

ลงทุนกับความคิด ฝึกตัวเองให้มี ‘Proactive Mindset’ วันละนิดเพื่อชีวิตที่มีแบบแผน
Health / Mind
20 Sep 2024 - 5 mins read
Health / Mind
SHARE
20 Sep 2024 - 5 mins read
ใคร ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จในชีวิตกันทั้งนั้น
การจะกลายเป็นคนประสบความสำเร็จ นอกจากฝึกฝนและพยายามแล้ว หนึ่งสิ่งที่ต้องมีคือ Mindset หรือระบบความคิดที่มีลักษณะเฉพาะที่จะคอยส่งเสริมให้เราไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ
LIVE TO LIFE ชวนมาลงทุนกับความคิด เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนที่มี Mindset ‘Proactive’ ซึ่งมีนิสัยกระตือรือร้น ชอบวางแผนล่วงหน้า พร้อมรับมือกับอนาคตทุกรูปแบบ ซึ่งลักษณะเหล่านั้นให้ผลตอบแทนเป็นชีวิตที่มีแบบแผนในทุก ๆ ด้าน เป็นพื้นฐานที่นำพาเราไปสู่ความสำเร็จ
คนเรามีหลายแบบ แต่หากแบ่งตามลักษณะในการการตอบสนองต่อเรื่องราวต่าง ๆ นั้นแบ่งได้ 2 แบบ คือคนแบบ Proactive - กระตือรือร้นและลงมือทำ และ Reactive – ถนัดตั้งรับและรอคอยโชคชะตา
Proactive หรือ ความกระตือรือร้น ไม่ได้หมายถึงคนบ้าพลัง ทำงานตลอดเวลาโดยไม่พัก แต่เป็นเรื่องของความคิดและการมองโลก คนประเภทนี้มักจะคิดแบบเชิงรุก มองการณ์ไกล และชอบวางแผน ไม่รอให้ปัญหามาถึงแล้วค่อยแก้ แต่จะพาตัวเองไปสำรวจดูว่าอาจมีปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นบ้างในอนาคต เพื่อคิดหาวิธีรับมือหรือป้องกันไว้ล่วงหน้าอย่างทันท่วงที เป็นการอุดรอยรั่วในชีวิตให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีแบบแผน ด้วยลักษณะการมองโลกแบบนี้จึงทำให้คนที่มีความ Proactive สามารถผ่านอุปสรรคทุกอย่างไปได้แทบทุกครั้ง
ลักษณะนิสัยแบบ Proactive และ Reactive อาจตอบโจทย์ชีวิตในแบบที่แตกต่างกัน บางคนสบายใจและปลอดภัยที่จะตั้งรับปัญหาและอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง บางคนรู้สึกกระตือรือร้นที่จะจินตนาการถึงอนาคตและชอบวางแผน
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยเผยว่า คนที่มีบุคลิกแบบ Proactive มักจะประสบความสำเร็จมากกว่าในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในโลกของการทำงาน คนที่กระตือรือร้นมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ได้เลื่อนตำแหน่ง มีความคิดสร้างสรรค์ ได้โบนัส ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า ได้รับโอกาสต่าง ๆ ในการทำงานมากกว่า
ส่วนในมุมของชีวิตและจิตใจ คนในลักษณะนี้มักจะไม่ค่อยเครียดและรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตที่เป็นมากกว่า เนื่องจากชีวิตในปัจจุบันนั้นเป็นผลของแบบแผนที่สร้างขึ้น คล้ายกับเวลาที่เราจะทำงานสำคัญ การเตรียมตัวให้พร้อมนั้นช่วยลดความกังวลและความเครียดได้มาก ซึ่งคนแบบ Proactive กำลังลดความเครียดจากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ในชีวิตอยู่เช่นเดียวกัน
เราจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคน Proactive ได้อย่างไร ?
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Applied Psychology รายงานว่า บุคลิกเหล่านี้เกิดขึ้นจากพันธุกรรม 40% ส่วนอีก 60% นั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเราขึ้นมา นั่นหมายความว่าเราทุกคนสามารถเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนแบบ Proactive ได้ โดยการค่อย ๆ ฝึกฝนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฝึกคิดมุมใหม่ เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีในชีวิตทุก ๆ ด้าน
มองการณ์ไกลและฝึกวางแผน
จากการวิจัยในวารสารจิตวิทยาเดียวกันนี้ระบุว่า การเป็นนักวางแผนเป็นลักษณะเฉพาะสำคัญของผู้ที่มีความ Proactive ลองสำรวจความต้องการของตัวเองในทุก ๆ ด้าน ทั้งการงาน ชีวิต การเงิน และตั้งเป้าหมายในเรื่องนั้น ๆ โดยจินตนาการบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ จะทำให้เราสามารถรับมือกับชีวิตในอนาคตได้ดีขึ้น
อาจเริ่มจากการฝึกตั้งคำถามว่า เราต้องการอะไร ? เราต้องทำอะไร ? เราสามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง ? ถ้าทำแบบนี้แล้วจะเกิดผลอะไรตามมา ใช้เวลา 30 นาทีในวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ สำหรับวางแผนเหล่านี้ เท่านี้ก็ทำให้สกิลการมองการณ์ไกลของเราเก่งขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอว่าสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ การวางแผนไม่ได้หมายว่าเราจะทำตามแผนนั้นได้ทั้งหมด แต่ให้เน้นให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เราควบคุมได้แทน เช่น สุดสัปดาห์จะทำอะไร จะฝึกภาษาช่วงเวลาไหน ต้องไปงานด่วนในวันไหน เวลาไหน ถ้ารถติดจะเปลี่ยนวิธีการเดินทางอย่างไร การมองการณ์ไกลจะช่วยให้เรารู้ว่าปัจจุบันเราต้องทำอะไรเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น
ฝึกตัวเองให้เป็นนักลงมือทำ
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักเขียนบทละครและนักวิจารณ์ชาวไอริชบอกว่า คนเรามี 3 แบบคือคนที่ลงมือทำให้เกิดขึ้น, คนที่เฝ้าดูว่าอะไรเกิดขึ้น และคนที่สงสัยว่าอะไรเกิดขึ้น คน Proactive จะเป็นประเภทแรก คือผู้ลงมือทำ ลักษณะนี้สืบเนื่องมาจากการวางแผน ที่ทำให้ลงมือทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง และเป็นการลงมือทำที่รอบคอบเสมอ
การลงมือทำยังหมายถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มเติม สำรวจเส้นทางอาชีพใหม่ ๆ เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนกับตัวเองที่ทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
เปิดใจออกสำรวจ ‘โลกใบใหม่’ ที่ไม่คุ้นเคย
การ ‘เปิดใจ’ รับสิ่งใหม่จะทำให้เห็นความเป็นไปได้ในชีวิตหลายแบบ ลองพาตัวเองออกไปผจญภัยที่ใหม่ เจอคนใหม่ ๆ เข้าร่วมกลุ่มสังคม เปิดบทสนทนากับคนอื่น รวมถึงการติดตามข่าวสารและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวในทุก ๆ วัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเห็นมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม
หลายคนอาจคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้สิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิต แต่สำหรับ Proactive แล้ว การรู้สิ่งที่ดูเหมือนไม่จำเป็นเหล่านี้จะช่วยให้เห็นโลกกว้างขึ้น เห็นความเป็นไปได้หลายแบบ ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ได้มาล้วนเป็นประโยชน์กับการวางกลยุทธ์ในการใช้ชีวิตได้อย่างแน่นอน
อดทนและปรับตัวให้เป็น
ความกระตือรือร้นเองบางครั้งก็มีข้อเสีย หากแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามที่หวังอาจทำให้เกิดความเครียดตามมาได้ ‘ความอดทน’ จึงเป็นอีกหนึ่งสกิลที่ควรมีควบคู่ไปด้วย
มีคำกล่าวที่ว่า ‘การจะเก่งสิ่งไหน เราต้องอยู่กับความเบื่อในการทำสิ่งนั้นให้ได้’ เช่น ถ้าชอบว่ายน้ำและมุ่งมั่นจะเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ เราต้องเข้าใจว่าการว่ายน้ำไม่ได้มีแค่ช่วงเวลาที่สนุกเสมอไป บางครั้งต้องพบกับโปรแกรมฝึกซ้อมแสนน่าเบื่อ การอดทนอยู่กับความเบื่อให้ได้ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายของเราได้
นอกจากนี้การ ‘ปรับตัว’ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถลองผิด ลองถูกได้เสมอ ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ นั่นทำให้คนเราเรียนรู้อยู่ในทุก ๆ วัน ตราบใดที่เรายังคงยึดมั่นในเป้าหมายและแบบแผน เราก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ให้ไปถึงเป้าหมายได้ตลอดเวลา
การเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคน Proactive เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนวันละนิดละหน่อย เพราะว่าการเปลี่ยนความคิดและมุมมองของเราไม่อาจทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ คล้ายกับการลงทุนที่ต้องเก็บเล็กผสมน้อย ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วเชื่อการลงทุนกับความคิดครั้งนี้จะนำมาซึ่งความประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง
- Thomas S Bateman. Myths and Advice About Being Proactive. https://bit.ly/3MAqndN
- Thomas S Bateman. Why Proactivity Is the Superpower You Can and Should Develop. https://bit.ly/4ei72tI
- Daniel Theyagu. What is Proactive Thinking? How to Be Proactive?. https://bit.ly/4effgm7
- Tracy Brower. The Power Of Being Proactive: 5 Ways To Develop This Surprising Skill. https://bit.ly/3MBy1UX