รักตัวเอง ทำอย่างไร ? ชวนค้นหาตัวตนและเติมอาหารใจด้วยแนวคิดจิตวิทยา ‘ซาร์เทียร์’

11 Mar 2024 - 3 mins read

Health / Mind

Share

รักตัวเอง รักอย่างไร ? 

 

เราทุกคนถูกสอนมาว่าให้รักตัวเอง ต้องรักตัวเองก่อนจะไปรักคนอื่น การรักตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่จะไม่มีวันเสียใจ จนบางครั้งก็อาจทำให้ใครหลายคนสงสัยว่าแล้วที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เรารักตัวเองมากพอแล้วหรือยัง  

 

บางครั้งเราอาจรู้สึกเป็นทุกข์จากการรักคนอื่นจนใจร้ายกับตัวเอง บางครั้งเราคิดว่าเรารักตัวเอง แต่เราอาจไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นถือเป็นการทำร้ายใจตัวเองอยู่  ทั้ง ๆ ที่เราเองก็รู้ว่าการรักตัวเองนั้นสำคัญที่สุด แต่กลับไม่รู้ว่า ‘แล้วเราจะรักตัวเองได้อย่างไร’ ? 

 

การรักตัวเอง (Self-love) คือการยอมรับตัวเองอย่างสุดหัวใจ เห็นคุณค่าและเมตตาต่อตัวเราเอง การรักตัวเองจึงไม่ใช่แค่การดูแลร่างกายแค่ภายนอกเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความคิดและความรู้สึกในใจที่มีต่อตัวเองอีกด้วย เช่น เราจะทำอะไรเพื่อตัวเอง เราจะพูดคุยกับตัวเองด้วยน้ำเสียงแบบไหน ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วความรักในตัวเองสามารถบ่มเพาะขึ้นได้จากหลากหลายวิธี และเราทุกคนสามารถฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อรักตัวเองได้ตลอดชีวิต   

 

LIVE TO LIFE ขอชวนมารู้จักกับ จิตบำบัดแบบซาเทียร์ หรือ Satir Model แนวทางที่จะช่วยให้เรากลับไปทำความรู้จักกับตัวเองอย่างถ่องแท้และสร้างพลังอันยิ่งใหญ่จากตัวของเรา  

 

 

Satir Model คืออะไร ?

Satir Model เป็นศาสตร์หนึ่งในทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยเรื่องการเติบโตภายในตัวตน เป็นแนวทางทำความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เติมเต็มความรักและเมตตาให้กับตัวเองจากก้นบึ้งของหัวใจ และยังสามารถเข้าใจและเมตตาผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน

 

มนุษย์เรามีความสัมพันธ์กับ 3  สิ่ง คือ  

  1. ตัวเอง (Self) : ตัวของเรา 
  2. ผู้อื่น (Others) : ผู้คนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และผู้คนในสังคม 
  3. บริบท (Context) : บริบทที่เราใช้ชีวิตอยู่ทั้งสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ  

 

เป้าหมายสุดท้ายของซาเทียร์คือทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างเข้าใจตัวเอง ผู้อื่น และบริบทรอบข้างของเราอย่างมีความสุข 

 

ศาสตร์นี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1956 โดย เวอร์จิเนียร์ ซาเทียร์ (Virginia Satir) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่สามารถรักษาคนไข้ของเธอให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในตอนแรกผู้คนต่างก็คิดว่านั่นคือพรสวรรค์และความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของเวอร์จิเนียร์ จนกระทั่งภายหลังถึงรู้ว่าเธอได้พัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยในแบบของเธอเอง ออกมาจนเป็น Satir Model อย่างที่เรารู้จักกันในวันนี้

 

ซาเทียร์เป็นแนวทางการบำบัดที่เกี่ยวกับคน การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่าคนเราสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ จนเกิดทั้งความเข้าใจและเห็นใจที่มีต่อตนเองและผู้อื่น นั่นจึงทำให้ซาเทียร์ถูกนำมาใช้กับจิตบำบัดครอบครัวซึ่งจะช่วยให้สมาชิกทุกคนสามารถปรับตัวและเข้าใจกันได้ 

 

 

ซาเทียร์ทำงานอย่างไร ?

ซาเทียร์คือการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของคน ว่าคนเราต้องการอะไร จิตใจจะเติบโตได้อย่างไร โดยจะมีเครื่องมืออยู่หลายแบบที่จะเข้าไปเรียนรู้คนให้ถ่องแท้ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่โดดเด่นของซาเทียร์คือ แผนภาพภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) ซึ่งจะทำให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมีปัจจัยมากมายอยู่ภายในใจที่จะทำให้แสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาให้เห็น ซึ่งแต่ละชั้นประกอบด้วย… 

 

Behaviour : พฤติกรรมที่แสดงออก เป็นส่วนที่โผล่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง สื่อถึงการกระทำที่แสดงออก 

Feeling : อารมณ์และความรู้สึก เช่น ดีใจ เสียใจ ตื่นเต้น โกรธ  

Feeling about Feeling : อารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อความรู้สึกของตัวเอง เช่น เรารู้สึกผิดที่โกรธ รู้สึกดีที่ตัวเองมีความสุข 

Perception : ความคิดและการรับรู้ที่มีต่อตัวเอง ผู้อื่น และบริบท 

Expectation : ความต้องการ ความคาดหวังที่มีต่อตนเอง ผู้อื่น และบริบท 

Yearning : ความปรารถนาอันเป็นสากล (Universal need) ที่เราทุกคนต้องการ หรือที่เรียกว่า ‘อาหารใจ’ ได้แก่ ความรัก, การมีคุณค่า, การยอมรับ, การชื่นชม, อิสรภาพ, ความใกล้ชิดทางใจ, ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน, ความมั่นคงทางใจ และ ความสงบ 

Self : แก่นแท้ที่เป็นตัวของเรา 

 

แผนภาพน้ำแข็งจะทำให้มองเห็นความรู้สึกนึกคิดอย่างทะลุปรุโปร่ง ราวกับส่องกระจกมองใจ ได้ทำความรู้จักตัวเองใหม่อีกครั้ง ว่าที่จริงแล้วตัวเราต้องการอะไร พอเข้าใจแล้วเราสามารถเติมอาหารใจให้ตัวเองให้ครบถ้วน และสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในตนได้ ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการนี้จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีต่อตัวเองและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง

 

เราขอยกตัวอย่างการทำงานของซาเทียร์ด้วยเรื่องราวของ A 

 

A เป็นผู้หญิงคนหนึ่งคาดหวังอยากจะรูปร่างหน้าตาดีตามบิวตี้สแตนดาร์ด เพราะลึก ๆ แล้วปรารถนาที่จะได้รับความรัก ความชื่นชม และเชื่อว่าหากมีรูปร่างหน้าตาดีตามค่านิยมแล้วจะทำให้ได้รับการยอมรับและความรัก แต่ทว่าเธอไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาที่เรียกได้ว่าเข้าข่ายมาตรฐานที่สังคมตั้งเอาไว้ เธอจึงไม่ได้รับคำชมเรื่องรูปร่างหน้าตา โดนปฏิเสธ และยังไม่มีคนรัก หรือแม้กระทั่งโดนคำพูดวิจารณ์รูปร่างหน้าตาจนเกิดแผลในใจ ประสบการณ์เหล่านี้จึงสอนให้ A ผูกเรื่องของคุณค่าไว้กับรูปร่างหน้าตา 

 

และเชื่อสนิทใจว่า ‘ถ้าฉันสวย คนจะรักฉัน’ และ ‘ถ้าฉันไม่สวย ฉันจะไร้ค่า’  

 

จากเรื่องราวของ A หากลองสำรวจลึกลงไปในจิตใจตามแนวทางของแผนภาพภูเขาน้ำแข็งแล้วจะพบว่าสิ่งที่ A ต้องการจริง ๆ ไม่ใช่รูปลักษณ์หน้าตาที่สวยงาม แต่เป็นอาหารใจที่ชื่อว่า ‘ความรัก’ และ ‘การยอมรับ’ 

 

ในแนวทางของซาเทียร์ A ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อให้ใครมารัก แต่ต้องหาวิธีเติมอาหารใจให้กับตัวเองให้เปี่ยมด้วยความรักและการยอมรับ ซึ่งอาหารใจทั้งสองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมาจากคนรัก หรือคนอื่นไกลเลย อาจเป็นความรักจากครอบครัว เพื่อน และที่สำคัญคือจากตัวของ A เอง ส่วนการยอมรับ A ไม่จำเป็นต้องแสวงหาการยอมรับจากรูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียว เธออาจมีข้อดีด้านอื่น ๆ ที่ทำให้ได้รับการยอมรับเช่นกัน  

 

ไม่ว่าวันนี้ A จะมีรูปลักษณ์แบบไหน แต่ถ้าเธอได้เข้าไปสำรวจใจแล้วเติมอาหารใจให้เต็มได้ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้คนมาชื่นชม มารัก แต่เธอสามารถมองเห็นคุณค่าของตัวเองและมีความสุขในวันนี้ได้เลย

 

เป้าหมายของการบำบัดแบบซาเทียร์นั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล (Specific goals) และมีรายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น เป้าหมายของ A คือต้องการเพิ่มพูนความรักและการยอมรับ เพื่อให้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง ขั้นตอนและวิธีการของการบำบัดอย่างละเอียดนั้นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและนักบำบัดที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้รับการบำบัด ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องอาศัยความพยายามและฝึกฝนของผู้เข้ารับการบำบัดด้วยเพื่อให้สามารถไปถึงเป้าหมายที่แต่ละคนตั้งไว้ได้

 

แม้ว่าการบำบัดแบบซาเทียร์อาจไม่ใช่ข้อคิดสำเร็จรูปที่เราจะหยิบไปใช้ได้เลยทันที แต่เชื่อว่าอย่างน้อย ๆ หากลองสำรวจใจตัวเองตามแผนภาพภูเขาน้ำแข็งของซาเทียร์แล้ว คงจะพอรู้แล้วว่า ‘อาหารใจ’ ที่เราต้องการนั้นคืออะไร เพื่อค้นพบเป้าหมายสุดท้ายคือ การเห็นคุณค่าในตัวเอง 

 

 

อ้างอิง  

  • นงพงา ลิ้มสุวรรณ และคณะ. Satir Model. https://bit.ly/3OSWpTO 
  • Sharon Martin. The Power of Self-Love. https://bit.ly/3wB8Ugf 
  • อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร. พัฒนาตนเองจากโลกภายในด้วย "ซาเทียร์". https://bit.ly/4bHI0nj 
  • ศิระ กิตติวัฒนโชติ. ทำยังไงจะเข้าใจตัวเอง?. https://bit.ly/49LmKew

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...