

‘สุขทุกคำ เคเทอริ่ง’ อาหารห่อใบตอง ผูกปิ่นโตแบบไทย ๆ ธุรกิจจัดเลี้ยงที่รักษ์โลกและไร้ขยะ
Wealth / Business
27 Jun 2025 - 7 mins read
Wealth / Business
SHARE
27 Jun 2025 - 7 mins read
‘อาหารที่ดี’ ไม่ใช่แค่รสชาติดี แต่ยังหมายถึงการใช้วัตถุดิบที่ดี จากแหล่งคุณภาพ และปลูกด้วยความหวังดีต่อสิ่งแวดล้อม
สุขทุกคำ คือจักรวาลที่รวมอาหารดี ๆ ไว้ในที่เดียว ทั้งตลาดผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ออร์แกนิก, บริการผูกปิ่นโต, อาหารเฉพาะโรค และเคเทอริ่งรักษ์โลกแบบไทย ๆ
เมื่อพูดถึงการจัดเลี้ยงหรือเคเทอริ่ง เราคงนึกถึงอาหารละลานตาในถาดสเตนเลส แต่ สุขทุกคำ เคเทอริ่ง ต่างออกไป เพราะใช้ใบตองห่อขนม เสิร์ฟแกงในหม้อดินเผา ถ้วยน้ำพริกลายคราม จัดวางในสำรับแบบไทย ๆ ที่ชวนให้คิดถึงมื้ออาหารที่คุณย่า คุณยายทำให้ตอนเด็ก ๆ
ภาชนะแบบไทย ๆ ไม่ใช่แค่สวยงามแต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุขทุกคำทำให้เห็นว่าวิถีการกินแบบดั้งเดิมของเราอาจเป็นทางเลือกใหม่สำหรับโลกที่ยั่งยืน
จักรวาล ‘สุขทุกคำ’
ยังมีผู้คนอีกมากมายที่กำลังเสาะหาวัตถุดิบอาหารดี ๆ เพราะอยากเปลี่ยนการกินให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เมืองแห่ง ตึกระฟ้าที่แทบไม่มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ทำให้ธุรกิจ ตลาดออร์แกนิกเดลิเวอรี ถือกำเนิดขึ้น เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้คนได้เข้าถึงผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์คุณภาพดี จากแหล่งปลูกที่เชื่อมั่นได้
สมศักดิ์ เจียรสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง สุขทุกคำ เป็นหนึ่งในนั้น เขาเองเคยเป็นลูกค้าของตลาดออร์แกนิกที่ต้องการวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาปรุงอาหารให้กับลูกน้อย แต่จากคนที่อุดหนุนเป็นประจำ วันหนึ่งเขาก็มีโอกาสได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจดังกล่าว และสานต่ออย่างเต็มตัวจนกลายเป็นจักรวาล ‘สุขทุกคำ’
ความตั้งใจของสุขทุกคำคือ ได้ส่งต่ออาหารและวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม บริการหลัก ๆ คือ ตลาดสดเดลิเวอรี แหล่งรวมผักออร์แกนิก เนื้อสัตว์ และผลไม้จากแหล่งที่ปลูกอย่างปลอดภัย ไร้ยาปฏิชีวนะ ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อออนไลน์และส่งได้ถึงหน้าบ้าน อีกทั้งยังมีบริการปรุงอาหาร ผูกปิ่นโต และ อาหารเฉพาะโรค สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มะเร็ง โรคไต ที่มีนักกำหนดอาหารคอยดูแลสูตรให้อย่างใกล้ชิด
และอีกหนึ่งบริการที่ตามมาทีหลังแต่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ จัดเลี้ยง (Catering) แบบไทย ๆ มีตั้งแต่คอฟฟี่เบรก บุฟเฟต์ไปจนถึงงานบุญเลี้ยงพระแบบครบวงจร สมศักดิ์เล่าว่าก่อนจะมาเป็นเคเทอริ่งวิถีไทย เขาได้ไอเดียมาจาก ‘ข้าวเหนียวหมูห่อใบตอง’
“ตอนนั้นเดินไปดูในครัว เห็นว่าเราทำอาหารห่อใบตองส่งให้ลูกค้าอยู่แล้ว อย่างข้าวเหนียวหมูห่อใบตอง ขนมไทยห่อใบตอง ผูกด้วยเชือกกล้วย ลูกค้าให้ความสนใจเยอะมาก ตอนนั้นมีลูกค้าเก่าชวนไปจัดเบรกขนมไทยด้วย เราเลยทำเคเทอริ่ง และใส่ความเป็นไทยเข้าไป”
วิถีไทย ใส่ใจธรรมชาติ
คนไทยนิยมใช้ใบตองในการทำอาหารมาอย่างยาวนาน ทั้งห่อข้าวเหนียวหมู ห่อขนมนึ่ง ห่อปลาย่างไฟ หรือพับเป็นกระทงใส่อาหาร เพราะใบตองเป็นวัสดุที่หาง่ายใกล้บ้าน ใบตองมีความยืดหยุ่น กันน้ำ กันความชื้น ยิ่งเอาไปลนไฟหรือตากแห้งก่อนยิ่งเหนียวและทนทาน อีกทั้งยังมีกลิ่นหอม ยิ่งห่อกับข้าวเหนียวก็จะทำให้ข้าวหอม อร่อย ที่สำคัญยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ดีต่อเราและดีต่อโลก
“แนวคิดธุรกิจของเราเริ่มมาจากความรักษ์โลก พอทำเคเทอริ่ง เราเลยเน้นเรื่องการจัดการขยะเป็นหลัก เราเลือกใช้วัตถุดิบที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอย่างใบตอง เพราะมันย่อยสลายได้ ถ้าเป็นขนมที่หยิบกินได้ ภาชนะที่ใส่ก็จะเป็นใบตองทั้งหมด เราใช้ไม้กลัด ไม่มีขยะเป็นไส้แม็ก”
“เรายังตั้งใจให้มีความเป็นไทยอื่น ๆ ในเคเทอริ่งด้วย ของที่อยู่บนโต๊ะมาจากฝีมือของชาวบ้านทั้งหมด ทั้งหม้อดินที่ไปซื้อจากปากเกร็ด ถ้วยลายครามจากลำปาง กระจาดหวายก็มาจากกลุ่มชาวบ้าน”
หม้อดินเผา ของสุขทุกคำมาจากปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งในย่านนั้นขึ้นชื่อเรื่องการปั้นหม้อดินเผามาตั้งแต่โบราณ คนไทยใช้หม้อดินเผากันมานานนับหมื่นปี ภาชนะพื้นบ้านชนิดนี้ปั้นขึ้นจากดินเหนียวซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีความทนทาน แข็งแรงและเหมาะกับการทำอาหาร คนนิยมใช้หม้อดินเผากับเมนูตุ๋นเพราะกระจายความร้อนได้ดี ใส่แกงก็ทำให้แกงอุ่นนาน เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในสมัยก่อนที่สุขทุกคำนำมาใช้กับเคเทอริ่งได้อย่างลงตัว
ส่วนชุด ถ้วยลายคราม สวย ๆ นั้นเมื่อจัดวางบนสำรับ ชวนให้สีสันอาหารโดดเด่นน่ารับประทาน ไทยได้รับอิทธิพลการทำถ้วยลายครามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ลวดลายไทยสีน้ำเงินคือมาจากสีของแร่โคบอลต์ที่หายากและมีราคาแพงในสมัยก่อน ทำให้ถ้วยลายครามเป็นภาชนะสำหรับชนชั้นสูง เมื่อนำมาจัดในสำรับทำให้อาหารดูมีระดับ ชวนรับประทาน
“เข้าถึงวิถีไทย ใส่ใจธรรมชาติ” คือความตั้งใจของสุขทุกคำ สมศักดิ์เล่าว่าเขาได้ผสมผสานความเป็นไทยเข้าไปในทุกมิติของเคเทอริ่ง ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ตามความตั้งใจแรก
“เราไปจัดเคเทอริ่งที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์บ่อย ๆ แขกที่มาก็จะชื่นชอบอาหารที่เราจัด ทุกครั้งที่เห็นลูกค้าถ่ายรูป หรือโพสต์แล้วติดแฮชแท็ก ผมก็จะรู้สึกดีมาก”
“ส่วนใหญ่คนที่มาใช้บริการจะเป็นลูกค้าเก่า เขาชอบความเป็นไทยของเรา หรือสไตล์เราตรงกับงานที่จัด เพราะว่าหาแนวนี้ที่ไหนไม่ค่อยได้ ยังถือว่าเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่ยังมีคนต้องการ บางครั้งเป็นงานวัด งานบวชลูกชาย ผมก็มีบริการปิ่นโต ขันโตกถวายพระด้วย เสร็จพิธีก็มีจัดไลน์บุฟเฟต์แบบไทย ๆ ลูกค้าเขาชอบมากเลย ตอนแรกบางคนยังไม่ได้สนใจเรื่องรักษ์โลกนะ เขาแค่ต้องการความเป็นไทย บางคนก็ต้องการรักษ์โลก แต่ไม่ได้สนใจความเป็นไทย บางคนมาเพราะแค่ชอบใบตองของเราก็มี”
นอกจากใช้ความเป็นไทยมาผสมผสานเพื่อลดขยะแล้ว สุขทุกคำยังมีแนวทางการจัดการเศษอาหารอย่างยั่งยืนอีกด้วย เรียกได้ว่าตอบโจทย์ลูกค้าทุกคน ที่แม้จะต่างคน ต่างเป้าหมาย ต่างความชอบ แต่ปลายทางคือโลกที่ยั่งยืนเหมือนกัน
“เคเทอริ่งของเราไม่มีขยะพลาสติกอยู่แล้ว พอจบงาน เราก็เอาแค่เศษขยะใส่ถุงดำกลับมา ส่วนใบตองเราก็เก็บกลับมาด้วย เอามาหมักเป็นปุ๋ยที่หลังบ้าน”
“ผมจะแยกเศษอาหาร ทั้งจากครัว จากปิ่นโต แล้วเอารวมไว้ในถัง แล้วเอาไว้ให้ลุงวิทยา เขาเป็นคนส่งมะพร้าวออร์แกนิกให้ผมสัปดาห์ละครั้งและจะมารับเศษอาหารไปทำปุ๋ย นี่คือสิ่งที่เราทำมานานแล้ว”
นอกจากจะจัดการขยะในครัวสุขทุกคำแล้ว เขายังมีไอเดียดี ๆ ช่วยแปรรูปของเหลือจากฟาร์มของพันธมิตรให้กลับมาเป็นของกินที่อร่อยได้อีกครั้งด้วย
“ผมไปเยี่ยมฟาร์มที่เขาเลี้ยงหมูดำและปลานิลออร์แกนิก ที่เชียงราย เขาจะแล่เนื้อปลานิลตากแดดเก็บไว้ให้หมูกิน แต่หมูกินไม่หมด ผมเห็นในโรงเรือนใหญ่ ๆ มีแต่ก้างปลา เลยคิดว่าถ้าเราเอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์คงจะดี เลยทำผงโรยข้าวปลานิล ที่มาจากเนื้อปลานิลและก้างปลานิล ช่วยเพิ่มแคลเซียม เราตั้งใจทำให้ผู้สูงวัย เผื่อวันไหนเบื่ออาหารก็โรยสิ่งนี้เสริมเข้าไปได้ และสำหรับธุรกิจ ผลิตภัณฑ์นี้ยังช่วยเสริมในวันที่มีงานเคเทอริ่งน้อยได้ด้วย เราตั้งใจจะจัดส่งไปหลาย ๆ จังหวัด ตอนนี้กำลังพัฒนาให้ได้มาตรฐานและทำให้สูตรนิ่ง” สมศักดิ์เล่าให้เราฟัง
กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นอีกกลุ่มลูกค้าหลักของสุขทุกคำ ที่มา ผูกปิ่นโต กันมากที่สุด บริการนี้เป็นอีกหนึ่งบริการที่โดดเด่นและมีลูกค้าหน้าเก่า ๆ อุดหนุนอย่างเหนียวแน่นมาจนทุกวันนี้
“อาหารที่เราทำใช้วัตถุดิบออร์แกนิกเกือบทั้งหมด และรสชาติจะกลาง ๆ ไม่เข้มข้น บางคนบอกว่ารสอ่อนมาก กินไม่ได้เลยก็มี แต่แบบนี้ผู้สูงอายุทานได้ ไร้สารเคมี และยังมีอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ซึ่งคนออกแบบเมนูเป็นผู้เชี่ยวชาญ ใช้สูตรจากนักกำหนดอาหารโดยเฉพาะ”
ในปัจจุบัน น้อยคนนักที่จะใช้บริการผูกปิ่นโต หากไม่ได้ต้องการอาหารพิเศษหรือป่วยเป็นโรคที่ต้องกินอาหารจำเพาะ ต่างจากในอดีตที่เราทุกคนคุ้นเคยกับปิ่นโต เป็นภาชนะที่มีแทบทุกบ้าน เวลาไปทำบุญเราก็จะทำปิ่นโตถวายพระ คนทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการที่อยู่ต่างถิ่นและไม่มีเวลาทำอาหาร ก็จะผูกปิ่นโตกับร้านในชุมชน แม้การผูกปิ่นโตจะได้ระบความนิยมน้อยลงในวันที่อาหารมีมากมาย หาง่ายแค่เดินไปร้านสะดวกซื้อหรือกดสั่งเดลิเวอรี แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีคนยุคใหม่ที่ก็มองหาบริการนี้ เพราะนอกจากจะต้องการอาหารที่ดีแล้ว พวกเขายังต้องการลดขยะแพ็คเกจอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อกินอย่างยั่งยืน
“จริง ๆ ผมเคยเจอลูกค้าที่มาสั่งเพราะเขาอยากใช้ปิ่นโต ไม่ใช่เพราะแค่อาหารอย่างเดียว เขาอยากจะลดขยะ ไม่ใช้พวก Single-use Plastics เลย แต่ก็มีบางคนที่เขาสนใจแค่อาหารของเรา เราก็มีแบบกล่องกระดาษคราฟต์รักษ์โลกเป็นอีกทางเลือก
“ปีนี้วัตถุดิบแพงขึ้น เราต้องปรับราคาตามวัตถุดิบ ลูกค้าปิ่นโตเราอาจจะน้อยลงไปบ้าง แต่ก็จะยังมีชุดที่ขายดีมาก ๆ คือปิ่นโตถวายพระแบบรักษ์โลกชื่อว่า ชวนฉัน มีอาหาร 3 อย่าง ขนม ผลไม้ และน้ำสมุนไพร ใส่ในกล่องกระดาษคราฟต์ ชุดนี้มีออร์เดอร์ทุกวัน อีกอย่างขายดีตลอดคืองานทำบุญครบวงจร เรานิมนต์พระให้ มีโต๊ะหมู่ อาสนะ มีอาหารพระ เพราะบางคนเขานิมนต์พระไม่เป็น บางคนเขาไม่ได้อยากทำอะไรมากมาย อยากแค่ใส่ซองเท่านั้น เราก็ปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าทุกอย่าง”
ปรับปรุง เพื่อเปลี่ยนแปลง
หลังจากอยู่ในวงการเคเทอริ่งมาอย่างยาวนาน สมศักดิ์เริ่มสังเกตเห็นว่าองค์กรใหญ่ ๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องการสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ก้าวต่อไปของสุขทุกคำจึงเป็นการแสดงจุดยืนว่าฉันคือธุรกิจที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และต้องจริงจังในระดับที่วัดผลได้ด้วยตัวเลข
“แต่เดิมเราดูแลแค่เรื่องขยะ ปีนี้ผมให้ความสำคัญกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้น และผมก็ได้เข้าไปเรียนรู้กับโครงการหนึ่งมาแล้ว เราคิดว่าเป็นอีกทางที่ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด เพื่อไปสู่การเป็น Sustainable Catering ที่มีการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่าเราใช้ไปเท่าไหร่ และจะหาทางลดได้อย่างไร ผมว่าธุรกิจที่ทำแบบนี้จะได้รับการตอบรับจากองค์กรที่ทำเรื่อง ESG (Environment Social Governance) เพราะมันมีตัวเลขที่วัดได้”
“สิ่งนี้สำคัญมากเพราะโลกเราร้อนขึ้นทุกวัน คาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าทุก ๆ ปี ถ้าเรายังไม่ทำหรือปล่อยให้แต่บริษัทใหญ่ ๆ ทำ ก็อาจช่วยได้ไม่เต็มที่ แน่นอนว่าต้องเปลี่ยนระบบหลายอย่าง มีเรื่องของต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่ภาครัฐก็มีการส่งเสริมมาหลายปีแล้ว เขาใช้คำว่า Green Transition คือจะไม่เปลี่ยนทันทีแต่จะค่อย ๆ เปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แค่ขั้นตอนเก็บข้อมูลก็ยากแล้ว แต่เราต้องช่วยกัน”
“เรื่องจัดการขยะผมทำมาไม่ได้น้อยเลย แต่เรื่องของคาร์บอนถือเป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องทำให้ได้ ถ้าเรายังทำแนวทางเดิมไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ได้อะไร แต่ถ้าเราเปลี่ยนก็ยิ่งทำให้ธีมของธุรกิจเราชัดเจนมากขึ้น คนที่มากินก็ชัดเจนขึ้นด้วย เขาต้องรู้ว่าถ้ากินบุฟเฟต์กับเราต้องกินให้หมด เราต้องสื่อสารเรื่องนี้”
สุขทุกคำ สุขอย่างไร
ความสุขเกิดขึ้นกับใครบ้าง
สุขทุกคำ ไม่ใช่แค่คนกินที่มีความสุข แต่คนปรุง คนปลูกก็มีความสุข และมีความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในทุกคำที่ตักเข้าปาก นั่นคือความตั้งใจของ ‘สุขทุกคำ เคเทอริ่ง’
“เราโชคดีมากที่ได้เจอเกษตรกรที่เขาไม่ใช้ยา มีมาตรฐานที่ตรวจสอบได้ เขาสุขภาพดี ระบบนิเวศก็ดี ผู้บริโภคก็ได้กินของดี ๆ นี่คือสิ่งที่ทั้งตลาดสดและเคเทอริ่ง ตอบโจทย์ ถึงแม้ว่าเคเทอริ่งยังไม่ได้ทำเป็นออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็มีส่วนในการรักษ์โลกที่ตอบโจทย์คำว่า สุขทุกคำได้”
“สุขทุกคำ ในความหมายของผมคือไม่ใช่กินแล้วอร่อยอย่างเดียว แต่คนอื่นก็สุขด้วย คนที่เขาปลูก คนที่เขาเลี้ยงไก่ก็มีความสุข สิ่งแวดล้อมก็ดีด้วย เกษตรกร ดิน น้ำ ไม่ต้องรับสารพิษ ไม่ใช่ว่าเรากินไปคำเดียว เหลือทิ้ง เกิดขยะ
คำนี้เป็นคำไทยที่สามารถบอกได้ว่าควรจะเกิดความสุขขึ้นในทุก ๆ ที่ตั้งแต่ต้นจนจบ”