Community Group Buying เทรนด์ร้อนจากจีน โอกาสใหม่ที่ท้าทายของอี-คอมเมิร์ซไทย

22 Apr 2022 - 8 mins read

Wealth / Business

Share

เมื่อพูดถึงตลาดอี-คอมเมิร์ซ หลายคนคงจะนึกถึงตลาดธุรกิจในจีน เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศจีนที่ตอนนี้แผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างอาลีบาบา หรือเทนเซ็นต์  ล้วนเติบโตมาจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซซึ่งขยายตัวอย่างร้อนแรงในประเทศก่อนทั้งนั้น

 

แต่ก็ใช่ว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่กว่า 10 ล้านตารางกิโลเมตรของจีนได้ทั้งหมด เพราะความกว้างใหญ่ของจีนทำให้ร้านค้าเองก็ประสบปัญหาการจัดการสต๊อกสินค้า ทั้งการขนส่งที่ล่าช้า ระบบโลจิสติกและปริมาณการเดินทางที่หนาแน่นส่งเท่าไรก็ไม่ทัน และยังต้องเจอกับสินค้าที่เน่าเสียก่อนจะถึงมือผู้บริโภค และที่สำคัญช่วงโควิด-19 ทำให้ประชาชนไม่สะดวกออกไปซื้อสินค้าตามตลาดอย่างที่เคย ช่องว่างนี้จึงเป็นโอกาสให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ซื้อเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดจนกลายเป็น “Community Group Buying” ที่กำลังเป็นเทรนด์มาแรงแข่งขันกับตลาดอี-คอมเมิร์ซ จนบรรดาแพลตฟอร์มทั้งหลายต่างวางแผนกระโดดลงมาจับตลาดนี้เพื่อต่อจิ๊กซอว์ทางธุรกิจให้ครบทั้งหมด

Community Group Buying คืออะไร

 

ลักษณะการรวมกลุ่มของผู้ซื้อ หรือ Community Group Buying นี้ คล้ายกับการฝากซื้อของในชุมชน โดยมีตัวแทนไปเจรจาต่อรองกับผู้ขายสินค้าโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นการซื้อของสดและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ใช้งานชาวจีนบนแพลตฟอร์ม WeChat เป็นประจำมากกว่า 1.2 พันล้านคน หรือราว 85% ของประชากรทั้งหมดกว่า 1.4 พันล้านคน จึงเกิดการรวมเป็นกลุ่มก้อนของชุมชนไม่ว่าจะเป็นหลักสิบหรือหลักร้อยคน ในแต่ละชุมชนก็ประกอบไปด้วยสมาชิกหมู่บ้าน รวมทั้งผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ยังไม่เชี่ยวชาญกับอุปกรณ์และเทคโนโลยี โดยทั้งหมดสามารถ “ฝากซื้อของ” ได้โดยที่ไม่ต้องติดต่อกับผู้ขายเอง

 

เมื่อยอดการสั่งซื้อรวมกันได้จำนวนมากพอ ตัวกลางซึ่งมักเป็นผู้นำในชุมชนนั้น ๆ จะมีอำนาจต่อรองในมือเพื่อขอราคาพิเศษจากผู้ขาย หรือกระทั่งแบรนด์สินค้าได้โดยตรง ทำให้ราคาสินค้าเมื่อส่งถึงชุมชนจะถูกกว่าราคาที่หน้าร้านค้าในชุมชนเสียอีก นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้สินค้าคุณภาพที่ดีกว่า สดใหม่กว่า หรือรุ่นใหม่กว่าด้วย ขณะเดียวกันตัวกลางที่รับรวมออร์เดอร์สินค้าผ่านกลุ่มของตน จะได้รับค่าคอมมิชชั่นหรือผลตอบแทนจากผู้ขายสินค้า ซึ่งเป็นแรงจูงใจในการทำงานเพื่อรวบรวมยอดการสั่งซื้อในชุมชน เพราะบริษัทจะประหยัดต้นทุนด้านการจัดการไปได้มาก ร้านค้าจึงสามารถลดราคาได้อีก และให้ค่าตอบแทนตัวกลางของชุมชนได้

จุดเด่นของโมเดล Community Group Buying จากจีน โตเร็ว พุ่งแรง ได้อย่างไร

 

เมื่อคนขายขายของได้มากขึ้น ตัวกลางชุมชนได้เงินตอบแทนจูงใจ และคนซื้อซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง ทุกคนต่างได้ประโยชน์กันหมดแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ Community Group Buying จะเติบโตมีมูลค่า 5 แสนล้านหยวนในปี 2021 จากมูลค่าตลาดสินค้าในช่องทางการจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิมที่มีมูลค่าถึง 11 ล้านล้านหยวน Community Group Buying จึงยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเติบโตแตะ 1 ล้านล้านหยวนได้ภายในปี 2026 ถือเป็นการเติบโต 100% ในระยะเวลาอันสั้นและตอกย้ำความร้อนแรงของโมเดลการซื้อขายแบบใหม่

 

ดังนั้นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ Community Group Buying จึงเปิดกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ของสด สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้บ่อย ๆ ซึ่งเป็นช่องว่างสำคัญที่อี-คอมเมิร์ซแบบปัจจุบันยังตอบโจทย์ได้ไม่สมบูรณ์นัก ขณะที่ห้างสรรพสินค้าที่ให้บริการจัดส่งสินค้าตามบ้านเองก็จัดการต้นทุนต่อหนึ่งจุดจัดส่งให้มีราคาขายต่ำได้ยาก เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อกระจัดกระจายนั่นเอง ทั้งหมดนี้คือ “ช่องว่าง” ที่ทำให้ Community Group Buying เติบโตขึ้นมา เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการการรวมกลุ่มของผู้ซื้อในเมืองจีนอย่าง “เหม่วยถวน โยวเสวี่ยน” (Meituan Youxuan) พัฒนาโดย “เหม่ยถวน” แพลตฟอร์มด้านการรีวิวและโปรโมชั่นเด็ด หรือ “ตัวตัว หม่ายไช่” (Duo Duo Mai-cai) ซึ่งต่อยอดจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง “พินตัวตัว” และยังไม่นับรวมอีกหลายแบรนด์ดังที่ตบเท้าเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดใหม่ และกลายเป็นความท้าทายอำนาจผูกขาดตลาดของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ซึ่งล่าสุดทางการจีนได้สั่งปรับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการการรวมกลุ่มซื้อสินค้าจำนวนหนึ่งที่ทุ่มตลาดด้วยการลดราคาจนผิดปกติเพื่อขจัดคู่แข่ง  รวมทั้งแสดงความเป็นห่วงร้านขายของชำในพื้นที่ว่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้คนหันไปรวมกลุ่มซื้อสินค้าเองโดยตรง ไม่อุดหนุนร้านเหล่านี้อีกต่อไป รัฐจึงต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้

โอกาสของอี-คอมเมิร์ซไทยกับ Community Group Buying จะเป็นจริงได้ไหม

 

เมื่อมองกลับมาที่ตลาดของประเทศไทย โมเดลธุรกิจรูปแบบนี้ถือว่าน่าสนใจมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หรือจังหวัดที่ไม่ได้มีตลาด ห้างสรรพสินค้ากระจายตามจุดต่าง ๆ เพียงแค่คนในชุมชนรวมกลุ่มกัน หาคนกลางเพื่อรวมยอดการสั่งซื้อไปต่อรองกับห้างค้าปลีกหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งอาจต่อยอดไปได้ถึงการซื้อยาและเวชภัณฑ์ในชุมชน รวมทั้งการทำกิจกรรมทางสังคมบางอย่าง เช่น การบริจาคสิ่งของให้ชุมชน เป็นต้น โดยที่ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องสร้างแอปพลิเคชันประจำชุมชนขึ้นมา เพราะในประเทศไทยมีแพลตฟอร์มจำนวนมาก ทั้งอี-คอมเมิร์ซ โมบายล์แบงกิ้ง รวมทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียที่เติบโตอย่างแข็งแรง พร้อมรองรับการสั่งซื้อของแบบ Community Group Buying นี้อยู่แล้ว เมื่อพฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มซื้อสินค้าจริง ยังมีอีกหลายธุรกิจที่น่าจับตาในโมเดลธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็น

 

1. ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะในช่วงที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง และกระแสนิยมสั่งซื้อของออนไลน์มีมากขึ้น เป็นโอกาสดีในการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าที่จัดเก็บเอาไว้เฉย ๆ มาลดราคาให้กับกลุ่มตัวแทนที่นำคำสั่งซื้อมาให้ นอกจากจะเพิ่มกระแสเงินสดให้กับองค์กรแล้วยังลดต้นทุนของสินค้าคงคลังได้อีกด้วย

 

2. ธุรกิจเวชภัณฑ์ ถือเป็นสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันในยุคโควิด-19 ทั้งแอลกอฮอล์หน้ากากอนามัย หรือชุดตรวจ ATK ซึ่งสามารถซื้อขายได้สะดวกกว่ายา ถ้าสามารถรวบรวมยอดสั่งซื้อจากชุมชนได้มากพอ ก็จะคุ้มค่ากับการผลิตเพื่อเสนอขายในราคาที่ดึงดูดกว่าปกติได้ เพราะสินค้ากลุ่มนี้น่าจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

3. ธุรกิจอาหาร ซึ่งสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านได้โดยตรง ถ้ายอดสั่งซื้อจากอาหาร 10 กล่อง เพิ่มเป็น 100 กล่องได้ในคราวเดียว ก็จะมีอำนาจต่อรองเพื่อขอส่วนลดหรือของแถมเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งการรวมกลุ่มกันฝากซื้ออาหารจะช่วยประหยัดค่าขนส่งไปได้มาก

 

 แต่หัวใจสำคัญของ Community Group Buying นั้นต้องอาศัยแพลตฟอร์มที่ใช้งานร่วมกันได้ง่าย ระบบการชำระเงินที่ชัดเจน และตัวแทนชุมชนที่มีความโปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่าการทำธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของคนทุกคน จะเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างแข็งแรงของชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าที่เรารู้จักในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็ได้

 

นักเขียน: มนต์ชัย วงษ์กิตติไกลวัล เจ้าของเพจ BizKlass นักข่าวธุรกิจและคอลัมนิสต์ด้านเศรษฐกิจ

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...