

รู้จัก Workation ที่ไม่ใช่ WFH ทางเลือกของคนทำงานที่ไม่อยากเข้าออฟฟิศ
Wealth / Business
30 Apr 2023 - 5 mins read
Wealth / Business
SHARE
30 Apr 2023 - 5 mins read
ถ้าไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว คงนึกภาพไม่ออกว่าจะเที่ยวไปทำงานไปได้อย่างไร เพราะภาพจำของการทำงานในสายตาของคนส่วนใหญ่ คือการนั่งทำงานในออฟฟิศตั้งแต่เช้าจรดเย็น เป็นเช่นนี้ 5 วันต่อสัปดาห์ ถ้าจะมีช่วงหนึ่งที่ได้หยุดพักจริง ๆ ก็คงเป็นวันเสาร์กับวันอาทิตย์ หรือวันหยุดยาวตามเทศกาลสำคัญ
จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปี 2019 ทำให้คนจำนวนมากต้อง Work From Home (WFH) หรือ ทำงานที่บ้านแทน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค จุดนี้เองกลายเป็นข้อพิสูจน์ว่า บางอาชีพทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศเสมอไป เพราะผลงานยังคงออกมาดี ไม่มีจุดบกพร่อง แถมคนทำงานยังมีความสุข เครียดน้อยลง มีเวลาโฟกัสกับงานมากกว่าเดิม ไม่ต้องฝ่าฟันรถติดและความแออัดของผู้คนระหว่างเดินทางไป-กลับออฟฟิศทุกวัน
เมื่อองค์กรและพนักงานสามารถปรับตัวจนคุ้นชินกับการทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศเหมือนก่อน ทำให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Workation’ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มองหาความสุขจากงาน และ Work-life Balance หรือจุดกึ่งกลางที่พอดีระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน
Workation คืออะไร?
คำว่า Workation มาจาก Work ที่แปลว่าทำงาน รวมกับ Vacation ที่แปลว่าหยุดพักผ่อน ถ้าแปลตรงตัว หมายถึง การทำงานขณะเดินทางท่องเที่ยว
แต่ในความหมายที่คนทำงานเข้าใจตรงกัน คือรูปแบบการทำงานลักษณะหนึ่ง ซึ่งบริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้อย่างอิสระ โดยจ่ายเงินเดือนและให้สวัสดิการครบถ้วนตามที่ตกลงกันก่อนเริ่มงาน เพราะองค์กรมองว่าสำหรับบางอาชีพและบางตำแหน่ง การบังคับให้เข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศทุกวันอาจไม่ตอบโจทย์คนทำงานอีกต่อไป
เมื่อใครก็ตามเลือกทำงานแบบ Workation นั่นหมายความว่า จะทำงานที่ไหนก็ได้ขอเพียงมีระบบอินเทอร์เน็ตและสัญญาณ Wi-Fi ความเร็วสูงรองรับ เพื่อความราบรื่นขณะทำงานผ่านทางออนไลน์ แต่จุดสำคัญที่สุดของ Workation อยู่ตรงคำถามที่คนทำงานต้องคิดทบทวนและตอบตัวเองให้ได้ว่า นอกจากบ้านหรือห้องพัก ควรเปลี่ยนบรรยากาศไปทำงานที่ไหนดี
แน่นอนว่าต้องไม่ใช่แค่เปลี่ยนสถานที่ แต่สถานที่นั้นต้องให้ประสบการณ์ใหม่เป็นการทำงานที่ได้ท่องเที่ยวไปในตัวตามความหมายของ Workation เช่น นั่งประชุมออนไลน์กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอยู่บนภูเขาสูงท่ามกลางความเงียบสงบ หรือนั่งทำงานริมชายหาดโดยมีเสียงคลื่นกระทบฝั่ง ช่วยปรับความรู้สึกขณะทำงานที่เคร่งเครียดมาก ๆ ให้ผ่อนคลายและสบายใจ
สถานที่สำหรับ Workation จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศ แต่รวมถึงต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวและพักผ่อน มักเป็นจุดหมายปลายทางให้คนทำงานรูปแบบ Workation เลือกไปปักหมุดอยู่ยาวหลายเดือนตามจำนวนวันที่วีซ่าของประเทศนั้น ๆ อนุญาต
อย่างในปี 2021 กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับโดย Holidu เว็บไซต์จองสถานที่พักร้อนสัญชาติอังกฤษ ให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดของโลกสำหรับ Workation ซึ่งตัดสินจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต ค่าเช่าที่พักรายเดือน ค่าครองชีพประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์หลังเลิกงาน จำนวนสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่นั่งทำงานได้ รวมถึงความหลากหลายของกิจกรรมที่มีให้เลือกทำระหว่าง Workation
นอกจากนี้ ยังมีอีกสองจังหวัดในประเทศไทยที่ครองอันดับสิบร่วมกัน คือ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย คือตัวเลือกแรกในสายตาคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนอังกฤษที่ทำงานแบบ Workation
Workation ดีอย่างไร?
Workation แตกต่างจาก Work From Home คือ ความยืดหยุ่น และกลายเป็นทางเลือกแรกของคนทำงานที่กำลังเบื่อหน่ายหรือไม่อยากเข้าออฟฟิศ เพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่ที่ชวนดึงดูดใจหรือปลุกไฟในการทำงาน
เป็นความยืดหยุ่นเรื่องจัดสรรเวลาทำงานด้วยตัวเอง เพราะบริษัทเชื่อใจว่าพนักงานจะสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดกล้องยืนยันเวลาเริ่มและเลิกงานกับหัวหน้าเหมือนตอนตอกบัตรหรือสแกนลายนิ้วมือเข้าออกเวลางานในออฟฟิศ
แต่ยิ่งระบบงานยืดหยุ่นมากเท่าไหร่ พนักงานยิ่งต้องมีความรับผิดชอบสูงมากเท่านั้น เพราะไม่มีใครมาคอยจ้ำจี้จ้ำไชตามงานหรือถามความคืบหน้า งานจะเสร็จครบถ้วนหรือไม่ ผลงานจะออกมาดีหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ต่องานที่ทำเป็นหลัก คนที่ทำงานเก่งและโดดเด่น ก็จะกลายเป็นแต้มต่อที่เปิดโอกาสให้เติบโตในสายงานต่อไปได้ เพราะวัดกันที่ผลงาน
ความยืดหยุ่นใน Workation ยังทำให้คนทำงานมีความสุขและมีชีวิตชีวามากกว่าตอนที่นั่งทำงานในออฟฟิศ เพราะมีเวลาอยู่กับตัวเอง ผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศตึงเครียด ไม่รู้สึกกดดันหรือถูกจ้องมองจากคนอื่น ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ มีแรงจูงใจ และทำงานเต็มความสามารถได้อย่าง Productive เท่ากับได้ปรับวิถีการทำงานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม
สำหรับองค์กร Workation ช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบงานและการบริหารจัดการภายในบริษัท เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าเช่าอาคาร ซึ่งเอาไว้เป็นพื้นที่สำนักงาน ส่วนองค์กรที่มีอาคารเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อพนักงานเข้ามาทำงานน้อยลง ผลที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายรายเดือน อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ จำพวกกระดาษและอุปกรณ์สำนักงาน จะลดลงไปได้เยอะมาก บางบริษัทอาจไม่มีออฟฟิศเลยด้วยซ้ำ
สรุปแล้ว Workation ถือเป็นทางเลือกใหม่ของรูปแบบการทำงานที่ทำให้ทั้งพนักงานและองค์กรได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ Win-Win ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
อ้างอิง
Bryan Lufkin. Workations: The travel trend mixing work and play. https://bbc.in/3zrzyqi
Holidu. The Best Cities for a Workation. https://bit.ly/40T27IK
Sion Lewis. Workation: the new work-from-anywhere standard for employees. https://bit.ly/40Th4um