

ถอดรหัส ‘นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก’ ที่เปลี่ยนขาลงของธุรกิจสิ่งทอเป็นแบรนด์เพื่อความยั่งยืน
Wealth / Business
14 Sep 2023 - 5 mins read
Wealth / Business
SHARE
14 Sep 2023 - 5 mins read
“วันนั้นผมตั้งใจอยู่ในงานศพเป็นคนสุดท้าย เพราะผมอยากรู้ว่าวงจรชีวิตของพวงหรีดเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน”
โน้ส - อุดม แต้พานิช เล่าเอาไว้ในเดี่ยว 13 ถึงเหตุการณ์ช่วงที่เขาสนใจใคร่รู้ถึงปลายทางของพวงหรีดไว้อาลัยในงานศพ และคำตอบที่ได้ก็คือ พวงหรีดเหล่านั้นถูกนำไปทิ้งในถังขยะทั้งหมด
หลากหลายเรื่องเล่าเคล้าเสียงหัวเราะยังคงดำเนินต่อไปจนจบการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน แต่เรื่องราวของพวงหรีดที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่ากลับยังติดอยู่ในใจของ เอิร์น - อรนภัส บุญอนันตพัฒน์ ทายาทโรงงานทอผ้าย่านสุขสวัสดิ์ ที่เพิ่งเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัวได้ไม่นาน และกำลังมองหาช่องทางในการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจครอบครัว ซึ่งจัดเป็นธุรกิจประเภท Sunset Industry ให้มีทางรอดต่อไปในอนาคต
เอิร์น - อรนภัส บุญอนันตพัฒน์
ผู้ก่อตั้ง นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก
เรื่องเล่าของขยะพวงหรีดจุดประกายให้อรนภัสนึกถึงการนำ ‘ผ้าดิบ’ สินค้าที่โรงงานผลิตตามออเดอร์ของลูกค้าอยู่แล้ว มาจับจีบจัดทรงจนได้ผลลัพธ์เป็น ‘พวงหรีดผ้าดิบ’ ที่ใช้แล้วไม่ต้องทิ้ง แต่สามารถมอบให้วัด โรงพยาบาล หรือมูลนิธิต่าง ๆ นำไปใช้ห่อศพต่อได้ทันที
แต่กว่าจะได้พวงหรีดดีไซน์สวยและเหมาะกับการใช้งานไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องราวต่อไปนี้คือเส้นทางกว่าจะเป็น ‘นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก’ สัญลักษณ์แทนการไว้อาลัยที่ไม่สร้างขยะเพิ่ม แถมยังเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่สังคม ควบคู่ไปกับการคืนลมหายใจให้ธุรกิจครอบครัว
เมื่อความตายพลิกฟื้นธุรกิจที่กำลังดิ่งดาวน์
“ปัจจุบัน โรงงานทอผ้าในไทยปิดตัวไปเยอะมาก เพราะค่าแรงในประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่าเรามาก ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีในการบริการให้เฉพาะทางมากขึ้น จึงเริ่มพัฒนาเทคนิคพิเศษในการทอผ้า เช่น เคลือบกันน้ำ เคลือบกันแบคทีเรีย หรือเสริมคุณสมบัติกันไฟเข้าไปในเนื้อผ้า ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ทำให้เราพอจะยังอยู่ได้”
“ประจวบกับเป็นช่วงที่โรคโควิดระบาดปีแรกพอดี ตอนนั้นมีข่าวว่าศพจากโควิดอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ติดเชื้อต้องมีการห่อศพให้มิดชิด แล้วโรงงานเราก็ทอผ้าดิบซึ่งใช้เป็นผ้าห่อศพได้ เลยสอบถามไซส์ที่มูลนิธิกู้ภัยต้องการใช้ แล้วเริ่มทำเพจห่มบุญขึ้น เพื่อเป็นสะพานบุญให้วัดหรือหน่วยงานที่ต้องการผ้าห่อศพ”
“อีกอย่างที่มีความต้องการสูง คือ ถุงใส่ศพ ปกติเขาจะใช้ถุงที่ทำจากพลาสติก เพราะราคาถูก หาง่าย ใช้แล้วเผาได้เลย แต่ก็สร้างแก๊สพิษในชั้นบรรยากาศ โรงงานของเราเลยเลือกทอผ้าโดยใช้ผ้าผสมเส้นด้ายเพื่อความทนทานเหมือนพลาสติก และเวลาเผาก็ไม่สร้างแก๊สพิษ เลยเป็นที่มาของการทำทั้งถุงใส่ศพและผ้าห่อศพในเพจห่มบุญ”
“หลังจากนั้นเอิร์นก็คิดต่อยอดว่า เพจห่มบุญเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความตาย และผ้าดิบก็น่าจะนำมาใช้ทำอย่างอื่นได้อีก เลยนึกถึงงานศพซึ่งเดี๋ยวนี้เริ่มมีการพูดถึงขยะจากพวงหรีดว่าจบงานศพแล้วปลายทางของพวงหรีดเหล่านี้คือที่ไหน กระบวนการทิ้งเป็นอย่างไร ซึ่งน่าเสียดายที่พวงหรีดมีอายุแค่ 3 - 7 วัน วันดีคืนดีเอิร์นก็ลองเอาผ้าดิบมาจับจีบเล่น ๆ และคิดว่าน่าจะทำให้เป็นพวงหรีดได้ เลยเริ่มตามหานักออกแบบพวงหรีดโดยโพสต์ประกาศทางเฟสบุ๊ก”
จงจับจีบผ้า 3 หลา ให้กลายเป็นพวงหรีด
“โจทย์คือ นำผ้า 3 หลามาทำพวงหรีดไซส์มาตรฐาน โดยห้ามเย็บ ห้ามตัด ทำได้แค่ปักหมุดหรือกลัด และสุดท้ายต้องแกะออกมาเป็นผืนได้โดยห้ามมีรู ต้องสามารถนำมาใช้ต่อได้เลย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและแทบจะไม่มีใครทำได้ หลายคนทดลองทำออกมาแล้วเล็กเกินไปบ้าง หรือแขวนแล้วยวบบ้าง”
“ท้ายที่สุด มีหลานของพนักงานเราคนนึงที่มาทำงานช่วงปิดเทอม เขาทดลองทำแล้วปรากฏว่าออกมาเป็นดีไซน์ที่สวย ปรับวัสดุที่ใช้หนุนข้างในเป็นหวาย ที่เหลือใช้ผ้าดิบทั้งหมดนำมาจับจีบแล้วใช้หมุดปักเพื่อยืดติดกัน นำเศษผ้าดิบมาใช้ในการผูกบ้าง จนสุดท้ายพัฒนาออกมาเป็น 5 ดีไซน์ที่ทำขายในปัจจุบัน”
“พวงหรีดของนิรันดร์ ราคาเริ่มต้นที่ 1,900 บาท สามารถนำไปบริจาคเป็นผ้าห่อศพได้ 5 ผืน และราคา 2,900 บาท นำไปบริจาคได้ถึง 10 ผืน ปัจจุบันอยู่ในช่วงพัฒนาแบบเพิ่มเติมโดยจะมีพวงหรีดให้เลือกหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคต”
นามนี้คือ ‘นิรันดร์’
“เอิร์นอยากได้คำที่รู้สึกสงบ ไม่เศร้าจนเกินไป คิดอยู่หลายชื่อจนมาลงตัวที่คำว่า นิรันดร์ ที่สื่อถึงการสูญเสีย แต่ไม่ใช่จุดจบ เพราะนิรันดร์ แปลว่า ตลอดไป เหมาะกับการไว้อาลัยและการระลึกอยู่ในใจ ทั้งยังเข้ากับคอนเสปท์ของการที่เมื่อจบงานศพแล้ว พวงหรีดนิรันดร์ยังสามารถส่งต่อบุญได้ สุดท้ายจึงลงตัวที่คำนี้ที่ทั้งสงบ สวย เรียบ พูดง่ายทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เรียกติดปากได้ไม่ยาก”
ปลูกฝัง Sense of Ownership ให้พนักงาน
“เอิร์นเคยทำงานประจำในบริษัท Consult ที่มีความกดดันสูงมาก่อน ดังนั้น ในช่วงแรกที่เข้ามาสานต่อธุรกิจโรงงานทอผ้าของครอบครัวเลยคิดว่าพนักงานทุกคนจะต้องมีตรรกะ มีความรับผิดชอบคล้าย ๆ เรา โดยลืมนึกไปว่าพนักงานแต่ละคนอาจไม่ได้มีวิธีคิดแบบเดียวกับเรา อย่างปัญหาที่เจอช่วงแรก ๆ เช่น พนักงานไม่เช็คความเรียบร้อยของพวงหรีดก่อนจัดส่งให้ลูกค้า ให้แปะป้ายก็แค่แปะ แต่ไม่รีดให้เรียบร้อย เพราะเราไม่ได้บอกให้รีด เขาก็ไม่รีด เราต้องมาสอนให้เขารู้จักจัดการความเรียบร้อย ใช้จิตวิทยาในการพูดคุย”
“แน่นอนว่าพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้มี Sense of Ownership เขาคิดว่าทำงานแค่ไหนก็ได้เงินเท่านี้ เราต้องสอนเขาว่าถ้าธุรกิจไปได้ดี พนักงานทุกคนก็ได้รับผลดีตามไปด้วย เช่น สวัสดิการหรือโบนัสก็จะดีขึ้น อาจมีตำแหน่งงานให้พ่อแม่พี่น้องที่อยากเข้ามาทำงานเพิ่มเติม จนตอนนี้ทุกอย่างก็ค่อย ๆ ดีขึ้นในทุกวัน พนักงานมีความตื่นเต้น กระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น อีกอย่างเป็นเพราะบรรยากาศทำงานคึกคักขึ้นกว่าเดิมมาก เมื่อเทียบกับช่วงที่โรงงานยังไม่ปรับตัว ทุกวันนี้เห็นออเดอร์เข้าทุกวัน มีรถวิ่งเข้ามารับพวงหรีด พนักงานทุกคนก็กระชุ่มกระชวยขึ้น”
ตาดู หูฟัง เปิดใจ
“ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม เราต้องมีความรู้รอบตัวเยอะ หมั่นเสพข่าว สังเกตธุรกิจอื่น ๆ มองหาไอเดียใหม่ ๆ ดูว่าโลกไปถึงไหนแล้ว ยิ่งเรามีคลังข้อมูลในหัวเยอะ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้งาน เราจะสามารถจับสิ่งนั้นมาแมทช์กับสิ่งนี้ได้ เหมือนอย่างไอเดียที่เอิร์นเริ่มทำพวงหรีดจากผ้าดิบ เพราะได้ฟังปัญหาเรื่องพวงหรีดเป็นขยะที่กองล้นจากเดี่ยว 13 ของโน้ส อุดม หรือที่เลือกบริจาคให้มูลนิธิสืบฯ ก็เพราะได้ฟังประวัติของคุณสืบ นาคะเสถียร จากพอดแคสต์รายการ People You May Know ของช่อง FAROSE podcast แต่ละเรื่องที่ได้เห็น ได้ฟัง ย้อนกลับมาเป็นแรงบันดาลใจหรือเอามาใส่ในงานได้ทั้งนั้น”
ซื้อ 1 ส่งต่อถึง 4 คุณค่า
“ต้องยอมรับแม้จะจดอนุสิทธิบัตรแล้ว แต่พวงหรีดนิรันดร์ก็เลียนแบบไม่ยาก ดังนั้น เราจึงอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ได้อุดหนุนเราแค่สินค้า แต่ยังมีโอกาสได้ส่งต่อความช่วยเหลือที่มากกว่านั้น จึงทำแคมเปญ “1 พวงหรีดส่งต่อ 4 คุณค่า” คือ ใช้เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อผู้ล่วงลับ ส่งต่อบุญด้วยการบริจาคเป็นผ้าห่อศพได้ทันที ไม่ก่อให้เกิดขยะตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนจบงาน และสมทบทุนบริจาค 50 บาท เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่บุตร-ธิดาของผู้พิทักษ์ป่าในมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยจะดำเนินการสมทบทุนไปจนถึงวันที่ 17 มกราคม 2567”
“โดยส่วนตัว เอิร์นคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอให้นิรันดร์ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำเสียก่อน ถึงจะเริ่มบริจาคให้องค์กรต่าง ๆ ได้ เราสามารถลงมือทำใน Capacity ที่เราทำได้ อาจจะทำได้ไม่เยอะ แต่อย่างน้อยก็ได้ให้และได้ลงมือทำ โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นจุดเริ่มต้น และวางแผนเอาไว้ว่าในอนาคตจะส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ปัญหาไหนบ้าง เช่น การปลูกหญ้าทะเลเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์”
“เอิร์นคิดว่าถ้าเราเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ไม่ต้องบริจาคเป็นร้อยล้าน แค่บริจาคในส่วนที่เราสามารถให้ได้คนละไม้คนละมือ ทำเล็ก ๆ แต่ทำในจำนวนที่เยอะ แค่นี้สังคมก็จะน่าอยู่ขึ้น”
ทำความรู้จักพวงหรีดรักษ์โลกเพิ่มเติมได้ที่ Niran นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก