ชวนเที่ยว ‘เมียนมา’ ไหว้ขอพร 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดเสริมมงคลให้ชีวิตปัง

21 Oct 2024 - 7 mins read

Travel / World

Share

ว่ากันว่า ใครก็ตามถ้าอยากพลิกชีวิตให้ดีขึ้นปังขึ้นกว่าเดิม ต้องเดินทางไปเสริมดวงและสร้างบุญบารมีที่เมียนมา

 

‘เมียนมา’ หรือที่ใครหลายคนยังคงเรียกขานด้วยชื่อเดิมจากความคุ้นชินว่า ‘พม่า’ เป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากความรุ่มรวยและความงดงามของบรรดาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทั้งวัดวาอาราม พระพุทธรูปเก่าแก่ และองค์พระเจดีย์ ทั้งหมดนี้คือหลักฐานที่ใช้ยืนยันความยึดมั่นในหลักพระธรรมคำสอนและความเลื่อมใสในพุทธศาสนาของชาวเมียนมาได้เป็นอย่างดี

 

ในสายตาของนักเที่ยวสายมูและพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก จึงไม่เพียงมองเห็นเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ไทย แต่ยังยกย่องให้เป็น ‘ดินแดนแห่งพุทธศรัทธา’ ที่มีจุดหมายปลายทางของการแสวงบุญและบูชาพุทธคุณ ณ ‘มหาบูชาสถาน’ ซึ่งประกอบด้วยมหาเจดีย์ 4 แห่ง และพระพุทธรูปมหามงคล 1 แห่ง โดยมีความเชื่อว่า หากใครได้เดินทางไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมาครบทั้ง 5 แห่งในคราวเดียว ผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์ของบุญมหาศาลช่วยหนุนนำชีวิตให้ดีวันดีคืน

 

เพื่อเอาใจคนไทยสายมูและสายบุญที่รู้แล้วอดใจไม่ไหว อยากรีบจัดทริปไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่เมียนมา ในบทความนี้ LIVE TO LIFE ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญเอาไว้ให้ทุกคนเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะวิธีสักการะและเคล็ดลับขอพรที่มหาบูชาสถานให้ครบทุกแห่ง

 

 

จากไทยไปเมียนมา

ทริปมหามงคลแห่งศรัทธา

อุ่นเครื่องด้วยสารพัดเรื่องควรรู้ ที่จะทำให้ทุกคนสามารถท่องเที่ยวเมียนมาได้อย่างไร้กังวล เริ่มต้นด้วยการเดินทางจากไทยไปเมียนมา ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมามากถึง 7 จังหวัด แต่กลับมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นกลางระหว่างสองประเทศ กลายเป็นพื้นที่ราบสูงที่ถูกปกคลุมด้วยป่าหนาแน่น การเดินทางโดยเครื่องบิน จึงเป็นวิธีที่สะดวก ง่าย ปลอดภัย และรวดเร็วที่สุด ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาทีเท่านั้น

 

ส่วนการเดินทางภายในประเทศเมียนมาไปยังสถานที่ต่าง ๆ นั้น มีให้เลือกหลายวิธี ทั้งรถยนต์แบบเช่าเหมาคันพร้อมคนขับ รถบัส รถแท็กซี่ รถตู้รับจ้าง และรถไฟ แต่ถ้าต้องเดินทางข้ามเมืองที่อยู่ไกลจากย่างกุ้ง ซึ่งปกติใช้เวลานานหลายชั่วโมง แนะนำให้ใช้บริการสายการบินท้องถิ่น เพราะสะดวกและมีให้เลือกหลายสายการบิน เช่น แอร์พุกาม (Air Bagan), แอร์มัณฑะเลย์ (Air Mandalay), เอเชียนวิงส์แอร์เวย์ (Asian Wings Airways), โกลเดนเมียนมาแอร์ไลน์ (Golden Myanmar Airlines) และ เมียนมาแอร์เวย์อินเตอร์เนชันแนล (Myanmar Airways International)

 

อีกเรื่องที่ต้องเตรียมให้พร้อม คือ สกุลเงิน เพราะการจับจ่ายในเมียนมายังคงใช้เงินสดเป็นหลัก จึงต้องแลกเงินบาทเป็นสกุลเงินจัต (MMK) ที่สนามบินย่างกุ้งให้เพียงพอกับการใช้จ่ายตลอดทริป เพราะในประเทศไทยไม่มีให้แลก หรืออาจแลกเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ก่อน แล้วค่อยนำไปแลกเป็นสกุลเงินจัตที่เมียนมาอีกทีหนึ่ง บางคนอาจแลกเผื่อไว้ทั้งสองสกุลเงิน เพราะร้านค้าและแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยินดีรับทั้งเงินจัตและเงินดอลลาร์สหรัฐ สำหรับคนที่ต้องการแลกเงินเพิ่ม ด้วยข้อจำกัดของตู้กดเงินอัตโนมัติซึ่งยังไม่แพร่หลายในเมียนมา แนะนำให้เดินทางไปแลกที่ธนาคารจะดีที่สุด

 

 

การแต่งกายและกฎเยี่ยมชมสถานที่

มาถึงเรื่องสำคัญที่สุดของทริปนี้ที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด คือ การทำความเข้าใจรายละเอียดของกฎระเบียบก่อนเข้าชมมหาบูชาสถานแต่ละแห่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะว่าทุกแห่งเป็นศาสนสถานสำคัญของชาติที่คนเมียนมาให้ความเคารพนับถือสูงสุด จึงแนะนำให้แต่งกายมิดชิด สวมกางเกงขายาวหรือกระโปรงคลุมเข่า บางแห่งอาจมีบริการให้เช่าผ้าถุงหรือโสร่งเพื่อสวมทับเพื่อความสุภาพ

 

ก่อนย่างเท้าเข้าเขตศาสนสถานก็ต้องถอดรองเท้าและถุงเท้าออกตั้งแต่รั้วด้านนอกให้เหลือเพียงเท้าเปล่า นี่คือธรรมเนียมที่ชาวเมียนมาทุกคนยึดถือมาแต่โบราณ รวมถึงต้องถอดหมวกและแว่นกันแดดออกด้วย เพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อสถานที่ด้วยใจจริง

 

นอกจากนี้ ทุกคนยังจำเป็นต้องรู้กฎเหล็กขณะเข้าชมว่า ศาสนสถานบางแห่งได้กำหนดเขตหวงห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเพศหญิงเข้าถึง ด้วยเหตุผลทางพุทธศาสนา แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะทุกที่มีป้ายบอกไว้อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องการถ่ายภาพและวิดีโอ บางแห่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากค่าเข้า ซึ่งต้องจ่ายให้เรียบร้อยก่อนถึงจะสามารถนำกล้องหรือสมาร์ตโฟนเข้าไปด้วยได้ และต้องถ่ายด้วยความสำรวม ระมัดระวังไม่ให้รบกวนผู้อื่น

 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องสำคัญที่ควรรู้ก่อนเริ่มทริปแห่งศรัทธาและความมงคล เพื่อทุกคนจะได้เดินทางไปกราบไหว้และขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดครบทั้ง 5 ทั่วเมียนมาได้อย่างราบรื่นและสบายใจ

 

 

มหาบูชาสถาน แห่งที่ 1

ย่างกุ้ง : มหาเจดีย์ชเวดากอง

พุทธสถานศูนย์รวมใจของชาวเมียนมา

 

‘มหาเจดีย์ชเวดากอง’ ประดิษฐานบนเนินเขาเชียงกุตระ อยู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง ด้วยความสูงตระหง่านถึง 112 เมตร จึงมองเห็นองค์มหาเจดีย์ได้แต่ไกล ตามตำนานเล่าว่า เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ 2,500 ปีก่อน โดยพ่อค้าชาวมอญ 2 คนที่เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า หลังได้เข้าเฝ้าถวายภัตตาหารและปวารณาตนเป็นอุบาสก (ผู้ชายที่นับถือศาสนาพุทธ) คู่แรก พระพุทธเจ้าถึงได้ประทานพระเกศาธาตุหรือผมจำนวน 8 เส้นให้ เมื่อพ่อค้าทั้งสองเดินทางมาถึงเมืองย่างกุ้ง จึงริเริ่มสร้างเจดีย์ทองคำเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุให้ผู้คนได้บูชาเป็นมงคลแก่ชีวิต

 

คำว่า ‘ชเว’ จึงแปลว่าทอง ส่วนคำว่า ‘ดากอง’ เป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง รวมกันแปลว่า ‘เจดีย์ทองคำแห่งเมืองดากอง’ แต่กว่าจะบริบูรณ์เป็นเจดีย์ทองคำอร่ามองค์ใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน มหาเจดีย์ชเวดากองผ่านการบูรณะมาหลายครั้งหลายครา ว่ากันว่าปริมาณทองคำที่ใช้หุ้มเจดีย์ชเวดากองนั้นมีปริมาณมหาศาลเกินกว่าจะประเมินค่าได้ ยังไม่รวมส่วนยอดที่ประดับด้วยเพชร 5,448 เม็ด โดยเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่าฝ่ามือหนัก 72 กะรัต และอัญมณีอื่น ๆ อีก 2,317 เม็ด

 

สำหรับคนที่เดินทางมายังมหาเจดีย์ชเวดากองในช่วงพลบค่ำ แนะนำให้ชมปรากฏการณ์ประกายเพชรบริเวณลานอธิษฐาน เพราะเป็นความงดงามที่ต้องมองด้วยตาเปล่า ซึ่งสีของเพชรที่มองเห็นจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ยืนดู

 

เมื่อเดินขึ้นไปถึงด้านบนจะเห็นลานกว้าง เป็นจุดที่ชาวเมียนมาใช้นั่งเพื่อกราบไหว้ขอพรและสวดมนต์ โดยมีความเชื่อว่า ถ้าขอพรภายในแนวกระเบื้องรูปดาว จะได้ตามสิ่งที่หวัง

 

หลังจากขอพรเสร็จให้เดินเวียนขวารอบมหาเจดีย์ชเวดากองตามเข็มนาฬิกาเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นให้ไหว้ พระพระพุทธรูป เทวดานพเคราะห์ และนักษัตรประจำวันเกิด ซึ่งประดิษฐานอยู่รอบมหาเจดีย์ทั้ง 8 ทิศ ดังนี้

  • วันอาทิตย์ มีรูปปั้นครุฑเป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • วันจันทร์ มีรูปปั้นเสือเป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศตะวันออก
  • วันอังคาร มีรูปปั้นสิงห์เป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
  • วันพุธกลางวัน มีรูปปั้นช้างมีงาเป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศใต้
  • วันพุธกลางคืน มีรูปปั้นช้างไม่มีงาเป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศใต้
  • วันพฤหัสบดี มีรูปปั้นหนูหางสั้นเป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศตะวันตก
  • วันศุกร์ มีรูปปั้นหนูหางยาวเป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศเหนือ
  • วันเสาร์ มีรูปปั้นพญานาคเป็นสัญลักษณ์ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

 

ขั้นตอนสักการะให้เริ่มต้นด้วยการตั้งสวดนะโม 3 จบ หากเตรียมดอกไม้มา ให้วางเป็นเครื่องบูชาก่อน แล้วค่อยอธิษฐานจิตถึงสิ่งที่ใจปรารถนา จากนั้นรดน้ำตามจำนวนอายุบวกหนึ่ง เช่น อายุ 35 ปี ให้รดน้ำ 36 ขัน แบ่งรดพระพุทธรูป เทวดานพเคราะห์ และนักษัตรประจำวันเกิดเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน หากเหลือเศษให้รดที่นักษัตรประจำวันเกิด

 

แม้บริเวณโดยรอบจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมาก แต่สิ่งที่บ่งบอกถึงศรัทธาของชาวเมียนมาและพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ คือ ความสงบเสงี่ยม เพราะทุกคนสำรวมทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อแสดงความเคารพสูงสุดต่อมหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ควรค่าให้มาสัมผัสด้วยตัวเองจริง ๆ

 

มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) แห่งย่างกุ้ง

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 04.00-22.00 น.

ค่าเข้าชม : 20,000 จัต

ค่ากล้อง : ไม่เสียค่าธรรมเนียม

 

 

มหาบูชาสถาน แห่งที่ 2

หงสาวดี : พระธาตุมุเตา

แหงนหน้าอธิษฐานจิตให้ชีวิตอยู่จุดสูงสุด

 

‘เจดีย์ชเวมอดอร์’ คือชื่อภาษาเมียนมา ยังมีอีกชื่อที่ใช้เรียกแทนได้ เป็นภาษามอญว่า ‘พระธาตุมุเตา’ เพราะภายในองค์เจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ 2 เส้น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับชื่อหลังมากกว่า ว่ากันว่าพระธาตุมุเตามีอายุถึง 2,000 ปี เพราะอยู่คู่บ้านคู่เมืองหงสาวดีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แต่ลักษณะของเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2497 

 

หากมองดูด้วยตาจะเห็นว่าค่อนข้างคล้างคลึงกับมหาเจดีย์ชเวดากอง แต่ต่างตรงที่ตัวองค์พระธาตุมุเตามีลักษณะแคบเข้าและเรียวกว่า เพราะว่าเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะของเมียนมากับศิลปะของมอญเข้าไว้ด้วยกัน

 

พระธาตุมุเตายังครองตำแหน่งเจดีย์ที่มีความสูงมากที่สุดในเมียนมา ด้วยความสูงถึง 114 เมตร ซึ่งสูงมากกว่ามหาเจดีย์ชเวดากอง 2 เมตร หากจะมองให้เห็นถึงยอดเจดีย์ ต้องยืนกลางแจ้งแล้วแหงนหน้าท้าแสงแดดมองขึ้นไป เป็นที่มาของชื่อ ‘มุเตา’ ซึ่งแปลว่า ‘จมูกร้อน’ เพราะจมูกมักจะถูกแสงแดดแผดเผาจนแสบร้อนขณะมองยอดเจดีย์

 

ทางเข้าพระธาตุมุเตาอยู่ทางทิศตะวันตก ตรงเชิงบันไดมีสัตว์มงคลเป็นสิงห์คู่ขนาบข้างซ้ายขวา คอยทำหน้าที่ทวารบาลเพื่อปกปักรักษาพระธาตุมุเตา

 

หากสังเกตในปากของสิงห์ที่อ้าอยู่ จะเห็นปูนปั้นเป็นพระอุปคุตกำลังล้วงข้าวในบาตร มีความศักดิ์สิทธิ์ด้านคุ้มครองป้องกันภัย ให้โชคลาภและอำนาจบารมี ถือเป็นจุดแรกที่แนะนำให้ไหว้ขอพรก่อนขึ้นบันได

 

หลังจากขึ้นบันไดมาแล้ว จะเห็นองค์พระธาตุมุเตาสีทองอยู่ตรงหน้า เดินมาทางทิศตะวันออก หรือเดินตามเข็มนาฬิกามาเรื่อย ๆ จะเห็นส่วนของปลียอดเจดีย์ที่หักลงมา ต้องย้อนไปในสมัยโบราณ พระธาตุมุเตาต้องประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้ง แต่ครั้งที่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ทำให้ส่วนยอดสุดของเจดีย์หักออก

 

ความน่าอัศจรรย์ก็คือ ส่วนที่หักยังคงสภาพเป็นอิฐเช่นเดิมไม่แตกสลายและไม่ได้ตกลงถึงพื้นดิน เกิดเป็นความเชื่อว่า หากใครได้กราบไหว้องค์พระธาตุมุเตา แล้วใช้ก้านธูปไปค้ำพร้อมกับเอาหน้าผากไปแตะกับปลียอดที่หัก ชีวิตและดวงชะตาของผู้นั้นจะพลิกผันจากร้ายเป็นดี จากต่ำเป็นสูง ประสบแต่ความมั่นคงถาวรและความเจริญรุ่งเรือง มีสิ่งดีช่วยค้ำจุนชีวิตไม่ให้ตกต่ำเหมือนกับปลียอดของพระธาตุมุเตา แม้จะหักออกแต่ก็ไม่ได้ตกลงเตะพื้น

 

ชาวเมียนมาถือว่า จุดนี้เป็นจุดอธิษฐานจิตที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด จึงเดินทางมากราบไหว้ขอพรอย่างไม่ขาดสาย แม้แดดจะแรง แต่ความเลื่อมใสและศรัทธาของชาวเมียนมานั้นแรงกล้ากว่ามาก

 

เจดีย์ชเวมอดอร์ (Shwemawdaw Pagoda) แห่งหงสาวดี

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 04.00-22.00 น.

ค่าเข้าชม : เข้าชมฟรี

ค่ากล้อง : ไม่เสียค่าธรรมเนียม

 

 

มหาบูชาสถาน แห่งที่ 3

ไจโท : พระธาตุอินทร์แขวน

หินแห่งศรัทธาบนหน้าผาหมิ่นเหม่และสูงชัน

 

บนยอดเขาพวงลวงในเมืองไจโท ซึ่งสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,615 ฟุต เป็นที่ประดิษฐานของ ‘ไจ้ก์ทิโย’ หรือหินสีทองก้อนใหญ่ยักษ์ที่รองรับเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งภายในบรรจุพระเกศาธาตุไว้ ชาวเมียนมามองว่าคล้ายกับผ้าโพกหัวของฤๅษีจึงตั้งชื่อเรียกตามลักษณะเด่นที่เห็น เพราะคำว่าไจ้ก์ทิโย แปลตรงตัวหมายถึงเจดีย์ผ้าโพกหัวของฤๅษี ส่วนสาเหตุที่หินทั้งก้อนเป็นสีทอง เกิดจากการปิดทองคำเปลวตามแรงศรัทธาของพระและผู้คนที่ไปสักการะ

 

ด้วยความอัศจรรย์ที่เลื่องลือมาถึงประเทศไทย ไจ้ก์ทิโยจึงเป็นมหาบูชาสถานที่คนไทยนิยมเดินทางไปสักการะ ถึงขนาดมีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ‘พระธาตุอินทร์แขวน’ มาจากความเชื่อว่า พระอินทร์นำก้อนหินที่รองรับพระเจดีย์ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุมาแขวนไว้บนหน้าผาหมิ่นเหม่และสูงชัน หากมองดูอย่างผิวเผินเหมือนพร้อมจะตกลงมาตลอด แต่กลับลอยค้างต้านแรงโน้มถ้วงของโลกอยู่ได้ ว่ากันว่าเคยมีการพิสูจน์ ลองนำด้ายลอดผ่าน ผลก็คือ หินทั้งสองไม่ได้สัมผัสกัน เป็นความอัศจรรย์ที่ควรค่ามาเห็นเป็นบุญตาสักครั้งหนึ่งในชีวิต

 

ชาวเมียนมายังมีความเชื่อที่นับถือกันมานานว่า เพื่อให้ได้บุญสูงสุดเหมือนขึ้นสวรรค์ จะต้องขึ้นไปสักการะให้ครบ 3 ครั้ง 3 เวลา ภายในทริปเดียว ดังนี้

  • สักการะครั้งที่ 1 ช่วงเวลาบ่าย สักการะเสร็จให้กลับที่พักมาอาบน้ำ
  • สักการะครั้งที่ 2 ช่วงเวลาค่ำที่ท้องฟ้าไม่มีแสงพระอาทิตย์ ถือโอกาสชมความงามของพระธาตุอินทร์แขวนยามค่ำคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงามและแปลกตากว่าตอนกลางวัน
  • สักการะครั้งที่ 3 ช่วงเวลาย่ำรุ่ง หรือเวลาเช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

 

สำหรับคนที่มีเวลาจำกัด สามารถรวบรัดให้ครบภายในวันเดียวแทน เพราะพระธาตุอินทร์แขวนเปิดให้เข้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนข้อควรระวังคือ ขั้นตอนปิดทองที่องค์พระธาตุ ด้วยเหตุผลทางพุทธศาสนาจึงอนุญาตให้ผู้มีจิตศรัทธาเพศชายเท่านั้นที่สัมผัสองค์พระธาตุได้โดยตรง หากเป็นผู้มีจิตศรัทธาเพศหญิง ให้ฝากพระหรือผู้มีจิตศรัทธาเพศชายเข้าไปปิดทองคำแทนตน โดยบริเวณที่เป็นเขตหวงห้ามจะมีป้ายบอกไว้อย่างชัดเจน

 

นอกเหนือจากความน่าอัศจรรย์ของพระธาตุอินทร์แขวน ด้านบนยังเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นเมืองไจโท ซึ่งโอบล้อมด้วยทิวเขาสูงใหญ่ทอดยาวไปไกลสุดตา เป็นภาพความสวยงามท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย ซึ่งให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากมหาบูชาสถานอื่น ๆ ทั้ง 4 แห่ง

 

พระธาตุอินทร์แขวน (Kyaikhtiyo) แห่งไจโท

เวลาทำการ : ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ค่าเข้าชม : เข้าชมฟรี

ค่ากล้อง : 300 จัต (ถ่ายรูป), 500 จัต (ถ่ายคลิป)

 

 

 

มหาบูชาสถาน แห่งที่ 4

พุกาม : มหาเจดีย์ชเวสิกอง

สักการะต้นแบบของเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมา

 

‘มหาเจดีย์ชเวสิกอง’ ตั้งอยู่ในพุกาม เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์ เพราะในอดีตเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด จึงมีการสร้างเจดีย์ไว้ที่เมืองนี้เป็นจำนวนมาก แต่เจดีย์ที่วิจิตรตระการตา และได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของเจดีย์องค์อื่น ๆ ในเมียนมา

 

คำว่า ‘ชเว’ ที่แปลว่าทอง เมื่อรวมกับ ‘สิกอง’ ซึ่งแปลว่ามัดไว้ จึงหมายถึง ทองที่มัดไว้เป็นเจดีย์ มีความสูงราว 53 เมตร มีฐานสามชั้น องค์ระฆัง ปล้องไฉน ปัทมบาท ปลียอด และฉัตร ทั้งหมดคือองค์ประกอบของเจดีย์ที่สมบูรณ์แบบ พุทธศิลป์ส่วนใหญ่ในพุกามมักได้รับอิทธิพลมาจากมอญทั้งสิ้น เช่นเดียวกับรูปทรงขององค์มหาเจดีย์ ก็เป็นทรงระฆังคว่ำแบบฉบับชาวมอญ

 

มหาเจดีย์ชเวสิกองสร้างขึ้นช่วงต้นปี พ.ศ. 1700 ในสมัยพระเจ้าอโนรธามหาราช แล้วเสร็จในสมัยกษัตริย์จันสิตธา ในตำนานเล่าว่าพระเจ้าอโนรธาได้พระเขี้ยวแก้วมาจากเมืองลังกาและได้พระบรมสารีริธาตุส่วนหน้าผากและไหปลาร้ามาจากเมืองศรีเกษตร จึงได้อัญเชิญใส่หลังช้างเผือกเดินเสี่ยงทายมาเรื่อย ๆ จนช้างมาหยุดอยู่ที่เมืองพุกามแห่งนี้ พระองค์จึงสร้างมหาเจดีย์ชเวสิกองขึ้น 

 

ด้านในมหาเจดีย์ชเวสิกอง นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของพระเขี้ยวแก้วและพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังมีหอผีนัต เป็นวิหารยาวที่ตั้งรูปผีหลวง ซึ่งชาวเมียนมาเชื่อตั้งแต่โบราณกาลว่าเป็นผีร้ายตายโหงที่กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษามนุษย์ ผีนัตจึงเป็นผีกึ่งเทพที่ผูกพันอยู่กับศาสนาพุทธและวัฒนธรรมของชาวเมียนมามาอย่างยาวนาน

 

นอกจากความสมบูรณ์แบบ วิจิตร และอลังการแล้ว ชาวเมียนมายังเชื่ออีกว่า องค์มหาเจดีย์ชเวสิกองมีความอัศจรรย์ 9 ประการ ซึ่งทำให้ที่นี่ยิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่นับถือของผู้คน

 

1. ฉัตรด้านบนไม่ใช้เหล็กยึด แต่ยังสามารถตั้งตระหง่านอยู่ได้

2. เงาเจดีย์ไม่เคยเปลี่ยนตำแหน่ง และไม่ทอดยาวเกินจากฐานองค์เจดีย์

3. กระดาษหุ้มทองคำเปลวไม่เคยปลิวออกนอกกำแพงแก้ว

4. แม้ว่าจะมีผู้คนเข้าไปสักการะมากมาย แต่ภายในจุคนไม่เคยเต็ม

5. มีการตักบาตรทุกวัน และมีข้าวสุกอยู่ในนั้นก่อนเสมอ เชื่อว่าเป็นเทวดามาตักบาตร

6. หากตีกลองฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งจะไม่ได้ยินเสียง 

7. ฐานเจดีย์ตั้งอยู่บนพื้นราบ แต่เมื่อมองจากภายนอกจะดูคล้ายตั้งอยู่บนเนินเขา 

8. ฝนตกหนักแค่ไหน แต่น้ำไม่เคยท่วมขัง

9. ต้นพิกุลที่ปลูกอยู่รอบ ๆ องค์เจดีย์ ออกดอกตลอดปี

 

การกราบไหว้เจดีย์ชเวสิกองนั้นเรียบง่าย เพียงเตรียมดอกไม้และทองคำเปลวซึ่งมีเจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้บริการภายใน และหลังจากสักการะเรียบร้อยแล้ว ต้องไม่พลาดไปสัมผัสและพิสูจน์สิ่งอัศจรรย์ทั้ง 9 ประการด้วยตัวเอง 

 

มหาเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon Pagoda) แห่งพุกาม

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 04.00-22.00 น.

ค่าเข้าชม : 10,000 จัต

ค่ากล้อง : ไม่เสียค่าธรรมเนียม

 

 

มหาบูชาสถาน แห่งที่ 5

มัณฑะเลย์ : พระมหามัยมุนี

ชมพิธีหาดูยากของพระพุทธรูปมีชีวิตหนึ่งเดียวในเมียนมา

 

หนึ่งในพระพุทธรูปที่งดงามและศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของเมียนมา คือ ‘พระมหามัยมุนี’ แห่งเมืองมัณฑะเลย์ องค์พระหล่อด้วยทองสำริด เป็นปางมารวิชัยแบบเมียนมา พระหัตถ์ขวาเหยียดชี้ลงพื้นดิน แสดงกิริยาประทับนั่ง พระวรกายปิดแน่นด้วยแผ่นทองคำเปลว ที่โดดเด่นที่สุดคือ พระพักตร์เกลี้ยงเกลา วาววับ งดงาม เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่โดดเด่นที่สุด 

 

พระมหามัยมุนีถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 689 แต่เดิมพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่เมืองยะไข่ แต่ด้วยความวิจิตร ซึ่งยากจะหาองค์ใดเหมือน จึงทำให้เกิดการแย่งชิงพระพุทธรูปขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งทำสำเร็จในสมัยของพระเจ้าปุดง ทำให้พระมหามัยมุนีได้มาประดิษฐานที่มัณฑะเลย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2357 เป็นต้นมา ภายในมณฑปหลังคาทรงปราสาทสีทองสะดุดตา

 

ตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแสดงธรรมที่เมืองยะไข่ตามคำอธิษฐานของพระเจ้าจันทรสุริยาผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อครบ 7 วันก่อนเสด็จกลับ จึงได้หล่อรูปเหมือนของพระพุทธองค์เอาไว้ให้ชาวเมืองได้กราบไหว้ และตั้งชื่อว่า ‘มหามัยมุนี’ หมายถึง มหาปราชญ์ จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ถูไคลจากอกแล้วปั้นเป็นก้อน พร้อมเป่าลมหายใจใส่ลงไปในรูปหล่อ ทำให้ชาวยะไข่เชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีชีวิต และนำมาซึ่งพิธีกรรม ‘ล้างพระพักตร์’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้

 

หากใครได้มาสักการะพระมหามัยมุนี ต้องไม่พลาดชมพิธีกรรมล้างพระพักตร์ที่เริ่มตั้งแต่ตี 4 ซึ่งเจ้าหน้าที่วัดจะนำผ้าสะอาดชุบทานาคามาถูล้างพระพักตร์ของพระพุทธรูป ตามด้วยการล้างพระโอษฐ์ แปรงพระทนต์ เช็ดถูทำความสะอาดจนพระพักตร์เปล่งปลั่ง วาววับ

 

ผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงสามารถกราบไหว้พระมหามัยมุนีได้ด้วยดอกไม้สดและธูปเทียน ส่วนการนำทองคำเปลวไปปิดทองที่พระวรกายนั้นอนุญาตเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงไม่สามารถเข้าใกล้องค์พระได้ในระยะ 10 เมตร ถึงแม้ไม่ได้ปิดทอง แต่ทางวัดก็มีมุมที่เตรียมหินฝน ขันน้ำ และทานาคาไว้ให้พุทธศาสนิกชนทั้งชายและหญิงมาช่วยกันฝนสำหรับพิธีล้างพระพักตร์ในเช้าวันถัดไป

 

ชาวเมียนมามีความเชื่อว่า หากได้ช่วยตระเตรียมเครื่องหอมและร่วมพิธีล้างพระพักตร์จะส่งผลให้ในชาติหน้าเกิดมามีรูปโฉมและใบหน้าที่งดงาม

 

พระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha Temple) แห่งมัณฑะเลย์

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 04.00-18.00 น.

ค่าเข้าชม : 10,000 จัต

ค่ากล้อง : ไม่เสียค่าธรรมเนียม

 

 

อ้างอิง

  • ภภพพล จันทร์วัฒนกุล. (2553). ๖๐ วัด วัง และสถานที่สำคัญในพม่า. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
  • สันติ ลิมป์กิตติพร. (2559). ได้เวลาเที่ยวพม่า. สำนักพิมพ์ฟอร์เวิร์ด.
  • Simon Richmond. (2017). Myanmar (Burma). Lonely Planet.
  • Tourism Myanmar. Yangon Shwedagon Pagoda. https://bit.ly/3zR7Reb

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...