เปลี่ยน Waste เป็น Wealth วิธีเปลี่ยนขยะเป็นเงิน สร้างรายได้จากของเหลือใช้ใกล้ตัว

11 Sep 2023 - 5 mins read

Wealth / Money

Share

รู้หรือไม่? ในทุก ๆ วัน คนไทยหนึ่งคน สร้างขยะมากกว่า 1 กิโลกรัมโดยที่เราไม่ทันได้สังเกตตัวเอง นั่นหมายความว่า ในหนึ่งวัน คนไทยทั้งประเทศจะสร้างขยะรวมกันได้มากถึง 74,750 ตัน นับเป็นปริมาณเทียบเท่ากับเครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 270 ลำ

 

แต่ขยะเหลือทิ้งจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ไม่ได้มีแค่สิ่งไร้ค่าที่ต้องกำจัดเพียงอย่างเดียว เพราะขยะประมาณ 1 กิโลกรัมต่อวันที่เราเป็นคนสร้าง หากนำมาแยกประเภทก่อนทิ้ง จะได้ขยะรีไซเคิล 25% ซึ่งเป็นขยะที่มีมูลค่าเพราะสามารถนำไปขายต่อได้

 

ถ้าคนไทยทั้งประเทศช่วยกันแยกขยะรีไซเคิลออกมาจากกองขยะทั้งหมดที่มีในแต่ละวัน ก็จะช่วยลดจำนวนเครื่องบินแอร์บัส A380 ไปได้ถึง 68 ลำ

 

ขยะที่คนส่วนใหญ่มักจะทิ้งลงถังด้วยความเคยชินเพราะเห็นเป็นเพียงสิ่งเหลือใช้ มีขยะรีไซเคิลซึ่งมีมูลค่ามากกว่าที่ใครหลายคนนึกถึงร่วมอยู่ด้วย การแยกขยะรีไซเคิลเพื่อนำกลับไปแปรรูปและใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง นอกจากช่วยลดปริมาณขยะเหลือทิ้งเพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่และยั่งยืนมากขึ้น ยังเป็นหนทางสร้างรายได้ในอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

 

เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนเปลี่ยน Waste เป็น Wealth ด้วยวิธีเปลี่ยนขยะเป็นเงินและสร้างรายได้จากของเหลือใช้ใกล้ตัว LIVE TO LIFE จึงรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการแยกขยะรีไซเคิลที่นำไปขายต่อได้ ไว้เป็นแรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นให้ทุกคนหันมาจัดการขยะในแต่ละวันอย่างถูกวิธี ซึ่งทำง่าย เริ่มได้ทันที และส่งผลดีต่อโลกของเรา

 

 

ขยะชิ้นไหนบ้าง? เป็นขยะรีไซเคิล

นี่คือคำถามตั้งต้นของการคัดแยกขยะ เพราะช่วยให้เราจัดการขยะภายในบ้านได้สะดวกมากขึ้นทันตาเห็น จากเดิมที่เคยทิ้งทุกอย่างลงถังเดียวกัน ให้เริ่มแยกถังเป็น 4 ถัง ตามหลักการทั่วไปของการแยกขยะ ซึ่งแบ่งเป็น 4 สี ดังนี้

 

  • ถังเขียว ใส่ขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น เศษข้าว เศษขนมปัง เปลือกไข่ เปลือกผลไม้ ผักเหลือทิ้งหรือส่วนที่เหลือจากการปรุง เปลือกถั่ว ก้างปลา ปลายทางของขยะถังเขียวคือนำไปทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร
  • ถังฟ้า ใส่ขยะทั่วไป เช่น กระดาษชำระ ซองฟอยล์อะลูมิเนียม ยาง เศษผ้า ปลายทางของขยะถังฟ้าคือนำไปทำเชื้อเพลิง
  • ถังเหลือง ใส่ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก กล่องใส่อาหารที่ล้างทำความสะอาดแล้ว กระป๋องอะลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก พลาสติกใส แก้วสีใส ปลายทางของขยะถังเหลืองคือนำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่
  • ถังแดง ใส่ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ หรืออะไรก็ตามที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตรายที่เป็นสารพิษ ไวไฟ หรือมีฤทธิ์กัดกร่อนได้ ปลายทางของขยะถังแดงคือนำไปทำลายทิ้งอย่างถูกวิธี ป้องกันไม่ให้สารเคมีตกค้างในธรรมชาติ

 

หากภายในบ้านไม่มีถังขยะแบ่งตามสี สามารถใช้อะไรก็ได้เอาไว้ใส่ขยะ อาจเป็นกล่องหรือถุงขนาดใหญ่ พร้อมกับเขียนประเภทขยะติดเอาไว้ให้ชัดเจน โดยขยะที่เราจะให้ความสำคัญมากที่สุดคือขยะในถังเหลืองหรือขยะรีไซเคิล เพราะเป็นขยะที่จัดการง่ายและนำไปขายได้ราคา ซึ่งขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท ต่างก็มีวิธีคัดแยกและจัดการที่แตกต่างกันออกไป

 

 

ขยะรีไซเคิลประเภท ‘กระดาษ’

 

ขยะรีไซเคิลประเภทกระดาษที่ร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปนิยมรับซื้อ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

 

1. กระดาษคราฟต์ (Kraft Paper) เช่น กระดาษลัง กระดาษกล่องไปรษณีย์ หรือกระดาษลูกฟูก ซึ่งเป็นกระดาษสีน้ำตาลที่ไม่ผ่านการฟอกสี ขายได้ 3 บาท/กิโลกรัม

 

2. กระดาษหนังสือพิมพ์ ขายได้ 3 บาท/กิโลกรัม

 

3. กระดาษขนาด A4 ที่ผ่านการฟอกสีจนขาว ให้นำลวดเย็บกระดาษออกให้เรียบร้อยก่อนคัดแยกประเภท คือ กระดาษพิมพ์สีและมีหมึกปากกาสีแดงหรือปากกาเน้นข้อความ ขายได้ 1 บาท/กิโลกรัม ส่วนกระดาษขาวดำ ต้องพิมพ์ด้วยสีดำหรือสีน้ำเงิน อนุโลมให้มีหมึกปากกาสีดำและน้ำเงินเท่านั้น ขายได้ 5 บาท/กิโลกรัม

 

4. กระดาษเศษ เป็นกระดาษอื่น ๆ ที่เหลือ เช่น หนังสือเล่ม นิตยสารเล่ม ใบปลิว ขายได้ 1 บาท/กิโลกรัม

 

หลังจากคัดแยกกระดาษแต่ละประเภทเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้เชือกมัดเป็นตั้ง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกขณะขนย้ายกับตอนชั่งน้ำหนักที่จุดรับซื้อขยะรีไซเคิล

 

 

ขยะรีไซเคิลประเภท ‘ขวดพลาสติก’

 

เมื่อดื่มน้ำหมดแล้วให้แกะฉลากออก ล้างทำความสะอาดขวดพลาสติก แยกฝากับตัวขวด แล้วบีบให้แบน เพราะขายได้ราคาต่างกัน ขยะรีไซเคิลประเภทขวดพลาสติกที่ร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปนิยมรับซื้อ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

1. ขวดใส (พลาสติก PET หรือ PETE) สังเกตได้จากใต้ขวด จะมีสัญลักษณ์เลข 1 อยู่ในสามเหลี่ยม เช่น ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช ขายได้ 9 บาท/กิโลกรัม

 

2. ขวดขุ่นเหนียว (พลาสติก HDPE) สังเกตได้จากใต้ขวด จะมีสัญลักษณ์เลข 2 อยู่ในสามเหลี่ยม เช่น ขวดนม แกลลอนนม ขายได้ 15 บาท/กิโลกรัม

 

3. ฝาขวด (พลาสติก PP) สังเกตได้จากใต้ฝา จะมีสัญลักษณ์เลข 5 อยู่ในสามเหลี่ยม ขายได้ 5 บาท/กิโลกรัม

 

 

ขยะรีไซเคิลประเภท ‘กระป๋องโลหะ’

 

ขยะรีไซเคิลประเภทกระป๋องโลหะที่ร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปนิยมรับซื้อ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

1. กระป๋องอะลูมิเนียม สังเกตได้จากก้นกระป๋องมีลักษณะเว้า เช่น กระป๋องน้ำอัดลม กระป๋องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรล้างทำความสะอาดแล้วเหยียบให้แบน ขายได้ 40 บาท/กิโลกรัม

 

2. กระป๋องเหล็กและสังกะสี สังเกตได้จากก้นกระป๋องเรียบแบน เช่น กระป๋องบรรจุอาหาร ควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ขายได้ 4 บาท/กิโลกรัม

 

3. ห่วงฝากระป๋อง แกะออกจากตัวกระป๋อง ทั้งกระป๋องอะลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก และกระป๋องสังกะสี นำมาแยกขายได้ 20 บาท/กิโลกรัม

 

 

ขยะรีไซเคิลประเภท ‘ขวดแก้ว’

 

หลังจากดื่มน้ำหมดขวดแก้วแล้วให้ทำเหมือนกับขวดพลาสติก เริ่มต้นด้วยแกะฉลากออก ล้างทำความสะอาดขวด ยกเว้นขวดแก้วบรรจุแอลกอฮอล์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ฉลากอยู่ครบ ไม่แตกหรือมีรอยบิ่น ขยะรีไซเคิลประเภทขวดแก้วที่ร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปนิยมรับซื้อ  แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

 

1. ขวดแก้วสีชาใส เช่น ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ขายได้ 1.5 บาท/กิโลกรัม

 

2. ขวดแก้วใสทั่วไป ขายได้ 2 บาท/กิโลกรัม

 

3. ขวดแก้วบรรจุเหล้าขาว ขายได้ 10 บาท/กิโลกรัม

 

4. ขวดแก้วบรรจุแอลกอฮอล์สีชาใส ขายได้ 11 บาท/กิโลกรัม

 

5. ขวดแก้วบรรจุแอลกอฮอล์สีเขียวใส ขายได้ 15 บาท/กิโลกรัม

 

 

ขยะรีไซเคิลประเภท ‘น้ำมันพืชใช้แล้ว’

 

น้ำมันพืชเก่าที่ผ่านการปรุงอาหารมาแล้ว หากเททิ้งไม่ถูกวิธี มักจะทำให้ท่อน้ำในบ้านอุดตันได้ แนะนำให้กรองเศษอาหารออก บรรจุกลับใส่ขวด แล้วนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าหรือปั๊มน้ำมันบางแห่ง เพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงไร้สารพิษ ซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากว่าน้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันพืชใช้แล้วขายได้ 13 บาท/กิโลกรัม

 

เพียงแค่ทำตามคำแนะนำเกี่ยวกับการแยกขยะรีไซเคิล ทุกคนก็สามารถจัดการแยกขยะเพื่อนำไปขายได้ราคา แต่ราคาขยะรีไซเคิลทุกประเภทที่ร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปนิยมรับซื้อ อาจผันผวนไปตามความต้องการของโรงงานรีไซเคิลขยะ จึงควรตรวจสอบราคารับซื้อในแต่ละวัน

 

สำหรับแหล่งรับซื้อขยะรีไซเคิลที่เข้าถึงง่ายและสะดวกที่สุด คือ ร้านรับซื้อขยะใกล้บ้าน เพราะมักจะกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่อยู่อาศัย หรือขายขยะรีไซเคิลผ่านแอปพลิเคชัน Recycoex ซึ่งพัฒนาโดยคนไทย เพื่อใช้เรียกให้ผู้รับซื้อเข้ามารับขยะรีไซเคิลได้ถึงหน้าบ้าน ช่วยอำนวยความสะดวกสบายได้อีกช่องทางหนึ่ง ส่วนขยะรีไซเคิลประเภทน้ำมันพืชใช้แล้ว สามารถนำไปขายที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก 44 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี

 

 

อ้างอิง

  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. สถานการณ์ ‘ขยะพลาสติก’ ในไทย. https://bit.ly/3LcTsM7
  • กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม. คู่มือแยกขยะให้ขายได้ราคาดี. https://bit.ly/44p5hW2
  • กรมควบคุมมลพิษ. คุณลักษณะเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล. https://bit.ly/3R6E9bB
  • วงษ์พาณิชย์ เซนเตอร์. ราคา ซื้อ-ขายของเก่า. https://bit.ly/44gQJYt

SHARE

facebook
twitter
copy
Related articles / บทความที่เกี่ยวข้อง
Loading...