คำว่า ‘รัก’ คงยังไม่พอ รวมวิธีจัดการเรื่องเงินให้มั่งคั่งเพื่อรักที่มั่นคงฉบับคนมีคู่

24 Feb 2023 - 10 mins read

Wealth / Money

Share

คงจะดีถ้าโลกนี้มีเพียงความรักและสองเรา

 

แต่ความเป็นจริงแล้วความรัก ความสัมพันธ์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องอาศัยแรงกาย แรงใจของทั้งคู่ให้รักนี้ยืนยาวไปตลอดรอดฝั่ง หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชีวิตคู่ราบรื่นคือ ‘เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ’ หลายคู่อาจต้องเลิกรากันไปอย่างน่าเสียดายเพราะเรื่องเงิน ท้ายที่สุดแล้วคำว่า ‘รัก’ คงยังไม่พอ ความมั่นคงและมั่งคั่งก็เป็นส่วนหนึ่งของความรักที่ยืนยาวเช่นกัน

 

หากคู่รักคู่ไหนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจัดการเงินอย่างไรดี ลองเริ่มจากการจับเข่าคุยเพื่อทำความรู้จักและเรียนรู้มุมมองเรื่องการเงินของอีกฝ่ายให้มากขึ้น ด้วยหัวข้อต่าง ๆ เช่น การวางแผนเกษียณ นิสัยการใช้เงินเป็นอย่างไร เป้าหมายในการเก็บเงินมีอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวอะไรบ้าง ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรร่วมกันบ้าง ฯลฯ 

 

นอกจากเป้าหมายเรื่องเงินแล้วยังรวมถึงเป้าหมายของความสัมพันธ์นี้ด้วย เช่น บางคนตัดสินใจซื้อบ้านอยู่ร่วมกัน มีลูก สร้างครอบครัว หรือบางคนอาจจะเพิ่งคบกัน ยังไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกันก็สามารถหาวิธีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ได้ 

 

เมื่อเรียนรู้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ และเป้าหมายของความสัมพันธ์แล้ว เราก็ขอแนะนำ 3 วิธีจัดการเงินฉบับคู่รัก ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนมาให้แต่ละคู่เลือกวิธีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

 

 

1

กระเป๋าเงินเดียวกัน

รวมเงินใช้ด้วยกัน สำหรับคู่รักที่มีเป้าหมายในชีวิตเหมือนกัน

 

วิธีนี้การนำรายรับทั้งหมดของทั้งสองคนมารวมกันในบัญชีเดียว และใช้จ่ายจากบัญชีนั้นด้วยกันทั้งคู่ สิ่งสำคัญคือการเปิดเผยหนี้สินและรายได้รวมทั้งหมดให้อีกฝ่ายรับรู้ ต้องรับผิดชอบรายจ่ายทั้งหมดและหนี้สินร่วมกัน เวลาใครจะซื้ออะไรต้องมีการพูดคุยและปรึกษา เหมาะสำหรับคู่รัก

 

ข้อดี

  • การรวมเงินแบบนี้เป็นวิธีที่โปร่งใส เพราะต่างคนต่างรู้ความเคลื่อนไหวในบัญชีทุกอย่าง เหมาะกับคู่รักที่ทำธุรกิจร่วมกัน มีเป้าหมายการเก็บเงินเหมือน ๆ กัน มีภาระต้องรับผิดชอบร่วมกัน
  • เมื่อฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมีปัญหาทางการเงิน สามารถช่วยเหลือกันได้เต็มร้อย
  • ลงทุนร่วมกันได้ วางแผนเกษียณร่วมกันได้ มีเพื่อนคู่คิดที่ช่วยให้การเงินมั่นคงขึ้นได้

 

ข้อเสีย

  • หากต้องยุติความสัมพันธ์ลง จะแบ่งทรัพย์สินยาก
  • ฝ่ายที่มีรายรับมากกว่าอาจรู้สึกเสียเปรียบเมื่อต้องนำเงินไปลงในกระเป๋าเดียว
  • อิสระทางการเงินของแต่ละคนจะน้อยลง เช่น คนหนึ่งชอบสะสมของเล่น อีกคนชอบซื้อเครื่องสำอาง ก่อนซื้อต้องบอกอีกฝ่ายก่อนเสมอ ซึ่งความชอบส่วนตัวเหล่านี้ต้องตกลงและยอมรับกันให้ได้ตั้งแต่แรก ก่อนที่ตัดสินใจจะใช้บัญชีร่วมกัน

 

 

2

แยกกระเป๋าเงินกันเด็ดขาด

เหมาะกับคู่ที่อยากใช้เงินใคร เงินมันอย่างอิสระ

 

รักกันแค่ตัวและหัวใจ แต่ใช้คนละกระเป๋า วิธีนี้คือต่างคน ต่างจ่าย ถ้าซื้ออะไรร่วมกันก็หารครึ่งทุกครั้ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องบอกเรื่องรายรับและหนี้สินให้อีกฝ่ายรับรู้ ต่างคนต่างรับผิดชอบตัวเอง ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน 

 

เหมาะกับคู่รักที่เพิ่งคบกัน และคู่ที่ไม่อยากผูกมัดเรื่องการเงินกับใคร เพราะเป็นวิธีที่เรียบง่ายและเท่าเทียม อย่างไรก็ตามคู่อาศัยอยู่ด้วยกันนั้นจะต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในบ้านร่วมกัน เช่น น้ำ ไฟ อินเทอร์เน็ตบ้าน จึงต้องจดรายจ่ายทุกอย่างอย่างละเอียด และหารกันให้เท่าเทียม รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่จะต้องมีข้อตกลงให้ทุกฝ่ายใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันด้วย

 

ข้อดี

  • ทั้งคู่เป็นอิสระทางการเงิน ใครอยากซื้ออะไรก็ซื้อได้โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากอีกฝ่าย
  • มีความเสมอภาค ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแบกรับภาระมากกว่าใคร

 

ข้อเสีย

  • ไม่ได้ช่วยซัพพอร์ตกันในเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน ปลดหนี้สิน หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้ม ก็ยากจะช่วยเหลือ
  • หากทั้งคู่อยู่ร่วมบ้านกันนั้น ก็หนีไม่พ้นการที่ทั้งสองคนจำเป็นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต จึงต้องตกลงกันอย่างเคร่งครัดเรื่องการหารค่าใช้จ่ายเหล่านี้อย่างเป็นธรรม

 

เคล็ดลับ

จัดทำตารางรายจ่ายรายเดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ๆ 

 

 

3

มีเงินกองกลาง และ เงินส่วนตัว

ทางสายกลางของคู่รักที่มีความยืดหยุ่นเรื่องเงิน

 

วิธีนี้เป็นทางสายกลางสำหรับหลาย ๆ คู่ ตอบโจทย์ทั้งเรื่องเงินและเรื่องหัวใจ คือมีเงินกองกลางไว้หนึ่งส่วนและเงินส่วนตัวอีกหนึ่งส่วน ทั้งคู่ต้องแบ่งรายรับมารวมไว้ในบัญชีกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเลี้ยงดูลูก ๆ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อเป็นเงินเกษียณ ทั้งคู่ต้องเปิดเผยรายรับและจับเข่าคุยเรื่องหนี้สินกันอย่างหมดเปลือก 

 

ทางด้านความรู้สึกวิธีนี้ช่วยให้รู้สึกได้ว่าต่างฝ่ายได้ช่วยเหลือกัน แชร์กัน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นอิสระและรู้สึกมั่นคงในตัวเอง หากวันหนึ่งที่ต้องเลิกรากันไป ก็ยังมีเงินสำรองสำหรับตัวเองอยู่เสมอ

 

ข้อดี

  • มีอิสระทางการเงิน ใครอยากซื้ออะไรก็ใช้เงินส่วนตัวซื้อได้ โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตอีกฝ่าย
  • รับรู้สถานภาพการเงินของอีกฝ่าย สามารถวางแผนเรื่องการลงทุนร่วมกัน วางแผนเกษียณร่วมกัน ปลดหนี้ร่วมกันได้
  • เมื่ออีกฝ่ายมีปัญหาเรื่องการเงิน มีใครอยู่ระหว่างเปลี่ยนงาน ก็ช่วยเหลือเรื่องเงินได้

 

ข้อเสีย 

  • ต้องเปิดบัญชีหลายบัญชี ดังนั้นต้องบริหารจัดการแต่ละบัญชีให้ดี และมีวินัยในการใช้จ่าย ไม่นำเงินกองกลางไปใช้ส่วนตัว

 

แผนการจัดการเงินที่เรายกมาข้างต้นอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับทุกคู่ อาจจะปรับและเปลี่ยนตามสถานการณ์และความต้องการของแต่ละคน แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดไม่ว่าสำหรับแผนไหน ๆ ที่ทุกคู่ต้องมีคือความซื่อสัตย์ การสื่อสารที่ดี มีวินัยและรอบคอบ อันเป็นหัวใจของทั้งการเงินและความรัก 

 

และแน่นอนว่าการเงินที่มั่นคง ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาว

 

 

อ้างอิง 

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...