเขียว ได้เจอออกซิเจนเต็มที่มันก็ฮีลเรา ทุกวันนี้คนถามหาการฮีลตัวเองอยู่บ่อย ๆ เพราะมันเครียด เรารับสารเยอะ ส่งสารก็เยอะ เปลี่ยนแปลงไวขึ้นเพราะโลกออนไลน์”  

 

ธรรมชาติของดินที่ลุงรีย์รู้จักมันทำให้เราเย็นลงได้อย่างไร  

“จริง ๆ ลองจับดูจะรู้ อย่างบ้านดิน ถ้าอากาศร้อนเข้าไปแล้วเย็น ถ้าอากาศเย็นเข้าไปแล้วจะอุ่น ดินมันอยู่ตรงกลาง เช่นเดียวกับวิธีเสพสื่อของผมและวิธีทำงานของผม ทุกอย่างเป็นแบบเดียวกับดินทั้งหมด ผมไม่ระบายอะไรลงโซเชียล เพราะผมพยายามสยบมันไว้ ผมไม่งัดกับใคร ปล่อยตามกระบวนการ ในปรัชญาการตัดสินใจของผมมันคือดินและธาตุกลางทั้งหมด ซึ่งมันก็มีข้อดีและข้อเสีย 

 

แล้วข้อเสียที่ว่าคืออะไร  

“ดินมันจดจำ ไม่ได้พัดผ่านไปเหมือนลม กดรูปไหนก็เป็นรูปนั้น ถ้าเราไม่รู้จักวาง หรือปล่อย ก็อาจทำให้ทำงานต่อไม่ได้ เป็นคนแบบนี้ใครก็อยากเข้ามาปรึกษา ถ้าเราตอบกลับทุกคนและเก็บเข้าเมมโมรีไว้มันก็จะล้น” 

 

จากดินกลายมาเป็นฟาร์ม พื้นที่ในกรุงเทพฯ น้อยนิดนี้ทำเป็นฟาร์มได้อย่างไร  

“เราเองก็มีเพื่อนอยู่ต่างจังหวัด สิ่งที่เขาทำคือการบริหารพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำของเยอะและขายถูก แต่ถ้าเราทำของน้อยต้องขายแพง กลไกเป็นแบบนั้น ส่วนฟาร์มนี้เราทำแล้วขายในราคาสมเหตุสมผล สิ่งที่เราเป็นคือ Urban Farm ที่อยู่ใกล้ตัวผู้บริโภค ถ้าเอาผมไปปล่อยในที่ร้อยไร่อาจจะเป็นง่อยเลยก็ได้ แต่ในพื้นที่จำกัดแบบนี้ ภรรยาผมที่เป็นสถาปนิกดูแลบริหารให้คุ้มทุนได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปไหนไกลทำไม” 

 

“ที่นี่คือบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เกิด ตอนแรกไม่มีอะไรเลย โฉนดก็จำนองไปเป็นของคนอื่น กว่าจะได้คืนมา ไม่ใช่ว่าบ้านรวย เป็นเศรษฐีเก่า โอลด์มันนี่ ถึงจะเป็นที่ของครอบครัวแต่ถ้าจะใช้เราก็ต้องเช่า เอาจริง ๆ เกือบตาย และผ่านความตายมาแล้วก็มี” 

 

ที่ว่าเกือบตาย ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น 

“เป็นช่วงที่เราทำเกษตรมาก ๆ รับงานที่ปรึกษาเยอะ ใช้สมองเยอะจนรวน จากน้ำหนัก 90 กว่าก็เหลือแค่ 65 พอร่างกายรวนโควิดก็เข้ามา ธุรกิจก็ต้องประคอง เราเลยต้องมาวาง Action Plan ใหม่ เมื่อก่อนเราทำงานแบบอาร์ต แต่พอโตขึ้นก็ต้องมีระบบ สุดท้ายคือเราใฝ่ฝันอยากให้ดำเนินงานโดยกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน ก็เลยจัดลำดับความสำคัญและทำให้มันมีความโฮมมี่มากขึ้น” 

 

จัดลำดับความสำคัญที่ว่านั้นทำอย่างไร  

“เรามีเซนส์ของฟาร์มเมอร์ที่เป็นต้นน้ำ และมีเซนส์ของเชฟที่เป็นปลายน้ำ เป็นผู้รังสรรค์วัตถุดิบและมีเซนส์ของผู้ประกอบการที่แปรรูปและเป็นผู้ขาย และยังเป็นผู้ส่งต่อ เราชอบทุกบทบาทเลย แต่จะทำยังไงให้เราไม่เป็นจับฉ่าย” 

 

“เราก็ไม่แน่ใจว่าที่เราทำอยู่เราชอบอันไหนที่สุด แต่เราปรับเกียร์ให้มากขึ้น น้อยลงได้ อย่างหน้าหนาวเราทำอาหาร 100% กิจกรรม 20% ค้าขาย 50% พอเป็นหน้าฝน น้ำท่วม เราก็ไม่จัดกิจกรรม ทำอาหารสัก 80% เกียร์นี่แหละที่อยู่ในหัวใจของคนทำธุรกิจ ปลาที่ปรับตัวได้กับทุกน้ำคือปลาที่จะอยู่รอดอย่างแน่นอน” 

 

“เราไม่อายที่จะช้าลงบ้าง บางคนบอกว่าน่าเกลียด ทำอยู่ดี ๆ ก็เลิก แต่เรามองว่าบางทีการถอยออกมาอย่างสง่างามมันดีกว่า” 

 

“อาชีพฟาร์มเมอร์ทำให้เราตกผลึกได้ว่าอย่าฝืน เราต้องใช้วัตถุดิบในฤดูกาลให้เต็มที่ หมดฤดูเราก็เปลี่ยน ผักตอนนี้กับผักตอนหน้าหนาวก็คนละราคากัน ปลาตอนนี้กับปลาตอนนั้นก็คนละรสชาติ อย่างปีนี้ผมทำเรื่องเกลือ คนที่มาเขาก็จะได้กินเมนูที่โดดเด่นเรื่องเกลือ ทำเวิร์กชอปที่เกี่ยวกับเกลือ อย่างวันนี้เราทำส้มผัก (ผักดอง) กัน มันก็เป็นการใช้เกลือ จากที่จัดกิจกรรมเป็นร้อย ๆ ก็เหลือแค่เกลือซึ่งเป็นเรื่องเด่นของปี” 

 

“เราเลยถามตัวเองว่าชอบทำอาหารไหม ชอบนะ แต่ไม่ชอบทำทุกวัน เราชอบทำในตอนที่มีเวลาเตรียมตัว ถ้าให้ทำอาหาร 7 วัน เราคงไม่ไหว ไม่ได้เข้าร้านเลยแน่ ๆ และให้คนอื่นทำแทน แต่เรายังอยากทำอาหารเองอยู่ เลยทำ Home Cooking ที่มีระบบ Booking ขึ้นมา ทำให้เราได้ทำฟาร์มในวันอื่น ๆ และได้เฝ้ารอคนที่จะมาหา และเราได้ดูแลเขาด้วยตัวเองทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาเราก็ไปทำอย่างอื่นให้บาลานซ์กับชีวิต”

 

และนั่นคือ ‘OmakaHed’ 

“ทำมาประมาณ 3-4 ปีก็ไม่คิดว่าจะมีคนมากินข้าวที่ร้านเดือนละ 600 คนติดต่อกันมานาน 3 ปี เป็นความภูมิใจในชีวิตอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ มันคงอร่อยบ้างแหละ สมศักดิ์ศรีแล้วนะ ตอนแรกไม่ได้มีที่เป็นร้อยไร่ จะเรียกตัวเองว่าฟาร์มเมอร์ก็คงเป็นฟาร์มเมอร์เก๊ แต่พอปลูกเห็ดเป็นแสนดอกในห้องเดียว เราก็ถือว่าตัวเองเป็นฟาร์มเมอร์แล้ว” 

 

“เห็ดที่ตัดมาถูกปรุงโดยเราที่เข้าใจอนาโตมีของเขา หลักแสนจานที่เราทำไป เราต้องรู้บ้างว่าเห็ดสุกแบบไหนอร่อย ต้องหั่นแบบไหน แล่แบบไหน เราเข้าใจอวัยวะเขา เริ่มสนุกกับงาน สนุกกับความชัดเจนของตัวเอง เราเริ่มเห็นคนที่มีแนวทางคล้ายกัน” 

 

“ทุกวันนี้ผมทำตัวเหมือนไส้เดือน ผมเลื้อยไปเรื่อย ๆ แต่เลื้อยไม่หยุด เดินเชื่อมจุดไปเรื่อย ๆ ยังคงเป็นอาร์ติสท์เหมือนเดิม เพียงแต่มีเซนส์ของผู้ประกอบการแบบพอดี” 

 

“เรามีสปีดของเราว่าตอนไหนต้องผ่อน ตอนไหนต้องเพิ่ม ตอนไหนต้องเร่ง อย่างซีซั่นที่ผ่านมา ตอนที่มีเห็ดออกเยอะ ๆ เราก็ต้องระบายออกโดยการทำร้านอาหารอย่างเต็มที่ มีพนักงาน 20 กว่าคน มีเชฟจากข้างนอกเข้ามา ขยายสาขา แต่ถึงจุดหนึ่งมันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน เราก็ต้องรู้ล่วงหน้าแล้วก็ผ่อนให้พอดีกับจังหวะและเวลาของมัน เราไม่ได้เป็นสุดยอดผู้ประกอบการแห่งปี แต่เป็นสุดยอดผู้ประกอบการปรับตัวแห่งปีแน่นอน” 

 

การทำฟาร์มไม่ได้ทำให้มีอัตราเร็วในการใช้ชีวิตที่ช้าลงอย่างที่คิด  

“มันเป็นความวุ่นวายแบบเกษตรกร ข้อเตือนใจสำหรับคนที่อยากจะออกมาทำแบบนี้คือประเทศเราไม่ได้มีคนรับซื้อผลิตผลทุกอย่างเหมือนญี่ปุ่น ที่นั่นเขามี Japan Agriculture ที่จะรับซื้อผลิตผลของคนในชุมชน แต่บ้านเราไม่ได้มีตลาดรองรับในส่วนนี้ ถึงจะมีแต่อาจไม่ได้อยู่ในราคาที่เรารับได้ ถ้าเราจะอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ เราก็ต้องขายเองให้ได้ และองค์ประกอบของการขายเองคือทำให้ลูกค้ามาเจอเรา ฟาร์มอยู่กลางถนนเพชรเกษม เป็น Stand Alone แน่นอนว่าต้องสื่อสารให้คนเข้าใจและมาหาเรา การรู้จักตัวเองมันสำคัญมาก ๆ บางคนบอกลุงรีย์ทำแบบนี้ได้ เราก็ต้องทำได้ ไม่จริง เพราะเราต้องดูบริบทอย่างมีเหตุผล หาข้อมูลให้แน่น บางครั้งทำดีแทบตาย แต่ชุมชนไม่ได้รัก ก็อาจจะไม่มีภูมิคุ้มกันก็ได้” 

 

“แล้วการทำเกษตรมันไม่ได้สโลว์แต่เราจะทำอย่างไรให้มันสโลว์” 

 

แล้วลุงรีย์หาอัตราเร็วของตัวเองเจอได้อย่างไร  

“เราต้องชัดเจนว่าจะสโลว์อย่างไร ต้องสร้างกรอบให้ชัดว่าปีนี้เราจะทำอะไรแค่ไหน ถ้าไม่ชัดเจนกับตัวเองก็จะต้องทำงานของ 2 ปีข้างหน้าโดยไม่รู้ตัว ไม่มีวันได้สโลว์” 

 

“ฉันมีสิทธิ์พักผ่อนด้วยเหรอ ยังเป็นหนี้อยู่เลย พูดอย่างนี้กันทุกคน แต่ถึงเป็นหนี้กองอยู่ เราก็มีสิทธิ์พักผ่อน มีสิทธิ์กอบโกยความสุขระหว่างทาง เราต้องรอจนหนี้หมดแล้วค่อยมีความสุข ไม่ต้องรอจนหนี้หมดแล้วค่อยไปเที่ยวกับเธอ เรามีสามารถมีความสุขระหว่างทางได้” 

 

“ทุกวันนี้ถ้ามัวแต่วิ่งก็คงไม่มีวันได้จ็อกกิ้งผมว่าความสโลว์กับจ็อกกิ้งมันคล้ายกัน เราไม่ได้หยุด แค่ช้าลง สโลว์ไม่ใช่ความเอื่อยแต่มันคือการผ่อนลง สำหรับผมการจ็อกกิ้งคือช้าลง ยืดหยุ่นร่างกาย แล้วก็พร้อมที่จะไปต่อ” 

 ลุงรีย์ และ คุณลิล (ภรรยา) 

 

จุดเปลี่ยนไหนที่ทำให้เราหาสปีดแบบวิ่งจ็อกกิ้งในชีวิตได้  

“อายุเรา อายุงาน อายุร่างกาย และวุฒิภาวะ ผมเชื่อว่าในวันที่อายุต่างกันและเปลี่ยนบริบท เป้าหมายก็จะเปลี่ยนไป ถ้าเราไม่มีลูกก็อาจยังเฟี้ยวเงาะอยู่ แต่พอมีลูกต้องให้เวลา เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ตอนนี้เรามีภรรยา มีใครสักคนเป็นห่วง มีลูกที่รอให้เรากลับบ้าน เพราะฉะนั้นชีวิตเราอาจไม่ใช่ของเราเพียงคนเดียว แล้วตอนนี้ลูกอายุ 3 ขวบ ใครจะอยากพลาดช่วงที่เขาพูดเจ๊าะแจ๊ะกับเรา การจะมีความสุขระหว่างทางได้มันก็ต้องบริหารเวลาและใจให้สอดคล้องกัน”  

 

สิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้ทันการวิ่งและสปีดของตัวเองคืออะไร  

 

“มีสติ บนโลกนี้สิ่งที่มีมากแล้วไม่ทำให้เกิดข้อเสียคือสติ ผมก็เหมือนดิน มองว่าดินเป็นตัวแทนของสติ เราอยู่กับดินตลอด เรามองว่าดินเป็นธาตุกลางหรือธาตุรู้เนี่ย ถ้าเรารู้ทันแล้วทันมันถึงจะช้าลงได้ เรารู้ทันว่า ใจร้อนเพราะ ใจเย็นเพราะ สุดท้ายแล้วมันก็เป็นสัจธรรม” 

 

“อายุ 38 พูดจาเป็นพระแล้ว (หัวเราะ)” 

 

“ผมก็ทำฟาร์มลุงรีย์ตั้งแต่อายุ 23 ตอนนี้ 38 ถ้าถึงอายุ 48 ก็คงเป็นอังเคิลรีย์ของแท้” 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...