

เป็นเหมือนกันไหม ? ใจอยากเที่ยวต่อ แต่ต้องกลับมาทำงาน รวมวิธีปลุกพลังใจเติมไฟหลังหยุดยาว
Health / Mind
17 Apr 2024 - 5 mins read
Health / Mind
SHARE
17 Apr 2024 - 5 mins read
หมดเวลาสนุกแล้วสิ !
เคยสังเกตตัวเองไหมว่า ยิ่ง ‘หยุดยาว’ ติดต่อกันหลาย ๆ วันมากเท่าไหร่ ยิ่งไม่อยากกลับไป ‘ทำงาน’ มากเท่านั้น
เพราะลึก ๆ ในใจยังโหยหาช่วงเวลาที่ได้หยุดพักผ่อนและออกเดินทางท่องเที่ยวระหว่างหยุดยาว ทำให้ไม่อยากรีบกลับไปเผชิญหน้ากับโลกของการทำงานที่มีแต่ความเคร่งเครียดและเหนื่อยหน่าย
จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ทันที หากวันแรกของการกลับมาทำงานจะกลายเป็นวันที่ยากลำบากและดูไม่ค่อยสดใสของใครหลายคน นี่คือหนึ่งในปัญหาคลาสสิกตลอดกาลที่คนทำงานส่วนใหญ่มีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งเป็น อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Post-Vacation Blues (สามารถเรียกด้วยชื่ออื่น ๆ แทนได้ เช่น Post-Holiday Blues และ Post-Travel Depression)
แต่สำหรับคนทำงานที่ยังไม่แน่ใจว่า ตัวเองมีอาการเข้าข่าย Post-Vacation Blues หรือเปล่า ? LIVE TO LIFE แนะนำให้สำรวจความรู้สึกและสังเกตอาการของตัวเองตามเช็กลิสต์ต่อไปนี้
เช็กลิสต์อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว
1. ไม่อยากให้วันหยุดยาวจบลงในเร็ววัน
2. รู้สึกว่าชีวิตกำลังจะจืดชืด ไม่สนุกเหมือนตอนที่ได้หยุดยาว
3. หากนึกถึงการทำงาน จะรู้สึกหมดกำลังใจและหมดไฟขึ้นมาทันที
4. ไม่อยากทำอะไร แม้แต่กิจวัตรประจำวันที่ต้องทำอยู่แล้วตามปกติ
5. ไม่สดใส เมื่อย เหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย
6. มีปัญหาการนอน ทั้งนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือนอนมากเกินไป
7. ไม่ค่อยมีสมาธิ กระสับกระส่าย ว่อกแว่กง่าย และใจลอยขณะทำงาน
8. หงุดหงิดกับเรื่องเล็กน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี อาจถึงขั้นร้องไห้โฮ โมโห หรือระเบิดอารมณ์
9. รู้สึกเคว้งคว้าง เหงาใจ มองทุกอย่างในแง่ลบ
10. อยากให้วันหยุดยาวครั้งต่อไปมาถึงไว ๆ
หลังจากทบทวนตัวเองด้วยเช็กลิสต์ทั้ง 10 ข้อแล้ว ยิ่งมีอาการตรงกับเช็กลิสต์มากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าข่ายอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวมากเท่านั้น แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะ Post-Vacation Blues เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่ทำให้คนทำงานจมอยู่กับความเศร้าในช่วงสั้น ๆ ไม่กี่วันหลังหยุดยาว
ยิ่งหยุดยาว ยิ่งเสี่ยงเศร้าใจ ยิ่งไม่อยากทำงาน
สำหรับต้นตอของอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวที่ทำให้หมดใจจนไม่อยากกลับไปทำงาน เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกเคยชินกับความสุขและความสบายที่ไม่ต้องทำงานตลอดวันหยุดยาว แต่ความสุขมักอยู่กับเราไม่ได้นาน แล้วทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราเช่นเดียวกับวันหยุด เมื่อถึงคราวต้องกลับมาทำงานตามปกติ ชีวิตจึงปรับตัวปรับใจให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ในเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น เพราะงานยังเป็นสิ่งสำคัญที่ชีวิตต้องรับผิดชอบอยู่ สิ่งเดียวที่พอจะทำได้ในตอนนั้น คือฝืนใจทำงานทั้ง ๆ ที่ไม่พร้อม ความรู้สึกที่ขัดแย้งนี้เองทำให้เกิด Post-Vacation Blues เป็นอาการซึมเศร้าที่ปะปนกับความทุกข์อยู่ภายในใจ กลายเป็นทั้งความยากลำบากของการทำงานและเป็นความท้าทายของการใช้ชีวิต
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยเพิ่มว่า ‘อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว’ กับ ‘ภาวะหมดไฟ’ (Burnout) เป็นอาการเดียวกันหรือเปล่า ?
คำตอบคือ ถึงแม้ว่าอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวจะมีอาการบางส่วนที่คล้ายคลึงกับ ภาวะหมดไฟ แต่ไม่ใช่อาการเดียวกัน เพราะภาวะหมดไฟมีสาเหตุมาจากการเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลกระทบในระดับที่รุนแรงมากกว่า และควรได้รับการดูแลรักษาจากจิตแพทย์
ขณะที่อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว เป็นอาการที่หายเองได้ ปกติแล้วจะค่อย ๆ ทุเลาเบาลงจนหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์ จึงไม่นับว่าเป็นโรคหรืออาการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่น่ากังวลใจเหมือนภาวะหมดไฟ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่คนทำงานทุกคนจะสามารถรับมือกับอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวได้ในทันที เพราะแต่ละคนมีความมั่นคงและเข้มแข็งทางใจแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาเพื่อปรับความรู้สึกให้กลับมาพร้อมทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม โดยไม่โหยหาวันหยุดที่ผ่านมาอีก
5 วิธีปลุกพลังใจเติมไฟหลังหยุดยาว
วิธีที่ดีที่สุดสำหรับรับมืออาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือ Post-Vacation Blues คือ การเตรียมความพร้อมและวางแผนให้ตัวเองสามารถปรับตัวเข้ากับทุกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยวิธีคิดและเคล็ดลับจิตวิทยาที่ LIVE TO LIFE คัดสรรมาฝาก สำหรับเป็นแนวทางให้ทุกคนนำไปปรับใช้ ทั้งในด้านการทำงานและด้านการใช้ชีวิต เพื่อทำตัวเองให้มีความสุขทุกขณะ สามารถใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริง และทำงานได้โดยไม่ต้องฝืนใจ
1. เตรียมพร้อมก่อนหยุดพัก
เตรียมพร้อมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะทำให้ใช้ชีวิตตลอดวันหยุดยาวได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องงาน ดังนั้นก่อนวันหยุดยาวจะมาถึง จึงจำเป็นต้องสะสางงานเก่าที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย หากมีงานที่ควรส่งมอบให้คนอื่นช่วยดูแลต่อขณะลาหยุดยาว ควรไหว้วานให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน
แต่จุดสำคัญที่คนส่วนมากหลงลืมและไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า คือ การรับมือกับปริมาณงานที่ล้นหลามในวันแรกของการกลับมาทำงาน หากจัดการได้ไม่ดีพอ จะเกิดความเหนื่อยและความเครียดจนกลายเป็นอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว
ในทางตรงกันข้าม การเตรียมตัวเองให้พร้อมทำงานวันแรกตั้งแต่ก่อนลาหยุดยาว เป็นหนทางที่ช่วยผ่อนความยุ่งยากในเรื่องนี้ได้ เช่น จัดตารางการทำงานเผื่อไว้ เพื่อให้เห็นภาพรวมและลำดับความสำคัญของแต่ละงาน เป็นการเตือนตัวเองว่าควรทำงานไหนก่อนและหลัง ถ้าเป็นไปได้ ควรเคลียร์งานที่ต้องส่งในวันแรกหรือสองวันหลังหยุดยาวให้เสร็จก่อนล่วงหน้า เพราะช่วยลดความเครียดในวันทำงานวันแรก และลดความเสี่ยงของอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวไปได้มาก
2. ยินดีต้อนรับกลับบ้านที่คุ้นเคย
ลองนึกภาพตามดูว่า จะเป็นอย่างไร ? หากวันนี้เพิ่งกลับมาถึงบ้านตอนเย็นหรือช่วงค่ำ แล้ววันพรุ่งนี้ต้องรีบตื่นแต่เช้าไปทำงานต่อ โดยไม่มีวันว่างให้ตัวเองได้หยุดพักหายใจอยู่บ้าน
นอกจากจะรู้สึกเหนื่อยเอามาก ๆ ยังส่งผลต่อความเครียดด้วย เพราะความกระชั้นชิดของเวลาทำให้ปรับอารมณ์ได้ไม่ทัน ทางที่ดีควรแบ่งวันหยุดไว้ 1-2 วัน สำหรับเผื่อเวลากลับมาอยู่บ้านพักใจให้สงบนิ่งและเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มทำงานอีกครั้ง
ระหว่างพักอยู่บ้าน แนะนำให้ทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือใช้เวลาไปกับกิจกรรมเพื่อความบันเทิงที่ช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง เช่น ฟังเพลง ดูซีรีส์ อ่านหนังสือ จัดบ้าน ทำอาหาร ให้ของฝากกับคนที่บ้าน แบ่งปันเรื่องราวน่าประทับใจที่พบเจอระหว่างเดินทางท่องเที่ยวพร้อมกับภาพถ่ายสวย ๆ ในโซเชียลมีเดีย
เหตุผลที่ต้องหากิจกรรมทำขณะกลับมาอยู่บ้าน เพราะสำหรับบางคน การปล่อยตัวเองให้อยู่เฉย ๆ หรือว่างมากเกินไป อาจทำให้คิดฟุ้งซ่านและกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวได้
3. ให้ของอร่อยช่วยเยียวยาใจ
เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะโหยหารสชาติของอาหารอร่อยทันทีหลังกลับมาจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดในที่ไกล ๆ หรือไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีอาหารและวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างจากความคุ้นเคย อาจเป็นรสชาติแปลกใหม่ที่ไม่ถูกปาก สุดท้ายต้องกลับมาตายรังกับอาหารเมนูเดิม ๆ ที่เป็นจานโปรด
ของอร่อยที่ได้กินกี่ครั้งก็ถูกใจไม่เปลี่ยน เช่น กาแฟอุ่น ๆ สักแก้วของคาเฟ่ร้านประจำ เค้กนุ่มฟูที่ให้สัมผัสบางเบาจนแทบจะละลายในปาก และชาไทยใส่น้ำแข็ง เหมาะสำหรับดื่มเย็น ๆ ให้ชื่นใจ รวมถึงอาหารที่อยากกินให้หายอยาก เช่น กับข้าวรสมือแม่ ยำรสจัดสุดแซ่บ หมูกรอบกับน้ำจิ้มรสเด็ด แม้แต่บุฟเฟต์ที่กินได้ไม่อั้นตามใจ
ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ ได้ว่า คอมฟอร์ตฟู้ด (Comfort Food) หมายถึง เครื่องดื่มและอาหารคาวหวานที่เป็นยาดี เพราะช่วยปรับอารมณ์และเยียวยาจิตใจจากอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวและความรู้สึกแย่ ๆ ให้กลับมาดีขึ้นได้
4. ปรับความคิดใหม่ให้อยู่กับปัจจุบัน
ไม่มีประโยชน์อะไร หากมัวแต่หวนคิดถึงอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว หรือกังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพราะว่าทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ เครียด และเสียใจไม่จบสิ้น จึงควรปรับความคิดใหม่ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
เริ่มต้นด้วยการตั้งสติ พยายามทำความเข้าใจตัวเอง พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เคยมี โดยเฉพาะช่วงเวลาความสุขและความสนุกขณะได้หยุดยาว รวมถึงยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่อยากให้เป็นเหมือนตอนหยุดยาวที่ผ่านมา
ให้คิดว่าจะสุขหรือทุกข์อยู่ที่ตัวเราเป็นคนเลือกเอง ซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของความสุขได้เสมอไม่ว่าเวลาไหน ทั้งเวลาไปเที่ยว อยู่บ้าน หรือไปทำงาน จากนั้นให้เปลี่ยนความคิดและมุมมองต่อทุกสิ่ง หันมามองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง พร้อมกับปรับอารมณ์ให้สดใส ไม่จมอยู่กับความทุกข์ เพราะเราทุกคนควรใจดีกับตัวเองให้ได้มากที่สุด
5. ไม่ต้องเศร้าเสียดาย เพราะหยุดยาวครั้งต่อไปรอทุกคนอยู่
โบราณว่าไว้ ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ หากยังแก้อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวไม่ได้สักที ให้เปลี่ยนความโหยหาวันหยุดเป็นพลังและแรงบันดาลใจสำหรับวางแผนสิ่งต่าง ๆ ที่อยากทำในวันหยุดยาวครั้งต่อไปซึ่งกำลังจะมาถึง
เมื่อการเดินทางสร้างประสบการณ์และความหมายใหม่ให้ชีวิต เพราะเปิดโอกาสให้พบเจอทั้งผู้คน สถานที่ และสิ่งน่าสนใจมากมาย การวางแผนล่วงหน้าจึงเท่ากับเป็นการตั้งเป้าหมายให้อยากตั้งใจใช้ชีวิตอย่างดีเพื่อจะได้ทำตามแผนที่วางเอาไว้ สำหรับหลาย ๆ คน แค่ได้วางแผนก็รู้สึกสนุกและตื่นเต้นจนลืมความทุกข์และอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาวไปได้
แผนการเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งหน้า จึงเป็นเหมือนการเติมเชื้อไฟให้ใช้ชีวิตและกลับมาทำงานได้เร็วขึ้น เพื่อมุ่งมั่นเตรียมความพร้อมให้สำเร็จก่อนที่วันหยุดครั้งต่อไปจะมาถึง เพราะว่าวันหยุดยาวก็เหมือนกับวันพระที่ไม่ได้มีแค่หนเดียว
อ้างอิง
- กรมควบคุมโรค. (2564). ภาวะเหนื่อยหลังหยุดยาว. จุลสารกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, 10 (1), 7-8.
- Beth Sissons. Is post-vacation depression real? What the research says. https://bit.ly/4atvru3
- Libby MacCarthy. Understanding Post-Holiday Depression and Blues. https://bit.ly/4arCELu