สะสางเรื่องคาใจอย่างไรดี ? ให้ชีวิตเดินหน้าไปต่อได้อย่างไร้กังวล จิตวิทยามีคำตอบ

06 Dec 2023 - NaN mins read

Health / Mind

Share

ก่อนปีนี้จะผ่านพ้นไป อยากจะพูด ‘ขอโทษ’ และ ‘ขอบคุณ’ ใครกันบ้าง ?

 

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ผิดใจ คนรักที่เลิกรากันไป หรือใครสักคนที่มีความหมายต่อชีวิตของเรา เชื่อว่าหากได้กลับไปสะสางความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ในใจ เราทุกคนจะรู้สึกเบาสบายและสามารถยิ้มกว้าง ๆ รับปีใหม่ได้อย่างสดใส

 

คนโบราณมักจะถือเคล็ดว่า ‘ก่อนจะออกจากบ้าน ควรล้างจานให้เรียบร้อย’ โดยเฉพาะเวลาออกไปทำมาค้าขาย เพราะการล้างจานให้หมดจะทำให้ซื้อง่ายขายคล่อง เงินทองไหลมาเทมา 

 

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว ‘การล้างจาน’ เชื่อมโยงกับการ ‘ค้าขาย’ อย่างไร ? แต่เชื่อว่าบางทีมันอาจเป็นอุบายที่ชวนให้เราจัดการงานที่คั่งค้างในบ้านให้เรียบร้อย สะสางภาระทุกอย่างที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อให้มีพลังเต็มเปี่ยมพร้อมออกไปเผชิญโลกได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอะไรมารั้งเอาไว้ก็เป็นได้

 

Unfinished Business หากแปลตรงตัวจะหมายถึง ‘การงานที่ยังคั่งค้าง’ สำหรับในทางจิตวิทยานั้นหมายถึง เรื่องที่ยังคั่งค้างอยู่ในใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนเราไม่ยอมเผชิญหน้า ไม่พูดถึง และพยายามก้าวผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นไป ด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจเพราะความกลัวจะต้องเสียใจ สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นก็ยังค้างคาอยู่ข้างใน เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขหรือจัดการให้เรียบร้อย ก็กลายเป็นความรู้สึกกังวล หม่นหมอง ที่ติดอยู่ในใจ และเป็นเหมือนเชือกที่ผูกรั้งเราไว้จนไม่สามารถก้าวต่อไปได้อย่างอิสระ หัวเราะก็ไม่สุดเสียง ยังคงนึกถึง ฝันถึง และในบางกรณีอาจส่งผลกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ทำไมแม้พยายามก้าวผ่านไปแต่เรากลับจดจำเรื่องราวในใจได้เป็นอย่างดี ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจอธิบายได้ด้วย Zeigarnik Effect ซึ่งระบุไว้ว่า งานที่ยังทำไม่เสร็จจะมีอิทธิพลกับเรา แม้ว่าเราจะพยายามทำสิ่งอื่นต่อไปก็ตาม

 

บลูมา เซการ์นิค (Bluma Zeigarnik) นักจิตวิทยาชาวรัสเซียเป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์นี้ในร้านอาหารแห่งหนึ่งกลางกรุงเวียนนา เธอสังเกตเห็นว่าพนักงานมักจะจดจำออร์เดอร์ได้อย่างขึ้นใจและลืมมันไปเสียสิ้นหลังจากที่เสิร์ฟแล้ว เธอจึงทำการทดลอง โดยการแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยทั้งหมดจะได้ทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น วางลูกปัดบนเชือก ต่อภาพปริศนา ฯลฯ แต่ครึ่งหนึ่งจะถูกรบกวนไม่ให้ทำให้เสร็จทันที ผลการทดลองสรุปได้ว่ากลุ่มที่ถูกขัดจังหวะจะสามารถจำงานที่ทำค้างไว้ได้อย่างแม่นยำกว่าอีกกลุ่ม

 

เช่นเดียวกันกับสิ่งที่ค้างคาใจเรื่องอื่น ๆ ต่อให้เราพยายามจะลืมและวิ่งหนีมันแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วหากไม่ได้เคลียร์ให้จบไป มันก็จะยังหนักอึ้งในใจอยู่ตลอดและลืมไปไม่ได้เสียที

 

บางคนอาจเคยสัญญากับใครคนหนึ่งไว้แล้วยังไม่ได้ทำมัน บ้างอาจเคยทะเลาะกันแล้วยังไม่ได้เคลียร์ใจ บ้างเลิกรากับคนรักแบบค้าง ๆ คา ๆ บางคนสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักแบบไม่ทันได้บอกลา เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหมือนจานชามที่กองพะเนินอยู่ในอ่างล้างจาน หนักอึ้งอยู่ในใจลึก ๆ นับวันยิ่งส่งกลิ่นเหม็น แต่ยิ่งเหม็นยิ่งไม่อยากล้างและยิ่งผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งสร้างความกังวล เศร้า เสียใจ เป็นความรู้สึกที่กัดกินเราอย่างช้า ๆ อย่างไม่ทันได้รู้ตัว และต่อให้อยากจะลืมมันไปแค่ไหนก็ทำไม่ได้เสียที

 

หนทางที่จะหลุดออกจากวงจรนี้ได้มีเพียงทางเดียวคือกลับไป ‘เผชิญหน้า’ กับสิ่งนั้นและจัดการมันให้เรียบร้อย เพื่อให้พร้อมก้าวเดินต่อไปได้ แม้จานที่ทิ้งไว้แรมเดือน แรมปีจะสกปรกแค่ไหน แต่ทางเดียวที่จะกำจัดกลิ่นเหม็นเน่าไปได้คือการกลับไปดูว่าเราจะจัดการมันอย่างไร จะล้างให้สะอาดหมดจดหรือจะหยิบใส่ถุงขยะทิ้งก็สุดแล้วแต่ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องกำจัดกองจานนี้ไปให้ได้

 

เช่นเดียวกับ ‘เรื่องค้างคาใจ’ 

 

ไกด์คนสำคัญที่จะพาเราย้อนกลับไปเผชิญหน้ากับเรื่องราวข้างในใจ หลัก ๆ แล้วมีอยู่ 2 คน คือ
1. จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : ผู้ที่เชี่ยวชาญยิ่งกว่าใครที่จะคอยนำทางเรากลับไปสำรวจอดีตได้อย่างเข้าใจ  
2. ตัวเราเอง : ผู้ที่สามารถเขียนทุกสิ่งทุกอย่างออกมาได้อย่างจริงใจที่สุด

 

หากไม่รู้ว่าจะเริ่มสะสางเรื่องในใจอย่างไร มั่นใจได้เลยว่าจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้นั้นช่วยได้เสมอ และยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดด้วย ส่วนใครที่อยากจะก้าวผ่านสิ่งนี้ไปด้วยตัวเอง เราก็มีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนักจิตวิทยาให้มาลองทำกัน ก่อนจะถึงปีใหม่นี้ หากมีเวลาลองมาปลดปล่อยตัวเองจากเรื่องค้างคาใจไปด้วยกันนะ…

 

เริ่มจากการ เขียนเรื่องราวทั้งหมดออกมา การเขียนเป็นหนึ่งในวิธีที่พาให้เรากลับไปเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่อยู่ในใจอีกครั้ง ลองเขียนถึงเหตุการณ์เหล่านั้นออกมาอย่างละเอียด เขียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องคาดหวังถึงเป้าหมายใด ๆ เขียนเพื่อให้ตัวเราได้มองเห็นเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจนอีกครั้ง แค่เขียนเสร็จ คุณอาจจะพบว่าเบาสบายขึ้นแล้วด้วยซ้ำ

 

จากนี้ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการ ทำความเข้าใจเรื่องราวนี้อีกครั้ง ว่าในวันนี้ เรามีมุมมองต่อสิ่งนี้อย่างไร นักจิตวิทยาแนะนำให้เราพยายามมองหาข้อดีในเหตุการณ์เหล่านั้น อย่างน้อย ๆ แม้จะเป็นเรื่องเลวร้ายที่ไม่ควรเกิดขึ้น ก็พยายามถามตัวเองว่าเรื่องนี้ได้ฝากบทเรียนอะไรให้เราได้เรียนรู้บ้าง เพื่อช่วยบรรเทาความรู้สึกหม่นหมองที่มีต่อเหตุการณ์นั้น 

 

หากเป็นเรื่องราวที่มีอีกคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคนรักเก่าที่เลิกรา เพื่อนสนิทที่เคยทะเลาะกัน ใครบางคนที่เคยให้สัญญากันไว้ หรือใครก็ตามที่ยังชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่ในใจ เราขอชวนไปพบกับพวกเขาเหล่านั้นอีกครั้ง สำหรับใครที่กายพร้อม ใจพร้อม สามารถกลับไปเจอคนที่ยังติดค้างกันอยู่เพื่อจบเรื่องราวที่คั่งค้างได้ นั่นก็ถือเป็นโอกาสที่ดี แต่แน่นอนว่าการเผชิญหน้าไม่ได้หมายความว่าเราต้องกลับไปเจอคนคนนั้นจริง ๆ แต่อย่างใด เพราะบางคนก็หลุดหายจากวงโคจร บางคนก็กลายเป็นคนไม่รู้จักกันไปแล้ว และอาจมีบางคนที่จากไปตลอดกาลเสียแล้ว

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น นักจิตวิทยาจึงชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘หากเจอคนคนนั้น อยากบอกอะไรกับเขา’  และพูดหรือเขียนสิ่งเหล่านั้นออกมา ไม่ว่าจะเป็นการขอบคุณ ขอโทษ หรือปรับความเข้าใจ เท่านี้ก็ถือว่าเราได้พูดในสิ่งที่อยากพูดมาตลอด ได้ปลดล็อกความรู้สึกค้างคาออกไปได้ อย่างน้อย ๆ ก็ได้ยกก้อนหนักอึ้งในใจออกมาไว้บนหน้ากระดาษแล้วส่วนหนึ่ง

 

และท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะนำไปสู่ ‘การให้อภัย’ ซึ่งการให้อภัยไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกลับไปคืนดีหรือกลับไปใช้ชีวิตแบบวันเก่า ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่มันหมายถึงการเลิกเจ้าคิด เจ้าแค้น ไม่ปล่อยให้เรื่องราวในอดีตมากำหนดชีวิตของเราในอนาคตได้ และไม่ปล่อยให้คนเหล่านั้นมามีอิทธิพลกับจิตใจของเราอีกต่อไปไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้เราเป็นอิสระและสามารถติดปีกบินไปจากคืนวันเก่า ๆ ได้อย่างแท้จริงเสียที 

 

ปี 2023 กำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะมาถึง ถึงตอนนี้นึกทุกคนนึกออกกันหรือยังว่าอยากจะพูด ‘ขอบคุณ’ หรือ ‘ขอโทษ’ ใคร เชื่อว่าคงมีอยู่ในใจกันแล้วแน่ ๆ 

 

 

อ้างอิง

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...