

แชร์เทคนิคทำธุรกิจกับคนต่างวัยให้รุ่ง บุกครัว ‘ข้าวกล่องอาม่า’ Food Delivery ที่โตวันโตคืน
Wealth / Business
19 Aug 2024 - 7 mins read
Wealth / Business
SHARE
19 Aug 2024 - 7 mins read
“ปีนี้ข้าวกล่องอาม่าก้าวสู่ปีที่ 6 แล้วครับ ผมตั้งเป้าเอาไว้ที่ร้อยล้าน ตอนนี้ยังห้าล้านอยู่เลย”
ไบร์ท - พิชญุตม์ กุศลสิทธิรัตน์ ผู้ก่อตั้ง Food Delivery แบรนด์ ‘ข้าวกล่องอาม่า’ ตอบคำถามแบบทีเล่นทีจริง เมื่อ LIVE TO LIFE เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการถามถึงอายุของแบรนด์ข้าวกล่องที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคน 4 คน คือ เขา อาม่า และพ่อกับแม่ ที่ปัจจุบันขยับขยายสู่การมีพนักงานในบริษัทราว 70 คน
“ลงทุนไม่ถึงห้าพัน ตอนนี้ทำได้ห้าล้านแล้ว” อาม่ารัตนา อภิเดชากุล หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการร่วมก่อร่างสร้างแบรนด์มากับหลานชาย เอ่ยประโยคสั้น ๆ ที่สื่อถึงความภูมิใจผ่านรอยยิ้มอบอุ่น
ทั้งคู่ตกลงสร้างแบรนด์ข้าวกล่องด้วยกันในวันที่หลานชายอายุ 20 ต้น ๆ และอาม่าในวัย 70 กว่า พร้อมกับมีคุณพ่อคุณแม่ของไบร์ทเป็นหนึ่งในขุมพลังสำคัญ ที่ต่างคนต่างก็งัดเอาความถนัดของตัวเองมาใช้ในการสร้างธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ ไปด้วยกัน
อาม่ารัตนา อภิเดชากุล กับ ไบร์ท - พิชญุตม์ กุศลสิทธิรัตน์
จากจุดเริ่มต้นของการที่ ไบร์ท - พิชญุตม์ อยากให้สมาชิกทุกคนในบ้านได้ใช้ชีวิตร่วมกัน โดยอาศัยการทำงานเป็นกลไกหลัก แม้จะเหน็ดเหนื่อยและเจออุปสรรคมากแค่ไหน ตัวเลขของวัยก็ไม่เคยเป็นปัญหา
ตรงกันข้าม ยิ่งข้าวกล่องภายใต้โลโก้สีเหลืองสดกับตัวการ์ตูนอาม่าเจ้านี้โดนคำตำหนิติเตียนมากแค่ไหน ก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแก้ไขและพัฒนาจนเติบโตเป็นแบรนด์ข้าวกล่องราคาย่อมเยา ส่งฟรี และอร่อยถูกปาก เป็นมื้อง่าย ๆ ที่ให้ความรู้สึกแบบที่อาม่า ‘ทำให้หลานมันกิน’ สมกับ Tagline ของแบรนด์
ทำความรู้จักเบื้องหลังของ ‘ข้าวกล่องอาม่า’ ผ่านเรื่องเล่าของเหล่าสมาชิกร่วมอุดมการณ์ ที่ไม่ได้มีแค่คนในครอบครัว แต่ยังมีพลังของเพื่อนเป็นแรงหนุนหลัง กับการเดินทางที่ยังต้องไปต่ออีกไกล
เมื่อหลานชายอยากเป็นเจ้าของธุรกิจในวัย 23 ปี
ไบร์ท : “ความมั่นใจในการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองเกิดจาก Passion เป็นหลัก นั่นคือ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และอยากใช้ชีวิตกับครอบครัวให้มากขึ้น ผมใกล้ชิดกับครอบครัวถึงแค่ชั้นประถม พอเข้าชั้นมัธยมผมเริ่มเป็นนักกีฬาจนถึงจบมหาวิทยาลัย กว่าจะซ้อมเสร็จกลับถึงบ้านก็สามทุ่ม พ่อแม่เข้านอนแล้ว เพราะพวกเขาต้องตื่น 7 โมงเช้าเพื่อไปทำงาน ส่วนอาม่าก็แยกกันอยู่คนละบ้าน ผมเลยอยากทำธุรกิจครอบครัวเพื่อให้ทุกคนได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา”
“ผมเรียนจบสาขาการบริหารจัดการมาโดยตรง เลยอยากเป็นเจ้าของกิจการ และมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจข้าวกล่อง Delivery ในช่วงที่ผมเคยทำงานประจำด้านออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าจำพวกอุปกรณ์ไอทีที่วางขายในร้านประเภทตู้ตามห้างสรรพสินค้า ผมจึงลองไปสำรวจตลาดในห้างเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า ปรากฏว่าผมหมดเงินกับฟู้ดคอร์ทไปเยอะมาก แล้วพนักงานที่ทำงานในห้างล่ะ เขาต้องเสียเงินไปกับค่าอาหารแพง ๆ เยอะแค่ไหน เลยเกิดไอเดียในการทำอาหารที่ไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ดไป Delivery ถึงในห้าง”
“ในขณะที่ผมทำอาหารไม่เป็นเลย ส่วนอาม่าเคยมีประสบการณ์เปิดร้านอาหารมาก่อน จึงเกิดเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของการได้อยู่กับอาม่าด้วย และได้เริ่มต้นสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองด้วย”
“ก่อนชวนอาม่า ผมบอกพ่อกับแม่ก่อน ซึ่งท่านก็บอกว่า อย่าดึงอาม่ามาทำเลย เพราะการทำร้านอาหารเป็นงานที่เหนื่อยและเจ๊งง่าย แต่ผมยืนยันว่าอยากลอง เพราะธุรกิจ Food Delivery ไม่ต้องลงทุนเยอะ ตอนนั้นผมลงเงินไปแค่ห้าพันบาท เพราะใช้ครัวที่บ้าน ซื้อแค่กล่องข้าวมาลังนึง วัตถุดิบก็ซื้อวันต่อวันอยู่แล้ว ถ้าล้ม ก็แค่ห้าพันบาท”
พลังแห่งการลงแรงลงใจของอาม่าและพ่อกับแม่
อาม่ารัตนา : “พอไบร์ทเขามาชวน อาม่าก็บอกเขาไปว่าข้าวกล่องริมถนนเยอะแยะ ร้านข้าวตามห้างก็มีเยอะ กลัวว่าจะขายไม่ดี แต่เขาบอกดี ถ้างั้นดีก็ดี และอาศัยประสบการณ์ว่าอาม่าเคยเปิดร้านขายข้าวบนชั้น 7 ของตึกที่เคยเป็นที่ทำการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมาก่อน โดยมีลูกชายกับลูกสาว (แม่ของไบร์ท) เป็นลูกมือ อาม่าเลยคุ้นเคยกับการทำกับข้าวเยอะ ๆ ขายคนในตึกราวสองพันกว่าคน พอถึงวันหยุดราชการก็มีการจัดอบรม เขาก็สั่งอาหารอาม่า จัดเป็นโต๊ะ ๆ มีกับข้าว 5 อย่าง พร้อมผลไม้และขนม คิดเขาหัวละ 45 บาทเอง”
ไบร์ท : “ปกติการทำกับข้าวแค่จานสองจานคงไม่ยากหรอก แต่การทำอาหารเลี้ยงคนร้อยสองร้อยคน ต้องใช้ฝีมือในการปรุงให้ถึง ซึ่งเป็นเรื่องยาก ก่อนหน้านี้ผมก็รู้แค่ว่าอาม่าทำอาหารเป็น แต่เพิ่งมารู้ตอนเริ่มทำข้าวกล่องอาม่าว่า อาม่ามีประสบการณ์ในการทำอาหารเลี้ยงคนเยอะ ๆ มาก่อน และคุ้นเคยกับการคุมคนจำนวนเยอะ ๆ ในครัว ตอนนี้อาม่าก็สอนงานให้เด็กในร้านหมดแล้ว แค่มาคอยดูแลในบางวัน”
อาม่ารัตนา : “เวลาเห็นอะไรผิดพลาด ก่อนจะว่าลูกจ้าง เราจะบอกเขาก่อนว่า ที่อาม่าว่าไม่ได้ตั้งใจจะตำหนิ แต่ถ้าเธอหั่นของแบบนี้ อีกหน่อยถ้าเกิดสมัครงานร้านอาหารใหญ่ ๆ เขาจะไม่รับ วิธีจับตะหลิวก็เหมือนกัน ถ้าเราจับตะหลิวถูกท่าเขาก็รับเข้าทำงานแล้ว เวลาเด็ดผักก็เหมือนกัน เจอใบเน่าใบเสียต้องทิ้งไป เอาไปใส่รวมกับใบดี ๆ เดี๋ยวก็เน่าทั้งตะกร้า อาม่าสอนพวกเขาแบบนี้ ใครเข้าใจและปรับปรุงก็ดีกับตัวเขาเอง”
ไบร์ท : “พ่อกับแม่ก็เป็นกำลังสำคัญครับ ทั้งคู่ช่วยกันไปจ่ายตลาดทุกวัน วันละหลายรอบ ที่ไหนวัตถุดิบคุณภาพดี พ่อกับแม่ไปหมด”
อาม่ารัตนา : “บางทีอาม่าเหนื่อย ๆ บ่นๆ แม่เขาก็คอยให้กำลังใจ บอกว่า ช่วย ๆ มันหน่อย สงสารเด็กมันอยากจะทำงาน แม่เขาทิ้งงานของตัวเองที่ร้านขายส่งมาช่วยลูกทุ่มเทเต็มที่ ไม่มีบ่น ตอนเที่ยงเวลาคนสั่งข้าวเยอะ วัตถุดิบหมด ก็รีบออกไปซื้อ บางทีสามรอบสี่รอบ”
ไบร์ท : “ถ้านับชั่วโมงทำงานทั้งหมด คุณแม่ทำนานที่สุด เริ่มตั้งแต่ตื่นตีสามตีสี่ไปจ่ายตลาดกับคุณพ่อ จากนั้นก็กลับมาเตรียมครัว ช่วงแรก ๆ ที่ผมขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปส่งข้าวตอนเที่ยง ก็จะคอยรับออเดอร์เพิ่มทาง LINE แล้วส่งให้คุณพ่อ เขาก็จดใส่กระดาษ เอาไปให้คุณแม่ แม่ก็เตรียมวัตถุดิบและบอกอาม่าให้เริ่มผัดกับข้าวตามออเดอร์ กว่าจะหมดงาน เก็บร้าน ล้างจานเสร็จก็ทุ่มสองทุ่ม ก่อนจะไปเริ่มต้นตื่นตีสามอีกรอบ ดูเป็นลูกทรพีมาก (หัวเราะ)”
อาม่ารัตนา : “อาม่าทำกับข้าวแบบให้เยอะทั้งกับและข้าว รสชาติต้องเข้มข้น ผัดกะเพราต้องออกหวานนิดนึง ถ้าทำจืด ๆ คนกินหนเดียวก็เบื่อ”
ไบร์ท : “ไบร์ทกินแบบไหน ลูกค้าก็ต้องได้กินแบบนั้น เลยเป็นที่มาของแฮชแท็ก ‘ทำให้หลานมันกิน’ เพื่อให้ลูกค้าทุกคนเป็นเหมือนหลานที่ได้กินข้าวอาม่า ซึ่งเป็น Story ที่ผมอยากสื่อสารออกไป และเราแบ่งหน้าที่กันชัดเจน เพราะเก่งกันคนละแบบ อย่างคุณพ่อคุณแม่ก็กดสมาร์ทโฟนไม่ค่อยเก่ง ผมจึงรับผิดชอบเรื่องการขาย ส่วนอาม่าก็เก่งเรื่องในครัวมาก คุณแม่เองที่คอยซัพพอร์ตกันมาตั้งแต่สมัยเป็นลูกมือตอนอาม่าเปิดร้าน เลยรู้จักเทคนิคการจ่ายตลาดว่าต้องเลือกหมู เลือกผักอย่างไร เราเลยไม่มีเรื่องที่ต้องถกเถียงกันเรื่องงานของแต่ละคน ที่ต้องปรึกษากันก็จะเป็นเรื่องคิดเมนูใหม่ ไบร์ทก็จะเอาฟีดแบ็กที่ได้จากลูกค้าไปบอกอาม่าว่าลูกค้าอยากกินเมนูแนวนี้ ทำอะไรดี เมนูไหนที่อาม่าไม่เคยทำ ก็เปิด YouTube ให้อาม่าลองทำ”
อาม่ารัตนา : “อะไรที่แปลก ๆ ไม่ใช่ของดั้งเดิม เราทำไม่เป็น เขาก็เปิดให้ดูว่าทำแบบนี้ ๆ ก็ทำได้ เช่น ทงคัตสึ”
ไบร์ท : “อย่างอาม่าทำแกงเขียวหวานไก่อร่อยมาก เครื่องแกงเข้มข้น แต่เมนูที่เป็นน้ำแกงไม่สะดวกในการทำ Delivery ก็เลยนึกถึงไก่ทอดเคเอฟซีที่มีซอสดิปรสชาติต่าง ๆ เลยลองทำซอสดิปเขียวหวาน โดยวิธีการทำก็เปิด YouTube ให้อาม่าเอาไปดัดแปลง”
บริหารงานตามความถนัดกับหุ้นส่วนร่วมอุดมการณ์
ไบร์ท : “ด้วยความที่ลูกค้าในช่วงแรกอยู่ในห้างสรรพสินค้าทั้งหมด ช่วง 3-4 เดือนแรก ผมเลยทำเมนูวันละ 7 อย่าง แล้วเปลี่ยนทุกวัน เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกและไม่รู้สึกเบื่อ กิจวัตรเริ่มจากช่วงเช้ารับออเดอร์ ช่วงเที่ยงส่งข้าว พอบ่ายสองออเดอร์เริ่มซา ผมเอาโบรชัวร์ของร้านไปแจกตามห้างสรรพสินค้าบ้าง ตามใต้ตึกออฟฟิศแถวสาทร อโศกบ้าง ตอนนั้นแค่ต้องการออเดอร์เยอะ ๆ อาม่าจะได้ให้ทำต่อ เพราะอาม่าไม่รู้หรอกว่าวันนี้เราได้เงินเท่าไร เขาวัดจากว่าวันนี้ตัวเองผัดกับข้าวเยอะหรือน้อย”
สุราจ, พิชญุตม์, อาม่ารัตนา และจิรภัทร
“หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้ แบงค์ - จิรภัทร ริวัฒนา ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องมาเป็นหุ้นส่วน ช่วยส่งข้าวมาด้วยกัน แต่ก็ยอมรับว่าช่วงแรกระบบค่อนข้างเละ เพราะมีคนส่งแค่สองคน แต่ลูกค้าทุกคนจะกินข้าวตอนเที่ยงพร้อมกันหมด เราก็ต้องส่งให้ทัน แต่สุดท้ายก็ส่งไม่ทันหรอกครับ ลองย้อนกลับไปดู Facebook ช่วงแรก ๆ ได้ โดนลูกค้าต่อว่าเยอะมาก ซึ่งเรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะคำว่าคำด่าเหล่านั้นที่นำมาปรับแก้ไขพัฒนาไปเรื่อย ๆ พอมีเงินจ้างคนเพิ่ม ปรับเมนู เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง จนสามารถยืนอยู่ในตลาดนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง”
“ทำไปได้สัก 5-6 เดือน ผมก็ได้ สุรัตน์ ซาฮี ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนบริหารมาด้วยกันมาเป็นหุ้นส่วนร่วมทีม รับผิดชอบด้านการตลาดออนไลน์ ทุกอย่างจึงเป็นจังหวะที่ลงตัว”
“แต่อย่างไรก็ตาม ครอบครัวต้องเป็นหลักก่อน เพราะผมไม่ได้มีเงินลงทุนเยอะ ถ้าเกิดคุณสุรัตน์มาถึงแล้วลุยเรื่องการตลาดออนไลน์เลย โดยเราไม่มีพื้นฐานหรือไม่พร้อม ก็คงพัง ด้วยความที่ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่อาศัยกำลังคนเป็นหลัก สมมุติว่ามีคนทำงานทั้งหมดห้าคน ถ้าขาดไปคนนึงระบบจะเริ่มเละ วันไหนหายไป 2-3 คน ปิดร้านได้เลย ดังนั้น พอเรามีพื้นฐานของครอบครัวที่เต็มที่กับเรา เมื่อเสริมด้วยการวางระบบและกลยุทธ์ทางการตลาดที่แม่นยำ จ้างพนักงานมาต่อยอดในด้านต่าง ๆ แบรนด์ข้าวกล่องอาม่าจึงเติบโตอย่างมีทิศทาง”
“ปัจจุบัน คุณแบงค์รับผิดชอบด้าน HR (Human Resource) ดูแลพนักงานทุกคนในร้าน คุณสุรัตน์ดูแลงานบัญชีกับการตลาด ส่วนผมรับหน้าที่จัดซื้อของใหม่ ๆ เข้าร้าน หา Supplier ให้น้อง ๆ ในทีม ดูเหมือนจะงานน้อยสุดในทีม (หัวเราะ) ผมถนัดการเริ่มงานใหม่ ๆ เพราะเป็นคนไม่มีระบบแบบแผน อยากทำอะไรก็ลงมือทำเลย จึงเหมาะกับงานแนวไอเดียมากกว่า”
กุญแจแห่งความสำเร็จของข้าวกล่องอาม่า
“ข้าวกล่องอาม่าพัฒนาแบรนด์ตามความต้องการของลูกค้ามาโดยตลอด ด้วยการถามฟีดแบ็กกับลูกค้าทาง LINE ว่าวันนี้อาหารโอเคไหมครับ พรุ่งนี้อยากกินอะไร ช่วยคิดเมนูหน่อยได้ไหมครับ เรามี 5 เมนูใหม่ ช่วยเลือกหน่อยว่าเอาเมนูไหนดี ฯลฯ ทุกวันนี้ก็ยังรับฟีดแบ็กแบบนี้เรื่อย ๆ จากวันแรกที่เริ่มต้นขาย 7 เมนูสู่วันนี้ที่มีมากกว่า 120 เมนู เราทำการประมวลผลจากยอดออเดอร์ผ่านเว็บไซต์ทุกเดือนว่า 10 เมนูไหนขายดี และ 10 เมนูไหนที่ขายได้น้อยก็เปลี่ยนเอาเมนูเหล่านั้นออก ดันเมนูอื่นขึ้นมาแทน โดยมีน้องในทีมที่เรียนจบทางด้านอาหารโดยตรงเป็นคนคิดเมนูใหม่ ๆ ซึ่งก็ต้องเอามาคุยกับอาม่าก่อน”
“ตอนนี้กำลังทำครัวใหม่กันอยู่ และทดลองทำแพ็กเกจข้าวกล่องผู้บริหารที่มีเมนูหลากหลายและพรีเมียมขึ้นในราคาที่ไม่แพง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในไอเดียใหม่ ๆ ที่เกิดจากการถามหาของลูกค้า อย่างตอนนี้เราผลิตน้ำผลไม้ ขนมไทย และเบเกอรี่เอง เพื่อการควบคุมต้นทุนและขายในราคาที่สมเหตุสมผลได้”
“ปัจจุบัน ผู้บริหารทั้ง 3 คนเข้าสู่วัย 30 ความคิดจึงไม่เหมือนกับตอนอายุ 23-24 ปี ที่เมื่ออยากลองทำก็มีทั้งแรงกายแรงใจในการลงมือทันที สำหรับตอนนี้ พวกเรามีหน้าที่พัฒนาองค์กรให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พนักงานต้องได้รับสวัสดิการที่ดีเพื่อให้เขาเติบโตไปด้วยกัน งานหลักตอนนี้จึงเป็นเรื่องการดูแลองค์กรเป็นหลัก”
อาม่ารัตนา : “ดีใจและภูมิใจกับเขามาก ไม่คิดว่าธุรกิจข้าวกล่องจะเติบโตได้ถึงขนาดนี้ ใจเขารักและมีความมุ่งมั่น เด็กบางคนเจอปัญหานิดหน่อยก็ไม่เอาแล้ว แต่ไบร์ทเขาไม่เคยท้อ”
ไบร์ท : “ทุกวันนี้อาม่าก็ไม่ต้องผัดข้าวแล้ว เอาเวลาไปนั่งรถไฟเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน ๆ แทน ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องทำงานเหมือนกัน ทั้งคู่ใช้เวลาไปกับการเรียนภาษาจีน เรียนจัดดอกไม้ เรียนคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่โรงเรียนของกทม. ผมเองก็อาจจะเรีนต่อปริญญาโทเพื่อนำความรู้มาพัฒนาแบรนด์ข้าวกล่องอาม่า ตอนนี้ทุกคนได้มีเวลาเป็นของตัวเองและใช้ชีวิตในแบบที่ชอบได้แล้ว (ยิ้ม)”
สั่งซื้อข้าวกล่องอาม่าได้ที่
WEBSITE : https://armabox.net/
FACEBOOK : ข้าวกล่องอาม่า
Line ID : @armabox