บ่มเพาะความรักด้วย 3 วิธีฮีลใจและบอกรักตัวเองจากหนังสือ ‘Self - Love, First กอดใจไว้ก่อน’

23 Feb 2024 - 5 mins read

Health / Mind

Share

“เมื่อเธอไม่รักตัวเอง ไม่เคยดูแลแม้ตัวเอง แล้วเธอจะรักฉันยังไง”

 

หลาย ๆ ครั้งเมื่อพูดถึงการรักตัวเอง ท่อนฮุคในเพลง ไม่รักตัวเอง ของ ทาทา - อมิตา ยัง เมื่อ 30 ปีก่อนอาจแว่วเข้าในความทรงจำของใครหลายคนที่ใช้ชีวิตร่วมสมัยในยุคนั้น ยิ่งเมื่อผ่านการใช้ชีวิตเติบโตผ่านวันเวลาในการเล่าเรียน ทำงาน สร้างเนื้อสร้างตัว รวมถึงสร้างครอบครัวมาจนถึงตอนนี้ ในยุคที่วิถีต่าง ๆ ในโลกหมุนไปข้างหน้าอย่างไวราวกับติดปีก อาจทำให้ใครหลายคนหลงลืมการรักตัวเองไปแล้วจริง ๆ

 

เพราะสถานะของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบสารพัด ทั้งบทบาทในหน้าที่การงาน และบทบาทในครอบครัว บางคนต้องเป็นเสาหลักของบ้านในการดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา บางคนต้องเป็นพ่อแม่ของลูก จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพกพาความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งไว้เต็มบ่า จนทำให้หลาย ๆ คนมุ่งมั่นดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ตนรักจนลืมดูแลหัวใจตัวเอง ที่อาจเหนื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว

 

ทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาไปไกลจนเกินกว่าคำว่าไร้พรมแดน ทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบัน - ไม่จำกัดเพศและวัย - ล้วนแวดล้อมด้วยสารพันสิ่งวูบไหวในโลกที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์และผู้คนมากมาย อยากรู้เรื่องอะไร หรืออยากจะสื่อสารพูดคุยกับคนที่อยู่แสนไกลแค่ไหนก็สามารถทำได้ทันที แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย

 

เพราะด้วยพื้นฐานทางใจของมนุษย์ต่างต้องการพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่สามารถมอบความรัก ความอบอุ่น และเป็นที่พักพิงในยามเหนื่อยล้าให้กับตัวเอง หลายคนจึงยิ่งเสาะแสวงหาไขว่คว้าความรักจากภายนอก อาจเพราะไม่รู้หรือหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้วความรักที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง คือ รักแท้ที่เป็นขุมพลังที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุด

หนังสือ ‘Self - Love, First กอดใจไว้ก่อน’ เขียนโดย เมริษา ยอดมณฑป

 

การรักตัวเอง (Self - Love) ไม่ได้หมายถึงการเห็นแก่ตัว หรือตามใจตัวเองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งเป็นเพียงความสุขระยะสั้นเท่านั้น เดบอราห์ โคชาบา (Deborah Khoshaba) นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวไว้ว่า “การรักตัวเองไม่ใช่เพียงความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองเท่านั้น แต่เป็นสภาวะที่เรามองเห็นคุณค่าภายในตัวเอง ซึ่งเกิดจากการกระทำที่สนับสนุนการเติบโตทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของเรา”

 

“การรักตัวเองเป็นพลวัต กล่าวคือ เป็นสิ่งที่เติบโต เปลี่ยนแปลง และมีมากขึ้นหรือน้อยลงได้ ยิ่งเราทำบางสิ่งเพื่อตัวเองในทางที่ดี เรายิ่งพัฒนาความรักที่มีต่อตัวเราให้มากขึ้นเท่านั้น”

 

LIVE TO LIFE อยากชวนมาสำรวจไปพร้อมกันว่าคุณหลงลืมที่จะดูแลหัวใจตัวเองไปหรือเปล่า ผ่านการอ่านหนังสือ ‘Self - Love, First กอดใจไว้ก่อน’ เขียนโดย เมริษา ยอดมณฑป หรือครูเม เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ที่เคยมีผลงานเขียนมาแล้วหลายเล่ม ซึ่งทุกเล่มที่ผ่านมาล้วนเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เช่น ‘กอดใจไว้ก่อน’ ถือเป็นเล่มแรกที่ครูเมเขียนขึ้นเพื่อคนทุกวัยก็ว่าได้

 

เนื้อหาในหนังสือ ‘Self - Love, First กอดใจไว้ก่อน’ เป็นบทสรุปจากแนวทางการสร้างการรักตัวเองของเดบอราห์ โคชาบา ที่ครูเมถ่ายทอดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละบทที่ชวนผู้อ่านลองทำตามไปด้วยกัน เพื่อสะกิดให้เกิดการดูแลหัวจิตหัวใจของตนเอง ก่อนจะเผื่อแผ่ความรักสู่คนข้างกาย

 

LIVE TO LIFE คัดเลือกกิจกรรมสำรวจใจตัวเองที่ทุกคนสามารถทำได้มาฝาก 3 วิธี ใครลองทำแล้วรู้สึกว่าได้ผลดีต่อใจ สามารถเรียนรู้วิธีรักตัวเองเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ‘Self - Love, First กอดใจไว้ก่อน’ ของครูเม เมื่ออ่านจบคุณอาจกลายเป็นคนใหม่ที่มีหัวใจแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

 

1.

‘ส่องกระจก’ สำรวจลึกเข้าไปในจิตใจ

 

เชื่อหรือไม่ว่าการส่องกระจกไม่เพียงเป็นการสำรวจความเรียบร้อยของหน้าตาและร่างกายตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถสำรวจสภาวะภายในจิตใจได้อีกด้วย

 

กระบวนการส่องกระจกสำรวจใจเริ่มต้นด้วยการเตรียมกระจกที่สามารถมองเห็นตัวเองได้อย่างชัดเจน มองไปที่กระจกข้างหน้า ปล่อยตัวตามสบาย

 

จากนั้นหลับตา หายใจเข้าออกช้า ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย แล้วค่อย ๆ ลืมตาขึ้น จ้องมองไปที่ตัวเองในกระจก กระบวนการทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงหลายคนที่ไม่เคยสบตาตัวเองตรง ๆ ในกระจก อาจรู้สึกเขิน กลัว จนเผลอหลบตาตัวเองได้

 

 

ลองตั้งใจมองตัวเองจริง ๆ จัง ๆ โดยมองลึกเข้าไปในดวงตาของตน แล้วพูดคุยกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เช่น บอกสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในตัวเอง เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ชอบ ขอให้เล่าด้วยรอยยิ้ม และเมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ชอบ ขอให้พิจารณาต่อว่าสิ่งนั้นสามารถแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาได้หรือไม่ หากคำตอบคือไม่ได้ ให้ยิ้มรับแล้ววางความคิดนั้นลง

 

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การให้กำลังใจหรือขอบคุณตัวเองไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ขอบคุณตัวเองที่เติบโตมาได้จนถึงตอนนี้ ขอบคุณตัวเองที่แม้จะเป็นคนโกรธง่ายแต่หายไว ฯลฯ 

 

เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกสับสน ว้าวุ่นใจ มีเรื่องที่ยังค้างคา ลองเข้าสู่กระบวนการส่องกระจกตามที่กล่าวมา เพราะวิธีที่ง่ายดายและเป็นรูปธรรมที่สุดอย่างการมองเห็นตัวเองจากภายนอกอย่างตรงไปตรงมาที่ช่วยให้เกิดการพูดคุยและมองเห็นเบื้องลึกตัวตนภายในจิตใจ เพราะตัวเราเองย่อมรู้สึกถึงตัวเราเองมากที่สุด แค่ไม่ค่อยมีโอกาสได้หันกลับมามองตัวเอง

 

2.

‘กอดตัวเอง’ กอดหมอน กอดหมาแมว ล้วนดีต่อใจ

 

เชื่อว่าทุกคนย่อมสัมผัสได้ว่า ‘การกอด’ ทำให้เกิดความสุขขึ้นแบบฉับพลันทันที แต่ยิ่งได้รับการการันตีจากสถาบัน Touch Research Institute มหาวิทยาลัยทางการแพทย์ไมอามี ที่มีงานวิจัยระบุว่า การสัมผัสทางร่างกาย เช่น การกอด การสัมผัสด้วยความรัก ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ในร่างกาย ซึ่งช่วยลดระดับความเครียด ความวิตกกังวลได้ดี เรายิ่งมั่นใจในการสวมกอดเพื่อสร้างความอบอุ่นหัวใจมากยิ่งขึ้น

 

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า การกอดจะช่วยให้แนวโน้มของอาการซึมเศร้าลดลง และรู้สึกมีแรงในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น อาการปวดเมื่อย อาการจากโรคเรื้อรัง ฯลฯ เมื่อได้รับการสวมกอดจะมีอาการเจ็บปวดน้อยลง และเกิดความรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น

 

ทั้งนี้ การกอดไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมากอด เพราะเราสามารถโอบกอดตัวเองได้ทุกเวลาด้วยท่ากอดผีเสื้อ (Butterfly Hug) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคจากวิธี EMDR (Eye Movement Desensitization and Reprocessing) ที่นักบำบัดใช้เพื่อบำบัดจิตใจผู้เข้ารับการบำบัดที่ได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจจากเรื่องในอดีต หรือมีความทรงจำอันแสนเจ็บปวดที่สร้างบาดแผลทางใจโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

 

ท่ากอดผีเสื้อยังช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ดี และสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ยกแขนสองข้างไขว้กัน มือขวาวางบนบ่าซ้าย มือซ้ายวางบนบ่าขวา หายใจเข้าออกช้า ๆ แล้วยกมือขึ้นตบที่บ่าทั้งสองข้างเบา ๆ เหมือนผีเสื้อกำลังกระพือปีก จะตบบ่าช้าหรือเร็วก็ได้ ขอเพียงทำใจให้นิ่ง สงบ สบาย นึกถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุข หรือเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง

 

ท่ากอดผีเสื้อสามารถทำได้ทุกเมื่อที่ต้องการ และหากทำทุกวันได้ยิ่งดี เพราะการโอบกอดตัวเองวันละ 3-4 นาที ช่วยสร้างพลังบวกให้เราพร้อมต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแข็งแกร่งได้แล้ว

 

นอกเหนือไปจากการกอดตัวเอง ยังสามารถเลือกที่จะกอดหมอน กอดตุ๊กตา หรือกอดสัตว์เลี้ยงได้ ซึ่งช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซินได้ดีเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการเข้าถึงสัมผัสแห่งรักได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

 

3.

‘ขวดโหล’ แห่งการลงมือทำและขอบคุณตัวเอง

 

ความมั่นใจในตัวเองเป็นบ่อเกิดของพลังที่ยิ่งใหญ่ แต่มีบางจังหวะของชีวิตที่ความมั่นใจเกิดแห้งเหือดหายไป วิธีเติมความมั่นใจให้กลับคืนมาก็ต้องเติมพลังดี ๆ กลับคืนสู่ใจด้วยการลงมือทำเพื่อตัวเองอย่างแท้จริง

 

เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการหาขวดโหลมา 2 ใบ พร้อมกระดาษแผ่นน้อยหลาย ๆ แผ่น

 

ขวดโหลใบแรก เรียกว่า ขวดโหลแห่งการลงมือทำ สิ่งจะต้องใส่ไปในขวดโหลคือ กระดาษแต่ละแผ่นที่เขียนสิ่งที่ตัวเองอยากทำลงไปแผ่นละ 1 อย่าง จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ขอให้เป็นสิ่งที่อยากทำจริง ๆ และไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เช่น เรียนทำขนม ออกไปวิ่ง ไปคาเฟ่แมว พาพ่อแม่ไปกินข้าว เล่นบอร์ดเกมกับเพื่อน ฯลฯ สามารถเขียนสิ่งที่อยากทำใส่กระดาษแล้วเติมลงในขวดโหลได้เรื่อย ๆ

 

ขวดโหลใบนี้จะถูกเปิดออกมาใช้งานเมื่อถึงวันที่คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำเลย เมื่อถึงเวลานั้นให้สุ่มเลือกสิ่งที่เขียนไว้ในขวดโหลมาลงมือทำจริง เพราะการได้ลงมือทำสิ่งที่อยากทำไปทีละอย่างถือเป็นการมอบความสุขให้ตัวเอง (หรือรวมถึงคนที่เราเขียนชื่อไว้ในกระดาษ) และยังได้ระลึกถึงคุณค่าของสิ่งที่ได้ลงมือทำอีกด้วย

 

ขวดโหลใบที่สองทำคล้ายขวดโหลใบแรก เพียงแต่เปลี่ยนมาเขียน “ขอบคุณ” หรือ “ชื่นชม” ตัวเองที่ได้ทำอะไรดี ๆ ให้แก่ตัวเองหรือผู้อื่นหรือสิ่งใดก็ได้ในแต่ละวัน เขียน 1 การกระทำต่อกระดาษ 1 แผ่น แล้วพับกระดาษใส่ลงในขวดโหลสะสมไปเรื่อย ๆ 

 

วันไหนที่รู้สึกเหนื่อยล้า ต้องการกำลังใจ เพียงแค่คลี่กระดาษสักใบในขวดโหลอ่านเพื่อเป็นการเสริมพลังใจให้ตัวเรามีกำลังก้าวต่อไปได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด กำลังใจนั้นก็เป็นเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นจริงด้วยตัวของเราเอง

 

อ้างอิง

  • เมริษา ยอดมณฑป.Self - Love, First กอดใจไว้ก่อน.broccoli,2566.

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...