ตกแต่งบ้านให้เป็นเรียวกังด้วย ‘เสื่อทาทามิ’ ไอเท็มในบ้านของคนญี่ปุ่น

18 Apr 2023 - 5 mins read

Lifestyle / Home & Living

Share

‘อบอุ่นในหน้าหนาว เย็นสบายในหน้าร้อน’ เป็นนิยามของ ‘เสื่อทาทามิ’ พื้นในบ้านของชาวญี่ปุ่น  

 

หากได้ไปเยือนบ้านคุณตาคุณยายชาวญี่ปุ่น หรือโรงแรมแบบเรียวกัง เราจะได้สัมผัสกับพื้นที่ปูด้วยเสื่อทาทามิ  

เสื่อนี้เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่ยังเข้ากับบ้านได้แทบทุกแบบไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยและมีขั้นตอนการทำที่พิถีพิถัน มีเรื่องราวเบื้องหลังมากมายกว่าจะทอมาได้เป็นเสื่อหนึ่งผืน 

 

LIVE TO LIFE จึงขอชวนไปเยือนจังหวัดคุมะโมะโตะกับ จิ๊บ - สิตานัน วุตติเวช เจ้าของร้าน Spoonful Zakka Cafe สำรวจวิธีการทำเสื่อตั้งแต่ปลูกกล้าต้นหญ้าจนทอเป็นผืน และชวนมาแต่งบ้านให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่น อบอุ่นด้วย ‘เสื่อทาทามิ’ หรือจะผสมผสานเป็นสไตล์ Japandi ที่กำลังเป็นที่นิยม 

77 Local Japan x 77 Local Thailand เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของ Yum Yam! Soul Soup Kitchen องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NPO) จากญี่ปุ่น นำทีมโดย นิชิดะ เซมะ ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและแบรนด์ดีไซเนอร์ที่ตระเวนไปสำรวจเฟ้นหาของดีในท้องถิ่นไทยและญี่ปุ่น จากนั้นเข้าไปพัฒนา ทำการตลาด โปรโมตให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นที่รู้จัก โดยตั้งใจอยากสร้างงานให้เหล่าช่างฝีมือ เกษตรกรท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน 

 

‘เสื่อทาทามิ’ เป็นหนึ่งในของดีจากคุมะโมะโตะที่นิชิดะอยากให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เขาจึงชวนจิ๊บมาร่วมโครงการ เปิดโชว์รูมเสื่อทาทามิเล็ก ๆ ใน Spoonful Zakka Cafe คาเฟ่และ Selected Shop ย่านสุขุมวิทของเธอ ให้คนที่สนใจเข้ามาดูเสื่อทาทามิและสามารถสั่งทำแบบ Made to Order ส่งตรงจากคุมะโมะโตะถึงบ้านคุณ

“แต่เดิมจังหวัดคุมะโมะโตะมีบ้านที่ทำเสื่อทาทามิถึง 700 ครัวเรือน แต่ปัจจุบันลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และลดลงอย่างรวดเร็วช่วงโควิด-19 ความนิยมเสื่อทาทามิก็ลดลงด้วย เนื่องจากคนหนุ่มสาวนิยมทำบ้านแบบสมัยใหม่และพื้นที่น้อย บ้านแบบญี่ปุ่นที่ใช้เสื่อทาทามิจะเป็นบ้านของรุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ และเป็นบ้านในต่างจังหวัด คนรุ่นหลังไม่ได้ทำบ้านแบบนั้น การใช้เสื่อทาทามิในประเทศจึงลดลง ออร์เดอร์น้อยลง ทำให้ช่างฝีมือไม่มีงาน” 

 

“เพื่อรักษางานของช่างฝีมือเอาไว้ นิชิดะเลยทำโปรเจกต์แนะนำเสื่อในต่างประเทศ เผื่อว่ามีชาวต่างชาติที่สนใจ ชื่นชอบในความเป็นญี่ปุ่น ชอบงานคราฟต์ฝีมือคนญี่ปุ่น ก็จะทำให้มีออเดอร์และทำให้ช่างฝีมือนั้นได้มีงานทำ” จิ๊บเล่าให้ฟัง 

 

กว่าจะเป็น ‘เสื่อทาทามิ’  

 

หลังจากที่ตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจกต์ จิ๊บก็ได้ไปเยือนเมืองยะซึชิโระ (Yatsushiro) ที่จังหวัดคุมะโมะโตะ ซึ่งเป็นชุมชนทำเสื่อทาทามิที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกหญ้า ‘อิกุสะ’ ที่ใช้ทำเสื่อทาทามิ ตระเวนไปตามบ้านดูวิธีทอเสื่อ ประกอบร่าง เย็บลวดลายบนขอบ จนกระทั่งเสื่อเดินทางไปยังบ้านของลูกค้า  

‘เสื่อทาทามิ’ ที่เราเห็นนั้นทำมาจากหญ้าอิกุสะ ซึ่งเป็นหญ้าปล้องต้นสูงยาว คล้าย ๆ กับต้นกกในบ้านเรา ที่คุมะโมะโตะเป็นชุมชนทำเสื่อ ก็เพราะที่นี่ดินดี น้ำดี มีแร่ธาตุที่ทำให้หญ้าชนิดนี้เป็นต้นสูงงามเป็นพิเศษ ชาวบ้านใช้เวลาปลูกกว่า 10 เดือนก่อนที่หญ้าจะโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว จากนั้นก็นำไปเข้าคัดแยกความยาว ต้นสูงยาวจะถูกนำไปทำเป็นเสื่อ ส่วนหญ้าต้นสั้น ๆ ที่ไม่พอดี ช่างก็จะนำไปทำเบาะรองนั่งและเครื่องเรือนอื่น ๆ 

ส่วนแปลงที่ปลูกแบบออร์แกนิกจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผงหญ้าอิกุสะ ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นส่วนผสมใช้ทำไอศกรีม ผงโรยข้าว เส้นราเม็ง ชา และเมนูอื่น ๆ อีกมากมาย จิ๊บเองก็เคยทำสโคนด้วยหญ้าอิกุสะในคาเฟ่ของเธอ ทำให้คนมาเยือน มาชิมถูกอกถูกใจกันเป็นแถว  

ในการทำเสื่อแต่ละผืน บ้านแต่ละหลังจะรับหน้าที่ต่างกัน หลังจากคัดแยกความยาวที่บ้านนี้แล้ว ช่างของอีกบ้านก็จะนำต้นหญ้าไปแช่โคลนตามแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิม ซึ่งจะช่วยทำให้เส้นหญ้าเหนียวขึ้นตามธรรมชาติ จากนั้นก็ส่งต่อไปยังบ้านที่รับหน้าที่ทอเป็นผืนเสื่อ บ้านที่ถนัดงานเย็บปักถักร้อยก็ตกแต่งขอบเสื่อด้วยลวดลายต่าง ๆ เป็นอันเสร็จสรรพได้เสื่อหนึ่งผืน  

“จริง ๆ แล้วเสื่อทาทามิมีหลายวัสดุ แบบ PVC จะราคาถูกกว่า สีมันจะไม่เปลี่ยนเลยไม่ว่าจะนานแค่ไหน อาจจะเหมาะสำหรับใช้ในร้านอาหารที่คนมานั่งเยอะ ๆ แต่สำหรับในบ้านแล้ว เสื่อที่ทำจากหญ้าอิกุสะจะดีกว่า เพราะช่วยเรื่องกลิ่น ช่วยฟอกอากาศในห้องได้ด้วย” 

 

“ที่ญี่ปุ่นมีการควบคุมการใช้ยาและปุ๋ยอย่างเข้มงวด จากการไปที่คุมะโมะโตะเราได้เห็นทั้งกระบวนการปลูก รู้ว่าต้นทางของเสื่อมาจากไหน จึงมั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ทำเสื่อได้ เพราะเราไปคุยกับเกษตรกรมาจริง ๆ” จิ๊บบอกกับเรา 

 

เปลี่ยนบ้านให้เป็นญี่ปุ่นด้วย ‘เสื่อทาทามิ’ 

 

แม้เสื่อทาทามิจะเป็นเสื่อในบ้านแบบญี่ปุ่น แต่ก็สามารถเข้ากับบ้านคนไทยได้ไม่ยาก นอกจากจิ๊บจะเปิดโชว์รูมแล้ว เธอยังช่วยออกแบบมุมต่าง ๆ ให้เสื่อทาทามิเข้ากับบ้านและคอนโดฯ มาแล้วหลายแห่ง และอยากแนะนำไอเดียแต่งบ้านที่น่าสนใจ สำหรับใครที่อยากจะเนรมิตบ้านให้ได้กลิ่นอายญี่ปุ่นด้วย ‘เสื่อทาทามิ’  

 

เดินเหินสบาย ปูได้ทั่วทั้งบ้าน 

สำหรับบ้านและคอนโดที่อยากจะเปลี่ยนให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่น ก็สามารถปูให้ทั่วทั้งบ้านได้ สีของหญ้านวล ๆ ยังคงทำให้ห้องเป็นสไตล์มินิมอล เรียบง่ายได้ไม่ยาก และเข้ากันกับเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอบอุ่น   

 

เสื่อทาทามิจะมีพื้นสัมผัสที่ไม่นุ่มและไม่แข็งจนเกินไป การปูเสื่อทั่วทั้งบ้านจึงเหมาะกับผู้สูงอายุและเด็ก เพราะเวลาเด็ก ๆ วิ่งเล่นแล้วหกล้มจะไม่เจ็บมาก เดินเหินนุ่มสบายเท้า อีกทั้งยังเป็นเสื่อที่อบอุ่นในหน้าหนาว และเย็นสบายในหน้าร้อน  

 

จิ๊บเสริมอีกว่าตามความเชื่อของญี่ปุ่น เจ้าของบ้านต้องเรียงเสื่อให้ถูกด้าน เพราะหากเรียงตามใจฉัน ความหมายอาจเปลี่ยนเป็นความโชคร้าย เช่น ห้องสี่เสื่อถ้าวางเสื่อผืนแรกขัดกับประตูทางเข้าจะหมายถึงห้องของซามูไรที่ฮาราคีรีตัวเอง เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคร้ายที่ไม่ดีต่อคนอาศัยอยู่ 

 

มุมจิบชา อ่านหนังสือ นอนเอกเขนก 

บ้านไหนที่อยากจะทำมุมจิบชาหรืออ่านหนังสือ เลือกเสื่อทาทามิขนาดเล็กสัก 4 เสื่อไว้สักมุมหนึ่งของบ้าน หาโต๊ะไม้เล็ก ๆ และเบาะนั่งแบบมีพนักพิงที่ทำจากผ้าสีเอิร์ธโทนตั้งไว้สำหรับเอนหลัง ก็จะได้เป็นมุมนั่งพักกาย พักใจสไตล์อบอุ่น หรือจะตั้งบีนแบ็กสักอันไว้เป็นมุมนั่งอ่านหนังสือ นั่งยืดเหยียดขา นอนเกลือกกลิ้งได้ 

 

ห้องที่ปูด้วยเสื่อทาทามิที่ทำจากหญ้าอิกุสะแท้จะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ อบอวลไปทั่วห้อง เป็นกลิ่นของธรรมชาติที่จะช่วยให้ผ่อนคลาย และคุณสมบัติของหญ้าปล้องอย่างอิกุสะยังช่วยกรองอากาศไปในตัวด้วย  

 

ตั่งอเนกประสงค์ นั่งก็ได้ นอนก็ดี 

จิ๊บเล่าว่าอีกหนึ่งไอเดียในบ้านคนไทยที่สั่งเสื่อจากเธอไปคือ ปูเสื่อทาทามิบนตั่งไม้ เป็นที่นั่งคล้ายแคร่แบบไทย ๆ ตั้งไว้ในบ้าน จะเอาโต๊ะญี่ปุ่นกับเบาะมาวางและนั่งเขียนหนังสือก็ได้ จะใช้เป็นที่นอน ปูฟุตง (ฟูกแบบญี่ปุ่นสำหรับปูนอนพื้น) นอนก็ได้  เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้ทำได้หลายอย่าง ปรับเปลี่ยนไปได้ตามความต้องการของคนอยู่ ที่สำคัญทำให้ห้องได้กลิ่นอายของญี่ปุ่นอีกด้วย  

เสื่อทาทามิมีอายุการใช้งานอยู่ประมาณ 10 - 15  ปี ทำความสะอาดโดยใช้เครื่องดูดฝุ่น ดูดตามแนวเสื่อ ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาดได้ และสามารถพลิกเสื่อขึ้นมาเพื่อดูดฝุ่นข้างล่างสัก 6 เดือนครั้ง ในประเทศอื่นอาจต้องกังวลเรื่องความชื้นในฤดูฝน แต่หากเป็นประเทศไทยที่อากาศร้อนตลอดทั้งปีนี้นั้นสบายใจหายห่วง 

ศัตรูของเสื่อทาทามิมีเพียงหนึ่งเดียว คือ ‘น้องแมว’ เพราะแมวชอบฝนเล็บ อาจทำให้เสื่อสึกและเป็นรอยได้ หากบ้านไหนที่เลี้ยงแมว อาจไม่ต้องปูเสื่อทั้งบ้าน แต่เลือกปูเป็นบางมุม บางห้อง และพยายามเลี่ยงไม่ให้น้องแมวมาฝนเล็บกับเสื่อเท่านั้น 

เห็นได้ว่าเสื่อทาทามิแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้นยังแมตช์ให้เข้ากับบ้านสมัยใหม่ได้ ทุกห้อง ทุกมุม ใครที่กำลังอยากเปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้านสไตล์ญี่ปุ่น ที่มินิมอล อบอุ่น และมีความอบอวลไปด้วยกลิ่นธรรมชาติจากเมืองคุมะโมะโตะ ‘เสื่อทาทามิ’ นั้นก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ  

 

Spoonful Zakka Café  
10 ซอยสุขุมวิท 32 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ  
เปิด 11.00 – 18.00 น. (ปิดวันพุธ) 
โทร. 02-120-6152 
Facebook : Spoonful Zakka&Cafe
Instagram : spoonfulzakkacafe

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...