โลกป่วย ใจก็ป่วยตาม ! รู้ทัน Eco-Anxiety เมื่อจิตใจคนรักโลกแปรปรวนง่ายคล้ายสภาพอากาศ

10 Jun 2025 - 5 mins read

Health / Mind

Share

เคยไหม ? รู้สึกเหนื่อยใจเพราะ ‘โลกร้อน’ 

 

เคยไหม ? รู้สึกโกรธหรือไม่สบายใจ เมื่อต้องเจอปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำท่วม คลองเน่า ฝุ่นพิษ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือแม้แต่หน้าหนาวที่ค่อย ๆ หายไปเพราะภาวะโลกรวน 

 

อาการทางใจที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเราเรียกว่า Eco-anxiety หรือ Climate Anxiety หมายถึง ความวิตกกังวลด้านสภาพภูมิอากาศ เกิดขึ้นเพราะเรากำลังตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในโลกของเรา

 

สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน  (American Psychological Association : APA) ได้ระบุเอาไว้ว่า Eco-anxiety คือความกลัวเรื้อรังต่อความหายนะของสิ่งแวดล้อม เกิดจากการที่เราเฝ้าดูผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดูเหมือนจะแก้ไขไม่ได้ 

 

ซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมามากมายหลายระดับ เริ่มตั้งแต่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า แพนิก ไปจนถึงเป็นโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD : Post-Traumatic Stress Disorder) และสามารถทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ยิ่งกว่านี้ ทั้งหมดนี้คือความทุกข์ทางอารมณ์ จิตใจ และทางกายที่ตอบสนองต่อภัยคุกคามทางสภาพอากาศ 

 

ในปี 2021 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Planetary Health ได้สำรวจกลุ่มคนอายุระหว่าง 16-25 ปี จำนวน 10,000 คน พบว่า  

 

ร้อยละ 59 รู้สึกกังวลอย่างมาก (Highly Worried) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ร้อยละ 50 รู้สึกเศร้า กังวล โกรธ หมดพลัง และรู้สึกผิดต่อภาวะโลกรวน

ร้อยละ 75 กำลังหวาดกลัวอนาคตที่กำลังจะมาถึง

ร้อยละ 83 รู้สึกว่ามนุษย์เราล้มเหลวในการช่วยโลกใบนี้  

 

ถึงแม้ว่า Eco-Anxiety จะเป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่คนที่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับอาารนี้มากที่สุดคือคน Gen Z และ Gen Y  

 

งานวิจัยจาก Cardiff University ในปี ค.ศ. 2023 พบบว่า Gen Y และ Gen Z มีระดับความกลัว ความรู้สึกผิด และความโกรธต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับเจเนอเรชันอื่น ๆ แน่นอนว่า Gen Z นั้นเกิดมาพร้อมกับโลกที่เริ่มเผชิญปัญหา และรับรู้เรื่องสภาพอากาศตั้งแต่ลืมตาดูโลกและโตพอที่จะรับรู้หายนะของมันอย่างถ่องแท้ จึงตระหนักถึงโลกได้มากกว่า 

 

ขณะเดียวกัน Gen Y (เกิดปี ค.ศ. 1981- 1996) นั้นเห็นความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เริ่มต้น และที่ยิ่งกระทบหนักเข้าไปอีกนั่นก็เพราะคน Gen Y ส่วนหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว และต้องการความมั่นคงในชีวิต แต่เมื่อโลกเป็นแบบนี้ ทำให้พวกเขาเริ่มไม่มั่นใจว่าจะยังสามารถมีอนาคตที่ดีได้อยู่ไหม บางคนลังเลที่จะซื้อบ้านสักหลัง  เพราะไม่อาจแน่ใจได้ด้วยซ้ำว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าน้ำจะท่วมหรือไม่ บางคนก็ไม่กล้ามีลูกเพราะกังวลว่าเด็ก ๆ จะต้องเกิดมาเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย  

 

Gen Y ผู้แบกรับทั้งอนาคตของตัวเองและอนาคตของโลกจึงยิ่งเสี่ยงที่จะเป็น Eco-anxiety 

 

รู้ทันสัญญาณ Eco-anxiety 

 

Eco-anxiety เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน จึงทำให้เกิดอาการหลายรูปแบบตามมา โดยปกติแล้วเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟป่า จิตใจของมนุษย์เราก็จะถูกกระทบกระเทือนทำให้รู้สึกวิตกกังวลและไม่ปลอดภัยได้  

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเกิดภัยพิบัติหรืออากาศร้อนขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยที่มากกว่า เช่น การรับรู้ถึงภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงและไม่แน่นอน, การเสพข่าวลบเรื่องโลกเกินพิกัด ไปจนถึงความรู้สึกผิดที่เราไม่ได้ลงมือทำเพื่อโลก 

 

นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเรื่องสิ่งแวดล้อม ถึงส่งผลต่อใจคนได้มหาศาล หากใครกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็น Eco-anxiety อยู่หรือเปล่า ลองเช็กลิสต์ตามนี้ดู  

 

  • รู้สึกท้อแท้ หนักใจและสิ้นหวังเรื่องภาวะโลกรวน
  • กลัวอนาคตที่กำลังจะมาถึง รู้สึกว่าโลกในอนาคตนั้นจะมีแต่หายนะเรื่องสิ่งแวดล้อม
  • เวลาอ่านข่าวร้ายที่เกี่ยวกับภาวะโลกรวนจะรู้สึกตึงกล้ามเนื้อ หรือหายใจไม่ค่อยสะดวก
  • นอนไม่หลับเพราะคิดเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
  • หมกมุ่นอยู่กับการสืบค้นและเสพข่าวสิ่งแวดล้อม
  • ผิดหวังตัวเองหรือโกรธคนอื่นเพราะรู้สึกว่ายังทำเพื่อโลกไม่มากพอ
  • รู้สึกผิด อับอาย ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย
  • หลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดคุยเรื่องปัญหาโลกรวนเพราะไม่อยากรู้สึกแย่  

 

หากใครต้องการสำรวจอย่างละเอียด ทำแบบทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่  Climate Anxiety Test  

 

เอาชนะ Eco-anxiety อย่างไร ?  

ให้ดีต่อใจและดีต่อโลก 

 

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าสิ่งนี้ ‘ไม่ใช่ความผิดปกติ’ และเราสามารถรับมือกับมันในทางที่สร้างสรรค์ได้ 

 

ในมุมมองด้านจิตวิทยา อาการของ Eco-anxiety ในระดับที่รับมือได้อย่างเหมาะสม ถือเป็น ‘ความรู้สึกที่ดีต่อโลก’ เพราะบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และยังหมายถึง ‘การมองโลกอย่างมีหวัง’ (Radical Hope) เพราะเรายังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนความวิตกกังวลเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อโลกที่น่าอยู่ หากรู้สึกว่ากำลังมีอาการ Eco-anxiety ลองทำตามวิธีเหล่านี้อาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ และยังถือเป็นการช่วยเซฟโลกของเราอีกด้วย 

 

  • ทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อโลก : การรู้สึกกังวลเรื่องโลกและสิ่งแวดล้อมนับเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เริ่มต้นทำสิ่งดี ๆ เพื่อโลก เราสามารถเริ่มต้นลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยตัวเอง เช่น ซ่อมเสื้อผ้าที่ขาดให้กลับมาใส่ได้อีกครั้ง ลดการใช้พลาสติก กินอาหารไม่เหลือทิ้ง ปลูกต้นไม้ลดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น 
  • เสพข่าวอย่างพอดี : หากรู้สึกว่ากำลังหมกมุ่นกับข่าวสารสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ลองจำกัดจำนวนหรือจำกัดเวลาในการเสพข่าวเหล่านั้นให้เหมาะสมจะช่วยได้ เพราะหากไม่จำกัด เราอาจเข้าข่าย Doomscrolling หรือ การเสพติดข่าวร้ายมากเกินไปจนยิ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไม่ทันได้รู้ตัวได้ 
  • หาเพื่อนที่มี ‘อุดมการณ์’ เดียวกัน : เราต่างไม่ได้รู้สึกสิ้นหวังอยู่เพียงลำพัง ยังมีคนอีกมากมายที่เป็นทุกข์เพราะโลกร้อน ลองหาเพื่อนที่เชื่อเหมือนกัน เข้าชมรม รวมกลุ่ม เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรต่าง ๆ ที่ทำเพื่อโลก ยิ่งไปกว่านั้น การรวมพลังกันยังมีโอกาสช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายได้อีกด้วย 

 

  • กลับมาเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ : ชีวิตในยุคสมัยใหม่ทำให้เราห่างไกลจากธรรมชาติไปทุกที ตามแนวคิดของ จิตวิทยานิเวศ (Ecopsychology) ระบุว่าการที่มนุษย์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ได้สัมผัสต้นไม้ใบหญ้า เหยียบย่ำลงบนพื้นดินอีกครั้งจะช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังชวนให้เราทำสิ่งดี ๆ เพื่อโลกบนพื้นฐานของความรัก ไม่ใช่แค่เพราะกลัวความหายนะที่กำลังจะมาถึง  
  • ปรึกษาจิตแพทย์และนักบำบัด : หากมีความวิตกกังวลในระดับที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกจากจะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดแล้ว อาจได้คำแนะนำดี ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย 

 

ภาวะโลกรวนคือปรากฏการณ์ที่กินระยะเวลายาวนาน สำหรับบางคนแล้วต้องเผชิญกับสิ่งนี้มาแทบทั้งชีวิต มีบ้างที่เราจะรู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้กับวิกฤติที่แก้ไขได้ยาก แต่อย่าเพิ่งหมดหวังหรือโทษตัวเอง เพราะเราทุกคนนี่แหละที่เป็น ‘พลัง’ สำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ 

 

อ้างอิง 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...