

บอกลาความเหงาที่ทำให้เศร้าในวันฝนตก ด้วยวิธีดูแลใจให้มีความสุขทุกขณะ
Health / Mind
19 Jul 2023 - 5 mins read
Health / Mind
SHARE
19 Jul 2023 - 5 mins read
“…ฝนตกอีกแล้ว คืนนี้คงหนาวกว่าคืนไหน ๆ…”
ท่อนหนึ่งจากเพลง ฝนตกไหม ของวง Tree Man Down ที่ว่าหนาวกว่าคืนไหน ๆ คนในเพลงอาจไม่ได้กำลังคิดไปเอง แต่ในวันที่ฝนโปรยปราย ท้องฟ้ามืดครึ้ม มันทำให้ยิ่งเหงา ยิ่งเศร้า และความหนาวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่กายแต่เป็นความหนาวจากก้นบึ้งของหัวใจ
บางคนหลงรักหน้าฝน เพราะเป็นฤดูกาลที่นอนซุกตัวในผ้าห่มได้สบาย แต่เชื่อไหมว่ามีมนุษย์อยู่จำนวนหนึ่งที่ ‘เกลียดหน้าฝนเข้าไส้’ ผลการศึกษาเผยอีกว่าผู้ใช้ Facebook มักจะตั้งสเตตัส พิมพ์ความคิดเห็นลบ ๆ แสนหดหู่มากเป็นพิเศษในช่วงหน้าฝน
อาการที่ว่าคือ Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Monsoon Blues เป็นอาการทางใจอย่างหนึ่งที่คนจำนวนไม่น้อยเป็นกันบ่อยในช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล สบายใจได้เลยว่าในคืนที่ฝนโปรยปราย คุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่เหงาและร้องไห้อยู่เพียงลำพังแน่นอน
นอกจากความเหงาแล้ว หลายคนอาจรู้สึกเศร้า อ่อนเพลีย เซื่องซึม หงุดหงิดง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิโฟกัสกับงานตรงหน้า อยากจะนอนและเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปพบปะใคร ยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้วิถีการกินและนอนเปลี่ยนไป อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจาก Monsoon Blues
ร่างกายของมนุษย์เรานั้นไวต่อสภาพอากาศ เมื่ออากาศเปลี่ยน ร่างกายก็เปลี่ยนตามไปด้วย
ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงเมื่อฝนตกคือ ‘แสงแดด’ หายไปเพราะโดนเมฆครึ้มบดบัง แถมอากาศก็เย็นลง เมื่อร่างกายไม่ได้รับแสงอย่างทุกวันก็จะส่งผลต่อการทำงานของ นาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm) ซึ่งหมายถึงวงจรการเข้านอน ตื่นนอน หลั่งฮอร์โมน อุณหภูมิร่างกาย ฯลฯ โดยมีสมองส่วน ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) เป็นตัวสั่งการ
ในวันฝนตกที่อากาศเย็นและแทบไม่เจอแสงอาทิตย์ สมองจะสั่งให้ร่างกายหลั่ง เมลาโทนิน (Melatonin) มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ผ่อนคลาย พร้อมหลับปุ๋ยสบายใจ แต่เมื่อฟ้าชักจะครึ้มนานเกินไป ร่างกายไม่ค่อยได้รับแสงอาทิตย์และหลั่งเมลาโทนินออกมาเรื่อย ๆ จากความสบายใจก็เริ่มทำให้รู้สึกเซื่องซึม เหงา และเศร้าได้เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้นหากลองสังเกตตัวเอง บางคนอาจพบว่าอาการเศร้าจะมาเยือนทุกช่วงเวลาเดิม ๆ ของทุกปี และมักจะเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝนและฤดูหนาว อาการนี้อาจหายไปได้เอง บางคนฝนหยุดก็ดีขึ้น บางคนใช้เวลาเป็นสัปดาห์ บางคนก็ใช้เวลาเป็นเดือน ขึ้นอยู่ที่ว่าร่างกายของแต่ละคนจะปรับตัวให้เข้ากับฤดูกาลได้เร็วแค่ไหน
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยผ่านหรือนิ่งนอนใจได้ เพราะสำหรับบางคนแล้วอาจรุนแรงจนทำให้สุขภาพใจย่ำแย่ เช่น แยกตัวออกจากสังคม เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพียงลำพัง และทำให้ใช้ชีวิตประจำได้ไม่เหมือนเดิม ถึงเวลาต้องพบจิตแพทย์
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ก็มีวิธีดูแลใจให้มีความสุขทุกขณะฉบับง่าย ๆ ซึ่งนักจิตวิทยาต่างรับรองว่าจะช่วยทำให้หายจากความเหงา เศร้า สามารถใช้ชีวิตให้ใจปกติสุขได้ตลอดฤดูฝน ให้ใจแข็งแรง ไม่หวั่นแม้วันพายุกระหน่ำ
หันหน้าหาแสงแดด ให้อารมณ์สดใส
ปัจจัยสำคัญคือที่สุดของอาการนี้คือ ‘แสงแดด’ ซึ่งจะช่วยผลิต เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งจะช่วยทำให้นาฬิกาชีวิตกลับมาทำงานได้อย่างปกติ หาเวลาเจอแสงแดดแม้ในวันฝนจะตก เปิดหน้าต่างให้ห้องสว่าง แม้เพียงแสงไม่มากก็ช่วยได้ จะเห็นได้ว่าแสงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาการนี้หายไป ด้วยเหตุนี้จึงมี การบำบัดด้วยแสง (Light Therapy) ซึ่งใช้แสงเลียนแบบธรรมชาติส่องกระตุ้นเซโรโทนินให้นาฬิกาชีวิตกลับมาปกติ เป็นการรักษาอาการ SAD ได้อย่างตรงจุด
อบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ
ออกกำลังกายและขยับร่างกายบ่อย ๆ ช่วยหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขอย่าง โดพามีน (Dopamine) ทำให้ร่างกายมีพลัง ในวันฝนตกออกไปวิ่งกลางแจ้งไม่ได้ ลองหันมาเล่นโยคะ เต้นแอโรบิกอยู่ในบ้าน หรือทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ พอให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวก็ช่วยได้ดีเช่นกัน
ปรับตารางชีวิตให้สมดุล
กินอาหารที่มีประโยชน์และเข้านอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง และทำทั้งหมดนี้ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน สิ่งนี้เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดี ไม่ว่าฝนตก แดดออก งานหนัก อกหัก ร้องไห้ หากยังรักษาสองสิ่งนี้ได้ ร่างกายก็จะแข็งแรงและมีพลังสู้กับทุกอย่าง ๆ ที่เข้ามาได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ต้องกังวลแม้วันพายุกระหน่ำ
คุยกับใครสักคน
หากเหงาก็ลองคุยกับใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่คุณรัก ถ้าเหงาแล้วปล่อยให้เหงา ความเหงาจะยิ่งกัดกินจิตใจ ถ้าคิดมากแล้วปล่อยให้ตัวเองคิดไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งฟุ้งซ่าน การได้บอกเล่าความรู้สึกและความกังวลใจต่าง ๆ ให้คนรอบข้างได้รับรู้ส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้นได้
ท้ายที่สุดแล้วหากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วก็ยังไม่หายจากอาการเหงา เศร้า และส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน การพบจิตแพทย์เพื่อรักษาตามขั้นตอนนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ฤดูฝนเวียนมาทุกปี การดูแลใจให้ดีพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ขอให้ทุกคนผ่านหน้าฝนนี้ไปได้นะ
อ้างอิง
- Shreya Agrawal. Monsoon blues: Here’s why the rainy season may be making you sad. https://bit.ly/3CWFk50
- Julie Taylor. Can Rainy Days Really Get You Down?. https://wb.md/46xUHON
- Sneha Paul. Feeling down in a downpour? You might be suffering from ‘monsoon blues’. https://bit.ly/3rjfXrC
- National Institute of General Medical Sciences. Circadian Rhythms. https://bit.ly/4373Kn3