

สัมผัสลมหนาวส่งท้ายปีที่ ‘เพชรบูรณ์’ เช็กอินเมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย
Travel / Thailand
11 Dec 2023 - 10 mins read
Travel / Thailand
SHARE
11 Dec 2023 - 10 mins read
เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ ชื่อของเขาค้อและภูทับเบิกมักเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่หลาย ๆ คนนึกถึง เนื่องจากเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามไม่แพ้ทิวเขาสูงในภาคเหนือ
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว จังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของไทย และเป็นชุมทางที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างเพชรบูรณ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่น่าสนใจและหลากหลายให้เลือกไปเช็กอิน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไปจนถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม
มิติที่หลากหลายดังกล่าวมีตั้งแต่พีระมิดอายุกว่าพันปี ทุ่งหญ้าสะวันนาที่อุดมสมบูรณ์ ไปจนถึงพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่ประทับบนยอดเขา
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเรียกน้ำย่อยของสถานที่ท่องเที่ยวเปี่ยมเอกลักษณ์ใน 3 อำเภอยอดนิยมของเพชรบูรณ์ อย่างอำเภอศรีเทพ หล่มเก่า และเขาค้อ ที่ LIVE TO LIFE แนะนำให้นักเดินทางตามไปเก็บความประทับใจตลอดฤดูหนาวนี้ หรือจะเดินทางไปช่วงไหนของปีก็สามารถทำได้ เพราะเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีอากาศเย็นสบายตลอดปี
อำเภอศรีเทพ
เติมจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ส่วนที่หายไป ณ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’
หนึ่งในข่าวดีส่งท้าย พ.ศ. 2566 ที่ทำให้คนไทยยิ้มได้ ก็คือ วาระที่ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยถือเป็นมรดกโลกลำดับที่ 7 ของประเทศไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือที่คุ้นหูกันว่า เมืองโบราณศรีเทพ อยู่คู่แผ่นดินเพชรบูรณ์มายาวนานตั้งแต่ก่อนสุโขทัยจะเป็นราชธานีแห่งสยามประเทศ เชื่อกันว่าศรีเทพเคยเป็น ‘เมืองที่มีชีวิต’ และรุ่งเรืองในราวศตวรรษที่ 8-18 โดยมีสถานะเป็นถึงศูนย์กลางอารยธรรมสมัยโบราณที่รับเอาการค้าและศาสนาที่เฟื่องฟูในยุคนั้นมาผสมผสานจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
เขาคลังนอก
และด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ ศรีเทพพลิกสถานะกลายเป็นเมืองร้างอย่างฉับพลันทันใด ไม่มีใครรู้ว่าชาวศรีเทพหายไปไหน ส่งผลให้อาณาจักรที่มีพื้นที่กว้างขวางกว่า 2,000 ไร่กลายเป็นแผ่นดินไร้ผู้คน และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานกี่ร้อยกี่พันปีก็ไม่เคยมีชาวบ้านรุ่นไหนกล้าย่างกรายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองเก่าแห่งนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โบราณสถานต่าง ๆ จึงถูกทิ้งร้างมานานหลายชั่วอายุคน
กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองโบราณศรีเทพถูกค้นพบอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และได้เสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2447 ครั้นทรงทราบถึงข้อมูลของเมืองโบราณที่ชื่อ “อภัยสาลี” จึงเสด็จไปประทับค้างแรมที่นั่น ทรงพบศิลาจารึกโบราณและมีพระวินิจฉัยว่าเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะชื่อเมืองศรีเทพตามต้นร่างสมุดไทย กรมศิลปากรจึงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และดำเนินการสำรวจเมืองโบราณศรีเทพเรื่อยมา กระทั่งได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพใน พ.ศ. 2537 ควบคู่ไปกับการดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตลอดหลายทศวรรษ กระทั่งประสบความสำเร็จในปีนี้
เขาคลังนอก
เมืองโบราณศรีเทพ แบ่งพื้นที่ออกเป็นเมืองนอกและเมืองใน กินอาณาเขตกว้างขวางกว่า 2,000 ไร่ และมีจำนวนโบราณสถานมากกว่า 50 แห่ง ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรยังคงดำเนินการขุดค้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานที่หลัก ๆ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในเวลานี้ ได้แก่ เขาคลังนอก เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่บันทึกร่องรอยประวัติศาสตร์แผ่นดินไทย รอวันประกอบแต่ละชิ้นให้กลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ในอนาคต
สถานที่แรกที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ได้แก่ เขาคลังนอก ด้วยรูปร่างของโบราณสถานซึ่งสร้างจากศิลาแลงแห่งนี้มีลักษณะคล้ายเขาสูงจึงได้รับการขนานนามว่า พีระมิดเมืองไทย เชื่อกันว่าในสมัยก่อนที่นี่ใช้เป็นที่เก็บสมบัติและอาวุธต่าง ๆ และเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา นักโบราณคดีคะเนว่าเขาคลังนอกมีอายุราว 1,200 - 1,300 ปี โดยสร้างขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรศรีเทพ ซึ่งเป็นช่วงที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดี ก่อนในยุคปลายของอาณาจักรศรีเทพจะเปลี่ยนมารับวัฒนธรรมเขมร จึงเกิดพระปรางค์ต่าง ๆ ตามมา เช่น ปรางค์ฤาษี ปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพ
โบราณวัตถุที่ค้นพบในเมืองโบราณศรีเทพ
ทั้งนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เขาคลังนอกในอดีตมีลักษณะเป็นมหาสถูปที่มีเจดีย์ใหญ่อยู่ตรงกลาง เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธเชื่อว่าเป็นภูเขาที่เป็นจุดศูนย์กลางของโลกและจักรวาล นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์บริวารรายล้อมในแต่ละชั้น ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือเพียงตัวฐานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสตั้งอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปในสมัยนั้น ก่อนที่นครวัดจะมาล้มล้างสถิติความยิ่งใหญ่ในสมัยต่อมา
นอกจากนี้ ได้มีการพบโบราณวัตถุสำคัญบริเวณเขาคลังนอก ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี สลักจากหินทรายสีเขียว มีลักษณะประทับยืนปางแสดงธรรม (วิตรรกะ) 2 พระหัตถ์ และศาลเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นศาลที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยมีงานบวงสรวงทุกปีในวันขึ้น 2 ค่ำและขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์
ประติมากรรมปูนปั้นคนแคระบริเวณฐานของเขาคลังใน
สถานที่สำคัญถัดมา ได้แก่ เขาคลังใน ก่อด้วยศิลาแลงเช่นกันและสร้างขึ้นในสมัยแรกสร้างเมืองราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ พ.ศ. 1200 เพื่อเป็นศาสนสถานลัทธิหินยานหรือเถรวาท ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นมหายานในพุทธศตวรรษที่ 14 และยังคงใช้สอยเรื่อยมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18
ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างเขาคลังในเป็นสมัยทวารวดี ซึ่งคล้ายกับการค้นพบที่จังหวัดนครปฐม และเมืองโบราณบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี โดยบริเวณฐานของเขาคลังในปรากฏประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระศีรษะเป็นคน เสือ สิงห์ ลิง หรือสัตว์ต่าง ๆ ในท่วงท่าแบก และประดับลายพันธุ์พฤกษา สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมทวารวดีที่ยังสมบูรณ์และยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย
ไอศกรีมศรีเทพ
ปัจจุบัน ประติมากรรมคนแคระเหล่านี้ได้แปลงร่างมาอยู่ในรูปแบบของไอศกรีมแท่งสำหรับคลายร้อนให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทำความรู้จักเมืองโบราณศรีเทพ โดยตอนนี้มีไอศกรีม 4 ลวดลาย คือ ลายดอกไม้กรม ลายกนกผักกูด ลายคนแคระหน้าสิงห์ และลายคนแคระหน้าคน เลือกอร่อยได้ 8 รสชาติ เช่น มะพร้าวอ่อน มะขาม สตรอเบอร์รี มันม่วง ฯลฯ จัดจำหน่ายภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และที่เขาคลังนอก ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันที่เรียกรอยยิ้มให้ทริปเรียนรู้ประวัติศาสตร์สนุกมีสีสันยิ่งขึ้น
ปรางค์สองพี่น้อง
ปิดท้ายทัวร์เมืองโบราณศรีเทพด้วยการไปเยือนสิ่งก่อสร้างในยุคปลาย อย่าง ปรางค์สองพี่น้อง มีลักษณะเป็นปราสาทก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันทั้งสององค์ ซึ่งหลังจากผ่านกาลเวลามานานหลายพันปีทำให้ส่วนยอดพังทลายจนหมดสิ้นแล้ว แต่ปรางค์องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือโคอุศุภราช ที่ยังคงความสมบูรณ์ประดับอยู่ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและวัตถุโบราณที่พบ ทำให้อนุมานได้ว่าปรางค์สองพี่น้องน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยศาสนาพราหมณ์ฮินดู
ทับหลังศิลาทรายบนปรางค์สองพี่น้อง
ใกล้กันเป็นที่ตั้งของ ปรางค์ศรีเทพ เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป สันนิษฐานน่าจะเป็นเทวาลัยศาสนาพราหมณ์ฮินดูเช่นเดียวกัน โดยในการขุดค้นบริเวณนี้ยังมีการพบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 อีกด้วย
ปรางค์ศรีเทพ
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
นอกจากโบราณสถานสำคัญทั้ง 4 แห่งแล้ว ยังมีอาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ที่จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. 2531 ซึ่งสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมานานกว่า 2,000 ปี ในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอกย้ำความรุ่งเรืองของศรีเทพ เมืองที่ตั้งอยู่กึ่งกลางแอ่งอารยธรรมของประเทศไทยที่เคยมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน 700 - 800 ปี และยังคงต้องได้รับการประกอบจิ๊กซอว์เพื่อหาคำตอบต่อไปว่า ชาวศรีเทพหายไปจากดินแดนที่เคยรุ่งเรืองแห่งนี้ได้อย่างไร
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ที่ตั้ง : 208 หมู่ 13 ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.30 น.
ค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท รถยนต์คันละ 50 บาท
โทร : 056 921 322, 056 921 317
เว็บไซต์ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
อำเภอหล่มเก่า
เที่ยวธรรมชาติอิงประวัติศาสตร์การเมืองไทยในภูหินร่องกล้า
จากศรีเทพซึ่งถือเป็นอำเภอที่อยู่ตอนใต้สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตัดภาพไปยังอำเภอที่อยู่เหนือสุดของจังหวัดอย่าง หล่มเก่า ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และ ภูทับเบิก รอให้คนรักป่าเขาและคนที่รักการขับขี่ได้พิชิต 111 โค้งในการขึ้นไปชมทิวทัศน์ทะเลภูเขา ณ จุดที่สูงที่สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์
เส้นทางคดเคี้ยว 111 โค้งสู่ภูทับเบิก
ความพิเศษของ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า คือเป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่หลอมรวมประวัติศาสตร์แห่งการสู้รบและความสวยงามทางธรรมชาติไว้เป็นหนึ่งเดียว โดยย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2511 - 2525 ดินแดนเทือกเขาสลับซับซ้อนซึ่งเป็นรอยต่อของภาคกลาง เหนือ และอีสาน แห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางที่ตั้งฐานที่มั่นการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางการเมืองและเกิดการสู้รบกับทหารไทย จนเมื่อเหตุการณ์สงบลงในช่วงปลาย พ.ศ. 2525 จึงได้มีการตัดเส้นทางผ่านใจกลางภูหินร่องกล้าและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 48 ของประเทศไทยใน พ.ศ. 2527
เมเปิ้ลเปลี่ยนสีที่โรงเรียนการเมืองการทหาร
ภายในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าจึงมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์แทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติที่สวยงาม สถานที่แห่งแรกที่ชวนไปเช็กอิน ได้แก่ โรงเรียนการเมืองการทหาร ที่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง 6 กิโลเมตร เดิมใช้เป็นสถานที่ให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ มีบ้านพักฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และสถานพยาบาล ทั้งหมด 31 หลัง กระจายตัวอย่างเป็นระเบียบภายใต้ผืนป่ารกทึบ ซึ่งสร้างสีสันให้อาคารเหล่านี้งดงามแตกต่างไปตามแต่ละฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาวเมื่อใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสีและร่วงหล่นลงบนหลังคาบ้านไม้เก่าแก่เหล่านี้
ลานหินปุ่ม
ไปต่อกันที่ ลานหินปุ่ม ที่ต้องเดินเท้าเข้าไป ซึ่งแม้จะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าอยู่บ้าง ทว่าธรรมชาติของผืนป่า จากพันธุ์ไม้ ดอกไม้ และบรรดานกนานาชนิดที่ได้พบเจอระหว่างเส้นทาง ทั้งนกตั้งล้อ นกกะลิงเขียดสีเทา นกหัวขวาน จิ๋วท้องลาย นกศิวะปีกสีฟ้า ฯลฯ ก็ช่วยให้เพลิดเพลินลืมความเหน็ดเหนื่อยไปได้
โดยเฉพาะเมื่อเดินมาถึงลานหินตะปุ่มตะป่ำรูปร่างแปลกตาที่กินพื้นที่กว้างไปทั่วหน้าผาก็ยิ่งรู้สึกคุ้มค่าที่ได้เดินมาเยือน นอกจากความงามที่ไม่เหมือนใคร และตามประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์ได้ใช้ประโยชน์จากลานหินปุ่มในการฝังตัวอยู่ที่นี่ โดยใช้เป็นที่พักฟื้นของคนไข้ในโรงพยาบาลของพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ริมผาที่มีอากาศโปร่งและลมพัดเย็นสบาย
น้ำตกหมันแดง
ใครที่ชอบเดินป่า แนะนำว่าไม่ควรพลาดการเดินไปสัมผัสความงดงามของ น้ำตกหมันแดง น้ำตกขนาดใหญ่ถึง 32 ชั้นที่อยู่ลึกเข้าไปในป่า ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในการนำทางเข้าไปเท่านั้น ซึ่งนอกจากความสวยตระการตาแล้ว จากการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศสและนักธรณีวิทยาจากประเทศไทย พบว่าบริเวณแผ่นหินลานน้ำตกหมันแดง มีรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อมากกว่า 20 รอย ! ถือเป็นอีกร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในการมาเยือนเพชรบูรณ์ครั้งนี้ก็ว่าได้
ทิวทัศน์ภูทับเบิกเมื่อมองจากภูแผงม้า
ส่วนผู้ที่ชอบสัมผัสความงามของทิวทัศน์ในมุมสูงแบบขับรถไปจอดชมเทือกเขาและทะเลหมอก ควรปักหมุด ภูแผงม้า แล้วขับรถขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นไปยังจุดชมวิวสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ณ ระดับความสูง 1,775 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง (สำหรับรถเก๋ง แนะนำให้จอดรถบริเวณปากทาง แล้วเดินเท้าขึ้นไปราว 300 เมตร) ภูแผงม้าเป็นจุดชมวิวที่สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก มองเห็นทิวทัศน์ไร่กะหล่ำปลีบริเวณภูทับเบิก ผาหัวสิงห์อยู่ลิบตา และหากฟ้าฝนเป็นใจ โอกาสได้สัมผัสทะเลหมอกทั่วบริเวณอำเภอหล่มเก่า-หล่มสัก และวิวทะเลภูเขาสลับซับซ้อนจากอำเภอเขาค้อก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ไร่กะหล่ำปลี เอกลักษณ์แห่งภูทับเบิก
ดอกนางพญาเสือโคร่งบานช่วงฤดูหนาว
สำหรับ ผาหัวสิงห์ ที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่อมองลงมาจากภูแผงม้านั้น สามารถขับรถวนลงไปชมทิวทัศน์ของภูทับเบิก ณ บริเวณนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากแวะไปเยือนในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม จะได้ชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งทาบทอสีชมพูระเรื่อไปทั่วทั้งภูเขา
ทุ่งดอกกระดาษ
สำหรับคนที่ชื่นชอบทุ่งดอกไม้ แนะนำว่าควรแวะที่ โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่ก่อนถึงโรงเรียนการเมืองการทหารและบ้านร่องกล้า ที่มีทิวทัศน์ของทุ่งดอกกระดาษบานสะพรั่งอยู่ริมผาอย่างงดงามในช่วงฤดูหนาว ทั้งยังสามารถยืนชมวิวตามผาต่าง ๆ ได้ถึง 5 ผา ได้แก่ ผาบอกรัก ผาสลัดรัก ผารักยืนยง ผาคู่รัก และผาไททานิค ซึ่งตั้งอยู่เรียงรายไม่ไกลกัน
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 - 16.30 น.
อัตราค่าบริการเข้าอุทยานฯ : ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
โทร : 081 596 5977
Facebook : อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
อำเภอเขาค้อ
สัมผัสร่มธรรมแห่งผาซ่อนแก้ว แล้วไปเที่ยวซาฟารีเมืองไทยในทุ่งแสลงหลวง
‘นอนเขาค้อหนึ่งคืน อายุยืนหนึ่งปี’ เป็นวลีที่บอกเล่าถึงเอกลักษณ์ของอำเภอที่อากาศบริสุทธิ์เย็นสบายแห่งนี้ได้อย่างครบถ้วนในใจความ โดยนอกจากอากาศที่เย็นสบายตลอดปีแล้ว เขาค้อยังเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย
เริ่มต้นกันด้วยอีกหนึ่งกลิ่นอายในอดีต ที่เป็นการตอกย้ำว่าอาณาเขตของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นกว้างขวางแค่ไหน โดยสามารถสัมผัสประวัติศาสตร์ได้ที่ น้ำตกศรีดิษฐ์ แห่งบ้านร่มโพธิ์ร่มไทร ตำบลหนองแม่นา ความอลังการของน้ำตกหินชั้นแห่งนี้สวยงามและชื่นฉ่ำด้วยม่านน้ำตกผืนสวยที่ไหลแรงตลอดทั้งปี ในอดีตที่นี่เคยเป็นแหล่งผลิตอาหารของกลุ่มคอมมิวนิสต์ อาศัยพลังงานน้ำจากน้ำตกในการตำข้าวเปลือกเพื่อเลี้ยงดูกำลังพล โดยมีครกกระเดื่องถึง 6 ใบ ใช้จักรกลเป็นกังหันและอาศัยพลังงานจากน้ำในการขับเคลื่อนใบกังหัน
น้ำตกศรีดิษฐ์
ชื่อของน้ำตกศรีดิษฐ์ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงความเสียสละของ ส.อ.ประพจน์ ศรีดิษฐ์ ที่ได้ทำการสู้รบกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยและพลีชีพ ณ บริเวณน้ำตกแห่งนี้ ปัจจุบันมีสถานะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเปี่ยมเสน่ห์ประจำเขาค้อที่นักเดินทางนิยมแวะไปเยือน เพื่อสัมผัสความสวยงามและเย็นสดชื่นของม่านน้ำแสนลึกลับแห่งนี้
น้ำตกศรีดิษฐ์
ใครที่แวะไปท่องเที่ยวและพักค้างคืนเพื่อเติมรางวัลให้ชีวิตที่เขาค้อ คงไม่พลาดการขับรถไปสักการะ วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว พุทธสถานที่งดงามอลังการใจกลางดินแดนหุบเขาแห่งนี้ โดยเฉพาะ มหาวิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ที่โดดเด่นเป็นสง่าด้วยเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร มองจากมุมไหนของเขาค้อก็สามารถเห็นได้ชัดถนัดตา
สำหรับที่มาของชื่อ ‘ผาซ่อนแก้ว’ นั้นมาจากการที่ชาวบ้านทางแดงเคยเห็นลูกแก้วลอยเหนือฟากฟ้า และลับหายไปในถ้ำบนยอดผาแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมา และยึดถือให้ยอดผาแห่งนี้เป็นสถานที่มงคล เรียกขานกันว่า ผาซ่อนแก้ว เรื่อยมา
วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
แต่เดิมเมื่อแรกก่อตั้งใน พ.ศ. 2547 ที่นี่มีสถานะเป็นพุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว มีเพียงกุฏิเล็ก ๆ สองหลัง แต่หลังจากที่หลวงพ่อปารมี สุรยุทโธ และพระครูใบฎีกา อำนาจ โอภาโส เดินทางมาปฏิบัติธรรมที่นี่ ทำให้มีผู้ศรัทธาเดินทางมากันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มมีการสร้างสถานที่สำคัญภายในวัดขึ้นทีละแห่ง จนได้รับการอนุมัติจัดตั้งเป็นวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
เจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้ว สิริราชย์ธรรมนฤมิต
สถานที่สำคัญในบริเวณวัดมีหลายแห่งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ เจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้ว สิริราชย์ธรรมนฤมิต ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี โดยความพิเศษของเจดีย์แห่งนี้ คือ ลวดลายการตกแต่งด้วยกระเบื้องหลากหลายสี เครื่องประดับ พลอย สร้อย กำไล ถ้วยชามเบญจรงค์ ฯลฯ ทำให้เจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้วมีความงดงามแปลกตาเมื่อมองจากภายนอก ส่วนบริเวณใต้ฐานพระเจดีย์ยังใช้เป็นที่เก็บรวบรวมหลักธรรมคำสอน ภาพปริศนาธรรม และเป็นสถานที่เจริญสติภาวนาสำหรับพุทธศาสนิกชน
ศิลปะการตกแต่งเจดีย์ด้วยกระเบื้องเบญจรงค์
การสร้างเจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้วยังทำให้ความเชื่อเรื่องพระธาตุลอยมาสถิตบริเวณนี้เป็นจริงในที่สุด เมื่อสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุให้นำมาประดิษฐานบนยอดเจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้วแห่งนี้
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ได้แก่ ภายในพระเศียรของ พระพุทธรัตนสัมฤทธิ์ผล หรือ พระหยกขาว พระพุทธรูปหยกปางขัดสมาธิเพชรที่สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะคันธาระ โดยได้มีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2548
มหาวิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ทุกคนต้องไปเยือน ได้แก่ มหาวิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งงดงามและแปลกตาด้วยเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปเรียงซ้อนกันบนฐานดอกบัวไล่ลำดับจากเล็กไปใหญ่รวมห้าพระองค์ โดยอิงจากเรื่องราวการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าพร้อมกันถึง 5 พระองค์ในพระไตรปิฎก และสร้างขึ้นเพื่อเป็นการร่วมน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหาวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมายุ 85 พรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยบริเวณชั้น 1 ถึง 3 จัดเป็นที่พักของผู้เข้าปฏิบัติธรรม ส่วนบริเวณอื่น ๆ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ เช่น สวนมนต์ ฟังธรรม และการปฏิบัติภาวนา
มหาวิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในอีกมุมมอง
ด้วยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมที่สวยงามเหมาะเจาะกับทำเลที่ตั้งเด่นเป็นสง่าบนเขาสูง ทำให้วัดพระธาตุผาซ่อนแก้วเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของนักเดินทางที่มาเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ต่างก็ต้องการบันทึกภาพในมุมสวยแปลกตา ดังนั้น ผู้ที่ตั้งใจมาเยือนที่นี่ควรระลึกเสมอว่า ที่นี่เป็นเขตสังฆาวาสที่มีพระภิกษุจำพรรษา และมีการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ จึงควรแต่งกายให้เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดคลุมเข่าและหัวไหล่ อยู่ในกิริยาที่สำรวม เคารพสถานที่ และไม่ส่งเสียงดังเกินไป
ทั้งนี้ ทางวัดไม่มีชุด เสื้อ หรือผ้าคลุมให้ยืมใช้ หากไม่ได้เตรียมมาและมีความต้องการที่จะเข้าไปสักการะทางด้านในเขตวัด ทางวัดมีจุดให้บริการซื้อผ้าคลุมไว้บริการในราคาผืนละ 120 บาท โดยรายได้ทั้งหมดนำไปร่วมทำบุญในกิจการสาธารณะกุศลกับทางวัดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย
วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
ที่ตั้ง : 95 หมู่ 7 บ้านทางแดง ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
โทร : 063 359 1554
Facebook : วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
เอาใจนักเดินทางสายแคมป์ปิ้งกันบ้าง กับสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะแก่การปล่อยจอยปล่อยใจอย่าง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่สามารถไปนอนเต็นท์แล้วทำกิจกรรมแบบเอาต์ดอร์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ขับรถออฟโร้ด ส่องสัตว์ยามราตรี หรือจะ ‘ขี่เสือข้ามทุ่ง’ ปั่นจักรยานเสือภูเขาลัดเลาะไป
ตามแนวป่าสนสองใบและทุ่งหญ้าสะวันนาแบบไทย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะได้สัมผัสธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด เพราะที่นี่มีเส้นทางผจญภัยแบบครบรส ทั้งปีนเขา ปั่นจักรยานสัมผัสสภาพป่าที่หลายหลาก คนรักการปั่นจักรยานยกย่องให้ประสบการณ์ขี่จักรยานที่นี่เป็นสุดยอดทริปในฝันก็ว่าได้
เต็นท์ที่พักในทุ่งแสลงหลวง
เส้นทางสัญจรในทุ่งแสลงหลวง
สำหรับเส้นทางที่เรียกว่า “ข้ามทุ่ง” นั้นเป็นการขี่จักรยานลัดข้ามจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ฝั่งหนองแม่นา (เขาค้อ) ไปทะลุที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ทุ่งแสลงหลวงฝั่งพิษณุโลก บริเวณ กม.ที่ 80 รวมระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างท้าทาย ต้องผ่านป่า ขึ้นเนินเล็กน้อย จากหนองแม่นา ไปจนถึง ทุ่งโนนสน และมีลงเขาในครึ่งทางหลัง จึงเหมาะสำหรับขาลุยที่ชำนาญ โดยนักปั่นต้องทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ณ ที่ทำการก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางอนุรักษ์และเพื่อความปลอดภัยสำหรับตัวนักปั่นเอง
เส้นทางปั่นจักยานในทุ่งแสลงหลวง
สำหรับใครที่อยากปั่นจักรยานชมทิวทัศน์เพลิน ๆ แนะนำเส้นทางขี่จักรยาน 2 เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง-ทุ่งนางพญา ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งวังน้ำเย็น ระยะทางประมาณ15 กิโลเมตร
ทุ่งนางพญาเมืองเลน
อีกหนึ่งจุดหมายที่แนะนำให้ไปเยือน ได้แก่ ทุ่งนางพญาเมืองเลน ทุ่งหญ้ากว้างที่แวดล้อมด้วยป่าสนสองใบสูงเสียดฟ้าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย สลับกับป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง หากสังเกตตามกิ่งสนจะพบกล้วยไม้ป่าที่สวยงาม เช่น เอื้องชะนีและเอื้องคำปากไก่ ซึ่งออกดอกในฤดูร้อน ส่วนในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีสายหมอกลอยอ้อยอิ่งปกคลุมไปทั่วบริเวณ
ความงามของป่าสะวันนาเมืองไทย
ใครอยากใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่านั้น สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้พาไปส่องสัตว์เวลากลางคืนได้ โดยกิจกรรมจะเริ่มราว ๆ 1 ทุ่มไปจนถึง 2 ทุ่มครึ่งเพื่อไม่ให้รบกวนสัตว์ป่าจนเกินไป ซึ่งสัตว์ป่าส่วนมากที่พบ ได้แก่ เนื้อทรายที่มักออกมากินหญ้าระบัดใหม่ รวมถึงเก้ง กระจง กวาง หมาไน ฯลฯ
ยามเช้าห้ามพลาดโมงยามสำคัญอย่างการตื่นก่อนตะวัน เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณจุดชมวิวของทุ่งแสลงหลวง รับรองว่าภาพทิวทัศน์ของสนสูงที่ถูกอาบไปด้วยแสงทองของอรุณรุ่งจะประทับอยู่ในใจไปอีกนาน
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 - 16.30 น.
อัตราค่าบริการเข้าอุทยานฯ : ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 500 บาท เด็ก 300 บาท
โทร : 088 756 4940
Facebook : อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
อ้างอิง
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า.https://bit.ly/3QPJPoe
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.ภูทับเบิก.https://bit.ly/47jWpU5
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ.https://bit.ly/47CuePS
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง (หนองแม่นา).https://bit.ly/47Ia4nu
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.น้ำตกศรีดิษฐ์.https://bit.ly/3MT3anE
- องค์การบริหารส่วนตำบลเขาค้อ.เส้นทางขี่จักรยานเส้นทางทุ่งแสลงหลวง.https://bit.ly/47FXm8N