หากชีวิตพลิกผัน ลาออกหรือว่างงานกะทันหัน ต้องวางแผนเงินอย่างไรให้ชีวิตไปต่อได้ไม่สะดุด

11 Nov 2024 - 3 mins read

Wealth / Money

Share

ชีวิตในวันพรุ่งนี้ คือ สิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้มากที่สุด

 

เพราะไม่มีใครล่วงรู้ว่า ในวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง โดยเฉพาะในโลกของการทำงานที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้แต่คนที่มีอาชีพการงานดีอยู่แล้ว จนคิดว่าวางใจเรื่องงานได้ ก็อาจมีเหตุพลิกผันมาทำให้ชีวิตต้องพบเจอกับความไม่คาดฝัน และอาจส่งผลกระทบถึงหน้าที่การงานแบบไม่ทันตั้งตัวได้เหมือนกัน

 

ในเมื่อชีวิตนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน และไม่มีอะไรการันตีได้ว่างานที่ทำอยู่มีความมั่นคงเสมอไป คำถามแรกซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่คนทำงานต้องตอบตัวเองให้ได้ก็คือ หากต้องลาออกหรือกลายเป็นคนว่างงานกะทันหัน มีเงินเก็บเพียงพอให้ใช้ชีวิตไปต่อได้อย่างไม่สะดุดหรือเปล่า ?

 

ไม่ว่าคำตอบจะออกมาเป็นแบบไหน LIVE TO LIFE อยากชวนมนุษย์เงินเดือนทุกคนที่มีรายได้หลักจากงานประจำ มาเตรียมวางแผนการเงินใหม่ให้รัดกุมกว่าเดิม เพื่อรองรับทุกความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน และสร้างภูมิให้ชีวิตไม่ติดลบเรื่องเงิน

 

 

พร้อมแค่ไหน ? หากถูกเลิกจ้างกะทันหัน

เพราะทุกคนเสี่ยงว่างงานไม่ต่างกัน

ต่อให้เป็นคนทำงานเก่งทำงานเร็ว เรียนจบมาสูงและมีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สุด หรือมีชั่วโมงบินสูงเพราะทำงานมานานจนเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากกว่าใคร แต่ความตลกร้ายในโลกของการจ้างงานที่คนทำงานส่วนใหญ่มักมองข้ามไป คือ ทุกคนกำลังยืนอยู่บนปากเหวของความเสี่ยงถูกเลิกจ้างได้เสมอ

 

เพราะตราบเท่าที่ยังทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทใดก็ตาม นั่นหมายความว่า บริษัทมีสิทธิ์เลิกจ้างพนักงานได้ตลอดเวลา โดยแลกกับการจ่ายเงินชดเชยให้เป็นค่าตกใจตามเกณฑ์ที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้

 

แต่ที่น่าหวั่นใจมากไปกว่านั้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ จึงส่งผลโดยตรงกับการเลิกจ้างงานของบริษัท ยิ่งทำให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนเสี่ยงตกที่นั่งลำบากมากขึ้นกว่าเดิม

 

เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งระบุไว้ว่า คนไทยในระบบแรงงานกลายเป็นคนว่างงานประมาณ 430,000 คน และมีจำนวนคนว่างงานระยะยาวมากกว่า 1 ปี ถึง 70,000 คน โดยเฉพาะคนทำงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ต้องเผชิญกับอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ประกอบกับบริษัททยอยปิดกิจการ

 

นี่คือความเสี่ยงที่คนวัยทำงานตัวเล็ก ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ หากยังหวังสร้างตัวให้มีฐานะมั่นคงจากความก้าวหน้าในอาชีพ การวางแผนรับมือจึงเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเรื่องเงิน

 

 

เช็กลิสต์คำถาม 3 ข้อที่ต้องรู้

ตรวจดูสุขภาพการเงินก่อนวางแผน

สิ่งสำคัญกับชีวิตที่เรียกว่า ‘เงิน’ จะสำคัญมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับชีวิตคนทำงาน จากที่เคยมีงานมีเงินใช้ทุกเดือน กลับกลายเป็นคนว่างงานที่อาจต้องกลัดกลุ้มว่า เงินเก็บที่มีอยู่น้อยนิด จะเพียงพอให้ใช้ชีวิตต่อไปได้นานสักแค่ไหน บางคนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะไม่เคยคิดเก็บเงินเลยด้วยซ้ำ

 

เพื่อผ่อนหนักเป็นเบาให้คนทำงานสามารถรับมือกับความเสี่ยงว่างงานและตกงานกะทันหันได้ทันท่วงที LIVE TO LIFE แนะนำให้ทุกคนตั้งต้นตรวจสุขภาพการเงินปัจจุบันด้วยเช็กลิสต์ 3 ข้อที่ต้องรู้ต่อไปนี้

 

ซึ่งคำตอบที่ได้จากเช็กลิสต์คำถามแต่ละข้อ จะช่วยเตือนสติให้คนทำงานเริ่มเก็บเงินเผื่อไว้อย่างเร่งด่วน เพราะการวางแผนป้องกันที่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ ย่อมเป็นวิธีที่ดีกว่าการหาหนทางแก้ไขหลังเกิดปัญหา

 

1. มี ‘เงินเก็บ’ หรือ ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ หรือไม่ ? ถ้ามีเป็นจำนวนเพียงพอให้ใช้จ่ายได้นานกี่เดือน

ในความเป็นจริง ควรแยกเงินเก็บและเงินสำรองฉุกเฉินไว้ต่างบัญชีเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ด้วยจุดประสงค์การใช้จ่ายที่ไม่เหมือนกัน ‘เงินเก็บ’ มีความยืดหยุ่นมากกว่า แบ่งออกมาใช้จ่ายได้ทุกเมื่อตามต้องการ ส่วน ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ (Emergency Fund) ก็คือเงินเก็บรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่เป็นเงินก้อนใหญ่ที่เก็บไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่น ตกงาน เจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบอุบัติเหตุต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล นั่นหมายความว่า ในสถานการณ์ปกติ ห้ามนำเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้อย่างเด็ดขาด

 

ส่วนจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่คนทำงานควรมี ต้องเพียงพอให้ใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 12 เดือน หรือ 1 ปี โดยมีวิธีคำนวณตัวเลขคร่าว ๆ คือ ให้ประมาณการค่าใช้จ่ายรายเดือน ทั้ง ‘ค่าใช้จ่ายคงที่’ อย่างค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริการอินเทอร์เน็ต รวมกับ ‘ค่าใช้จ่ายผันแปร’ อย่างค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงและการท่องเที่ยว เช่น หากคำนวณออกมาเป็นเงิน 15,000 บาทต่อเดือน นำไปคูณ 12 ได้ผลลัพธ์ 180,000 บาท นี่คือตัวอย่างจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินขั้นต่ำที่ควรมี เพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ไม่สะดุดนานถึง 1 ปีเต็ม ในช่วงที่ยังขาดรายได้หลักจากงานประจำ

 

2. ได้สมัครเป็นสมาชิก ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ หรือไม่ ?

โดยปกติแล้ว เมื่อได้เข้าทำงานกับบริษัทที่มีสวัสดิการ ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ (Provident Fund) คนทำงานสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน ซึ่งใช้เป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตได้ เพราะในทุก ๆ เดือนที่บริษัทแบ่งเงินจากเงินเดือนตั้งแต่ 2-15% (ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกจ้างและนโยบายของบริษัท) ออกไปเป็น ‘เงินสะสม’

 

ส่วนบริษัทจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมให้ด้วย รวมเป็นเงินที่ถูกนำไปลงทุนในแผนการลงทุนเพื่อให้คนทำงานอย่างเรา ๆ ได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าหรือใกล้เคียงกับหุ้นและกองทุนรวมหุ้น เพราะบริหารโดยธนาคารหรือบริษัทการเงินที่อยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงมีความมั่นคงสูงและเชื่อถือได้

 

‘เงินสมทบ’ นี่แหละ ถือเป็นหัวใจสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะช่วยให้คนทำงานได้เงินเพิ่มพิเศษจากที่ทำงานในทุก ๆ เดือน แถมยังเป็นการสร้างวินัยการออมก่อนใช้จ่าย ช่วยให้มีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ หรือสามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกได้ตามต้องการ เพื่อนำเงินในกองทุนมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน 

 

3. มี ‘ประกันสุขภาพ’ และ ‘ประกันชีวิต’ หรือไม่ ? 

มนุษย์เงินเดือนหลายคนไม่ได้ซื้อ ‘ประกันสุขภาพ’ และ ‘ประกันชีวิต’ ให้ตัวเอง เพราะเข้าใจว่าสวัสดิการ ‘ประกันกลุ่ม’ ที่บริษัทมีไว้ให้นั้นคงเพียงพอแล้ว จนลืมคิดไปว่าหลังจากถูกเลิกจ้างและไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัท ทำให้ไม่สามารถใช้สวัสดิการนี้ได้อีกต่อไป ลำพังตกงานกะทันหันว่าแย่แล้ว แต่ทุกอย่างจะเลวร้ายลงกว่าเดิมทันที หากเกิดเจ็บป่วยรุนแรงหรือประสบอุบัติเหตุถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อในโรงพยาบาล เพราะทำให้ต้องเสียเงินก้อนไปกับค่ารักษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

คงจะดียิ่งกว่าหากมี ‘ประกันสุขภาพ’ และ ‘ประกันชีวิต’ เป็นตัวช่วยสร้างหลักประกันทางการเงิน คอยคุ้มครองไม่ให้คนตกงานได้รับผลกระทบ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่อาจสูงเกินกำลังจ่าย และไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเผื่อไว้อีกก้อน แต่เลือกวิธีจ่ายเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่ประกันกำหนด แลกกับการได้รับความคุ้มครองและผลตอบแทนเป็นเงินคืน ซึ่งขึ้นอยู่กับสิทธิประโยชน์ในกรมธรรม์

 

สำหรับคนวัยทำงาน แนะนำประกันสุขภาพ Health Fit DD ส่วนคนที่ต้องการสร้างหลักประกันให้ครอบครัว แนะนำประกับชีวิต คุ้มธนกิจ 90/7 และคนทำงานถึงวันใกล้เกษียณ อายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำประกับผู้สูงอายุ สูงวัยมีทรัพย์ เพราะการวางแผนการเงินที่ดี จะช่วยสร้างฐานรากที่มั่นคงให้ชีวิตไม่สั่นคลอน แม้ต้องพบเจอกับเรื่องไม่คาดฝัน

 

 

ชีวิตหลัง ‘ตกงาน’ ต้องเดินหน้าไปต่อได้

แค่รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

สำหรับคนที่เพิ่งตกงาน แต่ยังไม่รู้จะจัดการชีวิตและการเงินอย่างไรดี ให้รีบดำเนินการติดต่อช่องทางรับเงินชดเชยในกรณีว่างงาน ทั้งสำนักงานประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

มนุษย์เงินเดือนทุกคนที่เคยทำงานในบริษัทแล้วจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเดือนละ 750 บาทมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน แต่มีเหตุให้ออกจากงานกลายเป็นว่างงานไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ทั้งถูกเลิกจ้างและตัดสินใจลาออกเอง ให้ลงทะเบียนและรายงานตัวว่าว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม ผ่านเว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทนตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

ส่วนการลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่ทางบริษัทจะเป็นฝ่ายดำเนินการให้ได้ แต่คนที่ว่างงานไม่จำเป็นต้องออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนเสมอไป สามารถเลือกคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทเดิมได้ โดยได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ เพียงแต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเดิม และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ 500 บาทต่อปี แล้วรอโอนย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างบริษัทใหม่

 

ถึงอย่างนั้น จำนวนเงินที่ได้รับอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรายเดือน คนทำงานจึงควรรีบวางแผนการเงินให้งอกเงยและเพียงพอกับการใช้จ่ายยามฉุกเฉินมากกว่าพึ่งพาสวัสดิการของบริษัทอย่างเดียว โดยเน้นการออมและลงทุนเพื่ออนาคตและการเกษียณ

 

เป้าหมายสำคัญ คือการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ครบตามผลลัพธ์ที่คำนวณได้ ควบคู่กับการมองหาช่องทางการลงทุนที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและช่วยสร้างหลักประกันด้านการเงินได้ โดยเฉพาะการเลือกซื้อประกันรูปแบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตไปต่อได้อย่างราบรื่นและมีความสุขมากที่สุด

 

 

อ้างอิง

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สำรวจภาวะการทำงานของประชากร. https://bit.ly/3YsdpnR
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย. ลดเสี่ยง เพิ่มสุข ด้วยเงินออมเผื่อฉุกเฉิน. https://bit.ly/4fpD73h
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. 4 เหตุผลที่ต้องออมเงินกับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หากบริษัทมีสวัสดิการนี้ให้. https://bit.ly/3C4Nn2v

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...