40 ยังแจ๋วอยู่ไหม เช็กด่วน ! สัญญาณโรคร้ายและปัญหาสุขภาพที่คนวัย 40+ ต้องระวัง

02 Jul 2025 - 5 mins read

Health / Body

Share

ทำไมกินเท่าเดิม แต่น้ำหนักกลับเพิ่มเร็วจนตกใจ ซ้ำร้ายตอนกลางคืนยังนอนหลับไม่สนิท แถมอารมณ์แปรปรวนง่ายกว่าที่เคย

 

หากคุณมีอาการเหล่านี้ และอายุใกล้หรือเลยวัย 40 ขอบอกว่าอาการทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปตามวัย

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

 

เหตุผลเป็นเพราะเมื่อร่างกายผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 40 ปี ระบบต่าง ๆ รวมถึงฮอร์โมนในร่างกายก็เริ่มทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม ส่งผลให้เกิดอาการรวนในหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นภาวะทางอารมณ์ที่หงุดหงิดง่าย ภาวะทางกายน้ำหนักขึ้นเร็ว อ้วนลงพุง มวลกล้ามเนื้อน้อยลง ผิวพรรณขาดความยืดหยุ่น ระบบย่อยอาหารและดูดซึมทำงานไม่ดีเหมือนเดิม จนอาจส่งผลให้การขับถ่ายไม่ปกติตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปยังมีแนวโน้มในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ รวมถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังจากการดำเนินชีวิต เช่น โรคเกาต์ โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคจอตาเสื่อม โรคประสาทหูเสื่อม ฯลฯ

 

รู้แบบนี้แล้วไม่ต้องตกใจ เพราะหากคนวัย 40+ รู้เท่าทันทุกโรคที่อาจเกิดขึ้น และเริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณจะสามารถใช้ชีวิตได้แบบ 40 ยังแจ๋วอย่างแน่นอน

 

โรคร้ายแรงและเรื้อรังที่คนวัย 40+ พึงระวัง

 

ด้วยความที่โรคที่เกิดขึ้นในคนวัย 40 ปีเป็นโรคแห่งความเสื่อมที่ใช้ระยะเวลาสะสมมานาน จึงไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการป้องกันโรคร้ายและโรคเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

 

โรคหลอดเลือดสมอง ทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และหลอดเลือดสมองแตก ล้วนเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองขาดเลือดจนเซลล์สมองถูกทำลาย ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่ จึงเกิดอาการของอัมพฤกษ์หรืออัมพาตในที่สุด

 

อาการของโรคหลอดเลือดสมองที่สังเกตได้ คือ ปวดหรือเวียนหัว ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียว กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว ไม่สามารถยิงฟันหรือยิ้มได้ แขนหรือขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงจนยกไม่ขึ้น และเดินเซหรือทรงตัวลำบาก

 

โรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดหัวใจจะเสื่อมสภาพลง เนื่องจากมีคอเลสเตอรอลสะสมมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดแดงที่มีหน้าที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบแคบหรืออุดตัน

 

อาการที่สังเกตได้ คือ ปวดเค้นบริเวณหัวใจคล้ายมีอะไรมาทับหน้าอก มีอาการเหนื่อย หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด รู้สึกเหมือนหายใจเข้าได้ไม่เต็มปอด คลื่นไส้ หน้ามืด จนอาจหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นได้

 

โรคเบาหวาน เกิดจากเซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าระดับปกติ นำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคของระบบประสาท

 

อาการของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย มีมดขึ้นปัสสาวะ หิวน้ำบ่อย ผิวแห้ง มีอาการชาที่เท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบ ๆ บริเวณปลายเท้าหรือที่เท้า สายตาพร่ามัว ตาแห้ง และหากเกิดบาดแผลตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายมักหายช้ากว่าปกติ

 

โรคความดันโลหิตสูง คนปกติจะมีค่าความดันโลหิตประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะมีค่าความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ทำให้อาจเกิดผลแทรกซ้อนในการเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคไต

 

ข้อควรระวังคือ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางรายมักไม่ปรากฏอาการใด ๆ นานหลายปี ส่วนอาการอื่นที่สังเกตได้ คือ มักจะปวดหัวหรือเวียนหัว และเหนื่อยง่าย

 

โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่มักเกิดตามข้อใหญ่ ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อกระดูกสันหลัง โดยปกติแล้ว ภายในข้อประกอบด้วยเยื่อบุข้อ น้ำไขข้อ และกระดูกอ่อนผิวข้อ หากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจะส่งผลให้กระดูกอ่อนผิวข้อสัมผัสกัน กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อถูกยืด เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดตามมา

 

อาการของโรคข้อเสื่อมจะเกิดความเจ็บปวดเมื่อขยับข้อต่อ ข้อต่อบวม ข้อฝืด หรือตึงข้อขณะเคลื่อนไหว 

 

เช็กก่อน ชัวร์กว่า
แนวทางในการตรวจสุขภาพสำหรับคนวัย 40+

 

การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตรประจำปีที่คนวัย 40 ปีขึ้นไปห้ามละเลย เพราะการตรวจสุขภาพเป็นการค้นหาความเสี่ยงของโรคที่ยังไม่แสดงอาการ หากพบปัญหาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ทันท่วงที ช่วยให้อุ่นใจ คลายกังวล และถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวได้อีกด้วย

 

การตรวจสุขภาพสำหรับคนวัย 40 ปีขึ้นไป มีดังต่อไปนี้

 

ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจวัดสัญญาณชีพ (ชีพจร, ความดันโลหิต, อุณหภูมิ) ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง ตรวจดัชนีมวลกาย (BMI) ตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม

 

ตรวจสายตา ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี ควรตรวจวัดสายตาปีละ 1 ครั้ง

 

ตรวจคัดกรองมะเร็งที่จำเป็น สำหรับผู้หญิงอายุ 30 – 39 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทุก 3 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี และหมั่นคลำเต้านมด้วยตนเอง หากมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ สำหรับผู้หญิงอายุ 30 – 65 ปี ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี และสำหรับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจอุจจาระทุกปี

 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาภาวะซีด (ควรตรวจ 1 ครั้ง ระหว่างอายุ 18-60 ปี)  ตรวจหาเบาหวาน (ควรตรวจทุก 3 ปี) เพื่อการป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และควรตรวจหาไขมันในเลือด (อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 5 ปี) เพื่อช่วยคัดกรองและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

 

แบบประเมินสภาวะสุขภาพ สามารถคัดกรองได้ด้วยตนเอง หรือบุคลากรสาธารณสุข โดยใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การติดบุหรี่ สุรา ยาและสารเสพติด เพื่อให้รับคำปรึกษาและการดูแลที่เหมาะสม

 

เทคนิคดูแลร่างกายสำหรับคนวัย 40+

 

แม้วัย 40 จะเริ่มมีสัญญาณเสื่อมของร่างกาย แต่เราสามารถชะลออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ด้วยการดูแลสุขภาพทั้งเรื่องของอาหารการกินและการออกกำลังกาย ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

 

1.
ตรวจเช็กร่างกายด้วยตัวเอง

 

หมั่นสังเกตร่างกายตัวเอง เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน นำไปสู่การปรับพฤติกรรมหรือพบแพทย์ได้ทันท่วงทีหากเกิดความผิดปกติของร่างกาย การตรวจเช็กร่างกายด้วยตัวเองมีดังนี้

  • เช็กการเต้นของหัวใจ ควรอยู่ 60-100 ครั้งต่อนาที 
  • เช็กภาวะอ้วนลงพุง ด้วยการวัดรอบเอว โดยค่าปกติของเส้นรอบเอวสำหรับผู้ชาย คือ 36 นิ้ว และผู้หญิง คือ 32 นิ้ว

 

  • ตรวจเช็กโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ฯลฯ เพื่อทำนายโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 
  • คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยสูตรในการคำนวณดัชนีมวลกาย คือ น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูงยกกำลังสอง (เมตร) โดยเกณฑ์ดัชนีมวลกายที่เหมาะสม คือ 18.5 - 22.9

 

2.
กินข้าวให้ครบมื้อ ครบหมู่

 

โภชนาการที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กสามารถนำมาใช้ได้เสมอไม่ว่าจะอายุเท่าไร โดยสำหรับคนวัย 40 ปีขึ้นไปยิ่งควรรับประทานให้ครบมื้อและครบห้าหมู่ เพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอในแต่ละวัน โดยผู้ชายต้องการพลังงาน 1,800 - 2,200 กิโลแคลอรีต่อวัน และผู้หญิงต้องการพลังงาน 1,500 - 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน

 

ทั้งนี้ ควรเน้นการรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ เพื่อช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่มีไขมันไม่สูง เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ นมและผลิตภัณฑ์จากนม หรือโปรตีนจากเต้าหู้ 


ถั่วเหลือง ธัญพืช ควรลดจำพวกเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม โบโลนา แหนม ฯลฯ และเลือกเมนูที่ปรุงประกอบน้ำมันไม่มาก ด้วยกรรมวิธีต้ม อบ นึ่ง ลวก ยำ ตัวอย่างเมนูโปรตีนสำหรับคนวัย 40 เช่น ปลานึ่ง ลาบเต้าหู้  ยำไข่ต้ม ฯลฯ 

 

ส่วนการบริโภคไขมันของคนวัยนี้ ไม่ควรได้รับน้ำมันเกินวันละ 6 ช้อนชา และเน้นการรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ไขมันจากพืช ถั่วต่าง ๆ ยกเว้นน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์ม

 

สำหรับผู้หญิงเมื่อตัวเลขแห่งวัยเดินทางทางถึง 40 ปี ควรเตรียมตัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนที่จะมาเยือนเมื่อวัยแตะเลข 5 โดยร่างกายควรได้รับแคลเซียมเพียงพอ 1,000  มิลลิกรัมต่อวัน ด้วยการดื่มนมวันละ 3 แก้ว หรือไม่น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว เพื่อช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และเสริมสร้างมวลกระดูกให้มีความหนาแน่น รวมถึงการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียม เช่น นมถั่วเหลือง นมสด เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ปลาข้าวสาร กุ้งแห้ง ผักใบเขียวต่าง ๆ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ถั่วพู  บัวบก ฯลฯ

 

และเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับวิตามินดีเข้าสู่ร่างกาย วิธีง่ายที่สุดที่ร่างกายจะได้รับวิตามินดี คือ การสร้างวิตามินดีจากผิวหนังที่สัมผัสแสงแดด 80-90% ส่วนวิตามินดีจากอาหารคิดเป็น 10-20% เท่านั้น โดยแหล่งอาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ อาหารประเภทธัญพืช เห็ด หรือควรดื่มนมที่เสริมวิตามินดีเป็นประจำ

 

อย่าลืมเสริมด้วยกรดไขมันโอเมกา 3 เพราะเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกายและสมอง ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยต้านการอักเสบ กรดไขมันโอเมกา 3 มักพบได้ในปลา อาหารทะเล เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย ฯลฯ 

 

3.
ปรุงอาหารให้พอดี

 

ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง หมั่นบอกตัวเองว่าห้ามปรุงรสจัด หวานจัด หรือเค็มจัด เพราะเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน และโรคอื่น ๆ ที่จะตามมา

 

4.
ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

 

การออกกำลังกายทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเดินช้า วิ่ง โยคะ พิลาทีส ต่อยมวย เต้นแอโรบิก ฯลฯ ที่เป็นการออกแรงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอล้วนมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคเรื้อรังได้ เพราะเป็นการคงความสามารถในการทำงานของร่างกาย ชะลอความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ มีความสมดุลมากขึ้น และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เสริมเรื่องความสมดุลของร่างกาย จึงมีส่วนช่วยป้องกันการหกล้มได้ดี

 

4.
วางแผนสุขภาพและการเงิน

 

ต่อให้คุณดูแลร่างกายเป็นอย่างดี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล ก็ห้ามละเลยการประเมินค่าใช้จ่ายด้านความเจ็บป่วยในอนาคต ควรหมั่นทบทวนว่าสวัสดิการ สิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน หากเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงบางโรคที่ต้องใช้เวลายาวนานเพื่อรักษา ควรทำอย่างไร

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทางการเงินก่อนเข้าสูงช่วงสูงวัย จึงควรมองหาประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมโรคร้ายแรง อย่าง ไทยประกันชีวิต Health Fit Senior CI ประกันสุขภาพโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุยุคใหม่ สมัครได้ตั้งแต่อายุ 40-80 ปี คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี มีบริการตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์โดยแพทย์ คุ้มครองการป่วยโรคเรื้อรังจากการดำเนินชีวิต  4 โรค ได้แก่ โรคเกาต์, โรคแผลในกระเพาะอาหาร, โรคจอตาเสื่อม และโรคประสาทหูเสื่อม และได้รับผลประโยชน์รายเดือนในกรณีป่วยด้วยโรคร้ายแรงทุกระยะ จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง เว็บไซต์ ไทยประกันชีวิต

 

อ้างอิง

  • ThaiHealth Official.ควรตรวจสุขภาพอย่างไรในแต่ละช่วงวัย.https://bit.ly/4k4kCTO
  • ThaiHealth Resource Center.พร้อมก่อน 40 ฉบับที่ 1 : สุขภาพดีเตรียมก่อนพร้อมกว่า.https://bit.ly/4kTZosX
  • Nestle.เคล็ดลับดูแลสุขภาพ ก้าวข้ามวัย 40+ อย่างแข็งแรง.https://bit.ly/4nfk402

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...