

โค้งสุดท้าย ‘เที่ยวเมืองรอง’ ได้ลดหย่อนภาษี ชวนใช้ชีวิตใกล้ชิดชุมชนใน 5 ภูมิภาคทั่วไทย
Travel / Thailand
06 Nov 2024 - 6 mins read
Travel / Thailand
SHARE
06 Nov 2024 - 6 mins read
จังหวัด ‘เมืองรอง’ เป็นรองแค่ชื่อ เพราะว่าหากได้ลองเที่ยวแล้ว รับรองเลยว่าจะได้รับทั้งประสบการณ์และความทรงจำสุดประทับใจ จนต้องหาโอกาสกลับไปเที่ยวซ้ำอีกรอบ
ตลอดเดือนพฤศจิกายน จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะเจาะให้เดินทางไปเที่ยวเมืองรองมากที่สุด เพราะเป็นโค้งสุดท้ายของ ‘มาตรการเที่ยวเมืองรองลดหย่อนภาษี’ ประจำปี 2567 ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวเมืองรองไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15,000 บาท ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้
สำหรับคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าควรไปเที่ยวเมืองรองที่ไหนดี ? จากเมืองรองทั้งหมด 55 จังหวัด LIVE TO LIFE ได้คัดเลือก ‘เมืองรองน่าเที่ยว’ 5 จังหวัด มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก โดยแต่ละจังหวัดเป็นเมืองรองที่มีเอกลักษณ์และเป็นตัวแทนของแต่ละภาค ให้ทุกคนเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเอง และลองใช้ชีวิตใกล้ชิดชุมชนในจังหวัดเมืองรองเหล่านี้สักครั้ง
ภาคเหนือ : แอ่ว ‘น่าน’ ต๊ะต่อนยอนทั่วสะปัน
หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่เที่ยวได้นาน ๆ
คงไม่มีจังหวัดไหนในภาคเหนือที่ชวนให้ไปเที่ยวพักผ่อน และค่อย ๆ ใช้ชีวิตแบบเนิบช้าได้เหมือนจังหวัด ‘น่าน’ เพราะจังหวัดนี้เป็นเมืองรองที่ยังคงรักษาความสวยงามของธรรมชาติให้อยู่เคียงคู่กับวิถีชีวิตท้องถิ่นได้อย่างลงตัว เกิดเป็นมนตร์เสน่ห์ที่ทำให้จังหวัดน่านกลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของผู้คนที่อยากลองเปลี่ยนบรรยากาศจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่ มาใช้ชีวิตแบบสงบสุขโดยไม่ต้องเร่งรีบ โดยเฉพาะในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า ‘สะปัน’
‘หมู่บ้านสะปัน’ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ เป็นหมู่บ้านอายุมากกว่า 100 ปี ในอ้อมกอดของธรรมชาติ เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา โดยมีลำน้ำ 2 สายไหลผ่านมาบรรจบกัน คือ ลำน้ำว้าและลำน้ำสะปัน
ในช่วงหน้าฝนตลอดเดือนพฤศจิกายน ยังเป็นฤดูทำนาของหมู่บ้านสะปัน ทำให้ทั่วทุกพื้นที่ของหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้และใบหญ้าสีเขียวชอุ่ม จะมองไปทางไหนก็สวยสะกดเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแห่งนิยายและจินตนาการ ถึงขั้นได้รับฉายาว่า ‘หมู่บ้านในหนังสือนิทาน’
แนะนำให้ตื่นเช้ามานั่งจิบชากาแฟพร้อมชมวิวของท้องทุ่งและหุบเขา หรือเดินเล่นต๊ะต่อนยอนแบบปล่อยใจภายในหมู่บ้านสะปันรับลมเย็นและสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ก่อนพักรับประทานอาหารกลางวัน อาหารพื้นเมืองที่ห้ามพลาดเด็ดขาด คือ ‘ไก่ทอดมะแขว่น’ เพราะมะแขว่นเป็นเครื่องเทศคู่ครัวภาคเหนือที่มีแหล่งปลูกสำคัญที่น่าน มีลักษณะเมล็ดแห้งสีดำคล้ายพริกไทยแต่ให้รสสัมผัสซ่าลิ้น ถือเป็นอาหารจากภูมิปัญญาคนน่านอย่างแท้จริง เพราะมะแขว่นเป็นสมุนไพรที่ช่วยขับเสมหะและลดอาการเจ็บคอจากอากาศเย็นได้ดี
นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติขึ้นชื่อ คือ ‘น้ำตกสะปัน’ ซึ่งเดินเท้าไปได้ใช้เวลาแค่ 5 นาที เป็นน้ำตกขนาดกลางที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน แบ่งออกเป็น 3 ชั้น มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทำให้สภาพป่าไม้ทั่วบริเวณโดยรอบคงความร่มรื่นเอาไว้ได้ทุกฤดู ราวกับเป็นสถานที่ลับอีกฉากหนึ่งของหนังสือนิทาน ซึ่งยินดีต้อนรับทุกคนที่ตั้งใจเดินทางมาเยี่ยมชมความสวยงามของน้ำตกแห่งนี้
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรค่าให้แวะไป เพราะอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านสะปันด้วยระยะทางเพียง 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 20 นาที นั่นคือ ‘บ่อเกลือโบราณ’ บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขาแห่งเดียวในโลกที่มีอายุกว่า 800 ปี ที่นี่ยังใช้วิธีผลิตเกลือตามขั้นตอนโบราณ โดยมีชาวบ้านคอยอธิบายให้ความรู้และสาธิตวิธีต้มเกลือให้ดูอย่างใกล้ชิด เป็นประสบการณ์น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหนอย่างแน่นอน
สำหรับการเดินทางมายังหมู่บ้านสะปัน ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกล เพราะอยู่ห่างจากสนามบินน่านประมาณ 93 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมง จึงแนะนำให้เช่ารถขับจะสะดวกที่สุด หรือใช้บริการเช่ารถพร้อมคนขับของคนท้องถิ่นที่ชำนาญเส้นทาง ซึ่งสามารถค้นหาได้ที่ กลุ่มน่านน่าเที่ยว ส่วนที่พัก ภายในหมู่บ้านสะปันมีที่พักทั้งแบบโฮมสเตย์และรีสอร์ตมากมายไว้ให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการ สามารถสอบถามที่พักที่เข้าร่วมโครงการเที่ยวเมืองรองได้ที่ ททท.สำนักงานน่าน
ภาคกลาง : เยือน ‘สิงห์บุรี’ ถิ่นวีรชนคนกล้า
เที่ยวตลาดย้อนยุคบ้านระจัน
‘สิงห์บุรี’ เป็นจังหวัดเมืองรองที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เหมาะสำหรับไปเที่ยวพักค้างคืนแบบทริปสั้น ๆ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ ก็จะสามารถไปเที่ยวตามได้ครบ เนื่องจากสิงห์บุรีเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่มีเพียง 6 อำเภอ จึงขึ้นชื่อเรื่องเที่ยวง่าย แถมมีสถานที่น่าสนใจให้ทุกคนไปเยือน ทั้งตลาดย้อนยุค อนุสาวรีย์ลือเลื่อง และวัดศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนสิงห์บุรีได้อย่างครบถ้วน
เดิมทีสิงห์บุรีเคยเป็นที่ตั้งของบ้านบางระจันในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งมีกลุ่มชาวบ้านร่วมสู้รบต่อต้านศัตรูที่เข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม จนกลายเป็นตำนานวีรบุรุษที่เล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยและสดุดีวีรชนบ้านบางระจัน ในปี พ.ศ. 2519 จังหวัดสิงห์บุรีจึงสร้าง ‘อนุสาวรีย์วีรชนบางระจัน’ ขึ้นที่ ต.บางระจัน อ.ค่ายบางระจัน เป็นรูปหล่อประติมากรรมชาวค่ายบางระจันรวม 11 คน ทำให้เกิดสมญานามใหม่ให้จังหวัดสิงห์บุรีว่า ‘ถิ่นวีรชนคนกล้า’ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ตรงข้ามกับอนุสาวรีย์วีรชนบางระจัน เป็นที่ตั้งของ ‘ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน’ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งสำคัญของสิงห์บุรี เพราะบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นและยังคงกลิ่นอายประวัติศาสตร์เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาซึมซับบรรยากาศสมัยโบราณได้อย่างโดดเด่น ด้วยการจำลองตลาดในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ภายในตลาดมีร้านค้ามากมาย ทั้งร้านขายอาหาร ร้านขายขนมโบราณ และร้านขายของที่ระลึก ความพิเศษของตลาดแห่งนี้ คือรวมของดีประจำจังหวัดสิงห์บุรีที่หากินได้ยากมาไว้ในที่เดียว เช่น ขนมหีควาย (หรือเรียกด้วยชื่อสุภาพว่า ขนมวง) เป็นขนมชื่อฉงนที่ท้าให้ลองชิม ทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับกะทิแล้วปั้นให้เป็นวงคล้ายโดนัท ก่อนนำไปทอดจนสุก แล้วคลุกกับน้ำตาลโตนด มีรสชาติหวานนำ หอมกลิ่นน้ำตาลโตนด ให้สัมผัสเหนียวหนึบเคี้ยวเพลิน
เพื่อความสมจริงยิ่งขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่และพ่อค้าแม่ขายทุกคนจะแต่งตัวย้อนยุค พูดจาด้วยคำโบราณ และสวมบทบาทเป็นชาวบ้านบางระจันในทุกท่วงท่า เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปใช้ชีวิตใกล้ชิดร่วมกับชาวบางระจัน ส่วนคนที่ไปเที่ยว หากอยากแต่งตัวให้เข้ากับบรรยากาศเพื่อจะได้เดินถ่ายรูปสวย ๆ ก็สามารถเช่าชุดได้ที่ร้านภายในตลาด ซึ่งราคาให้บริการขึ้นอยู่กับแบบชุดที่เลือกใส่ โดยมีราคาเริ่มต้นเพียง 50 บาทเท่านั้น
หลังจากเดินตลาดเสร็จแล้ว ให้มาไหว้พระขอพรที่ ‘วัดโพธิ์เก้าต้น’ ซึ่งเป็นวัดสำคัญของจังหวัดสิงห์บุรี ภายในวัดแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนพระอาจารย์ธรรมโชติ หรือ หลวงพ่อยิ้ม พระคู่บ้านคู่เมืองที่คนสิงห์บุรีให้ความเคารพและสักการะ หากอ้างอิงตามประวัติศาสตร์ พระอาจารย์ธรรมโชติ คือบุคคลสำคัญที่รวบรวมลูกศิษย์ลูกหาให้ช่วยกันสร้างหมู่บ้านบางระจันขึ้นมาได้สำเร็จ และเป็นที่พึ่งของชาวบ้านยามเมื่อเกิดศึกสงคราม
บริเวณด้านหน้าวัดโพธิ์เก้าต้น เป็นค่ายจำลองและสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2524 เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นสนามรบ โดยมีความเชื่อว่า ใครก็ตามหากบนบานศาลกล่าวกับพระอาจารย์ธรรมโชติแล้วสำเร็จผล ให้หาบน้ำมาเติมที่บ่อเพื่อเป็นการแก้บน ซึ่งคนสิงห์บุรียืนยันว่า เป็นความศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีจังหวัดไหนเหมือน
ส่วนที่พักภายในจังหวัดสิงห์บุรี สามารถสอบถามหรือขอคำแนะนำจากคนท้องที่ผ่าน กลุ่มที่นี่..สิงห์บุรี หรือติดต่อไปยังที่พักที่ต้องการจองโดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและได้รับเอกสารสำหรับลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้องที่สุด
ภาคตะวันออก : ตะลุย ‘ตราด’ ไม่ข้ามเกาะ
ก็ใกล้ชิดวิถีประมงพื้นบ้านได้
ขอเถียงขาดใจ ถ้ามีใครสักคนมาบอกว่า เที่ยว ‘ตราด’ ทั้งทีต้องข้ามฝั่งไปนอนเกาะเท่านั้น เพราะเมืองรองแห่งนี้ ไม่ได้มีดีแค่ทะเลและเกาะ แต่พื้นที่บนฝั่งของจังหวัดตราด ยังมีที่เที่ยวอีกมากมายรอคอยให้ทุกคนแวะมาเช็กอินและสำรวจ โดยไม่จำเป็นต้องข้ามทะเลไปอยู่เกาะ
สถานที่แรก คือ ‘ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว’ ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน ซึ่งคนในพื้นที่ได้รวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อบอกเล่าชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดกับชายทะเลให้ทุกคนได้รู้จักและมีประสบการณ์ร่วม
เมื่อเดินทางมาถึง สิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์รอต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน คือ ‘สะพานแห่งบ้านน้ำเชี่ยว’ ซึ่งทอดเงาสะท้อนบนผืนน้ำเป็นวงกลม คนตราดจึงเปรียบให้เป็น ‘ดวงตาบ้านน้ำเชี่ยว’ หรือสิ่งแทนแห่งความรักและความสามัคคี เพราะว่าชุมชนนี้เกิดขึ้นจากความกลมเกลียวของผู้คนในพื้นที่ โดยผสมผสานระหว่าง 2 ศาสนากับ 3 วัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวมุสลิมเชื้อสายเขมรหรือแขกจาม พร้อมทั้งมีศาสนสถานช่วยยืนยันความสมัครสมานที่ยาวนาน ได้แก่ ‘มัสยิดอัลกุบรอ’ มัสยิดแห่งแรกของภาคตะวันออกอายุกว่า 200 ปี ‘ศาลเจ้าพ่อเซ็งจุ้ยโจ่วซือ’ หรือ ศาลเจ้าพ่อน้ำเชี่ยว และ ‘วัดน้ำเชี่ยว’
ขอบคุณภาพถ่าย : เทศบาลตำบลน้ำเชี่ยว
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรเป็นหลัก โดยออกเรือจับปลาทั้งในคลองน้ำเชี่ยวและทะเลอ่าวไทย รวมถึงทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ กิจกรรมในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้ทำ จึงเป็นการทดลองใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างชาวบ้าน ซึ่งมีให้เลือกตามความสนใจ ทุกคนสามารถนัดแนะกับชาวบ้านที่พาเที่ยวได้เลยว่าอยากทำอะไรก่อนหลัง
ขอบคุณภาพถ่าย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตราด
อาจเริ่มต้นจากการนั่งเรือยาวชมคลอง สำรวจป่าชายเลนและอ่าวไทย ดูความสมบูรณ์ของธรรมชาติและส่องสัตว์ท้องถิ่น ตกปลาน้ำตื้น งมหอยปากเป็ด ดูวิธีเพาะเลี้ยงหอยนางรม ออกเรือไดหมึก ชมชาวบ้านสาธิตวิธีทำงอบใบจาก และชิม ‘ข้าวเกรียบยาหย้า’ ขนมขึ้นชื่อของชาวมุสลิมที่มีให้กินที่ตราดที่เดียว ปิดท้ายด้วยล่องเรือชมหิ่งห้อยตอนกลางคืน และกลับเข้าที่พักโฮมสเตย์ กิจกรรมเยอะขนาดนี้รับรองว่าทำวันเดียวไม่หมดอย่างแน่นอน ให้แบ่งทำตามความสะดวกและความเหมาะสม
นอกจากนั้น ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่แนะนำให้ไปเช็กอิน ได้แก่ ‘ประภาคารแหลมงอบ’ ตั้งอยู่ใน ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ ถือเป็นแลนด์มาร์กจุดสำคัญของตราด เพราะเป็นสัญลักษณ์บอกให้ทุกคนรู้ว่า ได้มาถึงสุดเขตแดนภาคตะวันออกของประเทศไทยแล้ว คนตราดยังนิยมมาชมวิวและถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกกันที่นี่ เพื่อให้ได้เห็นภาพความสวยงามของแสงสุดท้ายก่อนหมดวัน
แลนด์มาร์กอีกหนึ่งจุดที่พลาดไม่ได้ คือ ‘หาดทรายดำ’ ที่นี่คือ Unseen ของจังหวัดตราด เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่พบได้เพียง 5 ที่ทั่วโลก มีลักษณะเป็นเม็ดทรายมีสีดำละเอียดอยู่ในเขตป่าชายเลน ทำให้พื้นที่ทั่วบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งแร่ธาตุชั้นดี กิจกรรมที่ต้องทำเมื่อมาเยือนหาดทรายดำ คือ หมกเท้าเปล่าในกองทรายเป็นเวลา 20 นาที เพราะมีส่วนช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
สำหรับรายละเอียดการจองที่พักโฮมสเตย์และกิจกรรมในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว หรือ โทร. 06-1660-0955, 089-244-6702
ภาคอีสาน : นุ่งห่มชุดท้องถิ่นเดินถนนผ้าคราม
ของดีเลื่องชื่อ สีสันแห่ง ‘สกลนคร’
เชื่อหรือไม่ ? จังหวัด ‘สกลนคร’ เคยครองตำแหน่งแชมป์เมืองรองที่มีคนเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุดประจำปี พ.ศ. 2561 มาแล้ว
คงเป็นเพราะว่าสกลนคร คือแหล่งรวมของดีมากมายที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนกลายเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ประเพณีความเป็นอยู่ วัฒนธรรมที่หลากหลาย อาหารการกิน และหัตถกรรมจากภูมิปัญญาโบราณ ทั้งหมดนี้ทำให้สกลนครกลายเป็นจุดหมายเมืองรองแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใครหลายคนอยากมาท่องเที่ยวเป็นประสบการณ์เยือนถิ่นอีสานสุดม่วนซื่น
แต่ทริปเที่ยวสกลนครครั้งนี้ เน้นเอาใจคนรักผ้าและการแต่งตัวที่ไม่ชอบทำอะไรตามกระแส เพราะจะพาไปเรียนรู้วิธีย้อม ‘ผ้าสีคราม’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนสำเร็จเป็นชุดสุดฮิปที่บ่งบอกตัวตนของผู้ใส่ได้อย่างโดดเด่นและแตกต่าง
โดยปกติแล้ว ในแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชนจะมีคนท้องถิ่นที่รวมตัวเป็นกลุ่มทอและย้อมผ้าครามกระจายตัวกันอยู่ทั่วสกลนคร เพราะว่าเป็นความตั้งใจของชาวบ้านที่ต้องการสร้างอาชีพพร้อมกับฟื้นฟูและสืบทอดภูมิปัญญาที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายายไม่ให้จางหาย เช่น กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม วิสาหกิจชุมชนทอผ้าแปรรูปบ้านกุดจิก ต.นาคำ อ.วานรนิวาส
สกลนครจึงเป็นแหล่งผลิตผ้าย้อมครามดั้งเดิมแห่งสำคัญ ซึ่งไม่ได้สำคัญแค่ระดับประเทศ แต่สำคัญถึงระดับโลก เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนผ้าย้อมครามของสกลนครเป็นสินค้า GI หรือเครื่องหมายบ่งบอกแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง การันตีด้วยคุณภาพ ชื่อเสียง และยอดสั่งซื้อจากหลายประเทศทั่วโลก
ส่วนสถานที่ที่แนะนำให้ไปเรียนรู้วิธีทำผ้าย้อมคราม คือ ‘ครามสกล’ ต.ห้วยยาง อ.เมืองสกลนคร นอกจากเป็นชื่อแบรนด์ผ้าครามคุณภาพส่งออก ยังเปิดให้นักเที่ยวเข้ามาลงมือทำผ้าย้อมครามด้วยตัวเอง ตั้งแต่เตรียมน้ำย้อมคราม เทคนิคการย้อมให้ได้โทนสีอ่อนเข้ม การมัดให้เกิดลวดลายเฉพาะ จนสำเร็จเป็นผ้าครามที่ระลึกหนึ่งผืน ที่นี่ยังมีผลิตภัณฑ์จากผ้าครามให้เลือกซื้อเป็นของฝาก
แต่ถ้าอยากช้อปผ้าครามให้หนำใจ ต้องเดินทางไป ‘ถนนผ้าคราม’ ถนนเรืองสวัสดิ์ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร ซึ่งเป็นถนนหน้าวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารที่มีร้านค้าตั้งขนาบสองข้างทาง ที่นี่คือแหล่งรวมสินค้าสุดสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามฝีมือชาวบ้านจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วสกลนครที่มาออกร้านเอง มีให้เลือกหลากหลายทั้งเสื้อ กางเกง กระเป๋า หมวก สมุดโน้ตปกผ้าคราม พวงกุญแจ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยถนนผ้าครามจะเปิดเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 15.00 - 20.00 น.
สำหรับการเดินทางมายังสกลนคร มีให้เลือกตามความสะดวก ทั้งรถไฟ รถบัส เครื่องบิน หรือขับรถมาเองก็ยังได้ ส่วนคนที่สนใจทำผ้าย้อมครามที่ครามสกล แนะนำให้นัดหมายล่วงหน้าและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ครามสกล Kramsakon
ภาคใต้ : ล่อง ‘ตรัง’ ตะลอนกินและเที่ยว
จัดเต็ม 9 มื้อ ในยุทธจักรความอร่อยแดนใต้
จังหวัด ‘ตรัง’ ขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย แต่ถ้าถามต่อไปว่าอร่อยแค่ไหน ? สิ่งสำคัญที่ใช้ยืนยันความจริงเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คือ คำพูดเปรียบเปรยของคนตรังเองที่บอกว่า 1 วันกินได้ 9 มื้อ
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า คนตรังต้องกินข้าวให้ครบ 9 เวลาต่อวัน แต่หมายถึง ทั่วตรังมีอาหารหลากหลายให้เลือกกินไม่ขาดสายตามใจอยาก ทุกคนสามารถกินของอร่อยได้ทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่เช้าตรู่ถึงดึกดื่น จนได้ชื่อว่า ‘ยุทธจักรความอร่อย’ ถ้าหากต้องนับเป็นมื้อ ๆ คงได้จำนวนมากกว่ามื้อปกติถึง 3 เท่า กลายเป็นที่มาของ 9 มื้ออร่อยของคนตรังนั่นเอง
ด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นเมืองท่าใหญ่มาตั้งแต่อดีต ตรังจึงกลายเป็นแหล่งพบปะผู้คนหลายเชื้อชาติ ทั้งมลายู ไทย จีน รวมถึงฝรั่งจากฝั่งตะวันตกที่เดินทางข้ามโลกมาค้าขายกับภาคใต้ของไทย เมื่อเวลาผ่านไป จากความรุ่มรวยของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต จึงส่งผ่านมาถึงอาหารในตรังจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีขายอยู่แทบทุกมุมเมือง
โดยเฉพาะมื้อเช้า ด้วยเหตุผลว่าเป็นมื้อสำคัญที่สุด ชาวตรังจึงจัดเต็มด้วยตัวเลือกอาหารที่มีเอกลักษณ์และรสชาติแตกต่างกัน ตั้งแต่ร้านติ่มซำรสเด็ดในย่านคนจีน ร้านโรตีน้ำชากาแฟในชุมชนมุสลิม เรื่อยไปถึงร้านอาหารท้องถิ่นแสนอร่อย อย่างหมูย่างเมืองตรัง ซึ่งมีเคล็ดลับความอร่อยอยู่ตรงที่หนังกรอบ หมักเครื่องเทศจนเข้าเนื้อ รสชาติกลมกล่อม หอมกลิ่นย่าง สามารถกินได้เรื่อย ๆ โดยไม่รู้สึกเลี่ยน
ส่วนมื้ออื่น ๆ เน้นอาหารจานเดี่ยวเป็นหลัก ข้าวหมูแดงหมูกรอบ หมี่ฮกเกี้ยน ราดหน้าจานยักษ์ และอาหารทะเล รวมถึงเค้กเมืองตรัง ซึ่งเป็นเค้กที่มีรูตรงกลาง ด้วยวิธีการทำที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น และใช้ไข่ไก่จำนวนมากเป็นส่วนผสมหลัก โดยไม่ใช้ผงฟู ทำให้เนื้อเค้กเนียนละเอียด นุ่มฟูธรรมชาติ ให้กลิ่นหอมไข่ไก่ และให้รสหวานกลมกล่อม นอกจากรสชาติดั้งเดิมซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด ยังมีรสชาติอื่น ๆ ให้เลือกซื้อ ทั้งรสเนยสด รสกาแฟ รสเตยหอม และรสผลไม้ต่าง ๆ เป็นขนมที่ชาวตรังเลือกกินคู่กับกาแฟ ถือเป็นของฝากขึ้นชื่อที่มีขายทั่วตรังเช่นเดียวกัน
นอกจากตะลอนกินอาหารอร่อย แนะนำให้ลองนั่ง ‘รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ’ ชมเมือง เพราะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง ด้วยรูปร่างหน้าตาของรถที่ดูน่ารักและเป็นเอกลักษณ์ แถมค่าบริการสบายกระเป๋า แค่คนละ 20 บาท/เที่ยว หรือใช้บริการนำเที่ยวในราคาเริ่มต้น 250 บาท/ชั่วโมง แต่ถ้าอยากไปเยือนสถานที่อื่นที่อยู่นอกเส้นทาง สามารถตกลงกับคนขับได้เลยว่าจะคิดเท่าไหร่ โดยจุดจอดรถตุ๊กตุ๊กหัวกบจะอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟตรัง
สำหรับที่พักในตรัง สามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มแนะนำที่พักตรัง จองที่พักตรัง เพราะนักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของที่พักแต่ละแห่งได้ ช่วยสร้างความอุ่นใจและสบายใจให้เที่ยวตรังได้อย่างราบรื่น
อ้างอิง
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. หมู่บ้านสะปัน. https://bit.ly/48lkGuf
- สำนักงานจังหวัดสิงห์บุรี. วัดโพธิ์เก้าต้น. https://bit.ly/3YEIYMn
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ. ตราด. https://bit.ly/4hg4oXD
- กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. “ผ้าย้อมคราม” เสน่ห์แห่งภูมิปัญญาไทย. https://bit.ly/3YFs8wW
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. นั่งรถกบ ชมเมืองตรัง. https://bit.ly/3NHE8aX
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2565). มหัศจรรย์ 55 เมืองรอง. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.